ส่องสังคมญี่ปุ่นที่มีประชากร อายุเกิน100 เกือบแสนคน รัฐบาลเขาวางแผนรองรับยังไง ?

บทความพิเศษ | สุภา ปัทมานันท์

ยุคสมัยที่คนอายุยืน 100 ปี

ญี่ปุ่นเป็นหนึ่งในประเทศที่มีประชากรอายุยืนที่สุดในโลก ทำสถิติในกินเนสบุ๊กส์หลายครั้งทั้งหญิงและชาย ซึ่งล้วนมีอายุเกิน 100 ปีทั้งสิ้น

จากการสำรวจในปี 2020 ทั่วประเทศญี่ปุ่นมีผู้อายุเกิน 100 ปี 84,500 คน เป็นผู้หญิงถึง88.2% ทีเดียว และเป็นจำนวนที่เพิ่มขึ้นทุกปีติดต่อกัน 50 ปีแล้วตั้งแต่มีการสำรวจครั้งแรกในปี 1963 ซึ่งมีเพียง 153 คนเท่านั้น และเพิ่มขึ้นเกิน 1,000 คนในปี 1981 และเพียง17 ปีต่อมาก็เพิ่มขึ้นเกิน 10,000 คน และกำลังจะใกล้ 100,000 คนในอีกไม่กี่ปีข้างหน้านี้แน่นอน แสดงให้เห็นถึงความก้าวหน้าทางการแพทย์และความเป็นอยู่ที่มีคุณภาพของประชากรในประเทศ

ปัจจุบันการมีชีวิตยืนยาวถึง 100 ปี จึงไม่น่าเป็นเรื่องยากแต่อย่างใด มองในแง่ดีก็เป็นเรื่องน่ายินดีว่ามนุษย์เราสามารถเอาชนะสังขารอันไม่เที่ยงมาได้ระดับหนึ่ง แต่จะทำอย่างไรจึงมีชีวิตอยู่อย่างมีความสุขต่างหากที่เป็นเรื่องน่าคิด ซึ่งแน่นอนว่าปัจจัยสำคัญอย่างหนึ่ง คือมี “เงิน” พอที่จะใช้ชีวิตอย่างไม่แร้นแค้นหรือเป็นภาระแก่ผู้อื่นนั่นเอง

จากการสำรวจโครงสร้างการทำงานของคนญี่ปุ่น อัตราส่วนของผู้สูงวัย(高齢者)ที่อยากทำงานแต่ไม่มีงานให้ทำ ในคนอายุ 60 – 64 ปี มี15% อายุ 65 – 69 ปี มี 22% และอายุ 70 – 74 ปี มี 27% คือ หลังเกษียณแล้ว ยิ่งอายุมากก็ยิ่งไม่มีงานรองรับให้ทำได้

ในปี 2012 รัฐบาลญี่ปุ่นได้มีการแก้ไขกฎหมายเกี่ยวกับการจ้างพนักงานผู้สูงอายุ 3 หัวข้อ คือ ยกเลิกระบบเกษียณอายุ ยืดอายุการเกษียณ และระบบการจ้างงานต่อเนื่อง (หรือรับเข้าทำงานอีก) กล่าวคือ ถ้าพนักงานยังประสงค์ทำงานต่ออีก บริษัทต้องให้โอกาสทำงานต่อจนอายุ 65 ปี

โอฮาชิ (นามสมมุติ ชายวัย 68 ปี) เดิมทำงานด้านบัญชีที่บริษัทขนส่งสินค้าทางอากาศจนเกษียณ ได้เป็นพนักงานจ้างจนถึงอายุ 65 ปี เขาได้รับเงินสะสมก้อนหนึ่ง หลังจากนำไปชำระหนี้เงินกู้บ้านแล้ว ก็เหลือเงินไม่มากนัก จึงพยายามหางานทำ งานที่ใช้ความรู้ความสามารถด้านบัญชีที่ทำมาตลอดชีวิต แต่…ไม่มีบริษัทไหนรับเข้าทำงาน ตอนแรกเขาคิดว่ายังพอมีเงินอยู่ได้จึงใช้ชีวิตเรื่อยเปื่อย จนอายุ 68 ปี จึงเริ่มฉุกคิดได้ว่าถ้าอยู่ในสภาพนี้ต่อไป หากเขามีอายุยืนมาก คงลำบากแน่ จึงพยายามหางานอีกครั้งและได้งานเป็นผู้ดูแลแมนชั่น ด้วยวัยของเขา แม้ไม่อยากทำแต่ก็ต้องทำ เพราะเขาเลือกงานที่อยากใช้ความรู้ความสามารถเดิมไม่ได้อีกแล้ว

ไม่เพียงแต่โอฮาชิเท่านั้นที่มีปัญหานี้ เพราะงานที่มีให้คนสูงวัยอย่างเขาทำ คือ งานที่ไม่จำเป็นต้องใช้ความรู้ความสามารถในอดีต แต่ต้องการความรับผิดชอบ เช่น งานรักษาความปลอดภัยของไซต์งานก่อสร้าง งานโบกรถลูกค้าที่ห้างสรรพสินค้า งานจิปาถะ เป็นต้น

