ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 2 - 8 เมษายน 2564 |
---|---|
คอลัมน์ | คลุกวงใน |
ผู้เขียน | พิศณุ นิลกลัด |
เผยแพร่ |
คลุกวงใน
พิศณุ นิลกลัด
Facebook : @Pitsanuofficial
กอล์ฟ เดอะ มาสเตอร์ส มาแล้ว
กอล์ฟ The Masters การแข่งขันกอล์ฟเมเจอร์รายการแรกของปีนี้จะมีขึ้นระหว่างวันที่ 8-11 เมษายน ที่สนามออกัสต้า ในเมืองออกัสต้า รัฐจอร์เจีย สหรัฐอเมริกา รอบฝึกซ้อมมี 3 วัน 5-7 เมษายน
การแข่งขันมาสเตอร์สปีนี้จัดเป็นครั้งที่ 85 แข่งกันมาตั้งแต่ปี 1934 งดจัดในปี 1943, 1944 และ 1945 เพราะอยู่ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2
เมื่อปีที่แล้ว แม้จะเกิดวิกฤตโควิด-19 มาสเตอร์สก็ไม่เลิกการแข่งขัน แต่เลื่อนแข่งขันจากเดือนเมษายน มาเป็นเดือนพฤศจิกายน โดยไม่มีผู้ชมในสนาม
มาสเตอร์สปีนี้ ที่แน่นอนก็คือจะไม่มีไทเกอร์ วูดส์ แชมป์มาสเตอร์ส 5 สมัย ที่เพิ่งประสบอุบัติเหตุรถคว่ำ ขาหัก เมื่อปลายเดือนกุมภาพันธ์
นี่นับเป็นครั้งที่ 4 ที่ไทเกอร์ไม่ได้ลงแข่งมาสเตอร์ส นับตั้งแต่แข่งขันครั้งแรกในปี 1995
สามครั้งที่ไทเกอร์ไม่ได้ลงแข่งขันมาสเตอร์ส คือปี 2014, 2016 และ 2017 เพราะปัญหาปวดหลังเรื้อรังทั้ง 3 ครั้ง
ข่าวล่าสุด มาสเตอร์สปีนี้จะมีนักกอล์ฟเข้าแข่งขัน 89-90 คน
สำหรับผู้ชมในสนามยังไม่ทราบว่าจะกำหนดไว้ที่กี่คนต่อวัน ทราบแต่ว่านักกอล์ฟที่เข้าแข่งขันแต่ละคนจะได้ตั๋วแบบใบเดียวดูได้ทั้งสัปดาห์ 4 ใบ เช่นเดียวกับสมาชิกของสนามออกัสต้าที่จะได้ตั๋วคนละ 4 ใบเช่นกัน
สนามออกัสต้าปัจจุบัน เดิมทีเมื่อร้อยกว่าปีก่อนเป็นสวนปลูกผลไม้ เช่น ลูกพีช แอปเปิล และองุ่น ตลอดจนมีต้นไม้ ดอกไม้ปลูกเต็มพื้นที่
เมื่อนำที่ดินมาสร้างเป็นสนามกอล์ฟออกัสต้าในปี 1933 ต้นไม้มากมายหลายต้นที่อายุหลายสิบปีหรือเป็นร้อยปี ก็ยังรักษาไว้ ไม่ได้ถูกตัดทิ้ง จึงทำให้ออกัสต้าเป็นสนามกอล์ฟที่มีต้นไม้ดอกไม้สวยงาม
ชื่อของหลุมทั้ง 18 หลุมของสนามออกัสต้า ก็ตั้งชื่อตามต้นไม้ ดอกไม้ในสนาม เช่น แมกโนเลีย (Magnolia), จูนิเปอร์ (Juniper) และเยลโลว์ จัสมิน (Yellow Jasmine)
นับตั้งแต่ปี 1999 สนามออกัสต้าทุ่มเงินกว่า 200 ล้านดอลลาร์ หรือ 6,000 ล้านบาทในการซื้อบ้านที่อยู่รอบๆ สนามออกัสต้าประมาณ 100 หลัง เนื้อที่ 675 ไร่และรื้อบ้านเหล่านั้นทิ้ง เพื่อความเป็นส่วนตัวของสนามออกัสต้า
รวมถึงทำเป็นที่จอดรถฟรีให้กับผู้ชมเวลาจัดการแข่งขันมาสเตอร์ส
ซึ่งเจ้าของบ้านที่ขายบ้านให้กับทางสนามนั้น กลายเป็นเศรษฐีในพริบตาเพราะทางสนามออกัสต้ายื่นข้อเสนอซื้อบ้านในราคาสูงกว่าท้องตลาด เป็นราคาที่เจ้าของบ้านปฏิเสธไม่ลง
แต่มีเจ้าของบ้านเลขที่ 1112 Stanley Drive ที่มีบ้านขนาด 158 ตารางเมตร บนที่ดินขนาด 1 ไร่ ติดกับสนามออกัสต้า ที่ไม่ว่าทางสนามออกัสต้าจะเสนอราคากว่า 30 ล้านบาท แม้มูลค่าบ้านจริงๆ จะอยู่ที่ 350,000 ดอลลาร์ หรือ 10 ล้านบาท
