โฟกัสพระเครื่อง : เหรียญยันต์ขาด 2515 พระเทพสิทธาจารย์ อดีตเจ้าคณะนครพนม

โฟกัสพระเครื่อง–(เสรีภาพ อันมัย)

[email protected] / โคมคำ

เหรียญยันต์ขาด 2515

พระเทพสิทธาจารย์

อดีตเจ้าคณะนครพนม

 

“หลวงปู่จันทร์ เขมิโย” หรือ “พระเทพสิทธาจารย์” อดีตเจ้าคณะจังหวัดนครพนม (ธรรมยุต) และอดีตเจ้าอาวาสวัดศรีเทพประดิษฐาราม อ.เมือง จ.นครพนม พระเถระชื่อดังที่ได้รับความเลื่อมใสศรัทธา

พระเครื่องแต่ละรุ่น เป็นที่เสาะแสวงหา

เหรียญหลวงปู่จันทร์ยันต์ขาดเป็นอีกเหรียญหนึ่งที่ได้รับการกล่าวขานกันมากที่สุด ด้วยเป็นรุ่นสุดท้าย ก่อนที่จะมรณภาพลง ในปี พ.ศ.2516

เหรียญหลวงปู่จันทร์ รุ่น พ.ศ.2515 เป็นเหรียญรูปไข่ เฉพาะด้านหลังมี 3 พิมพ์ คือ ยันต์วัด, ยันต์ขาด และยันต์พุทธสมาคม

1. ยันต์วัด เนื้อเงิน สร้าง 99 เหรียญ ทองแดงกะไหล่เงิน 2,000 เหรียญ ทองแดงกะไหล่ทอง 2,000 เหรียญ และทองแดงรมดำ 5,000 เหรียญ

2. ยันต์ขาด ซึ่งเป็นยันต์วัดเช่นกัน แต่ทำบล็อก 2 เนื่องจากสร้างครั้งแรกไม่พอแจก จึงสั่งทำเพิ่มเฉพาะเนื้อทองแดงรมดำ 5,000 เหรียญ ช่างจึงตั้งใจแกะบล็อกให้ยันต์ขาด เพื่อให้ทราบว่าเหรียญใดเป็นบล็อก 1 หรือบล็อก 2 เพื่อไม่ให้ซ้ำกัน

3. ยันต์พุทธสมาคม สร้าง 2 เนื้อ คือ เนื้อเงิน 99 เหรียญ และเหรียญทองแดงรมควัน 10,000 เหรียญ

มอบหมายให้พระธรรมบัณฑิต (ศิลา สิทธิธัมโม) วัดนรนาถสุนทริการาม เทเวศร์ กรุงเทพฯ ซึ่งเป็นลูกศิษย์ ดำเนินการสร้างเมื่อปี 2515

เพื่อมอบให้ผู้มีจิตศรัทธาบริจาคสมทบทุนสร้างโรงเรียนพระปริยัติ และเป็นทุนการศึกษาพระภิกษุ-สามเณร

 

สําหรับเหรียญยันต์ขาด จัดสร้างเป็นเนื้อทองแดงรมดำ ลักษณะเป็นเหรียญกลมรูปไข่ มีหูห่วง ด้านหน้ามีรูปเหมือนหลวงปู่จันทร์ครึ่งองค์ หันหน้าตรง ตัวหนังสือนูนระบุคำว่า “หลวงปู่พระเทพสิทธาจารย์ (จันทร์ เขมิยเถระ)”

ด้านหลัง ตรงกลางเป็นยันต์ 8 ทิศ ซึ่งมีพระเจ้า 5 องค์คุ้มครอง ด้านล่างจากซ้ายสุด ยันต์จะขาดหายไป เซียนพระในกรุงเทพฯ เรียก “อุ” หาย ระบุ พ.ศ.สร้างอยู่ด้านล่าง

วัตถุมงคลทั้ง 3 บล็อก หลวงปู่จันทร์นั่งอธิษฐานจิตปลุกเสกเดี่ยวในพิธีมังคลาภิเษกพร้อมกันในอุโบสถ แล้วเสร็จเมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน 2515

เหรียญทุกรุ่นทุกเนื้อ มีข้อห้ามสำคัญ มิให้แขวนคอคู่กับพระพุทธรูปซึ่งเป็นพระศาสดา และห้ามห้อยคู่ตีเสมอกับวัตถุมงคลหลวงปู่เสาร์ กันตสีโล ซึ่งเป็นพระอาจารย์

ถือเป็นวัตถุมงคลที่ได้รับความนิยมสูงที่นับวันจะหายาก

 

มีนามเดิมว่า จันทร์ สุวรรณมาโจ ถือกำเนิดเมื่อวันจันทร์ที่ 5 ธันวาคม 2424 ปีมะเส็ง ที่บ้านท่าอุเทน หมู่ 3 ต.ท่าอุเทน อ.เมือง จ.นครพนม บิดา-มารดาชื่อนายวงศ์เสนา และนางไข สุวรรณมาโจ

