ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 2 - 8 เมษายน 2564 |
---|---|
คอลัมน์ | โล่เงิน |
เผยแพร่ |
หมายเหตุ : บทความนี้เผยแพร่ครั้งแรกเมื่อวันที่ 02/04/2021
เป็นเรื่องฮือฮาอีกครั้งเมื่อ ก.ตร.แต่งตั้ง พล.ต.ท.สุรเชษฐ์ หักพาล นั่งที่ปรึกษา (สบ9) สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.)
ต่างจับตาเพราะ ‘บิ๊กโจ๊ก’ กว่าจะเกษียณอายุอีก 10 ปี
การคัมแบ๊กของนายตำรวจแมวเก้าชีวิตคนนี้ ทำให้มีเสียงสะท้อนตอกย้ำว่า การปฏิรูปตำรวจล้มเหลวหรือไม่
นับตั้งแต่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เข้าทำการยึดอำนาจเมื่อ พ.ศ.2557 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะ คสช.ในขณะนั้น มีคำสั่งหัวหน้า คสช.เกี่ยวกับการปฏิรูปตำรวจหลายฉบับ เช่น การยุบแท่งพนักงานสอบสวน รวมทั้งการให้อำนาจ ผบ.ตร.ในการแต่งตั้งโยกย้าย เพื่อแก้แต่งตั้งโยกย้ายซื้อ-ขายเก้าอี้
แต่การออกคำสั่งเหล่านี้คนในองค์กรสีกากีเข้าใจว่าเป็นเรื่องที่ผู้มีอำนาจในรัฐบาลพยายามแทรกแซงองค์กรตำรวจ โดยอ้างเหตุผลการปฏิรูป
หากยังจำกันได้ แม้มีคำสั่ง คสช.ออกมาหลายฉบับเกี่ยวกับหลักเกณฑ์พิจารณาแต่งตั้งข้าราชการตำรวจ
แต่การแต่งตั้งสารวัตร (สว.)-รองผู้บังคับการ (รอง ผบก.) วาระประจำปี 2558 ยืดเยื้อล่วงเวลาตามกรอบกฎหมายไปมาก
ต่อมาปี 2559 ยังคงล่าช้าซ้ำรอยเดิม เพิ่มเติมคือแต่งตั้งคนตายมาดำรงตำแหน่ง ออกคำสั่ง ถอนคำสั่ง อีกสารพัดปัญหา
จบด้วยคำว่าเป็นความผิดพลาดทางธุรการ
เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เหล่าสีกากีต่างรู้ดีว่า คำสั่งหัวหน้า คสช.มิอาจสกัดการวิ่งเต้นซื้อ-ขายตำแหน่ง เพราะสิ่งที่เป็นปัญหา คือผู้มีอำนาจรู้เห็นเป็นใจให้ตำรวจคนใกล้ชิดรุมสกรัมยำโผจนระบบรวน
นอกจากนี้ ในยุค คสช.เมื่อปี 2559 ยังแก้กฎ ก.ตร.ว่าด้วยการแต่งตั้งข้าราชการตำรวจ พ.ศ.2559 ที่แวดวงสีกากีพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า เอื้อประโยชน์ให้นายพลคนดัง ที่ใกล้ชิดผู้มีอำนาจ ขยับเป็นนายพล ก่อนชักบันไดหนี ถ่างกฎแต่งตั้ง ไม่ให้เพื่อนๆ น้องๆ เติบโตทัน
ทำให้กว่า 6 ปี การปฏิรูปตำรวจในยุค คสช. ยังไปไม่ถึงฝั่งฝัน ย่ำวนอยู่กับการยกเว้นหลักเกณฑ์ให้คนมีตั๋ว และการวิ่งเต้นซื้อ-ขายตำแหน่งเช่นเดิม
ความหวังปฏิรูปตำรวจกลับมาอีกครั้ง ในยุค พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี โดยต้นปี 2563 ร่าง พ.ร.บ.ตำรวจ ฉบับนายมีชัย ฤชุพันธุ์ เป็นประธาน ที่หยิบมาเติมบางส่วนจากร่างของ พล.อ.บุญสร้าง เนียมประดิษฐ์ อดีตสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ แต่ ครม.กลับส่งร่างฉบับนี้ไปยัง ตร. จนแปรร่างใหม่มีข้อไม่เห็นด้วย 14 ประเด็น แล้วส่ง พ.ร.บ.ฉบับแปลงสาร เข้า ครม.
