เครื่องเสียง / พิพัฒน์ คคะนาท/ กลับเข้าห้องฟัง (จบ)

เครื่องเสียง/พิพัฒน์ คคะนาท [email protected]

กลับเข้าห้องฟัง (จบ)

มาถึงตอนสุดท้ายก่อนจะเดินออกจากห้องฟังไปหาอะไรใหม่ๆ ฟังกันต่อตามปกติ แต่ก่อนจะไปไหนขอย้อนกลับไปเที่ยวก่อนอีกสักเล็กน้อย เนื่องเพราะกลับมาอ่านทวนพบว่าขาดบางเรื่องราวเกี่ยวกับประเด็นขั้วต่อ หัวเสียบ ก็เลยขอเพิ่มเติมให้สิ้นกระแสความตามที่นึกขึ้นมาได้ เป็นเรื่องเกี่ยวกับสายลำโพงโดยเฉพาะครับ

กล่าวคือ มีคนเล่นเครื่องเสียงไม่น้อยราย ที่ไม่นิยมใช้หัวเสียบหรือหัวแจ๊กกับสายประเภทนี้ โดยนิยมใช้การเสียบต่อแบบที่เรียกกันว่าสายเปลือย

สายเปลือยก็คือการเสียบสายลำโพงเข้ากับขั้วโดยตรงแบบเปลือยสาย ทั้งที่ขั้วต่อด้านหลังลำโพง และที่ขั้วต่อ Speakers (Left/Right) ตรงแผงหลังเครื่อง ซึ่งมีทั้งแบบช่องเสียบด้วยการหนีบ และช่องให้เสียบสายแล้วขันแน่นด้วยลูกบิดเกลียวหมุน

ส่วนสายเปลือยหรือการเปลือยสายที่ว่า ก็คือการควั่นฉนวนที่เป็นเปลือกหุ้มสายโลหะเส้นฝอยๆ แล้วดึงออก (ส่วนใหญ่ประมาณ 1 เซนติเมตร) จากนั้นก็ขวั้นเส้นโลหะฝอยเป็นเกลียวแล้วสอดเข้าไปที่ขั้วต่อทั้งที่แผงหลังเครื่อง และด้านหลังลำโพง

สายเปลือยพวกนี้แหละครับที่มักจะเกิดออกซิเดชั่นได้ง่ายกว่าการใช้หัวเสียบหรือหัวแจ๊กแบบต่างๆ ซึ่งจะเห็นได้ว่าเมื่อใช้ไปนานๆ จากที่เปลือยสายใหม่ๆ เส้นโลหะฝอยที่เป็นสีเงินหรือสีทองแดงอร่าม จะกลายเป็นสีหม่นคล้ำๆ เหมือนเกิดสนิม อย่างเห็นได้ชัด

ดังนั้น เมื่อถึงเวลาทำความสะอาดดังที่กล่าวไปเที่ยวก่อน ควรตัดส่วนที่เปลือยปลายสายทั้งสองด้านทิ้งไป แล้วเปิดปลายสายเปลือยออกมาใหม่ ซึ่งจะเห็นสีสันของฝอยโลหะที่แตกต่างกับส่วนที่ตัดทิ้งอย่างชัดเจน

ครับ, ก็คิดว่าน่าจะจบเรื่องของขั้วต่อกับหัวเสียบของสายสัญญาณประเภทต่างๆ ได้เป็นที่เรียบร้อย

 

คราวนี้มาว่ากันถึงเรื่องอื่นๆ ในห้องฟังกันต่อ ประเด็นหนึ่งที่มีการถกกันมากของนักเล่นเครื่องเสียงก็คือ ชุดเครื่องเสียงหรือบรรดาเครื่องอิเล็กทรอนิกส์ในซิสเต็มนั้น ควรวางที่ตรงไหนตำแหน่งใดในห้อง จึงจะเหมาะ

ซึ่งส่วนใหญ่เท่าที่พบเห็นก็มักจะวางกึ่งกลางระหว่างลำโพงซ้าย/ขวา ด้วยเหตุผลหลักๆ สองประการ คือ หนึ่งมันแลดูลงตัวดีมีลักษณะสมมาตรทางด้านกายภาพ

