การเดินทางของตำรวจไทย (6) กองตระเวน ภายใต้การควบคุมของมิสเตอร์ยาร์ดิน / บทความพิเศษ “นอกเครื่องแบบ”

บทความพิเศษ

“นอกเครื่องแบบ”

 

การเดินทางของตำรวจไทย (6)

กองตระเวน

ภายใต้การควบคุมของมิสเตอร์ยาร์ดิน

 

พ.ศ.2435 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มีการปฏิรูปการปกครองแผ่นดินให้ทันสมัยตามแบบตะวันตก โปรดเกล้าฯ ให้ตั้งกระทรวงแบบใหม่ขึ้นทั้งหมด 12 กระทรวง โดยมีเสนาบดีประจำกระทรวงเป็นหัวหน้า

เฉพาะกรมกองตระเวนมีฐานะเป็นกรมใหญ่ในกระทรวงนครบาล ซึ่งพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนเรศวรฤทธิ์เป็นเสนาบดีกระทรวงนครบาล และยังคงรักษาการในตำแหน่งจากวางกรมกองตระเวนไปพลางก่อน

ต่อมากรมพระนเรศวรฤทธิ์ทรงเห็นว่า กรมกองตระเวนเป็นกรมใหญ่ สมควรต้องมีผู้รับผิดชอบโดยตรง จึงกราบบังคมทูลพระกรุณาพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ให้ทรงจ้างชาวอังกฤษที่มีประสบการณ์ในกองงานตระเวน มาบริหารและปรับปรุงกรมกองตระเวนของไทยให้ทันสมัยเหมือนตำรวจที่ประเทศอังกฤษ

จึงมีพระบรมราชานุญาตให้จ้าง “มิสเตอร์เอ เย เอ ยาร์ดิน” (อาร์เธอร์ จอห์น อเล็กซานเดอร์ ยาร์ดิน – Mr.Arthur John Alexander Jardine) ข้าราชการกองตระเวนอังกฤษที่ประเทศอินเดีย สังกัดกรมกองตระเวนเมืองพม่า ตำแหน่งเจ้ากรมแขวงผาปูน เมืองพม่า

โดยรัฐบาลประเทศอังกฤษให้ไทยขอยืมตัวมิสเตอร์ยาร์ดินเป็นระยะเวลา 9 ปี เริ่มทำงานในตำแหน่ง “ผู้บังคับการกองตระเวน” (Chief Commissioner) เมื่อวันที่ 16 เมษายน พ.ศ.2440 มีหน้าที่บริหารกองตระเวนและปรับปรุงแก้ไขข้อบกพร่องต่างๆ ของกรมกองตระเวน

มิสเตอร์ยาร์ดินได้เสนอให้มีการปรับปรุงโครงสร้างบริหารงานของกรมกองตระเวนเสียใหม่ โดยให้ยุบรวมกองตระเวนต่างๆ เข้าด้วยกัน มีผู้บังคับบัญชาเป็นลำดับชั้น ดังต่อไปนี้

The Straits Times, 23 September 1914, Page 8

1. อธิบดี (Inspector General) มิสเตอร์ยาร์ดิน

2. รองอธิบดี (Deputy Inspector General) มี 2 ตำแหน่ง

– รองอธิบดีชาวไทยได้แก่ พระยาอินทราธิบดี สีหราชรองเมือง

– รองอธิบดีชาวอังกฤษ ได้แก่ มิสเตอร์เบนส์ (Mr.Baines)

3. เจ้ากรมแขวง Superintendents of Divisions) มี 3 ตำแหน่ง

– เจ้ากรมแขวงกรุงเทพชั้นใน มิสเตอร์สคินเนอร์ (Mr.Skinner)

– เจ้ากรมแขวงชั้นนอก ได้แก่ หม่อมเจ้าสง่างาม

– เจ้ากรมแขวงรถไฟ ได้แก่ มิสเตอร์เชอร์แมน (Mr.Sherman)

4. ปลัดกรม (Assistant Superintendents) มี 4 ตำแหน่ง ได้แก่ หลวงธรณีนฤเบศร หลวงนรารักษพลขันธ์ มิสเตอร์คอมเบอร์ (Mr.Comber) และมิสเตอร์ฮาร์ตเนลส์ (Mr.Hartnells)

5. สารวัตรใหญ่ (Chief Inspectors) มี 5 ตำแหน่ง ได้แก่ หลวงวิสูทธิ์บริหาร หลวงทุระการกำจัด หลวงอนุมัติมนูกิจ หลวงบูรีรัฐพิจารณ์ (มิสเตอร์เชอร์รีฟ – Mr.Sheriff) และมิสเตอร์เฮิร์น (Mr.Hern)

