‘ขุนแผน’ ในสมัยรัชกาลที่ 7 / รายงานพิเศษ อาชญาสิทธิ์ ศรีสุวรรณ

รายงานพิเศษ

อาชญาสิทธิ์ ศรีสุวรรณ

 

‘ขุนแผน’

ในสมัยรัชกาลที่ 7

 

ตลอดเดือนมีนาคม พ.ศ. 2564 มักแว่วยินใครๆ เอื้อนเอ่ยพาดพิงแม่วันทอง พ่อขุนแผน พ่อขุนช้างอย่างหนาหู คงสืบเนื่องจากกระแสความนิยมของละคร วันทอง ที่ออกฉายทางช่อง One 31 นำแสดงโดยป้อง-ณวัฒน์ กุลรัตนรักษ์ ที่สวมบทบาทขุนแผน, ใหม่-ดาวิกา โฮร์เน่ ที่รับบทนางวันทอง และชาคริต แย้มนาม ที่แปลงโฉมเป็นขุนช้าง

เรียกว่าคนในสังคมตื่นตัวหยิบยกเอาวรรณคดีเรื่อง ขุนช้างขุนแผน มาสนทนาพาที และเสวนาถกเถียงเสียยกใหญ่อีกคราคราว ตัวละครต่างๆ ก็ได้รับการพิจารณาวิเคราะห์วิจารณ์จนเป็นที่กล่าวขานมิเว้นวาย

เพื่อมิยอมตกขบวน ผมเองใคร่เขียนเล่าถึง ‘ขุนแผน’ เช่นกัน

แต่คือขุนแผนผู้มีตัวตนแท้ๆ และดำเนินชีวิตอยู่ในสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7

 

หากคุณผู้อ่านจะเข้าใจว่าผมหมายความถึงพฤติการณ์ของผู้ชายเจ้าชู้แห่งยุค ขอบอกเลยหาใช่หรอกครับ

นั่นเพราะขุนแผนคนที่ผมเจตนาแนะนำได้แก่ ขุนแผนโลหเวทย์ และถ้าพอเห็นชื่อของเขาแล้วชวนให้ครุ่นคิดภาพลักษณ์จอมขมังเวทย์ สามารถนำเอาเหล็กโลหะจากหลายแหล่งแห่งหนมาทำดาบวิเศษ เยี่ยงตัวละครขุนแผนแสนสะท้านในวรรณคดีร่ายมนตราตี ‘ดาบฟ้าฟื้น’

ก็ขอยืนยันว่าไม่น่าใช่ทีเดียว

ขุนแผนโลหเวทย์ หรือนายยม จันฉาย เป็นคนเล็กๆ แห่งวันวาน แน่ละ เขาอาจมิได้รับความสนอกสนใจ ชื่อของเขาย่อมมิได้รับการบันทึก

หากว่าวันหนึ่งเขามิได้เกิดอาการคลุ้มคลั่งขึ้นมาขณะกำลังทำงาน

 

9 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2468 (นับเทียบศักราชแบบปัจจุบันจะตรงกับ 9 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2469) ได้ปรากฏเหตุการณ์ระทึกขึ้นในกรมราชโลหกิจและภูมิวิทยา กระทรวงเกษตราธิการ เนื่องด้วยขุนแผนโลหเวทย์เกิดสติวิปลาส คว้าปืนพกบราวนิงลั่นไกยิงออกมาทางหน้าต่างห้องที่ทำการเสียงดัง 2 นัด โชคดดีกระสุนไม่ถูกผู้ใด

จากนั้นเจ้าหน้าที่ตำรวจนครบาลมาควบคุมตัวขุนแผนโลหเวทย์ไปจำขังไว้ พร้อมให้นายแพทย์สุขาภิบาลตรวจตามระเบียบ

พบว่าเขามีอาการวิกลจริตจริงๆ

 

ไม่มีเหตุร้ายแรงประการใด แต่ก็โจษจันทั่ว เพราะเป็นกรณีน่าหวาดเสียวในที่ทำการของรัฐบาลสยาม พอวันถัดมา เจ้าพระยาพลเทพ เสนาบดีกระทรวงเกษตราธิการรายงานไปยังเจ้าพระยามหิธร ราชเลขาธิการ เพื่อได้โปรดนำความขึ้นกราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

