ธงทอง จันทรางศุ | ไฟไหม้ ‘ข้างบ้าน’

ธงทอง จันทรางศุ

ระหว่างเดือนสิงหาคมพุทธศักราช 2544 จนกระทั่งสิ้นเดือนกันยายนพุทธศักราช 2551 เป็นเวลาเจ็ดปีเศษ

ผมมีโอกาสได้รับราชการอยู่ในกระทรวงยุติธรรมในหน้าที่รองปลัดกระทรวง

งานในความรับผิดชอบมีหลากหลายกว่าหน้าที่อาจารย์ในมหาวิทยาลัยมากนัก

ผมบอกกับตัวเองในเวลานั้นว่า ดีเหมือนกัน ตัวเราเองเป็นนักวิชาการที่สอนหนังสืออยู่ในห้องสี่เหลี่ยมมานานแล้ว ลองนำวิชาความรู้มาปฏิบัติในภาคสนามบ้าง

น่าจะเป็นประสบการณ์ที่ดีของชีวิต

เมื่อนาฬิกาเดินมาถึงวันนี้ ผมแน่ใจว่าการตัดสินใจครั้งนั้นไม่ผิดพลาดครับ

ท่ามกลางประสบการณ์มากมายที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาดังกล่าว เรื่องหนึ่งที่พิมพ์อยู่ในใจเสมอมาคือการได้ไปทำงานเกี่ยวข้องกับพื้นที่พักพิงผู้หลบหนีภัยจากการสู้รบ มาจากประเทศเพื่อนบ้านทางด้านตะวันตกของเรา ตามแนวตะเข็บชายแดนตั้งแต่แม่ฮ่องสอน ตาก เรื่อยลงมาจนถึงราชบุรี กาญจนบุรี

จะมาพูดอ้อมค้อมกันไปทำไมมี ประเทศที่ว่านั้นคือประเทศพม่าครับ

 

ขออนุญาตเรียกตามความคุ้นเคยของตัวเองว่า “พม่า” ไม่ใช่เมียนมา เหมือนกับที่ผมเรียก “ญี่ปุ่น” โดยไม่เรียกว่า “เจแปน” หรือผมเรียกประเทศฝรั่งเศส โดยไม่เรียกว่า ประเทศฟรานซ์

ในระยะเวลาช่วงนั้น ประเทศพม่ามีการปกครองโดยรัฐบาลทหาร ผู้นำสตรีที่มีชื่อเสียงรู้จักกันไปทั่วโลกคือนางออง ซาน ซูจี ถูกคุมตัวอยู่ในบ้านเป็นเวลานานปี รัฐบาลพม่าเองต้องสู้รบกับกองกำลังของชนกลุ่มน้อยมากมายหลายกลุ่ม ประชาชนชาวพม่าผู้ได้รับความเดือดร้อนจำนวนหลายแสนคนจึงเดินทางข้ามพรมแดนเข้ามาพำนักพักพิงอยู่ในประเทศไทยของเรา

ตรงนี้ต้องขยายความหน่อยหนึ่งว่า คำว่า “ประชาชนชาวพม่า” ที่ผมพูดไว้ในย่อหน้าก่อนนี้ ไม่ได้หมายความถึงคนที่มีเชื้อชาติพม่าเท่านั้น หากหมายถึงผู้ถือสัญชาติพม่าตามกฎหมาย มีเชื้อชาติตั้งแต่กะเหรี่ยง ไทใหญ่ กะฉิ่น มอญ และอื่นๆ อีกมากมาย

ดังนั้น ถ้าจำแนกตามเชื้อชาติแล้ว ชะดีชะร้ายคนที่มีเชื้อชาติพม่าอาจจะมีจำนวนน้อยกว่าคนเชื้อชาติอื่นรวมกันเสียอีก

เอาเข้าจริงแล้วใครเป็นชนกลุ่มน้อยของแท้ ผมก็ยังสงสัยอยู่

นโยบายของรัฐบาลไทยกำหนดให้ชาวพม่าเหล่านั้น ต้องมีที่อยู่เป็นหลักแหล่งไม่เพ่นพ่านไปทั่วทั้งประเทศ โดยกำหนดให้มีบริเวณที่เรียกว่าพื้นที่พักพิงเกิดขึ้นหลายแห่งตามจังหวัดชายแดน

“พื้นที่พักพิง” เหล่านี้ในทางเทคนิคกฎหมายเราไม่เรียกว่า “ค่ายผู้อพยพ” ครับ

เช่นเดียวกันกับที่เราไม่เรียกผู้คนจำนวนนี้ว่า “ผู้อพยพ” หากแต่เรียกว่า “ผู้หนีภัยจากการสู้รบ”

อารมณ์เหมือนว่าเราไม่มีน้ำท่วม มีแต่เพียงน้ำรอระบายเท่านั้น ฮา!

