
ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 2 - 8 เมษายน 2564 |
---|---|
คอลัมน์ | Cool Tech |
ผู้เขียน | จิตต์สุภา ฉิน |
เผยแพร่ |
Cool Tech
จิตต์สุภา ฉิน
@Sue_Ching
Facebook.com/JitsupaChin
ปิดกล้อง-ปิดไมค์
หวาดระแวงไว้เป็นเรื่องดี
ถึงแม้ว่าตอนนี้คนส่วนใหญ่ในประเทศไทยแทบจะเรียกได้ว่ากลับมาใช้ชีวิตกันตามปกติ เดินทางไป-กลับระหว่างบ้านและที่ทำงานตามปกติแล้ว
แต่ความนิยมของการประชุมออนไลน์หรือวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ก็ไม่ได้หายไปไหน ฉันยังคงมีนัดประชุมออนไลน์อยู่เรื่อยๆ
เพราะภายในช่วงปีที่ผ่านมาการประชุมออนไลน์ได้กลายเป็นทางเลือกที่ดีที่ทำให้เราสามารถคุยงานได้โดยไม่ต้องออกจากบ้านไปฝ่าการจราจรที่ติดขัดเพื่อเจอหน้ากัน
การประชุมออนไลน์ที่เกิดขึ้นได้บนหลายแพลตฟอร์มทำให้ผู้ใช้งานอย่างเราต้องตอบตกลงอนุญาตให้แอพพ์ต่างๆ สามารถเข้าถึงกล้องและไมโครโฟนของเราได้
Kaspersky บริษัทผู้นำซอฟต์แวร์ป้องกันไวรัสและรักษาความปลอดภัยบนอินเตอร์เน็ตได้รายงานตัวเลขว่ามีผู้ใช้งานราว 23% ทั่วโลกได้ตั้งค่าให้แอพพ์อะไรก็ได้สามารถเปิดใช้งานไมโครโฟนและกล้องของคอมพิวเตอร์หรือสมาร์ตโฟนของตัวเองได้เลย
ซึ่งแน่นอนว่าการเปิดเครื่องมือทั้งสองอย่างเอาไว้ให้เข้าถึงได้ง่ายจะเพิ่มความสะดวกสบายในการใช้งานให้เรา
แต่อันที่จริงแล้วมันก็ไม่ใช่เรื่องที่ปลอดภัยสักเท่าไหร่
ซึ่ง 59% ของคนที่ตอบแบบสอบถามของ Kaspersky ก็บอกว่ารู้ดีว่ามีปัญหาเรื่องการแอบสอดส่องผ่านกล้องและไมโครโฟนที่เปิดเอาไว้
ผู้เชี่ยวชาญเตือนว่าเป็นเรื่องจำเป็นมากๆ ที่เราจะต้องคอยระแวดระวังและตรวจสอบแอพพ์ที่ขอเข้าถึงกล้องและไมค์ของเราทั้งที่รูปแบบการใช้งานแอพพ์เหล่านั้นไม่มีความจำเป็นต้องใช้งานกล้องและไมค์เลย
แต่ด้วยความที่เราเคยชินกับการให้อนุญาต เราก็อาจจะเผลอกดให้แอพพ์เหล่านี้ผ่านเข้าไปได้
Apple เจ้าของระบบปฏิบัติการ iOS ได้พยายามช่วยป้องกันช่องโหว่ตรงนี้ด้วยการเพิ่มฟีเจอร์ใน iOS 14 เป็นต้นไปให้ขึ้นสัญลักษณ์หรือไฟเตือนผู้ใช้งาน iPhone ได้รู้ว่ามีแอพพ์ที่กำลังใช้งานกล้อง ไมโครโฟน หรือโลเกชั่นของเจ้าของเครื่องอยู่ และจะคอยมีหน้าต่างเด้งเตือนขึ้นมาเป็นระยะๆ ทำให้เรารู้ตัวและกดปิดได้ และด้วยความที่เป็นฟีเจอร์ที่ฝังมากับระบบปฏิบัติการเลยก็ทำให้ไม่มีแอพพ์ไหนสามารถหลอกระบบได้
