ส่องการเคลื่อนไหวประท้วงที่ไร้ผู้นำของเมียนมา (จบ) | เกษียร เตชะพีระ

เกษียร เตชะพีระ

ส่องการเคลื่อนไหวประท้วงที่ไร้ผู้นำของเมียนมา (จบ)

(เรียบเรียงจากคำให้สัมภาษณ์ของ Richard Horsey นักวิเคราะห์วิจัยอิสระและที่ปรึกษาอาวุโสเรื่องเมียนมาขององค์การ International Crisis Group เรื่อง “A Close-up View of Myanmar’s Leaderless Mass Protests”, 26 February 2021)

 

ใครนำการเคลื่อนไหวต่อต้านของพลเมืองอยู่ครับ?

ฮอร์ซี : นี่เป็นการเคลื่อนไหวไร้ผู้นำครับ มันเป็นปฏิกิริยาที่เกิดขึ้นเอง ประชามหาชนส่วนใหญ่อันไพศาลต่อต้านการรัฐประหารและต้องการแสดงออกว่าพวกเขาต่อต้านมัน เห็นได้ชัดว่ามีคนบางคนที่ฉลาดหลักแหลม มีเส้นสายและปักใจมั่นทางการเมืองอย่างยิ่งเกี่ยวข้องอยู่ด้วย

แต่ทว่าการประท้วงและอารยะขัดขืนหาได้ถูกนำโดย NLD หรือคณะบุคคลตายตัวหรือขบวนการแรงงานหรือผู้นำแรงงานเปี่ยมบารมีไม่ แทนที่จะเป็นเช่นนั้น เรื่องของเรื่องคือกลุ่มคนมากมายหลายหลากมาบรรจบเห็นพ้องต้องตรงในความคิดเดียวกัน โดยบ่อยครั้งมักเกิดขึ้นในห้องสนทนาออนไลน์หรือบนเฟซบุ๊ก

สิ่งที่การเคลื่อนไหวอันหลากหลายนี้ขาดพร่องไปในแง่เป้ารวมศูนย์และยุทธศาสตร์ มันก็ได้ชดเชยมาในแง่ความยืดหยุ่นพลิกแพลงและลักษณะสร้างสรรค์ ผู้เข้าร่วมจำนวนมากรวมตัวกันตามสาขาวิชาชีพหรือเครือข่ายที่มีอยู่ก่อน

คุณได้เห็นเจ้าหน้าที่การแพทย์ วิศวกร กลุ่มเพื่อน กลุ่มเพศสภาพอัญจารี (LGBT+ หมายถึงเลสเบี้ยน เกย์ ไบเซ็กช่วล ทรานส์เจนเดอร์และอื่นๆ) หรือแม้แต่พวกเจ้าของสัตว์เลี้ยงต่างถิ่นหรือพวกที่ชอบคอสเพลย์ (แต่งตัวด้วยคอสตูมต่างๆ)

ที่เมืองมัณฑะเลย์ มีการเดินขบวนใหญ่ของพวกวิศวกร แต่มันไม่ใช่แค่เรื่องสมาคมวิศวกรพาสมาชิกออกมาเดินนะครับ คำเรียกร้องออกไปทางเฟซบุ๊กให้วิศวกรทั้งหมดไม่เลือกสังกัดใส่หมวกก่อสร้างมาร่วมเดินขบวนเลยทีเดียว

และก็ดังที่เกิดขึ้นตามปกติคือมีอาสาสมัครคอยดูแลด้านข้างขบวนโดยถือแถบเชือกบอกสุดเขตริมขบวน แต่พวกอาสาสมัครก็เจอปัญหา กล่าวคือ พวกเขาต้องตรวจสอบให้มั่นใจว่าทุกคนที่เข้าร่วมเดินขบวนเป็นวิศวกรจริง ไม่ใช่ตัวป่วนหรือคนพวกอื่นที่อาจถูกเปิดโปงว่าเป็น “วิศวกรปลอม” ฉะนั้น ทุกคนที่อยากเข้าร่วมจึงถูกตั้งคำถามวิศวกรรมง่ายๆ ให้ตอบผ่านก่อนจะปล่อยให้เข้าร่วมเดินขบวนได้

สิ่งที่กำลังเกิดขึ้นตอนนี้แทบว่าจะเป็นการปฏิวัติสามประการที่ชงรวมกันเป็นหนึ่งเดียว ก่อนอื่นมันเป็นการปฏิวัติของผู้สนับสนุน NLD เพื่อต่อต้านการโค่นรัฐบาล NLD ลง และมันยังเป็นการปฏิวัติที่แผ่กว้างครอบคลุมกว่ามากเพื่อต่อต้านการปกครองของทหารด้วยซึ่งได้แรงกระตุ้นหนุนเสริมด้วยความเจ็บลึกปวดร้าวอันเป็นผลมาจากวิกฤตเศรษฐกิจที่ปะทุขึ้นจากโควิด-19 ระบาดซึ่งกระทบผู้คนข้ามพรรคข้ามฝ่าย

