ปรากฎการณ์ ตู่ ‘เต้น’ ที่ทำให้ “ตู่เต้น!”

ตู่ ‘เต้น’

 

มีความเคลื่อนไหวของ 2 แกนนำคนสำคัญแห่งแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ที่น่าจับตา

คนแรกคือ นายจตุพร พรหมพันธุ์ ประธาน นปช.

คนที่สองคือ นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ

โดยนายจตุพรถือฤกษ์วันที่ 26 มีนาคม ร่วมกับคณะกรรมการญาติวีรชนพฤษภา 35 และ 30 องค์กรประชาธิปไตย

อาทิ นายอดุลย์ เขียวบริบูรณ์ ประธานคณะกรรมการญาติวีรชนพฤษภา 35 นายวีระ สมความคิด เลขาธิการเครือข่ายประชาชนต้านคอร์รัปชัน น.ส.ณัฏฐา มหัทธา นักเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิพลเมือง น.ส.ลัดดาวัลย์ ตันติวิทยาพิทักษ์ เลขาธิการองค์กรกลางเพื่อประชาธิปไตย หรือ P-Net นายกมล กมลตระกูล กรรมการนโยบายสภาของผู้บริโภค นายสุวิช ศุมานนท์ ประธานสมาพันธ์คนงานรถไฟไทย นายนคร มาฉิม อดีตสมาชิกพรรคเพื่อไทย ฯลฯ

ออกมารวมตัวกันในนาม “ศูนย์กลางสามัคคีประชาชนเพื่อประเทศไทย” ภายใต้สโลแกน “ไทยไม่ทน”

 

โดยนายจตุพรระบุเหตุผลการรวมตัวว่าตั้งแต่ยึดอำนาจ 22 พฤษภาคม 2557 ร่วม 7 ปี

คนไทยอยู่ในสภาพถูกแบ่งแยกแล้วปกครอง

และ พล.อ.ประยุทธ์ จั้นทร์โอชา ประกาศตั้งแต่ยึดอำนาจว่าจะทำอะไรมากมาย แต่ไม่สามารถทำได้แม้แต่เพียงเรื่องเดียว

ไม่ว่าจะเป็นการสร้างความสัมพันธ์ให้กับคนไทยในชาติ

เรื่องการปฏิรูปประเทศ

และล่าสุดก็เบี้ยวการแก้ไขรัฐธรรมนูญ

ดังนั้น หากเราไม่สามารถจัดการให้ พล.อ.ประยุทธ์ออกไปได้ ก็จะไม่มีวันที่จะก้าวไปข้างหน้า

“วันนี้จึงถือเป็นจุดเริ่มต้นของคำว่า สามัคคีประชาชน โดยปัญหาหลักอยู่ที่ พล.อ.ประยุทธ์ ไม่ว่าปัญหาเรื่องมาตรา 112 ที่ดึงสถาบันลงมา การแก้รัฐธรรมนูญที่ พล.อ.ประยุทธ์ท้าให้ไปแก้ให้ได้ ผมจึงสรุปว่าถ้าแก้ให้ได้ต้องไล่ พล.อ.ประยุทธ์ ดังนั้น เราจึงจะมีกิจกรรมหารือกันอีกครั้งในวันที่ 4 เมษายน เวลา 4 โมงเย็น ที่สวนสันติพร พฤษภาประชาธรรม ถนนราชดำเนิน” นายจตุพรระบุ

คำประกาศดังกล่าว ทำให้สังคมจับตาทันที

ว่านี่คือการประกาศคัมแบ๊ก นำมวลชนลงสู่ถนนอีกครั้งของนายจตุพรหรือไม่

และ “ศูนย์กลางสามัคคีประชาชนเพื่อประเทศไทย” จะมีพลังเหมือนตอนมีม็อบเสื้อแดงภายใต้การนำของ นปช.หรือไม่

 

ขณะที่รอคำตอบ

สังคมก็ได้เห็นการกลับมามีบทบาทของนายณัฐวุฒิอีกครั้งเช่นกัน

โดยเมื่อเวลา 11.00 น. วันที่ 30 มีนาคม ที่ยูดีดีนิวส์ชั้นใต้ดิน อาคารเอเวอรี่มอลล์ แยกแคราย นนทบุรี

นายณัฐวุฒิพร้อมแกนนำคนเสื้อแดง นปช. อาทิ นางธิดา ถาวรเศรษฐ นพ.เหวง โตจิราการ นายก่อแก้ว พิกุลทอง และนายพิพัฒน์ชัย ไพบูลย์