แม้จะมีเครื่องมือทันสมัยคอยช่วยอยู่บ้าง แต่การมีตัวป้องกันที่เป็นแบบพื้นฐานสุดๆ ที่จับต้องได้อย่างการเอาสติ๊กเกอร์หรือโพสต์อิตมาแปะกล้องเอาไว้ก็ยังเป็นมาตรการป้องกันที่ดีอยู่เสมอ การันตีโดย Mark Zuckerberg เพราะเคยมีคลิปวิดีโอหนึ่งที่เผยให้เห็นว่าเขาก็แปะกระดาษเอาไว้บนกล้องเว็บแคมของคอมพิวเตอร์ตัวเองเหมือนกัน
วิธีป้องกันที่ดีที่สุดคือการคอยเช็กแอพพลิเคชั่นต่างๆ ที่เราติดตั้งเอาไว้ทั้งในคอมพิวเตอร์และสมาร์ตโฟน ว่ามีแอพพ์ไหนบ้างที่มีสิทธิในการเข้าถึงกล้องและไมค์ของเราได้ และจัดการลบแอพพ์ที่ไม่ได้ใช้แล้ว
หรือปิดการเข้าถึงกล้องกับไมค์สำหรับแอพพ์ที่ไม่มีความจำเป็นทิ้งไปให้หมด
เรื่องการป้องกันความปลอดภัยจากการที่คนอื่นอาจจะเข้ามาสอดส่องเราผ่านกล้องและไมโครโฟนของโทรศัพท์หรือคอมพิวเตอร์ของเราได้ก็เป็นเรื่องหนึ่ง แต่ปรากฏการณ์อีกอย่างที่เกิดขึ้นกับตัวฉันและอีกหลายๆ คนในช่วงปีที่ผ่านมาที่เราวิดีโอคอลล์กันหนักหน่วงขึ้นก็คืออาการหวาดผวาว่า เราปิดไมค์และกล้องแล้วหรือยัง
ข้อดีของการประชุมออนไลน์ก็คือเราสามารถประชุมมาจากที่ไหนก็ได้ ซึ่งในขณะเดียวกันสิ่งนั้นก็อาจจะเป็นจุดอ่อนที่ทำให้เกิดข้อผิดพลาดขึ้นได้ หากเรานั่งประชุมอยู่ที่บ้านหรือแม้แต่ที่โต๊ะทำงานในออฟฟิศ เราไม่มีทางล่วงรู้ได้เลยว่า ณ วินาทีไหน สมาชิกในครอบครัวหรือเพื่อนร่วมงานที่เดินผ่านไปผ่านมาจะโพล่งอะไรขึ้น หรือทำอะไรเปิ่นๆ ให้คนอื่นเห็นอยู่ในเฟรมกล้อง
ครั้นจะป้องกันด้วยการปิดกล้องหรือปิดไมค์เอาไว้ก่อน การประชุมบางอย่างก็ไม่สามารถทำแบบนั้นได้เพราะองค์ประชุมต้องการเห็นหน้าทุกคน และต้องการเห็นปฏิกิริยาโต้ตอบอย่างฉับพลันด้วย
ร้ายแรงที่สุดคือธรรมชาติความขี้เมาธ์ของมนุษย์ในยามที่เรานึกว่าไม่มีบุคคลที่สามจะมองเห็นหรือได้ยินเรานั่นแหละ บางทีเราก็เมาธ์กันซึ่งๆ หน้า กดปิดไมค์ปุ๊บก็หันไปนินทาคนในห้องประชุมออนไลน์กับเพื่อนที่นั่งอยู่ข้างๆ กันทันที ซึ่งการเผอเรอลืมปิดไมค์แล้วนินทาคนอื่นแบบเผ็ดร้อนก็เคยเกิดขึ้น