ในวันที่ 12 กุมภาพันธ์ เจ้าพระยามหิธรรายงานกลับมาเรื่องที่รัชกาลที่ 7 ทรงแสดงความเห็นว่าการมีข้าราชการวิกลจริตขึ้นเป็นของแก้ไขหรือป้องกันยาก เพราะจะเกิดขึ้นเมื่อไหร่ก็ได้ แต่เหตุใดพกปืนเข้ามาในที่ทำการด้วย แล้วคนที่ไม่เสียจริตพกปืนบ้างหรือเปล่า หรือที่พกปืนเข้ามาเพราะเสียจริตแล้ว

ข้อนี้พระองค์ทรงสงสัยและทรงเห็นว่าควรระวังได้

เจ้าพระยาพลเทพทราบความ รายงานต่อว่าข้าราชการทั่วไปในกระทรวงเกษตราธิการยังไม่เคยปรากฏว่าใครพกปืนเข้ามาในที่ทำการ ครั้นปรากฏกรณีของขุนแผนโลหเวทย์ขึ้น ก็มีคำสั่งกำชับหัวหน้ากรมให้ระวังความประพฤติของผู้อยู่ใต้บังคับบัญชา

และหวังว่าเหตุการณ์ทำนองนี้จะไม่เกิดขึ้นอีก

 

กรมราชโลหกิจและภูมิวิทยา ทุกวันนี้คือกรมทรัพยากรธรณี สังกัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ก่อตั้งเมื่อ พ.ศ.2434 ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 เป็นกรมซึ่งมีหน้าที่ดูแลด้านการทำเหมืองแร่และสำรวจแร่ตามภูมิภาคต่างๆ หัวหน้ากรมหรืออธิบดีกรมช่วงทศวรรษ 2460 คือพระยาสีหพงศ์เพ็ญภาค (ม.ร.ว.ประเวศ ชุมสาย)

น่าสังเกตว่า ทั้งตัวละครขุนแผนแสนสะท้าน และบุคคลจริงๆ อย่างขุนแผนโลหเวทย์ ได้เข้าไปเกี่ยวข้องกับการสำรวจตรวจตราออกตามหาแร่คล้ายๆ กัน ตอนขุนแผนแสนสะท้านจะจัดแจงตีดาบไว้ปราบศึก ก็ออกเสาะแสวงเหล็กโลหะศักดิ์สิทธิ์สารพัน

“เอาเหล็กยอดเจดีย์มหาธาตุ

ยอดปราสาททวารามาประสม

เหล็กขนันผีพรายตายทั้งกลม

เหล็กตรึงโลงตรึงปั้นลมสลักเพชร

หอกสัมฤทธิ์กริชทองแดงพระแสงหัก

เหล็กปฏักสลักประตูตะปูเห็ด

ครบเหล็กเบญจพรรณเป็นกัลเม็ด

เหล็กบ้านพร้อมเสร็จทุกสิ่งแท้

เอาเหล็กไหลเหล็กหล่อบ่อพระแสง

เหล็กกำแพงน้ำพี้แลเหล็กแร่

ทองคำสำริดนากอะแจ

เงินที่แท้ธาตุเหล็กทองแดงดง”

เพื่อมาทำ ‘ดาบฟ้าฟื้น’ ตาม ‘เวทย์’ ที่ค่อนข้างเป็นองค์ความรู้และคติความเชื่อโบราณดั้งเดิม (แม้จะเข้าข่ายวิทยาศาสตร์อยู่บ้าง เช่น การประสมโลหะ) เป็นการเล่นแร่แปรธาตุตามตำรับปรัมปรา

ส่วนขุนแผนโลหเวทย์ก็รับราชการในกรมกองที่ต้องปฏิบัติงานเกี่ยวกับเหล็กแร่และโลหะ การทำเหมืองแร่ ซึ่งเป็นไปตาม ‘เวทย์’ หรือองค์ความรู้สมัยใหม่อันมีลักษณะแบบวิทยาศาสตร์หนักแน่นยิ่งกว่า

การหวนระลึกถึง ‘ขุนแผน’ ในสมัยรัชกาลที่ 7 เทียบเคียงกับตัวละคร ‘ขุนแผน’ ในวรรณคดี จึงไม่เพียงแค่พยายามมุ่งทำความรู้จักคนเล็กๆ คนธรรมดาสามัญในอดีต

ทว่ายังชวนให้เล็งเห็นและขบคิดประเด็นข้อแตกต่างระหว่าง ‘เวทย์’ (ซึ่งแปลว่าความรู้) แบบสมัยเก่าและสมัยใหม่ที่ปะทะสังสรรค์กันในโฉมหน้าประวัติศาสตร์ไทย