กับสองเป็นตำแหน่งที่ใช้สายลำโพงสั้นที่สุด เพราะกับเรื่องนี้ในแง่วิชาการแล้ว ความยาวของสายลำโพงที่เชื่อมต่อกับแอมป์นั้น ควรใช้ให้สั้นเท่าที่จำเป็น

เพราะยิ่งใช้สายที่มีความยาวมากๆ โอกาสสูญเสียของรูปสัญญาณทางไฟฟ้าก็จะเพิ่มมากตามไปด้วย

แม้ว่าจะมีผู้ผลิตสายลำโพง (ชั้นดี) บางราย ระบุว่าสายของตนไม่มีปัญหาเรื่องความสัมพันธ์แง่ลบระหว่างความยาวของสายกับการสูญเสียรูปสัญญาณก็ตาม แต่สายพวกนั้นสนนราคาเท่าที่พบไม่ใกล้ๆ ก็เกินเลยเลขหกหลักทั้งสิ้น จึงไม่ขอนำมาพูดคุยด้วยในที่นี้ เนื่องเพราะเจตนาต้องการพูดถึงซิสเต็มทั่วๆ ไป เป็นหลักครับ

ปัญหาที่ตามมาของการวางชุดเครื่องเสียงระหว่างลำโพงซ้าย/ขวาก็คือ โอกาสที่คลื่นเสียงจากลำโพงซึ่งเป็นแรงสั่นสะเทือนจะไปทำลายประสิทธิภาพการทำงานของเครื่องนั้น มีความเป็นไปได้สูง โดยเฉพาะหากมีเครื่องเล่นแผ่นเสียงอยู่ในซิสเต็มด้วย เพราะคลื่นเสียงที่ออกมาจากลำโพงโดยตรง และคลื่นเสียงที่เกิดจากการตกกระทบผนังห้อง จะไปกระทบกับเครื่องก่อนที่จะเดินทางมาถึงตำแหน่งนั่งฟังนั่นเอง

การทำงานของปลายเข็มขณะสัมผัสร่องเสียงนั้นมีความอ่อนไหวสูงมาก รวมทั้งมีความไวต่อแรงสั่นสะเทือนจากภายนอกที่มากระทบอย่างมากด้วยเช่นกัน ซึ่งจะส่งผลให้การทำงานขาดความเสถียร ไม่มีความหนักแน่น มั่นคง สัญญาณจากปลายเข็มที่ส่งไปยังแอมปลิไฟเออร์ก็จะมีความพร่าเพี้ยนปนออกไปด้วย

เสียงที่ให้ออกมาจึงขาดความถูกต้องเที่ยงตรง ไม่มีความเป็นธรรมชาติอย่างที่ควรจะเป็น

 

สําหรับ ‘ตัวช่วย’ ในเรื่องนี้ก็คือ ชั้นวางเครื่อง หรือ Audio Rack ซึ่งมีให้เลือกมากมาย หลายแบบ และแน่นอนว่าย่อมต้องมีหลายระดับราคา คือมีให้เลือกตั้งแต่เรือนพันยันหลายๆ หมื่นครับ

ชั้นวางเครื่องเสียงที่ออกแบบมาดีๆ รวมทั้งใช้วัสดุที่เหมาะสม จะช่วยให้ได้คุณภาพเสียงที่ดีขึ้น หรือกล่าวอีกทางก็คือ ช่วยเสริมให้เครื่องเสียงแต่ละชิ้นสามารถทำงานได้เต็มประสิทธิภาพยิ่งขึ้น อันนำมาซึ่งเสียงดนตรีที่ไพเราะ น่าฟัง มีความถูกต้องเที่ยงตรง และเป็นไปตามธรรมชาติของความเป็นเสียงดนตรีในความหมายของ Musicality ได้

