กปปส. กับตำรวจ : วงค์ ตาวัน

วงค์ ตาวัน

เห็นการเคลื่อนไหวของแกนนำ กปปส. ที่ออกมาขย่มเขย่าวงการตำรวจในระยะนี้ มีมุมมองจากคนในแวดวงสีกากีที่เห็นว่า ไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจ เพราะม็อบนกหวีดกับตำรวจนั้น มีเรื่องที่ยังค้างคากันมา จนยากจะลืมเลือนไปได้ง่ายๆ

ด้วยเพราะในช่วงการชัตดาวน์ เมื่อปลายปี 2556 ต่อเนื่องจนถึงต้นปี 2557 นั้น การทำทุกอย่างเพื่อให้บ้านเมืองเข้าสู่ทางตัน เพื่อกดดันให้ทหารต้องออกมา

ทุกอย่างไม่ได้ราบรื่นนัก ด้วยสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ยังคงเป็นก้างขวางคอชิ้นโต

“ตำรวจยังทำตัวเป็นหน่วยกำลังและเป็นผู้ดูแลรักษากฎหมายที่เข้มแข็ง”

เมื่อรัฐบาลขณะนั้น ยังถือว่าเป็นรัฐบาลที่มีความถูกต้องตามกฎหมายทุกประการ แถมยังได้เปิดทางออกคลี่คลายสถานการณ์ตามแนวทางประชาธิปไตยอย่างชัดเจนไปแล้ว นั่นคือ การยุบสภา เพื่อจัดให้มีการเลือกตั้งใหม่ ตำรวจก็มีหน้าที่รักษาสถานการณ์บ้านเมืองเพื่อไปถึงวันที่ประชาชนจะตัดสินใจทางการเมืองครั้งใหม่

แต่เพราะแผนของแกนนำม็อบบางคน แอบแฝงลึกล้ำกว่านั้น จึงปฏิเสธหนทางประชาธิปไตย เป้าหมายมีประการเดียวคือ ทหารต้องออกมายึดอำนาจ

กระนั้นก็ตาม เพราะกลไกตำรวจนี่แหละ ทำให้ทุกอย่างไม่ง่ายเหมือนปอกกล้วยเข้าปาก

“นี่จึงเป็นประเด็นฝังใจ ที่ทำให้แกนนำม็อบนกหวีด ตั้งเป้าเอาไว้หลังรัฐบาลทหารเข้าควบคุมบ้านเมือง คือ ต้องสับสำนักงานตำรวจแห่งชาติออกเป็นชิ้นเล็กๆ ด้วยข้ออ้างต้องปฏิรูปตำรวจ!”

จึงเป็นคำตอบให้เห็นว่า ทำไมคนที่อยากปฏิรูปตำรวจจนตัวสั่นนั้น ล้วนแต่เป็นแกนนำนกหวีด

โดยคนกลุ่มนี้เห็นชัดเจนว่า หากสำนักงานตำรวจแห่วงชาติ ยังคงเป็นหน่วยกำลังที่เข้มแข็ง มีอำนาจตามกฎหมายอย่างเต็มเปี่ยม มีกำลังจากทั่วประเทศ ทั้งภูธร นครบาล สับเปลี่ยนหมุนเวียนมารักษาความสงบเรียบร้อยในท่ามกลางวิกฤตได้อย่างไม่มีอ่อนล้าเช่นนี้

ต่อไปในภายหน้า เกิดอยากจะล้มประชาธิปไตยกันอีก ก็ยากลำบากเช่นนี้อีก

“จึงต้องปฏิรูปตำรวจ ด้วยการทำให้เป็นองค์กรเล็ก แยกกระจาย ทำให้ไม่สามารถเป็นหน่วยกำลังหลักในอนาคตได้”

ขณะเดียวกัน หากย้อนกลับไปยังบรรยากาศในช่วงที่ยังคงชุมนุมชัตดาวน์นั้น ก็จะพบว่า การกระทบกระทั่งระหว่างตำรวจกับฝ่ายม็อบ มีความรุนแรงผิดปกติเกิดขึ้นเช่นเดียวกัน

จึงนำมาสู่ภาพเหตุการณ์ที่ทำวันนี้ ตำรวจเองไม่มีใครลืมเลือน

เช่น การรื้อป้ายสำนักงานตำรวจแห่งชาติ

รวมไปถึงเหตุการณ์สยอง ตำรวจเตะระเบิด!!