ร่วมแถลงข่าวเปิดใจ “วันคืนสู่อิสรภาพโดยสมบูรณ์”

ถือฤกษ์วันที่ 29 มีนาคม ที่นายณัฐวุฒิครบกำหนดต้องโทษ และถอดกำไลข้อเท้าอีเอ็ม (EM) จากกรณีถูกศาลฎีกาพิพากษาจำคุกเป็นเวลา 2 ปี 8 เดือน ในคดีการชุมนุมหน้าบ้านสี่เสาเทเวศร์ เมื่อปี 2550

 

นายณัฐวุฒิเปิดใจว่า แม้จะได้รับอิสรภาพแต่ก็ยังคงมีอีกหลายคดีรออยู่ ทั้งคดีการชุมนุมในปี 2552 และ 2553 รวมทั้งถูกตัดสิทธิ์ทางการเมืองเป็นเวลา 10 ปี ไม่สามารถลงสมัครการเมืองระดับใดได้ทั้งสิ้น

แต่ไม่เคยลืมจุดยืนคือการต่อสู้ตามแนวทางประชาธิปไตยที่ให้บ้านเมือง อำนาจการปกครองเป็นของประชาชน คนเราต้องเท่าเทียมกัน

“ผมไม่รู้สึกเสียใจที่เลือกเส้นทางสายนี้ และมีคดีความมากมาย ติดคุกมาแล้ว 3 ครั้ง และไม่แน่ใจจะมีอีกกี่ครั้ง ความเจ็บปวดผมรับได้ ภาระที่ต้องแบกรับไม่หวั่นไหว” นายณัฐวุฒิระบุ

และยังกล่าวถึงการเคลื่อนไหวของกลุ่มเยาวชน นิสิต นักศึกษา ว่าเคารพในฐานะนักต่อสู้ และขอย้ำจุดยืนอยู่เคียงข้างกับนิสิต นักศึกษา ประชาชน ไม่มีเปลี่ยนแปลง แต่ขอปฏิเสธข้อกล่าวหาบิดเบือนให้ร้ายป้ายสีว่า การแสดงจุดยืนเช่นนี้หมายถึงการโค่นล้มสถาบัน

“ผมเป็นคนเสื้อแดง เป็นมาสิบกว่าปี ถูกขับไล่เหยียบย่ำแบบรับคำเหยียดหยาม ถูกเรียกเป็นควาย ขบวนการล้มเจ้า ถูกกาหัวว่าเป็นพวกไร้การศึกษา แต่คนหนุ่ม-สาวเหล่านี้เป็นคนกลุ่มแรกที่หยิบยื่นความเข้าใจ เห็นใจ หยิบยื่นเกียรติยศ เรียกพวกผมที่กลางท้องถนน เป็นคนกลุ่มแรกที่บอกว่า เข้าใจเห็นใจเรา และเป็นคนกลุ่มแรกที่ขอโทษพวกเรา ในนามของมนุษย์ ผมจึงทิ้งพวกเขาไม่ได้”

นายณัฐวุฒิยังได้บอกว่า ได้เคยสนทนากับนายพริษฐ์ ชิวารักษ์ หรือเพนกวิน ในเรือนจำ

“ผมได้ถามเพนกวินในเรือนจำ ว่าใช้คำปราศรัยของพวกพี่ ตะโกนชื่อพวกพี่อยู่หลายเวที น้องรู้จักพี่ได้ยังไง เพนกวินบอกว่า เขารู้จักผมตั้งแต่อายุ 11 ขวบ ตั้งแต่ปี 2553 คำตอบของเขาสั้นๆ แต่ทำให้ผมคิดยาว เพราะปี 2553 ผมได้ร่วมต่อสู้ครั้งใหญ่ เพนกวินอายุ 11 ขวบ เหตุการณ์ครั้งนั้นผ่านมา 10 ปี ถึงปี 2563 เพนกวินเป็นแกนนำต่อสู้ มีคดีความติดคุกอยู่เวลานี้”