ตัวอย่างพื้นที่พักพิงที่ผมพอนึกออกในเวลานี้ เช่น พื้นที่พักพิงบ้านใหม่ในสอย และบ้านนอม่ลามาหลวง จังหวัดแม่ฮ่องสอน พื้นที่พักพิงบ้านอุ้มเปี้ยม และบ้านแม่หละ จังหวัดตาก พื้นที่พักพิงบ้านถ้ำหิน จังหวัดราชบุรี และพื้นที่พักพิงบ้านต้นยาง จังหวัดกาญจนบุรี

โดยปกติแล้วการดูแลพื้นที่พักพิงเหล่านี้เป็นความรับผิดชอบโดยตรงของกระทรวงมหาดไทย โดยมีองค์การระหว่างประเทศเข้ามาสนับสนุนบ้าง เช่น สำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยของสหประชาชาติ หรือ UNHCR รวมถึงองค์กรการกุศลอื่นๆ จากอีกหลายประเทศ กระทรวงยุติธรรมไม่ได้เข้าไปเกี่ยวข้องอะไรกับเขาหรอกครับ

แต่ต่อมามีข้อเท็จจริงว่า พื้นที่พักพิงเหล่านี้มีข้อพิพาทบาดหมางเกิดขึ้นในภายในนั้นด้วยกันเอง ถ้าลำพังเป็นเรื่องทางแพ่ง ซึ่งความผัวความเมีย แบ่งปันมรดก ซื้อขายแล้วเบี้ยวกัน คณะกรรมการของผู้หลบหนีภัยจากการสู้รบที่จัดตั้งกันขึ้นเองก็ดี หรือปลัดอำเภอของไทยเราผู้ทำหน้าที่ดูแลพื้นที่พักพิงนั้นก็ดี ย่อมสามารถไกล่เกลี่ยหรือวินิจฉัยชี้ขาดได้โดยไม่ยากใจ

แต่ถ้าเป็นคดีอาญา เช่น ทำร้ายร่างกาย หนักข้อไปจนถึงฆ่าแกงกัน หรือความผิดเกี่ยวกับเพศ เมื่อเรื่องเหล่านี้เกิดขึ้นบนราชอาณาจักรไทยก็ต้องใช้กฎหมายไทยบังคับแก่กรณี

ตรงนี้แหละครับที่ผมและกระทรงยุติธรรมเข้าไปเกี่ยวข้อง เพื่อเข้าไปวางระบบ จัดการซักซ้อมความเข้าใจระหว่างผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายให้เข้าใจตรงกัน จะต้องใช้งบประมาณอย่างไร มาจากไหน ใครมีหน้าที่ทำอะไรบ้าง

เพราะเราต้องอย่าลืมว่าพื้นที่พักพิงนี้อยู่ริมชายแดนและอยู่ห่างไกลจากตัวอำเภอหรือจังหวัดซึ่งเป็นที่ตั้งของหน่วยงานในกระบวนการยุติธรรมของเราโขอยู่

เล่าแต่เพียงแค่นี้ก็ฟังดูปวดหัวแล้วนะ เรามาขีดเส้นใต้สองเส้นพักไว้ตรงนี้ก่อนก็แล้วกัน

ผมจะเดินเรื่องต่อไปว่า เมื่อเหตุการณ์ในประเทศพม่าค่อยคลี่คลายลง รัฐบาลทหารครั้งนั้นมีท่าทีที่ผ่อนปรน และนำไปสู่การเลือกตั้งที่ทำให้มีรัฐบาลพลเรือนเกิดขึ้น ประเทศพม่าโดยรวมก็มีความสงบสุขมากขึ้นกว่าแต่ก่อน ผู้ที่หลบหนีภัยจากการสู้รบมาอยู่ในบ้านเราก็เดินทางกลับบ้านตัวเองไปเป็นจำนวนมาก

ใครๆ ก็อยากกลับบ้านด้วยกันทั้งนั้น

จากจำนวนหลายแสนคน ผู้หลบหนีภัยจากการสู้รบที่ยังคงเหลือตกค้างอยู่ในบ้านเราเป็นตัวเลขจำนวนหมื่นเท่านั้น