สองสามี-ภรรยาเจ้าของบ้านก็ไม่ยอมใจอ่อนขาย โดยบอกว่าเลี้ยงลูก 2 คน หลาน 5 คน และเหลน 5 คนที่บ้านหลังนี้ บ้านนี้มีคุณค่าทางจิตใจที่เงินมากแค่ไหนก็ซื้อไม่ได้ เลยกลายเป็นบ้านเพียงหลังเดียวที่อยู่ติดกับสนามออกัสต้า
อลิซาเบธและเฮอร์แมน แธคเคอร์ (Elizabeth and Herman Thacker) เจ้าของบ้านขนาด 3 ห้องนอน 2 ห้องน้ำ ที่สร้างปี 1959 หรือเมื่อ 62 ปีก่อน เคยให้สัมภาษณ์เมื่อปี 2016 ว่า ทุกปีตัวแทนของสนามออกัสต้าจะมาหาที่บ้านและบอกว่าทางสนามยังสนใจที่จะซื้อบ้านหลังนี้
แต่ทุกปีก็ได้คำตอบเดิมว่า ไม่ขาย เพราะมีความหลัง ความทรงจำมากมายในบ้านหลังนี้
เฮอร์แมนบอกว่า เงินไม่ใช่ทุกสิ่งทุกอย่าง แถมยังออกไอเดียแก้เผ็ดสนามออกัสต้าว่า หากตัวแทนสนามออกัสต้ามาตื๊อขอซื้อบ้านหลังนี้อีก จะเสนอราคาสูงมากจนทางสนามออกัสต้องตอบปฏิเสธ
อย่างไรก็ตาม เฮอร์แมนมีบ้านอีกหลังที่อยู่ไม่ห่างจากบ้านหลังที่เขากับภรรยาอาศัย ซึ่งได้ใจอ่อนขายให้กับสามออกัสต้าในราคา 1.2 ล้านดอลลาร์ หรือ 36 ล้านบาท
ทุกปี เวลามีการแข่งขันมาสเตอร์ส ก็จะมีรถของผู้เข้าชมมาจอดเต็มรอบบ้าน แต่ทั้งคู่ก็ไม่รู้สึกรำคาญ เพราะเกิดขึ้นแค่ 1 สัปดาห์ต่อปี
ด้วยความที่บ้านติดกับสนามออกัสต้า ทำให้หลานชายชื่อ สก็อต บราวน์ ฝันที่จะเป็นนักกอล์ฟอาชีพ และก็ได้เป็นนักกอล์ฟอาชีพใน PGA Tour จริงๆ
สก็อต บราวน์ วัย 37 ปี ปัจจุบันเป็นนักกอล์ฟมืออันดับ 167 ของโลก แต่ยังไม่เคยได้ลงแข่งขันมาสเตอร์ส
เฮอร์แมนบอกว่า สักวันหนึ่งหลานชายจะได้ลงแข่งมาสเตอร์ส แต่เฮอร์แมนจากไปเมื่อปี 2019 ในวัย 86 ปี
มาสเตอร์สเป็นการแข่งขันกอล์ฟเมเจอร์ที่สืบทอดมานานเกือบร้อยปี ได้รับการกล่าวขานว่าเป็นการแข่งกีฬาที่ได้ตั๋วยากที่สุดเป็นอันดับต้นๆ ของโลก
มาสเตอร์สไม่มีการขายตั๋วให้กับคนทั่วไปนับตั้งแต่ปี 1972 ผู้ที่สนใจซื้อตั๋วต้องลงชื่อไว้ใน Waiting List และรอซื้อตามคิว
แต่เพียง 6 ปีก็ต้องปิดระบบ Waiting List ในปี 1978 เพราะคนสนใจลงชื่อรอคิวซื้อตั๋วล้นหลามข้ามไปเป็น 10 ปี
ในปี 2000 ได้มีการเปิดระบบ Waiting List อีกครั้ง และได้รับความสนใจอย่างมากมายอีกเช่นเคย จนต้องปิด Waiting List ในปีเดียวกันนั้นเอง
คนที่มีตั๋วมาสเตอร์ส ส่วนใหญ่ได้รับสิทธิ์ซื้อตั๋วที่สืบทอดมากจากพ่อ-แม่ หรือปู่-ย่า ตา-ยาย โดยตั๋วเข้าชมการแข่งขันแบบ 4 วัน ราคาอยู่ที่ 375 ดอลลาร์ (12,000 บาท) ซึ่งคนที่ได้เข้าชมการแข่งขันมาสเตอร์สเป็นประจำทุกปี นิยมอวดความเก๋า ด้วยการนำตั๋วมาสเตอร์สปีที่ผ่านๆ มา เหน็บไว้รอบหมวกที่สวมชมการแข่งขัน ยิ่งมีตั๋วมาก ยิ่งดูเท่
มาสเตอร์สเป็นการแข่งขันที่มีธรรมเนียมปฏิบัติไม่เหมือนใคร
จนมีคำกล่าวยกย่องความมีเอกลักษณ์ของการแข่งขันมาสเตอร์สว่า “A Tradition Unlike Any Other”