สิ่งแวดล้อม : อดีต-วันนี้และอนาคต / ทวีศักดิ์ บุตรตัน

ทวีศักดิ์ บุตรตัน

ทวีศักดิ์ บุตรตัน / [email protected]

 

อดีต-วันนี้และอนาคต

 

เปรียบเทียบวิกฤตการณ์ภูมิอากาศโลกวันนี้จาก 2 มุมของโลก จะเห็นความต่างแต่มีความหายนะเกิดขึ้นเหมือนๆ กัน

มุมหนึ่งเกิดที่รัฐนิวเซาธ์เวลส์ ประเทศออสเตรเลีย ฝนตกหนักน้ำท่วมเอ่อ ท่วมรุนแรงที่สุดในรอบ 50 กว่าปี

ขณะที่อีกมุมของโลกคือสหรัฐ มีพื้นที่อย่างน้อย 2 ใน 3 ของประเทศกำลังเกิดภัยแล้งต่อเนื่องยาวนานรุนแรงที่สุด

ทั้งสองจุดห่างกันกว่า 15,000 กิโลเมตร ต้องใช้เวลาบินไม่น้อยกว่า 19 ชั่วโมง แต่มีความหายนะซึ่งมาจากความแปรปรวนของสภาพภูมิอากาศ จะแตกต่างกันตรงจุดหนึ่งเกิดฝนตกหนัก อีกจุดหนึ่งมีฝนแล้งทิ้งช่วงยาว

ฝนที่ตกหนักในรัฐนิวเซาธ์เวลส์ เกิดกระแสน้ำหลากทะลักท่วมบ้านเรือน ถนนหนทาง หน่วยกู้ภัยต้องเร่งจัดการอพยพประชาชนนับพันคนออกจากพื้นที่อันตราย โรงเรียน สนามบินปิด

ระดับน้ำในแม่น้ำฮอกส์แบรี่ ทางตะวันตกเฉียงเหนือของนครซิดนีย์ล้นทะลักริมฝั่ง ทำสถิติเลวร้ายกว่าปี 2504 ซึ่งเป็นปีที่เกิดน้ำท่วมใหญ่ เขื่อนวอร์รากัมบา แหล่งเก็บน้ำหลักของนครซิดนีย์มีระดับน้ำสูงล้นขอบเขื่อนเป็นครั้งแรก

ผู้บริหารของรัฐนิวเซาธ์เวลส์บอกว่า สภาวะภูมิอากาศแปรปรวนเป็นเหตุให้เกิดน้ำท่วมใหญ่ในหลายสิบปีที่ผ่านนี้ ประชาชนจะต้องให้ความสนใจกับเรื่องนี้อย่างมาก

สถานการณ์ตรงกันข้ามกับที่สหรัฐซึ่งเกิดภัยแล้ง แม้ว่าฤดูหนาวใกล้สิ้นสุดแล้ว แต่ยังไม่มีวี่แววว่าฤดูใบไม้ผลิจะมีฝนตกในปริมาณมากพอที่จะช่วยบรรเทาภัยแล้งให้เบาบางลง

โดยเฉพาะพื้นที่ฝั่งตะวันตก สื่อมะกันใช้คำว่า megadrought อาจจะแปลเป็นไทยๆ ได้ว่า “แล้งมหันต์” เพราะแหล่งน้ำอย่างเช่นทะเลสาบมี้ด (Lake Mead) ในรัฐเนวาดาและทะเลสาบเพาเวลล์ รัฐยูทาห์ มีระดับน้ำลดลงแห้งขอดจนเดินเล่นได้

เมื่อไร้น้ำ พืชไร่ที่เกษตรกร ฟาร์มปศุสัตว์ที่ต้องใช้น้ำมาหล่อเลี้ยงพืช-สัตว์ก็ได้รับความเสียหายอย่างหนัก ประเมินกันว่าแล้งมหันต์ของสหรัฐในเวลานี้จะมีผลกระทบกับชาวอเมริกัน 74 ล้านคน เสียหายทางเศรษฐกิจหลายพันล้านเหรียญ แถมอาจเกิดไฟป่ารุนแรงกว่าปีก่อนๆ

 

“มาร์ก คินเวอร์” นักข่าวสิ่งแวดล้อมแห่งสำนักข่าวบีบีซี เขียนบทความชื่อ “ตอนนั้นกับตอนนี้ : แล้งมหันต์ในแคลิฟอร์เนีย” ระบุว่าโลกใบนี้กำลังอยู่บนเส้นทางการเปลี่ยนแปลงสภาวะวิกฤตภูมิอากาศ

“คินเวอร์” ยกตัวอย่างภาพของการเปลี่ยนแปลงแหล่งเก็บสำรองน้ำทางตอนเหนือของรัฐแคลิฟอร์เนียซึ่งหล่อเลี้ยงชีวิตชาวแคลิฟอร์เนียตอนเหนือนับล้านคน

“แม้ปีนี้จะมีพายุหิมะ มีทั้งหิมะและฝนตกหนักมากทั่วรัฐแคลิฟอร์เนีย แต่ปริมาณน้ำจืดที่เกิดจากหิมะและฝนก็ยังไม่เพียงพอที่กักเก็บไว้เพราะมีภัยแล้งหนักกว่ามาก”