ทั้งนี้เพราะพวกทหารก่อรัฐประหารในจังหวะที่ความเจ็บปวดทางเศรษฐกิจจากโควิดขึ้นถึงจุดสุดยอดพอดี อันเท่ากับเป็นการโยนไม้ขีดไฟใส่กองฟางแห้ง แล้วยังมีการปฏิวัติระหว่างรุ่นคนในประเทศของเหล่าสถาบันชราธิปไตยทั้งหลาย (gerontocratic institutions) ซึ่งส่วนใหญ่บริหารโดยชายแก่ เห็นได้ชัดว่ามีพลังงานใหม่ๆ ขับดันคนหนุ่ม-สาวบนท้องถนนผู้มีแนวโน้มจะละเลี่ยงการเมืองเรื่องพรรคและหันไปพูดเรื่องการที่อนาคตของพวกเขาถูกรัฐประหารขโมยไปแทน

พวกทหารอาจรู้สึกอยากทำเมินเฉยต่อการชุมนุมแสดงพลัง คือรอคอยไปด้วยความหวังว่ามันจะค่อยมอดดับไปเอง แต่ทุกวี่วันที่พวกเขายอมเปิดพื้นที่บนท้องถนนให้แก่การเคลื่อนไหวประท้วง มันก็อาจฮึกหาญขึ้น แข็งกล้าขึ้นและเกิดโมเมนตัมขึ้นมา

พวกทหารอาจชักลังเลที่จะปล่อยให้การแสดงการคัดค้านทางสาธารณะดำเนินต่อไป พวกเขาอาจทนทานไม่ไหวกับสิ่งที่ไม่ต้องสงสัยเลยว่าเป็นการหยามหมิ่นศักดิ์ศรีในสายตาของพวกเขาเมื่อฝูงชนขนาดใหญ่เหล่านี้พากันเปล่งเสียงร้องว่า “การปกครองของทหารจงพินาศ”

ถึงจุดหนึ่งที่แน่นอน พวกทหารน่าจะเหลืออด แต่ปัญหาตรงจุดนั้นก็คือเท่าที่ผ่านมาถึงบัดนี้เมื่อพวกเขาลองใช้ความรุนแรงดู ปรากฏว่ามันรังแต่พาผู้คนออกมาบนท้องถนนเพิ่มขึ้นอีก

พวกทหารได้ขุดหลุมลึกยิ่งมาดักตัวเอง มันยากที่พวกเขาจะเจรจากับการเคลื่อนไหวไร้ผู้นำและอันที่จริงมันก็ยากสำหรับการเคลื่อนไหวไร้ผู้นำที่จะมียุทธศาสตร์อันผนึกเป็นปึกแผ่นด้วย ทว่าผู้ชุมนุมแสดงพลังของเมียนมาทั้งมวลเห็นพ้องต้องตรงกันประการหนึ่ง กล่าวคือ พวกทหารต้องผละจากอำนาจไป

กระนั้นแล้วพวกทหารจะหลุดพ้นเรื่องนี้ได้อย่างไรหากไม่กำราบปราบปรามการเห็นต่างอย่างป่าเถื่อนและทำสงครามพร่ากำลังอันยืดยาวกับประชาชน? ต่อให้พวกเขาหมุนนาฬิกาย้อนกลับได้ คนส่วนใหญ่ก็จะไม่ยอมรับการกลับไปสู่สภาวะเดิมแต่ก่อนอีกแล้ว มันยากจะมองออกว่าจากจุดนี้ไป จะมีใครฝ่ายใดได้ลงเอยด้วยดี

มันจะไม่ดีกับประเทศชาติ มันจะไม่ดีกับประชาชน มันจะไม่ดีกับเศรษฐกิจและไม่ดีกับตัวพวกทหารเองด้วย

ชาวโลกจะทำอะไรได้บ้างครับ?

ฮอร์ซี : บรรดารัฐบาลทั่วโลกที่เฝ้าขบคิดว่าจะตอบสนองอย่างไรนั้นเผชิญทางแพร่งที่ลำบากยุ่งยากบางอย่างอยู่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งพวกผู้นำชาติตะวันตกซึ่งเป็นที่เข้าใจได้ว่าพวกเขาอยากต่อต้านรัฐประหารอย่างแข็งกร้าวรวมทั้งออกมาตรการลงโทษต่างๆ มา แต่กระนั้นมาตรการลงโทษซึ่งแข็งกร้าวที่สุดในโลกก็ไม่สามารถทำให้รัฐเมียนมาเป็นอัมพาตในแบบที่การนัดหยุดงานซึ่งเกิดขึ้นในระดับท้องที่กำลังทำได้ เห็นชัดว่าสิ่งที่อาจพลิกเปลี่ยนดุลไปคือเหล่าปัจจัยในประเทศต่างหาก อันได้แก่ มาตรการอารยะขัดขืนภายในมากกว่าสิ่งอื่นใดที่ตัวกระทำการภายนอกจะสามารถทำได้