ในเดือนกันยายน ปี 2017 รัฐบาล นายชินโซ อาเบะ ได้ประชุมคณะรัฐมนตรีเกี่ยวกับแผนการรับมือประชากรอายุ100 ปี เป็นครั้งแรก เพราะรัฐบาลเริ่มตระหนักถึงจำนวนประชากรสูงวัยที่เพิ่มขึ้น แต่จำนวนประชากรเกิดใหม่ลดน้อยลงอย่างต่อเนื่องสวนทางกัน

ในปี 2020 มีการแก้ไขกฎหมายเพิ่มเติม คือ ยืดอายุการจ้างงานจากเดิม 65 ปี เป็น 70 ปี หากพนักงานมีความประสงค์จะทำงานต่อ และมีสุขภาพดี บริษัทต้องจัดสภาพแวดล้อมให้พนักงานทำงานต่อไปได้ การแก้ไขเพิ่มเติมครั้งนี้ครอบคลุมไปถึงงานทางเลือกอื่นๆด้วยเช่น งานในองค์กรไม่แสวงหากำไร การเริ่มธุรกิจส่วนตัว เป็นต้น กฎหมายจะเริ่มมีผลบังคับ เดือนเมษายน ปี 2021นี้

ในขั้นแรกเป็น “หน้าที่ที่ต้องพยายามปฏิบัติ” แต่ในอนาคตแล้ว แน่นอนว่าเป็นความรับผิดชอบขององค์กรที่ต้องจัดสภาพแวดล้อมให้เหมาะแก่พนักงานได้ทำงานไปจนอายุ 70 ปี ตามความประสงค์และสภาพสุขภาพของพนักงาน นโยบายนี้ผู้สูงวัยคงดีใจที่จะมีงานทำต่อไปได้

แต่ผลเสียก็ย่อมมีควบคู่ไปด้วย ฝ่ายองค์กรธุรกิจมีภาระหนักในการรับมือ และไม่ใช่ทุกธุรกิจจะสามารถจัดเตรียมงานให้พนักงานสูงวัยได้ มีหลายกิจการที่ยืดอายุการจ้างพนักงานไปจน 65 ปีแล้วพบปัญหาน่าหนักใจ เช่น กรณีโยกย้ายตำแหน่งหน้าที่ที่เคยทำมา ทำให้พนักงานขาดความกระตือรือร้นที่จะเรียนรู้งานใหม่ บางกรณียังมีผลกระทบต่อขวัญและกำลังใจของพนักงานรุ่นหนุ่มที่มุ่งมั่นจะได้รับการเลื่อนตำแหน่ง เป็นต้น ทั้งนี้หากต้องยืดอายุการทำงานไปจนอายุ 70 ปี ย่อมกระทบต่อโครงสร้างบุคลากรอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ไม่แต่เพียงเท่านี้ เทคโนโลยีและวิทยาการใหม่ๆที่เกิดขึ้นและเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว พนักงานสูงวัยจะเรียนรู้ตามทันหรือไม่ด้วย

เมื่ออายุเพิ่มขึ้น แม้จิตใจยังมุ่งมั่นอยากทำงาน แต่เรี่ยวแรงกำลังวังชาและสุขภาพย่อมถดถอย โรคภัยไข้เจ็บที่เพิ่มขึ้น ย่อมเป็นภาระค่าใช้จ่ายขององค์กร และยังต้องคำนึงถึงความปลอดภัยในการทำงานอีกด้วย องค์กรธุรกิจต้องเร่งปรับตัวรับมือเพื่อมิให้ความสามารถในการผลิตและทำกำไรลดลงไปกับการเปลี่ยนแปลงนี้ เหล่านี้ล้วนเป็นภาระของเอกชนที่เรียกร้องไปยังรัฐบาลให้หาทางออกให้ด้วย

จากสถิติคาดว่า ในปี 2040 ญี่ปุ่นจะมีประชากรวัยทำงานอายุ 20 – 64 ปี ราว 55 ล้านคน การยืดอายุการทำงานออกไปตามนโยบายดังกล่าว จะทำให้มีพนักงานผู้สูงวัยอีกประมาณ 17 ล้านคน ได้ใช้ประสบการณ์อันยาวนาน ความรู้ความสามารถของตนเองช่วยชี้แนะแก่คนรุ่นหลัง และเติมเต็มการขาดแคลนแรงงานอย่างมาก เนื่องจากมีประชากรวัยเด็กเพียง 16 ล้านคนเท่านั้น

ในปี 2018 รัฐบาลมีนโยบายลงทุนด้านทรัพยากรมนุษย์ เพื่อปฏิรูปคุณภาพประชาชน ในยุคที่จะมีผู้สูงวัยอายุเกิน 100 ปี ประชาชนทุกวัยต้องมีสุขภาพแข็งแรง มีสถานที่ทำกิจกรรมของตน และมีชีวิตอยู่อย่างสุขใจ ไร้กังวล หนึ่งในนโยบายคือ ส่งเสริมการจ้างงานผู้สูงอายุ ด้วย

การรับมือกับ “ยุคสมัยที่คนอายุยืน 100 ปี” ของรัฐบาลญี่ปุ่นจึงเป็นภาระหนักและเป็นเรื่องท้าทายอย่างมาก…