ทำการคัดเลือกพลตระเวนชาวอินเดียจำนวน 30 คน เพื่อจัดตั้งเป็น กองตระเวนม้า ขึ้นเป็นครั้งแรกอีกด้วย

มีการเปลี่ยนเครื่องแบบเป็นสีกากีเหมือนอย่างกองตระเวนที่ประเทศอินเดีย เนื่องจากเดิมใช้เครื่องแบบสีน้ำเงิน เมื่อใช้งานโดนแดดโดนฝนไประยะหนึ่ง สีจะซีดจางไม่เท่ากัน จึงกำหนดแจกเครื่องแบบให้กับพลตระเวนทุกคน คนละ 2 สำรับ

กำหนดอัตราเงินเดือนที่เพียงพอและมีสวัสดิการที่ดี เพื่อเป็นกำลังใจให้พลตระเวนตั้งใจปฏิบัติหน้าที่อย่างเข้มแข็ง

รวมทั้งจัดให้มีนกหวีดแก่พลตระเวนที่เข้ายามประจำการ พร้อมจัดให้มีกุญแจมือและโซ่ล่ามผู้ต้องหาประจำโรงพัก

พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าระพีพัฒนศักดิ์ (กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์)

ต่อมา พระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้าระพีพัฒนศักดิ์ (พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ พระยศท้ายสุด) เสนาบดีกระทรวงยุติธรรม และพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนเรศวรฤทธิ์ เสนาบดีกระทรวงนครบาล เห็นพ้องต้องกันว่า สมควรมีตำแหน่งเจ้าพนักงานไต่สวนชันสูตรพลิกศพ (Coroner) เพื่อให้การดำเนินคดีผู้กระทำผิดมีความรัดกุมมากยิ่งขึ้น

จึงมอบหมายให้มิสเตอร์ยาร์ดิน อธิบดีกองตระเวน เป็นผู้ร่างกฎระเบียบเกี่ยวกับการชันสูตรพลิกศพที่เสียชีวิตโดยอาการที่ไม่ธรรมดา เช่น ถูกฆาตกรรม หรือกระทำอัตวินิบาตกรรม (ฆ่าตัวตาย) เป็นต้น

นอกจากนี้ มิสเตอร์ยาร์ดินได้คัดค้านแนวคิดที่จะยกเลิกกองตระเวนรถไฟ เพื่อลดภาระค่าใช้จ่าย (โอนภารกิจเดิมของกองตระเวนรถไฟ ไปให้กองตระเวนภูธรทำหน้าที่) โดยให้เปลี่ยนเป็นการปรับลดอัตรากำลังพลของกองตระเวนรถไฟแทน เพื่อช่วยลดค่าใช้จ่าย

งานการปรับปรุงกองตระเวนที่สำคัญอีกประการหนึ่ง คือการปรับปรุงหน่วยราชการกองตระเวนชั้นนอก เนื่องจากมีอาณาเขตพื้นที่รับผิดชอบกว้างขวางมาก จึงได้แบ่งพื้นที่ออกเป็น 2 ส่วน โดยให้ยึดเอาแนวคลองแสนแสบและคลองภาษีเจริญเป็นเส้นแบ่งเขตพื้นที่รับผิดชอบ ได้แก่

1. กองตระเวนชั้นนอก แขวงฝ่ายเหนือ ที่ว่าการแขวงอยู่ที่ตำบลคลองรังสิต โดยมีมิสเตอร์อี ดับเบิลยู ตรอตเตอร์ (Mr.E.W. Trottter) เป็นเจ้ากรมแขวงฝ่ายเหนือ มีโรงพักในความรับผิดชอบ ดังนี้

– โรงพักเมืองประทุมธานี

– โรงพักศีศะกระดาน

– โรงพักจัดตลาดขวัญ

– โรงพักปากคลองรังสฤษที่ 9

– โรงพักหน้าไม้บึงหนัง

– โรงพักบางเขน

– โรงพักเมืองนนทบุรี

– โรงพักสามง่ามลำหิน

– โรงพักคำพล้อย

– โรงพักบางใหญ่

– โรงพักปากคลองรังสฤษ

– โรงพักบึงเตย

– โรงพักบางคูเวียง

– โรงพักปากคลองรังสฤษที่ 13

– โรงพักบึงน้ำรักษ์

– โรงพักคลองมหาสวัสดิ์

– โรงพักบ้านแหลมใหญ่

– โรงพักสายไหม

– โรงพักวัดละหาร

Mr.Arthur John Alexander Jardine

2. กองตระเวนชั้นนอก แขวงฝ่ายใต้ มีที่ว่าการแขวงอยู่ที่ตำบลปากน้ำฝั่งตะวันออก โดยมีมิสเตอร์มาร์ติน (Mr.Martin) เป็นเจ้ากรมแขวงฝ่ายใต้ มีโรงพักในความรับผิดชอบ ดังนี้

