ตำนานป่าดอง จอมพล สฤษดิ์ เสียใจ / บทความพิเศษ พล.อ.บัญชร ชวาลศิลป์

พล.อ.บัญชร ชวาลศิลป์

บทความพิเศษ

พล.อ.บัญชร ชวาลศิลป์

 

2503 สงครามลับ

สงครามลาว (22)

 

ตำนานป่าดอง

จอมพล สฤษดิ์ เสียใจ

พารูเจิดจำรัส จิตการุณราษฎร์ พยายามเอาชีวิตรอดต่อไป

“นั่งๆ นอนๆ อยู่ใกล้ๆ บ้านแม้วจนมืด เจ้าของบ้านก็ไม่ยอมกลับมา จึงขึ้นนอนบนบ้าน หลับฝันเห็นประเสริฐกับสนวนแต่งกายชุดต่อสู้บนยอดดอย ทั้งสองพอเห็นเจิดก็ดีใจตรงเข้าหาจับมือถือแขน ‘เอ้า ผู้หมวดอยู่นี่เอง นึกว่าไปไหน พวกเราเที่ยวตามหากันใหญ่…’

คืนนั้นนอนหลับๆ ตื่นๆ ตลอดคืนเพราะฤทธิ์ไข้ แต่สบายใจหน่อยที่อยู่ห่างข้าศึกมาก

ตื่นขึ้นตอนเช้า กินหมู กินน้ำเสร็จแล้วเตรียมเดินทางต่อ รองเท้าใส่ได้ข้างเดียว ข้างที่ถูกยิงบวมมากใส่ไม่ได้ เอาพาดบ่ากับหมูย่างออกเดินจากหมู่บ้านแม้ว ผ่านที่โล่งแดดเปรี้ยงๆ เดินจนแทบหมดแรง

พอดีเห็นผู้หญิงเดินมาแต่ไกลคนเดียว แน่ใจว่าไม่ใช่ฝ่ายข้าศึกจึงเข้าหา เอามือตบท้องตัวเอง ส่งภาษาใบ้ ขออาหารกิน

โชคดีที่เป็นคนเคยไปขอยาจากพวกเรา พาเดินไปอีกพักใหญ่จนถึงหมู่บ้าน หัวหน้าบ้านเป็นคนที่เราฝึกอาวุธให้จึงได้ทั้งอาหารทั้งที่พัก

หมดห่วงกังวลเรื่องข้าศึก นอนหลับจนสว่าง หัวหน้าบ้านส่งคนไปรายงานให้หน่วยเหนือทราบ

รุ่งขึ้น เฮลิคอปเตอร์รับจากหมู่บ้านมาพักรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลในเวียงจันทน์สองคืนแล้วเครื่องบินรับจากเวียงจันทน์เข้ามารักษาตัวที่กรุงเทพฯ

ช่วงที่ฐานแตกและถูกข้าศึกยึด ทุกคนเข้าใจว่าเจิดเสียชีวิตในการรบแล้ว จึงรายงานเข้ากรมตำรวจ ฯพณฯ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ รักษาการตําแหน่งอธิบดีกรมตํารวจ ได้วิทยุแสดงความเสียใจในมรณกรรมของ ร.ต.ท.เจิดจํารัส จิตการุณราษฎร์

แต่เขากลับรอดมาได้อย่างเหลือเชื่อ ต้องแก้ไขรายงาน”

 

วีรกรรมพารู ‘ทีม O’ ที่เชียงแดด

ทีม O เป็นทีมของตำรวจพลร่มซึ่งประกอบด้วย พารูจะเด็ด โตประดิษฐ์ เป็นหัวหน้า พารูวิสูตร์ พันธุ์อำไพ กับพารูสง่า แจ่มประวิทย์ เป็นพลปืนเล็ก พารูเผด็จ คุ้มสะอาด เป็นพนักงานวิทยุ และพารูจำรัส จันทะวงษ์ เป็นพยาบาล

ทีม O มีฐานปฏิบัติการอยู่ที่ “เชียงแดด” ได้รับมอบภารกิจในการฝึกการรบแบบกองโจรให้กับชาวเขาเผ่าม้งของนายพลวังเปาและพวกลาวเทิงในสังกัดของ ร.อ.สมบูน

ต่อมามีเหตุการสู้รบเกิดขึ้นในเวลาประมาณ 21.00 น. เดือนพฤษภาคม พ.ศ.2504 ฝ่ายข้าศึกมากกว่า 50 คนได้บุกจู่โจมฐานปฏิบัติการแบบสายฟ้าแลบและระดมยิงเข้าใส่อย่างหนาแน่นแบบไม่ให้ตั้งตัว