ช่วงวัยเยาว์ สุขภาพไม่ค่อยสมบูรณ์ เป็นโรคหอบหืด บิดาจึงให้ไปอยู่กระท่อมปลายนา

ขณะอายุ 10 ขวบ บิดาล้มป่วยและเสียชีวิต จึงได้บวชเป็นสามเณรหน้าไฟ

ขณะอยู่ที่วัดโพนแก้ว ได้ศึกษาอักษรขอมและอักษรธรรม ฝึกอ่านเขียนสวดมนต์น้อย มนต์กลาง และมนต์หลวง ตามลำดับ

อายุ 19 ปี ลาสิกขาไปประกอบอาชีพค้าขาย

ครั้นอายุ 20 ปี เมื่อ พ.ศ.2445 จึงตัดใจเข้าสู่ร่มกาสาวพัสตร์อีกครั้ง ที่พัทธสีมาวัดโพนแก้ว มีพระเหลา ปัญญาวโร เป็นพระอุปัชฌาย์, พระเคน อุตตโม เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และพระหนู เป็นพระอนุสาวนาจารย์ ได้รับนามฉายาว่า เขมิโย

พำนักอยู่วัดได้ 2 เดือน กราบลาพระอุปัชฌาย์ไปจำพรรษาที่วัดอินทร์แปลง อ.เมือง จ.นครพนม

 

พ.ศ.2445 พระอาจารย์เสาร์ กันตสีโล วัดเลียบ จ.อุบลราชธานี พระอาจารย์ใหญ่ฝ่ายวิปัสสนากัมมัฏฐาน ผู้เป็นอาจารย์ของพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต แม่ธรรมทัพพระป่า และพระปัญญาพิศาลเถร (หนู ฐิตปัญโญ) วัดปทุมมาราม ผ่านมาพักปักกลดบริเวณโรงฆ่าสัตว์เทศบาลเมืองในปัจจุบัน

พระปัญญาพิศาลเถรและพระยาสุนทรเทพกิจจารักษ์ ได้รับคำแนะนำจากพระอาจารย์เสาร์ ให้คัดพระภิกษุ 4 รูป ผู้เฉลียวฉลาด โดย 1 ในนั้นมีพระจันทร์ พระลา พระหอม และสามเณรจูม (พระธรรมเจดีย์) วัดโพธิสมภรณ์ จ.อุดรธานี ถวายเป็นศิษย์ออกธุดงค์ผ่านป่าดงสัตว์ป่านานาชนิด บำเพ็ญเพียรสมาธิภาวนา ก่อนมุ่งสู่ จ.อุบลราชธานี

ช่วงที่พำนักที่วัดนี้ 4 เดือนเต็มเพื่อฝึกซ้อมบทสวดมนต์ พระอาจารย์เสาร์นำประกอบพิธีญัตติหลวงปู่จันทร์ เป็นพระธรรมยุต ณ อุโบสถวัดศรีอุบลรัตนราม (วัดศรีทองเดิม) จ.อุบลราชธานี มีพระปัญญาพิศาลเถรเป็นพระอุปัชฌาย์ มีฉายาเดิมว่า เขมิโย

พ.ศ.2449 กลับมาจำพรรษาที่วัดศรีเทพประดิษฐาราม ซึ่งเป็นวัดร้าง เดิมชื่อวัดศรีคุณเมือง

พ.ศ.2453 เดินทางเข้ากรุงเทพฯ ไปศึกษาพระปริยัติธรรม ฝากตัวเป็นศิษย์กับสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (เมื่อครั้งดำรงสมณศักดิ์ที่พระเทพกวี) ที่สำนักวัดเทพศิรินทราวาส ศึกษานักธรรมตรี-โท และเปรียญ 3 ประโยค

เป็นช่วงที่วัดศรีเทพประดิษฐารามขาดพระผู้ใหญ่ปกครอง จึงได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาส และเป็นเจ้าคณะอำเภอหนองบึก (อำเภอเมืองในปัจจุบัน) พ.ศ.2459 ได้นำแผนการศึกษาของรัชกาลที่ 5 จัดตั้งโรงเรียนสอนภาษาไทยแผนใหม่และนักธรรมบาลีขึ้นเป็นแห่งแรก

 

ลําดับงานปกครองคณะสงฆ์ พ.ศ.2459 เป็นเจ้าอาวาสวัดศรีเทพประดิษฐาราม

พ.ศ.2460 เป็นพระอุปัชฌาย์

พ.ศ.2502 เป็นเจ้าคณะจังหวัดนครพนม

ลำดับสมณศักดิ์ พ.ศ.2474 เป็นพระครูสัญญาบัตรที่พระครูสารภาณพนมเขต

พ.ศ.2480 ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์ เป็นพระราชาคณะชั้นสามัญที่ พระสารภาณมุนี

พ.ศ.2496 ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์ เป็นพระราชาคณะชั้นราชที่ พระราชสารภาณมุนี

พ.ศ.2502 ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์ เป็นพระราชาคณะชั้นเทพที่ พระเทพสิทธาจารย์

วันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2516 เวลา 08.00 น. มรณภาพลงอย่างสงบ สิริอายุ 92 ปี พรรษา 72

 

บรรยายภาพ

1.หลวงปู่จันทร์ เขมิโย

2.เหรียญหลวงปู่จันทร์ ยันต์ขาด (หน้า)

3.เหรียญหลวงปู่จันทร์ ยันต์ขาด (หลัง)