ถึงแม้ผมจะเกษียณอายุราชการมาหลายปีแล้ว แต่ผมก็ยังสดับตรับฟังและได้ข่าวสารเกี่ยวกับเรื่องพื้นที่พักพิงจากผู้คุ้นเคยในหลายจังหวัดอยู่เสมอ

ข่าวสารที่ได้ยินก็ทำให้เกิดความสบายใจว่าความสงบที่เกิดขึ้นในประเทศพม่า ย่อมเอื้อโอกาสให้คนที่พลัดนาคาที่อยู่ได้กลับบ้านเสียที

และเรื่องก็เป็นอย่างนั้นมาโดยลำดับ จนกระทั่งเมื่อต้นเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมานี้เอง

ถ้าเราไม่ปิดหูปิดตาจนเกินไป ทุกท่านย่อมทราบดีว่าเวลานี้ในประเทศพม่ากำลังเกิดวิกฤตใหญ่โตขึ้น เพราะกองทัพได้เข้ายึดอำนาจการปกครองจากรัฐบาลฝ่ายพลเรือนที่ชนะการเลือกตั้ง

ฝ่ายข้างประชาชนที่ไม่พอใจกับเหตุการณ์ก็ลุกขึ้นประท้วงและต่อต้านอย่างแข็งขัน

ฝ่ายผู้ทำรัฐประหารก็มีท่าทีแข็งกร้าวอย่างยิ่ง และใช้กำลังเข้าปราบปรามอย่างเด็ดขาด มีการปะทะกันไม่เว้นแต่ละวัน

จนถึงวันที่ผมเขียนบทความเรื่องนี้ ประชาชนชาวพม่าเสียชีวิตไปมากกว่า 200 คนแล้ว และความวุ่นวายทั้งหลายยังไม่มีแนวโน้มจะจบสิ้นลง

ผมเป็นคนไม่มีความรู้ในเรื่องเศรษฐกิจการค้าการขายอะไรมากนัก แต่แน่ใจว่าความวุ่นวายที่เกิดขึ้นในประเทศเพื่อนบ้านอย่างนี้ย่อมกระทบถึงผลประโยชน์ในเรื่องการค้าขายและการทำมาหากินของคนไทยจำนวนหนึ่งเป็นธรรมดา

สองวันที่ผ่านมา ผมไปกินข้าวกลางวันกับลูกศิษย์รุ่นแรกๆ ของชีวิตที่เดี๋ยวนี้เป็นเจ้าของสำนักงานกฎหมายมีชื่อเสียงขึ้นมาแล้ว เขามีสำนักงานใหญ่อยู่ในประเทศไทย และมีสาขาอยู่ในนครย่างกุ้ง เพื่อให้บริการทางกฎหมายสำหรับผู้ค้าและผู้ลงทุนชาวไทยที่ทำมาหากินอยู่ในประเทศพม่าด้วย

เวลานี้งานเงียบสนิทครับ การค้าขายระหว่างสองประเทศหยุดนิ่ง เจ้าตัวต้องเจรจากับหัวหน้าสำนักงานที่นครย่างกุ้งเพื่อขอให้ลดเงินเดือนของนักกฎหมายและพนักงานของสำนักงานที่โน่นลงครึ่งหนึ่ง พอให้ประคับประคองอยู่กันไปได้อีกสักระยะ

ซึ่งยังไม่รู้ว่าจะยาวนานอีกแค่ไหน

ถ้าความขัดแย้งในประเทศพม่าลุกลามขึ้นไปมากกว่านี้ อย่างที่เราพอคาดการณ์ได้ว่าอาจเกิดสงครามกลางเมืองขึ้นในวันข้างหน้า แน่นอนว่า “ผู้หลบหนีภัยจากการสู้รบ” จะต้องเกิดขึ้นจำนวนมหาศาล

คนจำนวนนี้จะไปไหนเสียได้นอกจากข้ามพรมแดนมาเมืองไทยของเรา เราก็ต้องเลี้ยงดูให้มีอยู่มีกินกันไปก่อนเหมือนอย่างที่เคยทำมาเมื่อรอบที่แล้ว