– โรงพักเมืองสมุทรปราการ

– โรงพักบางขุนเทียน

– โรงพักพระโขนง

– โรงพักบางพลีใหญ่

– โรงพักมหาไชย

– โรงพักเปรง

– โรงพักบางเกลือ

– โรงพักเจียระดับ

– โรงพักบางระนาด

– โรงพักเมืองนครเขื่อนขันธ์

– โรงพักสำโรง

– โรงพักราชบูรณะ

– โรงพักศีศะจระเข้

– โรงพักบ้านไร่

– โรงพักคลองตัน

– โรงพักคลองภาษีเจริญ

– โรงพักแสนแสบ

– โรงพักหนองจอก

จะเห็นได้ว่าการปรับปรุงกองตระเวนโดยมิสเตอร์ยาร์ดินเป็นการวางรากฐานอันมั่นคงของงานตำรวจสมัยใหม่ในยุคต่อๆ มา

สะท้อนให้เห็นถึงการมองการณ์ไกลของในหลวงรัชกาลที่ 5 และข้าราชการในยุคนั้น ที่ไม่ยอมนิ่งดูดาย เล็งเห็นความสำคัญของการพัฒนาหน่วยงานดูแลรักษาความสงบเรียบร้อยของบ้านเมือง ให้มีความทันสมัยตามอย่างสากลให้จงได้ มิได้ปล่อยปละละเลย แต่กลับมีความมานะพยายามหาหนทางปรับปรุงเปลี่ยนแปลงมาโดยลำดับ

 

ที่กล่าวมาแล้ว คือการรักษาความสงบเรียบร้อยที่มุ่งเน้นแต่ภายในขอบเขตพระนครและปริมณฑล แต่ดั้งเดิมมา ในพื้นที่ส่วนภูมิภาคนั้นยังไม่มีหน่วยงานตรวจตรารักษาความสงบเรียบร้อยและป้องกันปราบปรามผู้กระทำผิดเป็นการเฉพาะ ในยามปกติก็จะให้เจ้าเมืองเป็นผู้รับผิดชอบ โดยมีกรมการเมือง นายอำเภอ กำนัน และผู้ใหญ่บ้าน เป็นผู้ช่วย

แต่ถ้ามีปัญหาโจรผู้ร้ายชุกชมเกินกำลังที่จะจัดการ ก็จะร้องเรียนมายังส่วนกลางเพื่อขอจัดตั้งกองตระเวนเป็นครั้งคราว โดยใช้ภาษีส่วนหนึ่งของเมืองนั้นดำเนินการ แล้วเกณฑ์ราษฎรออกปราบปราม

ปฏิบัติเช่นนี้แล้ว หากยังไม่ประสบความสำเร็จ ส่วนกลางก็จะต้องให้ความช่วยเหลือด้วยการส่งข้าหลวงจากกรมพระตำรวจออกไปร่วมดำเนินการ เมื่อเสร็จภารกิจก็จะถอนตัวกลับที่ตั้ง

ครั้นเมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ปฏิรูปการปกครองแผ่นดินเมื่อ พ.ศ.2435 และได้ปรับปรุงกองตระเวน โดยยกฐานะขึ้นเป็นกรม ขึ้นกับกระทรวงนครบาลแล้ว อีก 5 ปีต่อ คือปี พ.ศ.2440 จึงมีพระบรมราชโองการจัดตั้งกรมตำรวจภูธรขึ้น โดยมีร้อยเอกยี เชา (G. Schau) หรือหลวงศัลวิธานนิเทศ นายทหารชาวเดินมาร์กจากกรมมหาดเล็กรักษาพระองค์ เป็นเจ้ากรมตำรวจภูธร ขึ้นกับกระทรวงมหาดไทยที่พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นดำรงราชานุภาพ (สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ พระยศท้ายสุด) ดำรงตำแหน่งเสนาบดี

ความแตกต่างประการหนึ่งของกรมตำรวจภูธร และกรมกองตระเวน ก็คือกรมตำรวจภูธรที่จัดตั้งในรัชสมัยรัชกาลที่ 5 จัดกองกำลังตามรูปแบบ “ยองดามส์” (Gendarmeries) ของประเทศฝรั่งเศส ลักษณะเป็นกองกำลังกึ่งทหารและพลเรือน

แต่กรมกองตระเวนที่แต่เดิมคือ กองโปลิศคอนสเตเบิล (พ.ศ.2405) จัดตั้งในรัชสมัยรัชกาลที่ 4 แล้วมาปรับเปลี่ยนเป็นกองตระเวน (พ.ศ.2420) ในรัชสมัยรัชกาลที่ 5

ใช้การจัดแบบแผนเดิมตามอย่างประเทศอังกฤษคือ “คอนสเตเบิล” (Constable)