นักข่าวบีบีซีชี้ว่า ทะเลสาบโอรอวิลล์ ทางเหนือของนครซาคราเมนโต เมืองหลวงของรัฐแคลิฟอร์เนีย เป็นแหล่งกักเก็บน้ำพื้นที่ 65 ตารางกิโลเมตร ใหญ่ที่สุดเป็นอันดับ 2 ของรัฐแคลิฟอร์เนีย ใช้เป็นพื้นที่ควบคุมป้องกันน้ำท่วม อีกทั้งยังเป็นแหล่งบำรุงรักษาคุณภาพน้ำ มีสภาพเปลี่ยนแปลงอย่างมากช่วงระหว่างปี 2557 กับปี 2560

เมื่อปี 2557 แหล่งน้ำสำรองโอรอวิลล์มีน้ำเหลืออยู่เพียง 20 เปอร์เซ็นต์ ปริมาณน้ำต่ำที่สุดในประวัติศาสตร์ ระดับน้ำลดลงกว่าร้อยเมตรจากขอบตลิ่งจนน่าตกใจเพราะไม่มีน้ำเหลือพอส่งไปให้เขื่อนปั่นกระแสไฟฟ้าและใช้เป็นน้ำอุปโภคบริโภคให้ชาวแคลิฟอร์เนียราว 7 ล้านครัวเรือน

ภาวะแห้งแล้งไม่ได้เกิดขึ้นในปี 2557 ทว่าเกิดมาต่อเนื่องยาวนานหลายปีจนกระทั่งแห้งหนักสุดในปีดังกล่าว

 

“เบนจามิน ทิมคุก” นักวิทยาศาสตร์ด้านภูมิอากาศแห่งสถาบันก็อดดาร์ดขององค์การนาซ่าบอกกับ “คินเวอร์” ว่า มีหลักฐานยืนยันชัดเจนถึงการเปลี่ยนแปลงของสภาวะภูมิอากาศทั้งจากการจำลองทางวิทยาศาสตร์และข้อมูลจากวงแหวนต้นไม้ทำให้เกิดภาวะแห้งแล้งครอบคลุมพื้นที่กว่า 1 ใน 3 หรืออาจจะถึงครึ่งหนึ่งของภูมิภาคนี้

ในเดือนกุมภาพันธ์ 2560 แหล่งเก็บน้ำโอรอวิลล์เปลี่ยนปรากฏการณ์จาก “แล้ง” มาเป็น “น้ำท่วม”

เริ่มจากฝนตกหนัก ปริมาณฝนที่มากจนทำให้เกิดกระแสน้ำหลากจากเทือกเขาเซียร์ร่าทะลักลงสู่ทะเลสาบโอรอวิลล์ ปริมาณน้ำไหลอยู่ราว 1,250,000 ลิตรต่อวินาที

เจ้าหน้าที่กู้ภัยสั่งให้ประชาชนกว่า 1 แสนคนที่อยู่ในพื้นที่รอบๆ บริเวณอ่างเก็บน้ำออกจากที่พักอาศัยในทันที เพราะน้ำเอ่อล้นจนต้องระบายน้ำทิ้ง ไม่งั้นอ่างแตก และจะทำให้เกิดน้ำท่วมหนักในพื้นที่ด้านล่าง

นักข่าวบีบีซีสัมภาษณ์ผู้อพยพรายหนึ่งเป็นหญิงวัยกลางคน เธอบอกว่าไม่เคยเจอประสบการณ์อย่างนี้มาก่อน รู้สึกตกใจที่ได้ยินเสียงเจ้าหน้าที่สั่งให้รีบหนีออกจากพื้นที่ มือไม้สั่นไปหมดทำอะไรไม่ถูก ที่น่าขำคือคว้าเอาน้ำยาซักผ้าแทนของมีค่าที่ควรจะขนติดมือมา

นักวิทยาศาสตร์ตั้งข้อสังเกตถึงปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นว่า โดยปกติแล้ว ในช่วงฤดูหนาว หิมะตกหนัก พอถึงฤดูใบไม้ผลิหิมะจะละลายไหลลงจากยอดเขาสู่พื้นที่ด้านล่างราวๆ เดือนมิถุนายน

แต่ในเดือนกุมภาพันธ์ 2017 ยังเป็นช่วงฤดูหนาวกลับมีฝนตกหนักทำให้ปริมาณน้ำในอ่างจึงมีมากกว่าปกติ

 

นี่เป็นปรากฏการณ์เปลี่ยนแปลงสภาวะภูมิอากาศ “ร้อนแล้ง น้ำท่วม” ในสหรัฐ

ซึ่งไม่แตกต่างไปจากออสเตรเลียและประเทศอื่นๆ ทั่วโลก รวมประเทศไทยด้วย

จึงเกิดคำถามตามมาว่า ชาวโลกจะป้องกันปรากฏการณ์โลกร้อนเพิ่มระดับความรุนแรง และลดความเสียหายทั้งทรัพย์สินและชีวิตผู้คนได้อย่างไร

ในเมื่อทุกประเทศยังใช้พลังงานทุกชนิดอย่างไม่บันยะบันยัง

ปริมาณก๊าซพิษที่ปล่อยขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศโลกไม่ได้ลดลงอย่างที่ทำข้อตกลงกันไว้?