จนเป็นมีมบนโลกอินเตอร์เน็ตให้คนฮากันทั่วโลกก็มีมาแล้ว
ฉันพบว่าตัวเองก็มีอาการหวาดระแวงแบบนี้เกิดขึ้นบ่อยๆ นับตั้งแต่โควิด-19 ระบาดเป็นต้นมา ทุกครั้งที่เข้าประชุมออนไลน์ ฉันจะต้องเช็กแล้วเช็กอีกว่าปิดไมโครโฟนแล้ว ปิดกล้องแล้ว
แต่ยังเจอเหตุการณ์ที่บางครั้งมั่นใจเต็มร้อยว่าปิดทุกอย่าหมดจดแล้วหันไปคุยเรื่องส่วนตัวกับคนข้างๆ เพียงเพื่อจะหันกลับมาแล้วพบว่าไมค์กลับเปิดขึ้นมาได้ในแบบที่หาสาเหตุแน่นอนไม่พบ
อาการหวาดผวานี้ทวีความรุนแรงขึ้นเมื่อแอพพลิเคชั่น Clubhouse ได้รับความนิยม
คนใช้ Clubhouse ที่เคยรับบทเป็นผู้พูดน่าจะพอรู้อยู่แล้วว่าทุกครั้งที่เราเข้าไปร่วมฟังบทสนทนาในห้องไหน แล้วเจ้าของห้องดึงให้เราขึ้นมาเป็นผู้พูดด้านบนบ้าง ระบบจะเปิดไมโครโฟนให้เราเองโดยอัตโนมัติ
จากประสบการณ์การจัดห้องมาหลายครั้งทำให้ฉันได้เห็นอยู่บ่อยๆ ว่าคนที่ถูกดึงขึ้นมามักจะไม่รู้ตัวว่าไมค์ตัวเองถูกเปิดแล้วและยังตะโกนโหวกเหวกคุยกับคนในบ้านให้คนทั้งห้อง Clubhouse ร่วมฟังไปด้วย และนอกจากการถูกเปิดไมค์โดยอัตโนมัติแบบนี้ ก็ยังมีการเผลอกดปุ่มเปิดไมค์ของตัวเองอีก
อันที่จริงแล้วปัญหาแบบนี้สามารถแก้ไขได้โดยผู้ออกแบบระบบเองที่จะใส่ฟีเจอร์ป้องกันเข้าไปอีกชั้น อย่างการตั้งค่าเริ่มต้นให้ไมค์ปิดเอาไว้เสมอแม้ผู้ใช้งานจะถูกดึงไปเป็นสปีกเกอร์ หรือการใส่เสียงหรือข้อความบางอย่างไว้เตือนเป็นระยะๆ ซึ่งก็ต้องฝากความหวังเอาไว้ให้เจ้าของระบบลงมือทำสักวันหนึ่ง
ในระหว่างนี้ สิ่งที่เราในฐานะผู้ใช้งานพอจะทำได้ก็คือการต้องปลูกฝังนิสัยของการตรวจสอบอุปกรณ์ที่ใช้อยู่ให้ละเอียดว่ามีอะไรกำลังเปิดใช้งานไมโครโฟนหรือกล้องของเราอยู่หรือไม่ เพื่อป้องกันไม่ให้คนไม่หวังดีแอบใช้เครื่องมือของเรามาสอดส่องเราได้
และเมื่อไหร่ก็ตามที่เข้าร่วมประชุมออนไลน์หรือกดเข้าไปฟังเซสชั่นใน Clubhouse ก็ให้คิดเผื่อกรณีที่แย่ที่สุดเอาไว้ว่าภาพและเสียงของเราอาจจะถูกถ่ายทอดออกไปทั้งที่ไม่ได้ตั้งใจได้ทุกเมื่อ จึงต้องสำรวม ระมัดระวังพฤติกรรมตัวเองจนกว่าจะปิดแอพพ์นั่นแหละถึงค่อยกลับมาทำตัวสบายๆ ได้
ถึงจะดูเหนื่อย แต่คิดเสียว่าอย่างไรก็เหนื่อยน้อยกว่าการคอยมาตามแก้ข้อผิดพลาดแน่นอน