จุดเปลี่ยนการต่างประเทศไทย / โลกทรรศน์ อุกฤษฏ์ ปัทมานันท์

อุกฤษฏ์ ปัทมานันท์

โลกทรรศน์

อุกฤษฏ์ ปัทมานันท์

 

จุดเปลี่ยนการต่างประเทศไทย

 

เมื่อไม่นานมานี้ ผมมีโอกาสร่วมประชุมและรับฟังความคิดเห็นเรื่อง การต่างประเทศไทย ที่จัดโดยศูนย์ศึกษาการต่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศ

วันนั้น ผมได้รับฟังความคิดเห็นของอดีตทูต อดีตปลัดกระทรวงการต่างประเทศในช่วงทศวรรษ พ.ศ.2530 ถึง 2560 รวมทั้งผู้ทรงคุณวุฒิมากมาย

ผมจะสรุปประเด็นที่น่าสนใจบางประเด็น แล้วเสนอความคิดเห็น

สิ่งที่ติดใจของผมเองคือ เวลานี้นับเป็น จุดเปลี่ยนการต่างประเทศไทย หรือไม่

จุดเปลี่ยนของอะไร

นี่เป็นความคิดเห็นของผม ที่คิดว่าน่าจะเป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม

ไม่ได้เกี่ยวข้องกับผู้จัดสัมมนาแต่อย่างใด

จุดเปลี่ยน : ปัจจัยใหม่

 

ที่ผ่านมา มีปัจจัยใหม่ที่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงของโลกและภูมิภาคที่มีผลต่อการต่างประเทศไทยมาก ได้แก่

ภูมิภาคเอเชียตะวันออก

มีการเปลี่ยนแปลงความสัมพันธ์ระหว่างภูมิภาคเอเชียตะวันออก จีนยังคงพุ่งทะยานไม่หยุดทางการเมือง เศรษฐกิจและเทคโนโลยี แม้เกิดโควิด-19 มหายุทธศาสตร์ หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง (Belt and Road Initiative-BRI) ยังคงเสริมสร้างบทบาทของจีนในเอเชียและโลก

ในขณะที่ญี่ปุ่นและสาธารณรัฐเกาหลี ก็ขับเคลื่อนตัวเองในเอเชียตะวันออกและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

อินโด แปซิฟิก (Indo Pacific)

ระเบียบการเมือง เศรษฐกิจใหม่อินโด แปซิฟิกก็แข็งขัน ด้วยความร่วมมือของพันธมิตร ญี่ปุ่น สาธารณรัฐเกาหลีและออสเตรเลีย ด้วยการนำของสหรัฐอเมริกา ด้วยการใช้กรอบความคิด เปิด (Open) เสรี (Free) ที่นำโดยสหรัฐอเมริกา

ภูมิรัฐศาสตร์ที่ต่างกันและท้าทาย

ไม่เพียงแนวคิดภูมิรัฐศาสตร์ถูกผลักดันเข้ามามากในหลายภูมิภาค แต่การสร้างกลุ่มและการขับเคลื่อนเชิงภูมิศาสตร์ได้วางขอบเขตความร่วมมือทางการเมือง เศรษฐกิจและยุทธศาสตร์ของจีนและสหรัฐอเมริกาขึ้นมา ในแง่พื้นที่ อิทธิพลและระเบียบใหม่ ภายใต้ภูมิรัฐศาสตร์เหล่านี้ การเคลื่อนไหวต่างๆ เช่น ลัทธิชาตินิยม ลัทธิต่อต้านโลกาภิวัตน์ สร้างความปั่นป่วนต่อภูมิภาค เพราะแนวคิดและการเคลื่อนไหวเหล่านี้ ไม่ยอมรับระบบ พหุภาคี (Multilateralism) ทำให้เกิดการแบ่งแยกเขต/พื้นที่ อันกีดกันชาติพันธุ์ เพศ และคนกลุ่มน้อย

เทคโนโลยีและความปั่นป่วน

ดิจิตอลไลเซชั่น ไม่เพียงก่อผลทางเศรษฐกิจทั้งการค้า การบริการ การลงทุนข้ามพรมแดนอย่างกว้างขวาง พร้อมด้วยมูลค่ามหาศาล แต่บางส่วนเป็นสิ่งปลอม (Fake) ข่าวปลอม เงินปลอม สินค้าปลอม และอาชญากรรมข้ามชาติ