การสู้รบเป็นไปอย่างดุเดือดจนเป็นเหตุให้พารูจะเด็จ โตประดิษฐ์ และพารูวิสูตร์ พันธุ์อำไพ เสียชีวิตในการปะทะ

ส่วนพารูเผด็จ คุ้มสะอาด เสียชีวิตในขณะหลบหนี

พารูสง่า แจ่มประวิทย์ และพารูจำรัส จันทวงศ์ ถูกจับเป็นเชลยและถูกกักขังอยู่เป็นเวลา 6 เดือนก็ได้รับการปล่อยตัวจากการแลกเปลี่ยนเชลย”

ผู้ที่รอดชีวิตกลับมาได้บอกเล่าเหตุการณ์ไว้ว่า

“ทันใดนั้นก็ได้ยินเสียงของหัวหน้าทีมตะโกนขึ้นว่า ‘สู้ตาย’ ดูเหมือนจะเป็นคำพูดสุดท้ายของหัวหน้า กระสุนของฝ่ายตรงข้ามก็เจาะเข้ากลางหน้าผากเขาทันที และในเวลาใกล้เคียงกันนั้นเองเสียงปืนของข้าศึกที่บุกจู่โจมเข้ามาไม่น้อยกว่า 50 คนก็ยิงใส่ร่างของวิสูตรที่กำลังยิงต่อสู้ กระสุนเข้าที่หน้าอกถึง 3 นัดทำให้เขาตายคาที่ทันทีเช่นเดียวกัน

และในขณะนั้นเองก็ได้ยินเสียงของพารูสง่าดังขึ้นว่า ‘เผด็จ ผมถูกยิงที่ข้อเท้า’ ในวินาทีต่อมาก็ได้ยินเสียงหมอจำรัสตะโกนว่า ‘ผมถูกยิงที่สะโพก’ เผด็จซึ่งกำลังประคองสง่าก็ตะโกนถามว่า ‘หมอพอจะคลานไปไหวไหม’ หมอตอบว่าไหว เผด็จก็สั่งให้หมอจำรัสคลานลงไปที่ก้นเหวและพบกันที่ยอดเขาลูกข้างหน้าซึ่งเป็นที่นัดพบ”

“และแล้วพวกเราก็มารวมกันอยู่ที่ยอดเขาพร้อมกับปูแผ่นผ้าสัญญาณเพื่อขอความช่วยเหลือจากเฮลิคอปเตอร์

เมื่อเฮลิคอปเตอร์เห็นก็บินโฉบเข้ามาใกล้ๆ เพื่อจะลงรับ แต่ลงไม่ได้เพราะข้าศึกที่ล้อมรอบภูเขาลูกนี้แล้วระดมยิงอย่างหนัก

พวกเราจึงมีมติให้เผด็จหลบหนีไปคนเดียว

ต่อมาทราบว่าเผด็จถูกจับตัวได้ที่หมู่บ้านชาวเขาแห่งหนึ่งที่ข้าศึกยึดได้และถูกฆ่าตายที่นั่น”

เหตุการณ์โจมตีฐานปฏิบัติการของทีม O นี้ ถูกเปิดเผยในเวลาต่อมาว่า เกิดจากฝีมือของ ร.อ.สมบูน ผู้บังคับกองร้อยของกองทหารลาวเทิงซึ่งเป็นกำลังพลที่เราเป็นผู้ฝึกฝนทำการรบให้นั้นเกิดความโลภอยากจะได้สิ่งของและยุทโธปกรณ์ที่ทางหน่วยเหนือส่งมาสนับสนุนเพื่อใช้ทำการฝึกและการรบของทีมปฏิบัติการ

เหตุผลสำคัญอีกประการหนึ่งคือพวกลาวเทิงเกิดความไม่พอใจพวกทหารชาวม้งของนายพลวังเปา

ยิ่งไปกว่านั้น ร.อ.สมบุนยังถูกฝ่ายตรงข้ามเกลี้ยกล่อมจนเกิดการเปลี่ยนใจจึงได้ทรยศและยกกำลังเข้าปล้นฐานพวกเดียวกัน มีผลให้ทีม O ต้องได้รับความสูญเสียอย่างหนัก

อย่างไรก็ตาม อีก 2 ปีต่อมา ทีมปฏิบัติการของพารูอีกทีมหนึ่งก็สามารถจับตัวและสังหาร ร.อ.สมบูนได้ในการรบ

