หลังเลนส์ในดงลึก : ‘ผ่าน’ / ปริญญากร วรวรรณ

ม.ล.ปริญญากร วรวรรณ
เสือโคร่ง - เสือเมื่อเข้มแข็งพอ มันจะครอบครองอาณาเขตที่สมบูรณ์ไว้ได้ และวันหนึ่งก็จะถูกเบียดออกไปโดยเสือที่เข้มแข็งกว่า

 

‘ผ่าน’

 

คนในป่าทุ่งใหญ่มักพูดแบบขำๆ เมื่อได้ยินเพื่อนๆ ซึ่งอยู่ในป่าใกล้เคียงบ่นในวงเหล้า ถึงความยากลำบากของเส้นทางที่ต้องสัญจร ว่า

“เทียบกับทางที่ข้าต้องใช้ ทางเอ็งน่ะ เรียกว่า ซูเปอร์ไฮเวย์ เว้ย”

ไม่มีใครเถียง

ความทุรกันดารของหน่วยพิทักษ์ป่าเช่นกัน คนในป่าทุ่งใหญ่ก็จะพูดทำนองนี้

ไม่ใช่การบ่น ผมพบว่าคนในป่าทุ่งใหญ่เกือบทุกคนไม่คิดว่าอยู่ในหน่วยห่างไกล ยากที่จะเข้าถึง คือความยากลำบาก

ประการหนึ่งคือ พวกเขารู้ดีว่า สิ่งเหล่านี้มันมาพร้อมกับการทำงาน หน้าที่ของพวกเขาคือ ดูแลพื้นที่อันเป็นบ้านสัตว์ป่า

“อยู่บ้านน่ะ ลำบากกว่าอีก” เข่งลีเส็ง ชายวัย 40 กลางๆ ผู้มีลูก 5 คนบอก

“ที่บ้านเมียใช้งานตลอด อยู่หน่วย กลับจากลาดตระเวนยังพอมีเวลาพักบ้าง” เขาพูดต่อ ไม่รอให้ถาม

จากน้ำเสียงและแววตารื่นเริง ผมว่าเขาพูดจริง

แต่ใช่ว่าทุกหน่วยพิทักษ์ป่าในป่าทุ่งใหญ่ด้านตะวันตกจะกันดารเข้าถึงยากทั้งหมดหรอก

มีหน่วยที่สบายมาก หน่วยนี้มีชื่อว่า หน่วยพิทักษ์ป่าเกิงสะดา

 

เกิงสะดา เป็นหน่วยพิทักษ์ป่าซึ่งตั้งอยู่ติดถนนลาดยาง มีไฟฟ้า จานดาวเทียม รับสัญญาณโทรทัศน์ อยู่ไม่ไกลจากอำเภอสังขละบุรี ตั้งอยู่บนเนินสูง ด้านหลังมีแม่น้ำรันตีไหลผ่าน ด้านหน้าถัดจากถนนไปคือทะเลสาบกว้าง มีแนวเขาทอดยาวเป็นฉากหลัง

จากสำนักงานเขต หรือจากอำเภอทองผาภูมิ เดินทางมาถึงนี่ไม่ยาก ไม่ต้องใช้รถขับเคลื่อนสี่ล้อ

ผมไปที่หน่วยนี้ไม่บ่อยนัก นอกจากผ่านและแวะทักทายเพื่อนๆ

แต่บางครั้งก็หยุดพักเพื่อ “พักฟื้น” ทั้งรถและคน หลังเดินทางบนทางในป่าที่ฝนตกทุกวัน

ครั้งหนึ่ง ผมหยุดพักและรอเจ้าหน้าที่สถานีวิจัยสัตว์ป่าเขานางรำ ที่อยู่ในภารกิจตั้งกล้องสำรวจประชากรเสือโคร่ง เขาเดินร่วมมากับชุดลาดตระเวน เราจะกลับไปสถานีพร้อมกัน

 

มีทางสบายๆ มาถึงที่นี่ แต่ว่าไปแล้ว มีหลายครั้งที่เราไม่ได้ใช้ทางสบายๆ นี้หรอก

งานที่เลือกทำ ไม่เปิดโอกาสให้ “สบายๆ” บ่อยนัก

มีครั้งหนึ่ง ผมร่วมกับทีม ใช้เวลาเดิน 6 วัน เริ่มจากหน่วยพิทักษ์ป่าเกาะสะเดิ่ง เดินลัดเลาะตามสันเขา ข้ามลำห้วยที่ระดับน้ำสูงเทียมอก บางช่วงสูงท่วมหัว หลังเดินเข้าหาจุดหมาย โดยใช้เวลาไปแล้ว 3 วัน เราพบว่า บริเวณผาที่เป็นน้ำตกสูงราว 80 เมตร และในฤดูแล้งปีนป่ายขึ้นไปได้ มีน้ำมากเกินกว่าจะปีนขึ้นได้

“ตอนนี้ขึ้นไม่ได้หรอก ถึงช่วงแล้งๆ ค่อยมาดู” เข่งลีเส็งพูดพลางค้อนบุญเลิศที่ถือจีพีเอสในมือ

เข่งลีเส็งพาถอยจากหุบ และตัดขึ้นสันเขาอีกครั้ง เพื่อมุ่งหน้าไปบ้านกอม่องทะ บ้านพ่อตาเขาอยู่ที่นั่น จากนั้น เขาจะวิทยุให้รถจากหน่วยเกิงสะดามารับ