จนกระทั่งหลายๆ ชาติต้องกลับมาทบทวนและปรับกติการะหว่างประเทศในแง่การกำกับดูแล (regulation) กันใหม่ อันมีผลต่อความสัมพันธ์ระหว่างประเทศด้วย

 

ทศวรรษที่หายไป การถดถอยของไทย

มีข้อเสนอเรื่อง ทศวรรษที่หายไป หรือที่ภาษาอังกฤษใช้ความว่า Lost Decade ที่ไม่ใช่ไทยไม่ได้ให้ความสำคัญต่อการเปลี่ยนแปลงจากภายนอกดังที่กล่าวไปแล้วข้างต้น

ไทยให้ความสำคัญและมองเห็นความเปลี่ยนแปลงเหล่านี้

แต่ “ปัญหาภายใน” ของไทยเองต่างหากที่เป็นอุปสรรคและสร้างปัญหาของเราเอง จนกระทั่งบทบาทด้านการต่างประเทศของไทยถดถอยลงอย่างสำคัญ

เรื่องความถดถอยของไทย เห็นได้ชัดใน บทบาทของไทยในอาเซียน

มีข้อสังเกตว่า ณ เวลานี้และในอนาคต โลกมองอาเซียน เขาจะนึกถึงอินโดนีเซียในแง่เป็นประเทศใหญ่ มีประชากรและทรัพยากรมาก

อีกทั้งการแสดงบทบาทสำคัญในกิจการต่างประเทศ โลกเองมองอาเซียน โลกมองเห็นสิงคโปร์เสมอ

เขาเห็นสิงคโปร์มิใช่ตัวแบบของความสำเร็จทางเศรษฐกิจเพียงอย่างเดียว สิงคโปร์มีความสำคัญในภูมิภาค เพราะสิงคโปร์ไม่ได้พูดถึงสิงคโปร์เอง แต่สิงคโปร์มองกติกาโลก กติการะหว่างประเทศ มองประเด็นเรื่องระดับโลกเสมอ อันนี้ทำให้สิงคโปร์โดดเด่น

ครั้นโลกมองมาเลเซีย อย่างน้อยมาเลเซียยังมีความโดดเด่นและมีบทบาทสำคัญด้านโลกมุสลิม แล้วตรงนี้นี่เองที่มาเลเซียยังคงได้รับการยอมรับในอาเซียนด้วย

น่าสนใจ โลกกำลังมองดาวรุ่งแห่งอาเซียน คือเวียดนาม ทั้งทางเศรษฐกิจ การเมืองระหว่างประเทศและบทบาทในภูมิภาค แล้วสถานะของประเทศไทยในอาเซียนอยู่ตรงไหน ควรยอมรับว่า ไทยอยู่ที่อันดับ 4 ของอาเซียน หลังจากที่เขามองไปที่ประเทศอื่นๆ ข้างต้น

ความถดถอยของไทยด้านการต่างประเทศของไทยเกิดจากอะไร? ทำไมจึงเป็นเช่นนี้?

 

ทศวรรษที่หายไปของไทย

มีข้อถกเถียงมากเลยว่าด้วย การเมืองภายในประเทศของไทย เป็นตัวฉุดรั้งบทบาทด้านการต่างประเทศของไทย

อย่างไรก็ตาม การเมืองภายในที่ว่านี้มีการกล่าวถึงความขัดแย้งทางการเมือง สงครามแห่งสี การต่อสู้ระหว่างฝ่ายประชาธิปไตยกับฝ่ายอำนาจนิยม การเมืองบนท้องถนน

ตรงนี้ ผมว่าไม่ใช่ครับ ด้วยเหตุผลดังต่อไปนี้

ประการแรก การเมืองภายในว่าด้วยความขัดแย้งทางการเมือง ผมคิดว่า เป็นเรื่องทั่วไปและปกติ ความขัดแย้งทางการเมืองภายในปรากฏอยู่ในทุกประเทศในอาเซียน