ต่อมา 19 มกราคม 2564 ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ และที่ประชุมรัฐสภามีมติรับหลักการเมื่อ 24 กุมภาพันธ์ 2564
ร่างฉบับนี้ สาระสำคัญป้องกันการวิ่งเต้นโยกย้าย ในมาตรา 79 ระบุว่า ผู้ใดให้ ขอให้ หรือรับว่าจะให้ทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดหรือแอบอ้างอำนาจของบุคคลใด หรือเรียก รับ ยอมจะรับทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใด หรือกระทำการใดอันมิชอบ เพื่อให้มีการแต่งตั้ง หรือไม่แต่งตั้งผู้ใดให้ดำรงตำแหน่งใด ไม่ว่าการแต่งตั้งหรือไม่แต่งตั้งนั้นจะชอบด้วยหลักเกณฑ์ตามพระราชบัญญัตินี้หรือไม่ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี
ทว่านายวิชา มหาคุณ ประธานคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย กรณีคำสั่งไม่ฟ้องคดีอาญาที่อยู่ในความสนใจของประชาชน มองว่าการปฏิรูปตำรวจล่วงเลยมา 4 ปีแล้ว ทั้งๆ ที่ต้องทำเสร็จหลัง 1 ปี หลังประกาศใช้รัฐธรรมนูญเมื่อปี 2560
นายวิชาให้ความเห็นว่า ถ้าจะปฏิรูปองค์กรไหน อย่าให้คนในองค์กรนั้นเข้ามาเอี่ยว ไม่เช่นนั้นจะโดนสกัด
ร่าง พ.ร.บ.ตำรวจที่ถูกแปลงสารใหม่จาก ตร. มีประเด็นแตกต่างจากร่างนายมีชัย
ได้แก่
1. การระบุเกณฑ์ตำรวจอารักขาบุคคลสำคัญ ที่มิใช่พระบรมวงศานุวงศ์ ในมาตรา 7 เพื่อแก้ปัญหาการสูญเสียกำลังพลที่ติดตามบุคคลต่างๆ โดยไม่มีที่มาที่ไปชัดเจน ได้ถูกตัดไป
2. องค์ประกอบของ ก.ตร. มีความเปลี่ยนแปลง โดยเพิ่มสัดส่วนของกรรมการจากตำรวจมากขึ้น จากเดิมให้มีเพียงฝ่ายปราบปราม สอบสวน และกิจการพิเศษ ตำรวจจึงมีเสียงข้างมากในที่ประชุม
3. วิธีการเลือกกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ก.ตร. ซึ่งถือว่าเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ ที่ให้ประธานรัฐสภา นายกรัฐมนตรี ประธานศาลฎีกา คัดเลือกผู้ทรงคุณวุฒิจาก 6 คน ให้เหลือ 3 คน ตรงนี้ถูดตัดออกไป ให้ ก.ตร.จัดเลือกกันเอง แทนที่จะให้ กกต.จัดเลือกตั้งให้ และลดฐานของผู้มีสิทธิเลือกจากสัญญาบัตรทุกคน กลายเป็นตั้งแต่รอง ผกก.ขึ้นไป เหมือนการเลือกคณะกรรมการตุลาการ (ก.ต.) คณะกรรมการอัยการ (ก.อ.)
4. การแบ่งสถานีตำรวจเป็นระบบ เล็ก กลาง ใหญ่ และนายตำรวจที่ได้รับการแต่งตั้งเป็น ผกก., รอง ผกก. ครั้งแรก ต้องเริ่มจาก สน.เล็ก หรือกลางก่อน เมื่อครบ 2 ปี ถึงย้ายไป สน.ใหญ่ แต่ร่างที่แก้ไขกลับลดเหลือสองระดับ คือเล็กและใหญ่ ตัดเงื่อนเวลา 2 ปีออกไป
5. การบริหารภายในสายงานสอบสวน จะให้มีผู้บังคับบัญชาของสายงานสอบสวนโดยเฉพาะ แก้ไขเป็นขึ้นกับผู้บังคับบัญชาทั่วไปเหมือนเดิม ทำให้ขาดความเป็นอิสระในสายงาน
6. ระบบคะแนนประจำตัว ยังคงใช้ระบบแบ่งกองเหมือนเดิมเป็นส่วนใหญ่
7. เกณฑ์การย้ายข้ามสายงาน หรือข้ามกองบัญชาการเข้มข้นน้อยลง เอาสิ่งที่สกัดไม่ให้ข้ามสายงานออกไป เช่น ระบบคะแนนประจำตัว
8. การตั้งหน่วยงานใหม่ในช่วง 10 ปี ถูกตัดออก การมีตำรวจบางประเภทไม่มียศและวินัยแบบทหาร เช่น แพทย์ พยาบาล นักวิทยาศาสตร์ ถูกตัดออก
ตรงนี้แทนที่ตำรวจจะใช้ความรู้ความเชี่ยวชาญในหน้าที่ แต่ต้องอยู่ภายใต้บังคับบัญชา ต้องเชื่อฟังคนที่มียศสูงกว่า
“ตั้งแต่ข้อ 4-8 คือการปฏิรูปครั้งใหญ่ในการแต่งตั้งโยกย้าย ป้องกันวิ่งเต้น ซื้อ-ขายตำแหน่ง แต่กลับถูกตัดออก หรือปรับให้เข้มข้นน้อยลง” นายวิชาระบุ
พร้อมยกตัวอย่างให้ฟังว่า ถ้ามีปฏิรูปตำรวจ การแต่งตั้งโยกย้ายเป็นธรรม หากเกิดกรณีมีคนเก่งแต่ไร้คุณธรรม ขาดจริยธรรม ไม่ใช่คนดี ระบบจะตรวจสอบคนเก่งที่ไม่ดีได้ตั้งแต่ต้น
คณะกรรมการชุดของนายวิชาได้เสนอต่อนายกฯ โดยให้ปฏิรูปตำรวจสอดคล้องมาตรา 258 ง. ตามรัฐธรรมนูญ
สุดท้ายแม้ พ.ร.บ.ตำรวจจะถูกตราออกมาเป็นกฎหมายบังคับใช้กับตำรวจกว่า 2 แสนนาย
แต่การปฏิรูปไม่ได้เกิด ไม่สามารถแก้การแทรกแซงแต่งตั้งโยกย้ายได้อย่างแท้จริง
ที่ตีปี๊บปฏิรูปสีกากี หลังจาก คสช.ยึดอำนาจ นับเป็นอีกเรื่อง ถือว่ารัฐประหารเสียของ!