แผนจีนปฏิรูประบบเลือกตั้งฮ่องกง หรืออุบายย่ำยีผู้รักประชาธิปไตย / บทความต่างประเทศ

บทความต่างประเทศ

 

แผนจีนปฏิรูประบบเลือกตั้งฮ่องกง

หรืออุบายย่ำยีผู้รักประชาธิปไตย

 

ดูจะเป็นการเร่งเครื่องดับฝันชาวฮ่องกงผู้ฝักใฝ่ประชาธิปไตยที่ออกมาท้าทายอำนาจปกครองของจีนมากขึ้นไปอีก

เมื่อคณะกรรมาธิการถาวรของสภาประชาชนแห่งชาติ (เอ็นพีซี) ซึ่งเป็นคณะทำงานที่มีอำนาจตัดสินใจสูงสุดของจีน ได้ลงมติเป็นเอกฉันท์ในการอนุมัติแผนการยกเครื่องระบบเลือกตั้งของฮ่องกงเสียใหม่

หลังมีการชงเรื่องนี้เข้าสู่การพิจารณาของสภาเอ็นพีซีไปตั้งแต่ต้นเดือนมีนาคม

ด้วยข้ออ้างว่าแผนปฏิรูปนี้มีขึ้นด้วยความมุ่งหมายที่จะขจัดช่องโหว่และความไร้ประสิทธิภาพที่มีอยู่ในระบบ ซึ่งเป็นสิ่งคุกคามต่อความมั่นคงของชาติ

ภายใต้แผนปฏิรูประบบเลือกตั้งของฮ่องกงด้วยแนวคิดและวิธีการของจีน ถูกฟากฝั่งประชาธิปไตยโจมตีว่าเป็นการรวบตึงตีสกัดไม่ให้ผู้สมัครที่ฝักใฝ่ประชาธิปไตยได้ร่วมลงสนามแข่งขันในการเลือกตั้ง

และยังเป็นการลดทอนสิทธิการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งในฮ่องกงลงไปอีก

ด้วยระบบที่จีนใช้ยึดเป็นกฎเหล็ก นั่นคือ “ความรักชาติ” เป็นหลักเกณฑ์ในการคัดกรองบุคคลที่มีคุณสมบัติเหมาะสมที่จะผ่านการคัดเลือกเข้าสู่สนามเลือกตั้งของฮ่องกงได้

 

หนึ่งในแผนปฏิรูปที่ซินหัว สื่อกระบอกเสียงของทางการจีนเปิดเผยออกมา มาตรการแรกจะมีการปรับเพิ่มที่นั่งสมาชิกในสภานิติบัญญัติของฮ่องกง ที่เรียกกันว่า เลกโก จากปัจจุบันมีอยู่ 70 ที่นั่ง จะเพิ่มขึ้นเป็น 90 ที่นั่ง

แต่สัดส่วนที่นั่งของสมาชิกในสภาแห่งนี้ที่เป็นการเลือกตั้งโดยตรงจะถูกลดทอนลงจากเดิม 35 ที่นั่ง ให้ลดลงเหลือเพียง 20 ที่นั่ง

ส่วนอีก 40 ที่นั่งจะได้รับการสรรหาคัดเลือกโดยคณะทำงานที่สนับสนุนรัฐบาลปักกิ่ง

และอีก 30 ที่นั่งที่เหลือจะถูกสรรหาโดยตัวแทนกลุ่มผลประโยชน์ต่างๆ ที่มีความจงรักภักดีต่อรัฐบาลปักกิ่ง

ส่วนคณะกรรมการเลือกตั้งที่ทำหน้าที่สรรหาผู้บริหารสูงสุดเขตปกครองพิเศษฮ่องกง จะมีสมาชิกเพิ่มขึ้นจาก 1,200 คน เป็น 1,500 คน

ขณะที่ผู้แทนของสภาเขตระดับชุมชนจำนวน 117 คนที่อยู่ในคณะกรรมการเลือกตั้งเดิมจะถูกยกเลิกไปทั้งหมด

มาตรการที่ถือเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญคือ ผู้ที่ต้องการเข้าสู่สนามเลือกตั้งฮ่องกงจะต้องผ่านการตรวจสอบคุณสมบัติด้าน “ความรักชาติ” ตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้