นี่ไม่ได้เป็นการบอกว่าบรรดารัฐบาลต่างชาติไม่มีบทบาทอะไรนะครับ มันเป็นเรื่องสำคัญที่พวกเขาจะต้องประกาศจุดยืน แสดงความชัดเจนทางศีลธรรมออกมา และทำให้มั่นใจว่าตัวเองไม่กลายเป็นส่วนหนึ่งของปัญหา

แน่นอนว่าการแสดงความสมานฉันท์มีความสำคัญต่อการเคลื่อนไหวประท้วงและผมคิดว่าพวกผู้ประท้วงก็มองหามันกันมากยิ่งทีเดียว บรรดามาตรการลงโทษที่พุ่งเป้าเล่นงานพวกนายพล สินทรัพย์และธุรกิจบางอย่างของพวกเขาอย่างรัดกุมมีบทบาทอยู่

มาตรการทำนองนี้จะส่งสัญญาณความสมานฉันท์กับประชาชนและแสดงการคัดค้านรัฐประหารอย่างชัดแจ้ง

เหล่ารัฐบาลที่ยังไม่ได้สั่งห้ามค้าอาวุธให้เมียนมาอยู่ก่อนแล้วควรประกาศมันออกมา หากไม่ทำเช่นนั้น พวกเขาก็สุ่มเสี่ยงที่จะกลายเป็นผู้สมรู้ร่วมคิดในการใช้ความรุนแรงต่อผู้ประท้วงอย่างสันติหากดูจากประวัติการณ์ที่ผ่านมาของพวกทหารเมียนมา

กระนั้นก็ตาม มาตรการลงโทษเมียนมาจะส่งผลกระทบต่อการตัดสินใจของพวกทหารเพียงน้อยนิด ทั้งนี้เพราะที่เรากำลังพูดถึงอยู่ตอนนี้ด้านหลักแล้วคือมาตรการลงโทษของบรรดาชาติตะวันตก ในสภาพที่ไม่น่าเป็นไปได้อย่างยิ่งที่เหล่ารัฐบาลในภูมิภาคเดียวกับเมียนมาจะประกาศมาตรการลงโทษใดๆ ของตนเองออกมา และมันก็คงเป็นไปไม่ได้ที่จะผลักดันมาตรการทำนองนั้นผ่านคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติออกมาเช่นกัน

พวกทหารมีประสบการณ์ยาวนานในการเอาตัวรอดและหาทางหลบเลี่ยงมาตรการลงโทษที่แข็งกร้าว ยิ่งกว่านั้นความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจของพวกเขาด้านหลักแล้วก็ไม่ได้มีกับโลกตะวันตก รัฐบาลทั้งปวงพึงต้องหลีกเลี่ยงการยัดเยียดมาตรการลงโทษแบบกว้างขวางที่ไม่ได้พุ่งเป้าเป็นการเฉพาะซึ่งทำร้ายประชาสามัญชนชาวเมียนมา

เท่าที่ผ่านมา ผู้นำตะวันตกส่วนมากดูจะตระหนักว่าการทำเช่นนั้นจะก่อผลเสีย การปรับเปลี่ยนนโยบายเกี่ยวกับการให้ความช่วยเหลือใดๆ ควรชี้นำด้วยหลักการเดียวกัน รวมทั้งตระหนักด้วยว่าการรัฐประหารและผลลัพธ์สืบเนื่องของมันจะผลักไสผู้คนจำนวนมหาศาลให้ลำบากยากจนลง ทำให้ยิ่งต้องได้การช่วยเหลือเพิ่มขึ้น

มันเป็นเรื่องสำคัญที่โลกภายนอกจะตระหนักว่าพลวัตในประเทศกำลังขับดันการคลี่คลายขยายตัวของสถานการณ์ทางการเมือง และครุ่นคิดให้รอบคอบว่าจะช่วยเหลือประชากรเมียนมาให้ผ่านช่วงเวลาอันยากเย็นแสนเข็ญไปได้อย่างไร

มันสำคัญที่จะต้องสดับตรับฟังเสียงต่างๆ นานาของประชาชน (มีทัศนะแตกต่างกันมากมายหลายหลากเหมือนกับที่มีในวิกฤตการณ์ใดๆ ก็ตาม) แสดงความสมานฉันท์ รับรองและสนับสนุนตัวแทนของประชาชนเมียนมาตอนนี้

นี่ย่อมหมายถึงการเข้าพัวพันกับเหล่าผู้นำการประท้วงและเสียงอื่นๆ ที่ชอบธรรมของเมียนมามากขึ้นเพื่อที่จะเข้าใจทัศนะของพวกเขาและรับรู้ว่ามาตรการหนุนช่วยและสมานฉันท์อันใดจะเป็นประโยชน์ที่สุด