บนด่าน มีรอยตีนเสือโคร่ง รอยคุ้ยและรอยตะกุยต้นไม้ ไม่ใหม่นัก

มีรอยกระทิงฝูงขึ้นมาบนสันเขา และมุ่งหน้าลงไปดงไผ่ในหุบ

เสือในพื้นที่นี้ยังมีชีวิตที่ดีพอสมควร มีเหยื่อให้พวกมันล่า

แต่ก็เถอะ เสือรู้ความจริงดีว่า แม้จะมีเหยื่อ แต่การล่าที่ประสบผลสำเร็จเท่านั้น ชีวิตพวกมันจึงจะดำรงไปได้ตามวิถี

 

เดินป่าช่วงฝน ผ่านป่าดิบที่ชุกชุมคือทาก

ถุงกันทาก ช่วยได้บ้าง แต่ทากหลายตัวก็คืบคลานมากัดได้ถึงคอ เราจับมันออกตอนนั่งพัก

ทุกคืนฝนตกหนักสลับเบา บางวันเดินได้ครึ่งวัน ก็พบกับสายฝนราวกับฟ้ารั่ว

เราเลือกพักไกลลำห้วย ไม่อยู่ใต้ต้นไม้ที่ใบหนาทึบ เพราะใบไม้จะอุ้มน้ำรับน้ำหนักมาก กิ่งไม้มีโอกาสหักง่าย

กิ่งไม้ใหญ่หักลงเปลที่นอน ไม่ใช่เรื่องสนุก

ขึงผ้ายางโดยไม่ต้องใช้เชือกผูกเป็นราวก่อนจำเป็น เพราะน้ำจะไหลมาตามเชือกหยดลงเปล เราผูกผ้ายางหรือฟลายชีตกับต้นไม้เลย

สมัยก่อนที่เราจะใช้ห่วงต่อเชือกสายเปลเพื่อดักน้ำ ไม่ให้ไหลซึมเข้าเปล เราใช้ไม้ง่ามค้ำหัวเปลทั้งสองด้าน ให้ช่วงติดเปลสูงกว่าด้านที่ผูกกับต้นไม้ วิธีนี้ช่วยไม่ให้น้ำไหลซึมเข้าเปล เราใช้วิธีนี้มานาน

เรื่องง่ายๆ แบบนี้แหละ ทำให้เราผ่านคืนฝนตกหนักมาได้อย่างอบอุ่น

 

เหนือกองไฟ มีผ้ายางผืนเก่าขึงไว้ เปลวไฟช่วยไล่ริ้น, ยุง และความชื้นบ้าง

หยุดพักเร็ว มีเวลาให้กับการประดิดประดอยทำกับข้าว เสบียงยังสมบูรณ์

เราแบ่งเสบียงเท่าๆ กันเพื่อใส่เป้ หลักๆ เป็นบะหมี่สำเร็จรูป

ผ้ายาวเหนือกองไฟช่วยไม่ให้ไฟดับ แต่กันละอองฝนไม่ได้

เข่งลีเส็งตำน้ำพริกอะไรสักอย่าง เผ็ดจนลิ้นแทบพอง

“อากาศเย็นๆ กินเผ็ดดีครับ” เขาพูด

ผมตักน้ำพริกคลุกข้าว ใต้ผ้ายางละอองฝนโปรย นั่งขัดสมาธิไหล่ชนไหล่เสือโ

ผมอยู่กับบรรยากาศอย่างนี้มาเนิ่นนาน

 

ขณะเดิน เราจะหยุดตรวจรอบๆ ทุกหนึ่งร้อยเมตร หาร่องรอยสัตว์ป่า บุญเลิศจดพิกัด บันทึกลงแบบฟอร์ม

เราผ่านโป่งเล็กๆ ที่มีร่องรอยสัตว์ป่าใช้ประจำ หลายแห่ง ส่วนใหญ่รกทึบ ห้อมล้อมด้วยต้นไม้หนาแน่น

ที่ผ่านๆ มา เวลาส่วนใหญ่ผมอยู่กับการเฝ้ารอริมโป่งวันละ 10-12 ชั่วโมง

หยุดอยู่กับที่ รอให้สัตว์ป่าอนุญาตให้พบ

เมื่อเดินผ่านโป่ง ผมนึกได้ว่า เวลาที่ผ่านมามีค่าเช่นไร

 

เทียบกับหน่วยพิทักษ์ป่าแห่งอื่น หน่วยเกิงสะดา คือหน่วยที่สบาย

หลังพักฟื้นแค่สองวัน บุญเลิศกับนิคมก็ชวนผมเข้าไปรับเพื่อนสองคนที่อยู่ในป่า

“เข้าไปรับสองคนนั่นเถอะครับ อยู่นี่เหมือนจะสบายเกินไปนะครับ” สองคนให้เหตุผล

เราจัดของขึ้นรถ บนทางทุรกันดาร เสียงหัวเราะดังลั่นมาจากกระบะ

ผมมองกระจกหลัง เห็นหน้ามีความสุขของพวกเขา

ดูเหมือนว่า มีชีวิตจำนวนไม่น้อย ไม่ได้ถูกออกแบบมาให้เหมาะสมกับความ “สบายๆ”

การเดินทางบนเส้นทางกันดารนี่เอง สอนให้รู้ว่า

เมื่อใดควรหยุดในที่เหมาะสม

หรือที่ใดควรเป็นที่ “ผ่าน” ไป เพราะจุดหมายยังอยู่อีกไกล…