“สิ่งที่ผมคิดยาว ถ้าเรื่องราวยังยุ่งเหยิง ยังหาข้อยุติไม่ได้อีก 10 ปี ลูกชายผมจะอายุเท่าเพนกวินวันนี้ แล้วก็ไม่แน่ว่า อีก 10 ปี ลูกชายผมต้องมาเจอสภาพแบบนี้ ไม่แน่ว่า คนที่จะต้องวิ่งขึ้นวิ่งลงบันไดศาล พยายามให้ลูกต้องได้รับอิสรภาพ อาจจะไม่ใช่แม่เพนกวิน แม่ไมค์ แม่รุ้ง แม่ไผ่ แต่อาจจะเป็นผม พ่อของ ด.ช.นปก ใสยเกื้อ วันนี้ก็ได้”

“ผมถึงบอกว่า คนรุ่นเรานี่แหละที่ต้องรับผิดชอบ ถามหัวใจคนเป็นพ่อเป็นแม่ทุกคนว่า เรายังปล่อยให้เป็นแบบนี้ได้หรือ เราจะเข้าคิวรอการเป็นพ่อ-แม่ที่ต้องวิ่งประกันตัวลูก ที่ต้องอกสั่นขวัญแขวน เมื่อเห็นลูกต้องเผชิญหน้ากับเจ้าหน้าที่ ผมว่าเรายอมให้เป็นแบบนั้นไม่ได้”

“กับคนหนุ่มคนสาว เมตตาเถอะครับ อย่าอาฆาต อย่าพยาบาท และผมเชื่อว่า บ้านเมืองมันมีทางออก ขอส่งความปรารถนาดีๆ ไปถึงประชาชน คนหนุ่ม-สาว ไปยังเยาวชนที่ต่อสู้อยู่เวลานี้”

“จริงๆ โดยวัยนับกันยาก แต่พวกเขาเรียกผมติดปากว่าพี่ แม้ว่าจะรู้จักเป็นการส่วนตัวน้อยคนมาก ที่ยังอยู่ข้างนอกไม่เคยรู้จักแม้แต่คนเดียว ที่อยู่ข้างในก็ไปรู้จักกันข้างในแทบจะทั้งหมด แต่อยากจะบอกว่าพี่เต้นยังอยู่ตรงนี้ พี่เต้นเคียงข้างเสมอ เข้าใจและเห็นใจ และไม่คิดว่าจะทอดทิ้งกัน”

 

ความรู้สึกที่หลั่งไหลออกมาของนายณัฐวุฒิ

แสดง “ชัดเจน” ถึงการเป็นฝ่ายเดียวกันกับกลุ่มเยาวชนและนิสิต นักศึกษา

เพียงแต่อาจไม่ชัดเจนว่าในตอนนี้จะออกไปร่วมเคลื่อนไหวกับพวกเขาเหล่านั้น

ซึ่งจุดนี้ อาจจะต่างจากนายจตุพร

ที่ได้เตรียมออกมาเคลื่อนไหวในวันที่ 4 เมษายนนี้

ทั้งนี้ นายณัฐวุฒิรับว่ากับนายจตุพรยังไม่ได้มีการพูดคุยหารือใดๆ กัน มีเพียงแค่โทร.คุยถามสารทุกข์สุกดิบกันเท่านั้น

และเห็นว่านายจตุพร และหลายคนที่ออกมาเคลื่อนไหวก็มีศักยภาพอยู่แล้ว

ขณะเดียวกันในฐานะที่เป็นอดีตแกนนำ นปช.ยังไม่มีแนวคิดเคลื่อนไหวนำมวลชนคนเสื้อแดงออกมาชุมนุมใหญ่ หรือชุมนุมร่วมกับกลุ่มอื่นๆ ในขณะนี้

ซึ่งตรงนี้ หากติดตามการเคลื่อนไหวของ นปช.และคนเสื้อแดง คงไม่ประหลาดใจกับการ “ไม่เป็นเนื้อเดียวกัน” ของฝ่ายนายจตุพรและฝ่ายนายณัฐวุฒิ

ทั้งนี้เนื่องจากระยะนายจตุพรเคลื่อนไหวในนามส่วนตัว และในความเป็นส่วนตัวนั้น ถูกมองว่าแปลกแยกกับคนเสื้อแดง

ทำให้เกิดความบาดหมางมาเป็นระยะๆ

ถึงขนาดถูกกล่าวว่า “เปลี่ยนไป” และยังเคยเสนอให้มีการยุบ นปช.โดยอ้างว่าสถานการณ์เปลี่ยนไปแล้ว

แต่ถูกนางธิดา ถาวรเศรษฐ อดีตประธาน นปช.คัดค้านและได้ทำโพลคนเสื้อแดง ปรากฏว่า ร้อยละ 95.7 เห็นว่าไม่ควรยุบ