โดยที่จะมีการตั้งคณะทำงานชุดใหม่ขึ้นมา ทำหน้าที่เป็นกลไกตรวจสอบประวัติความรักชาติของผู้สมัครรายนั้นๆ ร่วมกับหน่วยงานด้านความมั่นคงของฮ่องกง ที่มีการระบุว่าจะเป็น คณะกรรมการความมั่นคงแห่งชาติ และสำนักงานตำรวจแห่งชาติของฮ่องกง

มีรายงานว่าแผนปฏิรูปนี้ของจีนจะถูกรวบรัดตัดตอนเพื่อให้มีผลบังคับใช้ด้วยการบรรจุเข้าอยู่ในภาคผนวกของกฎหมายพื้นฐาน หรือ Basic Law ซึ่งเป็นรัฐธรรมนูญของฮ่องกง

อันเป็นวิธีการเดียวกับที่จีนเคยทำมาแล้วในการเร่งบังคับใช้กฎหมายความมั่นคงใหม่ในฮ่องกงเมื่อเดือนมิถุนายนปีที่ผ่านมา เพื่อใช้ปราบปรามกลุ่มนักเคลื่อนไหวต่อต้านจีนในฮ่องกง

 

นางแคร์รี หล่ำ ผู้บริหารสูงสุดเขตปกครองพิเศษฮ่องกง ซึ่งถูกตีตราว่าเป็นร่างทรงของผู้ปกครองจีน ออกมาขานรับแผนปฏิรูปนี้ โดยชี้ว่าจะช่วยให้สิ่งที่ถูกทำให้เป็นการเมืองมากเกินไปในสังคมและความแตกแยกภายในที่แบ่งแยกฮ่องกงในช่วงที่ผ่านมาทุเลาเบาลง

เป็นท่าทีที่ตรงกันข้ามอย่างสิ้นเชิงกับความเห็นของพรรคฝ่ายค้าน กลุ่มนักเคลื่อนไหวและนักวิเคราะห์หลายราย ที่มองว่าแผนปฏิรูปการเมืองฮ่องกงของจีน เป็นเพียงอีกเครื่องมือหนึ่งที่ถูกเข็นออกมาใช้ในการกำราบควบคุมฝ่ายต่อต้านเห็นต่างจากรัฐบาลปักกิ่ง ซึ่งยังจะเป็นระเบิดเวลาที่พร้อมจะทำให้เหตุความไม่สงบทางการเมืองในฮ่องกงปะทุรุนแรงขึ้นอีกได้ทุกเมื่อ

ขณะเดียวกันยังจุดข้อโต้แย้งว่าแผนปฏิรูปนี้ที่ใช้กฎความรักชาติมาเป็นเกณฑ์ในการเปิดทางให้ผู้สมัครหรือนักการเมืองเข้ามีส่วนร่วมในการเลือกตั้งได้ จะเป็นการละเมิดข้อตกลงที่อังกฤษ ผู้ปกครองฮ่องกงในขณะนั้นได้ทำไว้กับจีน ในการส่งมอบเกาะฮ่องกงคืนสู่จีนในปี 1997 หรือไม่

โดยขณะที่ความตกลงดังกล่าวระบุว่าจีนจะปกครองฮ่องกงภายใต้นโยบาย 1 ประเทศ 2 ระบบ ซึ่งทำให้ฮ่องกงเป็นดินแดนที่มีสิทธิเสรีภาพมากกว่าเขตปกครองอื่นๆ ของจีน

แต่ภายใต้แผนนี้จะทำให้ผู้สมัครที่ฝักใฝ่ประชาธิปไตยในฮ่องกงถูกจำกัดสิทธิและพื้นที่ในการเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตยหรือไม่

ขณะที่นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์รายหนึ่งมองว่า มาตรการใหม่นี้ของจีนดูจะเป็นสิ่งที่ขัดต่อเจตนารมณ์ของการมีเลือกตั้งที่เสรี เป็นธรรมและแข่งขันกันได้

ที่สำคัญยังเป็นอุปสรรคใหญ่ต่อสิทธิเลือกตั้งโดยตรงที่ชาวฮ่องกงผู้ฝักใฝ่ประชาธิปไตยกำลังเรียกร้องต่อสู้กันอยู่