คนเดินเข้าบ้านมาเป็นหมื่นเป็นแสนพร้อมๆ กัน ใครจะมีปัญญาไปผลักดันหรือครับ

ที่น่าเป็นห่วงเพิ่มเติมขึ้นก็คือสถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 ที่เมืองพม่าเป็น อย่างไรก็ไม่รู้ได้ แต่ตามความเข้าใจของเราคนไทยทั่วไป การระบาดของโรคน่าจะเป็นเรื่องที่หนักหน่วงอยู่ เมื่อผู้หลบหนีภัยจากการสู้รบเดินทางเข้ามาในบ้านเราย่อมเป็นธรรมดาอยู่เองที่โรคดังกล่าวจะติดตัวเขาเข้าบ้านเรามาด้วย

ที่พูดนี้ไม่ได้หมายความให้ตั้งข้อรังเกียจเดียดฉันท์ แล้วไปกั้นรั้วลวดหนาม ค่อยเอาปืนยิงสกัดไม่ให้คนเดินข้ามพรมแดนเข้ามา

แต่ผมอยากจะตั้งคำถามกับคนไทยและรัฐบาลไทยด้วยกันเองว่า เราจะนั่งทำตัวเป็นทองไม่รู้ร้อนอยู่กับเหตุการณ์ในประเทศพม่าไปอย่างนี้ได้อีกช้านานเท่าไหร่ เปรียบก็เหมือนไฟไหม้บ้านที่อยู่ติดกันกับเรา ยังไม่ต้องถึงขนาดที่ไฟลามมาไหม้ในบ้านเราหรอกครับ

แค่สะเก็ดลูกไฟที่กระเด็นมาถึงบ้านเรา หรือรังสีความร้อนที่แผ่ซ่านมาจนถึงตัวเรา ย่อมเป็นเรื่องที่รู้สึกได้อยู่แล้ว

ผมไม่ทราบเหมือนกันว่าเหตุการณ์ประเทศพม่าในเดือนหน้า อีกสามเดือนข้างหน้า หรือปีหน้า จะเป็นอย่างไรต่อไป

ผมได้แต่ตั้งความหวังว่า ความพยายามที่จะพบกันในจุดที่ยอมรับได้ด้วยกันทั้งสองฝ่ายไม่ว่าจะเป็นข้างฝ่ายกองทัพหรือข้างฝ่ายประชาชนจะมีขึ้น

ความพยายามที่ว่านี้ น่าจะจำเป็นต้องมี “คนกลาง” เข้าไปช่วยเหลือ คนกลางที่ว่านี้จะเป็นใคร ประเทศใด หรือหลายประเทศร่วมกันทำงาน ผมก็ไม่ทราบเหมือนกัน เพราะไม่สันทัดกรณีพอ

ประเทศไทยหรือรัฐบาลไทยควรจะมีท่าทีในเรื่องนี้อย่างไรก็เป็นเรื่องละเอียดอ่อนครับ

ถ้าวันนี้เราวางท่าทีของเราไม่พอเหมาะ วันข้างหน้าเมื่อเหตุการณ์เปลี่ยนแปลงไปในทางที่คลี่คลายและเดินไปสู่ความสงบได้ เราอาจจะเข้าหน้าใครไม่ติดเลยก็เป็นได้

เมื่อศึกษาภูมิหลังทางด้านการทูตของประเทศไทยเราแล้ว จะพบว่านักการทูตของบ้านเราเป็นคนดีมีฝีมือจำนวนมาก และมีการสืบทอดความรู้ความสามารถเหล่านี้มาทุกยุค ผมจึงเชื่อว่า จะมีแนวความคิดดีๆ ที่เป็นทางออกสำหรับเหตุการณ์ในปัจจุบันนี้ได้หลายอย่าง ขอให้ระดมสมองมาช่วยกันเถิด

ทางออกที่ว่านี้ หมายถึงทางออกทั้งสำหรับประเทศพม่าและสำหรับประเทศไทยเราด้วย

ถ้าผู้รับผิดชอบนโยบายต่างประเทศของเราเปิดใจให้กว้าง เปิดหูเปิดตาให้รอบ มีหัวใจที่เห็นแก่ความเป็นมนุษย์ยิ่งกว่าสมัครพรรคพวก มองไกลมากกว่ามองใกล้ ก็น่าจะดีไม่น้อยครับ

นี่ผมขออะไรมากไปใช่ไหม

ระหว่างนี้ก็เข้าไปปัดกวาด “พื้นที่พักพิง” เตรียมไว้ก่อนก็แล้วกัน

เฮ้อ!