การเลือกชั้นวางเครื่องเสียงนั้น ควรเลือกชั้นวางที่แลดูแข็งแรง มั่นคง อาจจะมีโครงสร้างเป็นโลหะหรือไม้ก็ได้ และควรเป็นชั้นวางแบบหนึ่งชั้นต่อหนึ่งเครื่อง รวมทั้งไม่ควรวางเครื่องซ้อนลงบนอีกเครื่องโดยตรงอย่างเด็ดขาด นอกจากโครงสร้างหลักคือ เสาสี่ต้น และโครงสร้างย่อยที่เป็นชั้นวางแต่ละชั้นแล้ว องค์ประกอบที่สำคัญอีกประการก็คือแผ่นรองเครื่อง หรือ Platform ที่เป็นพื้นวางเครื่องแต่ละชั้น ซึ่งผู้ผลิตมักจะใช้วัสดุที่แตกต่างกัน ตามแต่แนวคิดหรือ (กล่าวอ้าง) เทคโนโลยีใดในการออกแบบประกอบการขึ้นรูป ซึ่งมีทั้งแผ่นโลหะ ไม้ กระจก รวมทั้งอะครีลิก เป็นต้น

ลักษณะของชั้นวางเครื่องเสียงที่ดีนั้น นอกจากมีความมั่นคง แข็งแรง เพื่อเสริมความเสถียรให้กับการทำงานของเครื่องแล้ว

ควรมีคุณสมบัติในการสลายแรงรบกวนต่างๆ อันเนื่องมาจากการสั่นสะเทือนได้อย่างมีประสิทธิภาพ

โดยแรงรบกวนที่ว่านั้นมีทั้งแรงรบกวนอันเนื่องมาจากปัจจัยภายนอก อาทิ คลื่นเสียงจากลำโพงดังที่กล่าวไปข้างต้น ยังมีแรงสั่นสะเทือนภายในอันเนื่องมาจากการทำงานของเครื่องเสียงแต่ละชิ้นเองด้วย เช่น จากการขับหมุนแผ่นทั้งของเครื่องเล่นซีดี และเครื่องเล่นแผ่นเสียง เป็นต้น

 

นอกจาก Audio Rack ที่เป็นชั้นวางเครื่องแยกชิ้นแล้ว ยังมีชั้นวางอีกประเภทที่นิยมใช้กัน คือ Audio Base ซึ่งมีลักษณะเป็นแท่นวางเตี้ยๆ สูงจากพื้นไม่มาก ใช้ตั้งวางแบบชิ้นต่อชิ้น หรือหนึ่งแท่นต่อหนึ่งเครื่อง วางแยกเป็นอิสระกันในซิสเต็ม ซึ่งนิยมใช้ในกลุ่มนักเล่นไฮ-เอนด์ เพราะเครื่องแต่ละชิ้นจะมีน้ำหนักมากเกิน 20-30 กิโลกรัม ขึ้นไป ไม่เหมาะกับการใช้ Audio Rack

พูดถึงชั้นวางเครื่องแล้ว ที่มองข้ามไม่ได้อีกประเภทก็คือขาตั้งลำโพง หรือ Speaker Stand สำหรับลำโพงแบบวางหิ้งนั่นเอง

การเลือกใช้ขาตั้งลำโพงดีๆ ก็เช่นเดียวกับการเลือกชั้นวางเครื่องเสียงนั่นแหละครับ คือ ต้องมีความมั่นคงแข็งแรงสูง ขณะเดียวกันก็ต้องเป็นฐานรองให้ลำโพงสามารถตั้งอยู่ได้ด้วยความเสถียรอย่างถึงที่สุด ลำโพงจึงจะสามารถทำงานได้เต็มประสิทธิภาพ ถ่ายทอดคลื่นเสียงออกมาด้วยความถูกต้อง เที่ยงตรง เป็นไปตามรูปคลื่นสัญญาณทางไฟฟ้าที่ถูกป้อนเข้ามา

สำหรับวัสดุที่นิยมใช้ทำขาตั้งลำโพงก็มีทั้งเสาไม้ และเสาโลหะ

พวกโลหะนั้นมีทั้งที่เป็นแบบแท่งตัน และท่อกลวง พวกท่อกลวงนิยมกรอกทรายหรือวัสดุที่มีทั้งแบบหยาบและละเอียดที่ผลิตขึ้นมาเพื่อการนี้ ซึ่งนอกจากจะทำให้เสาหรือขาตั้งมีความมั่นคงเพิ่มมากขึ้นแล้ว ทรายหรือวัสดุที่ว่ายังช่วยในการซับแรงสั่นสะเทือนขณะลำโพงทำงานได้เป็นอย่างดีอีกด้วย

ครับ, ก็ลองพิจารณาเลือกกันดูตามความเหมาะสม