ยังมีบันทึกวีรกรรมของเหล่าพารูอีกหลายเหตุการณ์ ทั้งหมดล้วนสะท้อนให้เห็นบทบาทสำคัญของเหล่าตำรวจพลร่ม “เสือดำ” จากค่ายนเรศวรที่ยืนหยัดเคียงคู่ชาวม้ง ก่อนที่จะมีทหารประจำการและทหารเสือพรานถูกส่งเข้าปฏิบัติการในเวลาต่อมา

 

ปักหลักที่ป่าดอง

หลังชัยชนะอย่างต่อเนื่องนับแต่ได้รับความช่วยเหลือจากซีไอเอและพารูตามโครงการ “โมเมนตัม” ตั้งแต่ต้นปี พ.ศ.2504 เป็นต้นมา จนกระทั่งถูกรุกกลับจากทหารฝ่ายซ้ายและทหารเวียดนามเหนือในเดือนพฤษภาคม วังเปาจึงละทิ้งที่มั่นเดิมแล้วจัดตั้งกองบัญชาการแห่งใหม่ขึ้นที่ “ป่าดอง” ชุมทางแหล่งค้าฝิ่นเก่าที่อยู่ข้ามภูเขาออกไปไม่กี่ลูก

ที่ป่าดองมีสนามบินเก่าหญ้าคาขึ้นสูงท่วมหัว มีเรือนไม้เก่าสร้างสมัยอาณานิคมฝรั่งเศส ภูมิประเทศของป่าดองเป็นที่ราบสูงบนภูเขา รายล้อมด้วยต้นชาป่า มียอดเขาสูงทางด้านทิศใต้ เลยหุบเขาทางทิศเหนือออกไปมีสันเขาสูงลดหลั่นอันเป็นที่ตั้งหมู่บ้านชาวม้ง

ทุ่งไหหินซึ่งทอดตัวอยู่เลยสันเขานี้ออกไปขณะนั้นตกอยู่ภายใต้การควบคุมของกองกำลังฝ่ายศัตรู คือทหารฝ่ายเป็นกลางของประเทศลาว รวมถึงที่ปรึกษาโซเวียตและเวียดนามเหนือ

ชาวเขาจำนวนมากหลั่งไหลทยอยมารวมตัวที่ป่าตองเพื่อร่วมต่อสู้กับวังเปา

 

ตำนานป่าดอง

เหตุผลหนึ่งที่วังเปาเลือกป่าดองเป็นฐานที่มั่นและกองบัญชาการแห่งใหม่มาจาก “ความเชื่อ” ที่สืบทอดกันมาช้านานในหมู่ชาวม้ง

ม้งเป็นชนเผ่าที่มีความหลังฝังใจแนบแน่นกับอดีตหรือบรรพบุรุษพวกเขา คนเฒ่าคนแก่ของเผ่าเล่าขานถึงยุคทองสมัยอาศัยอยู่ในเมือง ยังไม่ได้ร่อนเร่ปักหลักอยู่ตามภูเขาอย่างทุกวันนี้

ยุคนั้นป่าดองแห่งนี้เคยเป็นศูนย์กลางการต่อต้านเวียดนามศัตรูคู่อาฆาตมาหลายยุคสมัย และยังเกี่ยวพันกับตำนานเรื่องราวที่เก่ากว่านั้นว่า ป่าดองจะเป็นสถานที่เปิดศักราชแห่งการฟื้นฟูวัฒนธรรมใหม่ของเผ่าพันธุ์โดยอาศัยความช่วยเหลือจากมหาอำนาจอเมริกา

ป่าตองจึงมีคุณค่ายิ่งในทางสัญลักษณ์และดูเหมือนว่านี่เป็นเหตุผลที่วังเปาตัดสินใจจะปักหลักปกป้องป่าตองไว้อย่างสุดกำลัง

ที่ผ่านมา เมื่อข้าศึกรวมพลอยู่ที่บริเวณตอนใต้ทุ่งไหหิน ปกติแล้วผู้นำกองกำลังจรยุทธ์มักหลีกเลี่ยงการปักหลักเผชิญหน้ากับกองกำลังขนาดใหญ่ของข้าศึก เนื่องจากเป็นการเสียเปรียบศัตรูที่มีกำลังคนและอาวุธที่เหนือกว่า แต่บัดนี้เมื่อมีมหามิตรอเมริกาคอยช่วยเหลือ วังเปาจึงไม่กลัวการเผชิญหน้ากับศัตรูแม้แต่เวียดนามเหนืออีกต่อไป

ขอบคุณข้อมูลจาก “ผลาญชาติ” โรเจอร์ วอร์นเนอร์/ไผท สิทธิสุนทร แปล