ความขัดแย้งภายในพรรครัฐบาล ความขัดแย้งระหว่างชนชั้นนำ มีในมาเลเซีย มีในอินโดนีเซีย

การเมืองของคนรุ่นใหม่ การเมืองบนท้องถนนการเมืองของการเลือกตั้ง และการต่อสู้กันของกลุ่มความเชื่อทางศาสนาก็มีมาตลอดในการเมืองอินโดนีเซีย

แต่ความขัดแย้งนี้ มิได้มีผลให้อินโดนีเซียเสื่อมถอยลงเลยในกิจการต่างประเทศ

การเมืองในโลกออนไลน์เข้มข้นมากในสิงคโปร์และเวียดนาม แน่นอนครับ รัฐสิงคโปร์และเวียดนามย่อมต่อสู้กับความคิดเห็นทางการเมืองใหม่ๆ ที่ต่อต้านรัฐดังกล่าวในหลายช่องทาง

แต่ความเป็นดาวรุ่งของอาเซียนมิได้ลดลงหรือก่อความสับสนด้านกิจการต่างประเทศของทั้งเวียดนาม ส่วนการหยิบประเด็นภูมิภาคและโลก ช่วยให้สิงคโปร์โดดเด่นเสมอ

การประชุมและประเด็นภูมิภาคและของโลกยังนำเสนออย่างน้อยในการจัดประชุมที่สิงคโปร์ ฮานอยและโฮจิมินห์ซิติ้ต่อไป

พรรคการเมืองและโลกทัศน์ไทยต่างหากที่สร้างภาวะถดถอยในกิจการต่างประเทศของไทย จนเข้าสู่โหมดทศวรรษที่หายไป ของกิจการต่างประเทศไทย

พรรคการเมืองมีโลกทัศน์ที่ว่า การเมืองบนท้องถนน ความขัดแย้งทางการเมือง เป็นเรื่องของความวุ่นวาย การประท้วงเป็นการทำลายผลงานของชาติ ของคนที่ไม่รักประเทศไทย

ตรงกันข้ามครับ กระบวนการนโยบายที่มีประสิทธิภาพย่อมต้องนำสิ่งที่เรียกว่า ผลประโยชน์ของชาติเป็นหลัก ไม่ใช่ผลประโยชน์ของพวกเรา พร้อมทั้งรับฟังและนำความเห็นที่แตกต่างนั้น มาผลักดันนโยบาย การแสดงความคิดเห็นของประชาชนมิได้อยู่แค่ในรัฐสภา ซึ่งประชาชนเข้าไม่ถึง ไม่ใช่อยู่ที่ผู้คนแวดล้อม ที่คอยแต่พินอบพิเทา มากกว่าโต้แย้ง

ทศวรรษที่ผ่านมา หากไทยเข้าสู่ยุคสมัยทศวรรษที่หายไป ในกิจการต่างประเทศ ย่อมต้องโทษผู้บริหารและพรรคการเมืองที่บริหารประเทศ หาใช่การเมืองบนท้องถนน และการแสดงความคิดเห็นต่างของผู้คน

ประการที่สอง น่าสนใจ ในโลกนโยบายต่างประเทศของไทย เรามีข้อมูลหรือความคิดเห็นเชิงนโยบายโดย กลุ่มความคิดต่างๆ มีมากมายและไหลเวียนออกมาไม่น้อย ไทยไม่ได้ขาดข้อมูลที่เป็นประโยชน์ แต่พรรคการเมืองที่บริหารกิจการต่างประเทศ เข้าใจข้อมูลและความคิดเห็นเหล่านั้นหรือไม่

ดังนั้น ในแง่กิจการต่างประเทศ เราจึงพบอาการประหลาดหลายอย่าง

เช่น สั่งและสั่งให้เราเอาชนะเวียดนาม เราชนะ เราชนะ และเราอะไรอีกมากมายสั่งไม่ได้หรอกครับ

โลกทัศน์ที่ผูกขาดและด้อยปัญญานำมาซึ่งทศวรรษที่หายไป

นี่เป็นจุดเปลี่ยนการต่างประเทศไทย จุดเปลี่ยนของความเสื่อมถอย