ทุกวันนี้ ร.ต.ท.ธีระเดช เล็กภู่ สังกัดสภ.แสนสุข จังหวัดชลบุรี ยังมีสภาพร่างกายที่ไม่เต็มร้อย แต่ยังคงเดินทางไปทำงานที่โรงพักเน้นด้านเอกสารธุรการ เพราะไม่สามารถทำงานเป็นตำรวจในภาคสนามได้ต่อไป ด้วยอิทธิฤทธิ์ของลูกระเบิดที่เกิดเหตุเมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2557

“หรือที่เรียกกันว่า เหตุการณ์ตำรวจเตะระเบิด”

ภาพหลักฐานจากวิดีโอของสำนักข่าวต่างประเทศ บันทึกเหตุการณ์ที่บริเวณสะพานผ่านฟ้าในวันนั้นอย่างชัดเจนว่า ขณะตำรวจปราบจลาจลของภูธรภาค 2 กำลังตั้งแนว โดยมีโล่กำบัง ได้มีคนร้ายที่อยู่ตรงข้ามกับแนวตำรวจ ได้ขว้างระเบิดมือลอยละลิ่ว มาปะทะกับโล่เสียงดังสนั่น

นาทีนั้น ด.ต.ธีระเดช เล็กภู่ เหลือบไปเห็นลูกระเบิดมือกลิ้งอยู่บนพื้นใกล้กับแนวตำรวจ จึงตัดสินใจลุกขึ้นเตะลูกระเบิดทิ้ง

เป็นจังหวะที่ระเบิดทำงานพอดี จึงทำให้ด.ต.ธีระเดช ได้รับบาดเจ็บสาหัส

แต่ถ้าไม่ลุกขึ้นเพื่อเตะทิ้ง แรงระเบิดอาจทำอันตรายแก่ร่างกายและชีวิตของตำรวจอีกจำนวนมากในบริเวณนั้น

“ด.ต.ธีระเดช ได้รับการยกย่องว่าเป็นฮีโร่เตะระเบิด!”

แต่ต้องพักรักษาตัวในโรงพยาบาลเป็นเวลาปีกว่า โดยมีผู้บังคับบัญบัญชาตั้งแต่ ผบ.ตร. ลงไป ไปเยี่ยมเยียนให้กำลังใจไม่ขาดสาย

สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เลื่อนยศให้เป็น ร.ต.ต. โดยให้ทำงานที่ สภ.แสนสุข ชลบุรี ดังเดิม

การช่วยเหลือหลั่งไหลจากทุกฝ่าย มีการจัดทำเสื้อยืดฮีโร่เตะระเบิด เพื่อหารายได้ช่วยเหลือครอบครัวของ ร.ต.ท.ธีระเดช (ยศปัจจุบัน)

“เมื่อปีที่แล้ว พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว อดีตผบ.ตร.ในสถานการณ์ดังกล่าว ซึ่งปัจจุบันดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี พม. ได้จัดมอบเงินเยียวยาช่วยเหลือ ร.ต.ท.ฮีโร่เตะระเบิดด้วย”

ไม่ว่าใครจะถามกี่ครั้ง ทุกครั้งร.ต.ต.ธีระเดช ยืนยันว่า ถ้าย้อนเวลากลับไปได้ ก็ยังยืนยันว่าต้องทำเหมือนเดิม เพื่อรักษาชีวิตเพื่อนตำรวจ เพียงแต่ถ้าทำได้ จะเตะให้เร็วกว่านั้น

“รวมทั้งเรียกร้องทุกฝ่ายในทางการเมืองว่า เหตุการณ์ครั้งนั้นน่าจะเป็นบทเรียนว่า ความรุนแรงมีแต่นำมาซึ่งการสูญเสีย การพูดคุยเจรจาหาทางแก้ปัญหาอย่างสันติวิธีเท่านั้น จะช่วยเหลือประเทศชาติได้!”