ทำให้ นปช.ยังคงดำรงอยู่แต่แกนนำ อยู่ในภาวะที่ต่างฝ่ายต่างทำกิจกรรม ไม่ยุ่งเกี่ยวต่อกัน

จนทำให้คนเสื้อแดงและ นปช.ถูกมองว่า “อ่อนล้า” และเข้าสู่ยุคตกต่ำ

 

ยังไม่มีการคาดการณ์ ว่าที่นายจตุพรออกไปเคลื่อนไหวร่วมกับ “ศูนย์กลางสามัคคีประชาชนเพื่อประเทศไทย” มีเป้าหมายโค่น พล.อ.ประยุทธ์

หลังจากนี้ จะโน้มนำให้หวนกลับมาเป็นเนื้อเดียวกันกับ นปช.ฝ่ายของนายณัฐวุฒิ ที่ประกาศเยือนเคียงข้างคณะราษฏร เยาวชน และนิสิต นักศึกษา หรือไม่

เพราะมีจุดต่างและจุดแตก อยู่อย่างมาก

การจะกลับมาเป็นขบวนเดียวกัน “ไม่ง่าย”

เช่น นายจตุพรเสนอคณะราษฎรให้ลดข้อเรียกร้องจาก 3 ข้อ เหลือเพียงข้อเดียว คือขับไล่ พล.อ.ประยุทธ์ โดยเชื่อว่า กระแสประชาชนจะออกมาร่วมชุมนุมถล่มทลาย

ซึ่งก็คงยากที่กลุ่มราษฎรจะลดเพดานลง

แต่กระนั้น โอกาสที่จะแสวงจุดร่วม สงวนจุดต่าง ก็ยังคงมี ไม่ใช่ไม่มี

หากได้แลกเปลี่ยนกันอย่างเปิดกว้าง

โดยเฉพาะการเห็นว่า พล.อ.ประยุทธ์เป็นปัญหาที่จะต้องถูกขจัดออกไป

ซึ่งตรงนี้อาจจะทำให้ขบวนการต่อต้านรัฐบาลที่สืบทอดมาจากการรัฐประหารสามารถรวมตัวเป็นเอกภาพได้

นั่นย่อมจะเป็นข่าวร้ายกับรัฐบาลอย่างยิ่ง

 

จึงไม่น่าแปลกใจที่นายเสกสกล (แรมโบ้อีสาน) อัตถาวงศ์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำนายกรัฐมนตรี ออกมาจี้ให้นายจตุพรทบทวนการเคลื่อนไหว เพราะอาจเป็นการซ้ำเติมประเทศ

นายจตุพรอย่ากินไม่ได้ถ่ายไม่ออก ไม่ได้อะไรสมดังใจก็ใส่ความแต่นายกฯ

“ขอเตือนนายจตุพรอีกครั้ง อาจจะมีกลุ่มที่เคลื่อนไหวล้มสถาบันอยู่ในขณะนี้นำเรื่องสถาบันมาผสมโรงกับการเคลื่อนไหวนายจตุพรด้วย และอาจถูกหลอก ถูกใช้เป็นเครื่องมือในการเคลื่อนไหวล้มสถาบันแบบไม่รู้ตัว เหมือนเหตุการณ์ในอดีตที่นายจตุพรพาคนเสื้อแดงมาตายไปกี่คน ควรหยุดเคลื่อนไหวได้แล้ว” นายเสกสกลกล่าว

เช่นเดียวกับ พล.อ.ประยุทธ์ที่กล่าวว่า “สื่อสนับสนุนเขาหรือไม่ อยากให้บ้านเมืองเป็นแบบเดิมอีกหรือไม่ ถ้าอยากให้บ้านเมืองเกิดอะไรขึ้นแบบเดิม สื่อก็ช่วยขยายไปให้เขาก็แล้วกัน”

 

ในนาทีนี้ แม้ว่าตู่คือนายจตุพร

และเต้นคือนายณัฐวุฒิ จะยังไม่มีคำตอบว่า ตู่-เต้น จะกลับมาผนึกกำลังสู้เหมือนในอดีตหรือไม่

แต่…หากหวนคืนรวมกันได้

อาจทำให้ตู่ อันหมายถึง พล.อ.ประยุทธ์

มีอาการ ตู่ “เต้น” ก็ได้