กรณีตำรวจเตะระเบิด จึงกลายเป็นสัญลักษณ์แห่งการใช้ความรุนแรงที่กระทำต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจในเหตุการณ์ชุมนุมคราวนั้น

สะท้อนให้เห็นว่า มีคนบางกลุ่มมุ่งใช้อาวุธร้ายแรง มุ่งทำให้สถานการณ์ลุกลามบานปลายอย่างโหดเหี้ยมอำมหิต

ที่สำคัญกรณีตำรวจเตะระเบิด เป็นบาดแผลที่จารึกเอาไว้ในใจตำรวจและแกนนำม็อบบางคน คงยากจะลืมเลือนกันได้ง่ายๆ

เหตุการณ์รุนแรงอีกประการในช่วงต้นปี 2557 ที่สะท้อนบรรยากาศระหว่างม็อบนกหวีดกับตำรวจ นั่นก็คือ การบุกเข้ารื้อป้ายสำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดยผู้ชุมนุมฮือกันเข้าทุบทำลายตัวอักษร ตราสัญลักษณ์ จนพินาศย่อยยับ

แถมยังใช้สีสเปรย์พ่นคำด่าว่าตำรวจอย่างรุนแรงไปบนแผ่นป้ายแทนอีกด้วย

“กรณีนี้ นับเป็นอีกเหตุที่เป็นบาดแผลซึ่งยากจะลืมเลือน”

เพราะวงการตำรวจถือว่า ป้ายสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ซึ่งอยู่หน้าอาคารสำนักงานตำรวจแห่งชาติ หากถูกรื้อพังเสียหายเช่นนี้ ถือเป็นการหยามหมิ่นศักดิ์ศรีอย่างรุนแรง

อีกทั้งป้ายดังกล่าว ได้มีพิธีติดตั้งและประกาศใช้ เมื่อครั้งที่ตำรวจได้เลื่อนฐานะเป็นสำนักงานตำรวจแห่งชาติ มีสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปรินายก เป็นผู้เปิดผ้าแพรทำพิธีเจิมป้าย เมื่อวันที่ 17 ตุลาคม 2547

ทั้ง 2 เหตุการณ์ใหญ่ในช่วงม็อบชัตดาวน์

คือ กรณีตำรวจเตะระเบิด และกรณีรื้อป้ายสำนักงานตำรวจแห่งชาติ

“จึงถือเป็น 2 เรื่องใหญ่ ที่สะท้อนบรรยากาศบางประการได้เป็นอย่างดี!”

กระนั้นก็ตาม หลายครั้งในท่ามกลางการเคลื่อนไหวต่อสู้ของมวลชนในเหตุการณ์ต่างๆ อารมณ์ของม็อบ อาจนำมาซึ่งการกระทำที่เกินเลยไปบ้าง ถือเป็นเรื่องปกติธรรมดา เพราะเป็นการแสดงอออกขณะการต่อสู้นั้นระอุสุดขีด

“หลายครั้งเมื่อเหตุการณ์ผ่านไป ก็มักจะไม่มีการนำเอาภาพความรุนแรงบางอย่างมาพูดถึงอีก คล้ายกับละเอาไว้ในฐานที่เข้าใจกันได้”

แต่การที่แกนนำนกหวีดบางราย ยังคงเดินหน้าผ่าตัดตำรวจ ด้วยข้ออ้างปฏิรูปอย่างไม่ลดราวาศอก

มาจนถึงกรณีแกนนนำ กปปส.บางคน กำลังเคลื่อนไหวถล่มตำรวจอย่างดุเดือด

ย่อมทำให้แวดวงตำรวจเอง อดไม่ได้ต้องนึกถึงบรรยากาศที่เพิ่งผ่านมาเมื่อ 3 ปีก่อน

รวมทั้งเป็นคำตอบด้วยว่า ทำไมศึกนี้จึงไม่มีทีท่าว่าจะเลิกรา!