คุยกับทูต : ‘อาซิม อิฟติกาห์ อาหมัด’ วันปากีสถาน มิตรภาพ ความร่วมมือ (ตอน 3) “มิตรภาพในยามวิกฤต”

“ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีความสะดวกสบาย ง่ายต่อการมาอยู่อาศัยทั้งในการทำงานและชีวิตส่วนตัว ดังนั้น สำหรับผมจึงไม่มีอุปสรรคใดๆ อีกทั้งการเข้าถึงภาคเอกชนและภาคประชาสังคมก็ทำได้ง่ายเช่นกัน แม้ว่าในบางครั้งอาจต้องใช้เวลา และเมื่อพูดถึงความท้าทายในแง่ของ ‘วิกฤต’ ผมก็จะนึกถึงสถานการณ์ที่เราต้องรับมือกันเมื่อปีที่แล้วที่มีการระบาดใหญ่ของโคโรนาไวรัสทั่วโลก”

นายอาซิม อิฟติกาห์ อาหมัด (H.E. Asim Iftikhar Ahmad) เล่าถึงการเผชิญหน้ากับความท้าทายที่ยิ่งใหญ่ที่สุดนับตั้งแต่มารับหน้าที่เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐอิสลามปากีสถานประจำประเทศไทย

“เมื่อสายการบินทั่วโลกระงับเส้นทางการบินทั้งหมด ชาวปากีสถานหลายร้อยคนซึ่งส่วนใหญ่เป็นนักท่องเที่ยวต้องติดค้างอยู่ที่สนามบิน ทั้งในกรุงเทพฯ และเมืองอื่นๆ เป็นเหมือนสถานการณ์ฉุกเฉินที่สถานทูตต้องทำงานกันตลอดเวลาเพื่อดูแลผู้โดยสารที่ติดค้างระหว่างรอเครื่องที่สนามบินหรือ จนกว่าจะมีเที่ยวบิน การจัดเที่ยวบินพิเศษมีหลายเที่ยวเพื่อส่งชาวปากีสถานกลับอย่างปลอดภัย”

“และเรายังประสานงานกับรัฐบาลไทยเพื่ออำนวยความสะดวกในการนำชาวไทยจำนวนมากจากปากีสถานกลับประเทศไทย”

 

ถามถึงประสบการณ์ที่กลายเป็นความทรงจำสุดประทับใจ

“นับเป็นช่วงเวลาอันควรค่าแก่การจดจำจากประสบการณ์ชีวิตอันยอดเยี่ยมที่เต็มไปด้วยโอกาสและความท้าทายต่างๆ นานา อาชีพนักการทูตควรจะเป็นทั้งหมดที่คุณสามารถจินตนาการได้ ซึ่งในความเป็นจริง เราทำเรื่องที่สำคัญเพื่อประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชนของเราตลอดเวลา และรู้สึกภาคภูมิใจยิ่งเมื่อสิ่งที่ทำนั้นเกิดผลสำเร็จ”

“จากการเตรียมข้อมูลสั้นๆ ในประเด็นการพูดคุย หรือสุนทรพจน์ที่ร่างให้เป็นข้อมูลสำหรับผู้นำประเทศระดับสูงสุด ทำให้รู้สึกเป็นเกียรติและยินดีที่ได้มีส่วนร่วมและได้รับการยอมรับ”

“การเป็นตัวแทนประเทศถือเป็นเกียรติประวัติที่ยิ่งใหญ่ ผมรับหน้าที่เอกอัครราชทูตเป็นครั้งแรกที่ประเทศไทย ซึ่งนับเป็นช่วงเวลาที่ดีที่สุดในอาชีพการงานของผม”

“อันที่จริง เมื่อมองย้อนกลับไปในทุกช่วงของการทำงาน ก็มักจะมีเหตุการณ์และโอกาสอันน่าทึ่ง ซึ่งผมได้รับเกียรติให้เป็นผู้แทนของประเทศปากีสถานสองครั้งใน UN Security Council หรือคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ (ค.ศ.2003-2004 และ 2012-2013) มีงานสำคัญมากมายที่เรามีส่วนร่วมอย่างแข็งขันในปฏิบัติการรักษาสันติภาพในกรอบของสหประชาชาติ (UN Peacekeeping Operations) ในไลบีเรีย (Republic of Liberia) โกตดิวัวร์ (Republic of C?te d’Ivoire) และที่อื่นๆ เรามีความสุขมากที่เห็นประเทศเหล่านั้นมีความสงบสุขและมั่นคง”

“การที่ผมดำรงตำแหน่งรองเลขานุการของคณะรัฐมนตรีของประธานสมัชชาสหประชาชาติ (ค.ศ.2009-2010) นับเป็นประสบการณ์ที่ไม่เหมือนใครเช่นกัน รวมทั้งงานสำคัญที่เกี่ยวกับการย้ายถิ่นฐาน การปฏิรูปคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ การบรรเทาภัยพิบัติธรรมชาติและด้านอื่นๆ ก็ได้ดำเนินการในช่วงเวลานั้น”

ถ้ามีเวลาว่างจากการงาน ท่านทูตชอบทำอะไรเป็นพิเศษ

“ในความเป็นจริง ผมก็ไม่ค่อยมีเวลาว่างมากนัก นอกเหนือจากงานประจำในสำนักงาน การประชุมทางธุรกิจและกิจกรรมอื่นๆ ผมพยายามหาเวลาพบปะเพื่อนคนไทยซึ่งตอนนี้มีหลายคนแล้ว รวมทั้งยังได้พบปะกับชุมชนชาวปากีสถาน และชาวไทย-ปากีสถานด้วย”

“ที่กรุงเทพฯ ผมชอบไปท่องเที่ยวตามแม่น้ำ สถานที่ทางประวัติศาสตร์และย่านเมืองเก่า เพราะงานเลี้ยงรับรองอย่างเป็นทางการและกิจกรรมในช่วงเย็นมีไม่มากนักในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา สืบเนื่องจากข้อจำกัดของ COVID-19 ทำให้ผมมีเวลามากขึ้นสำหรับครอบครัวและกิจกรรมต่างๆ”

“ภริยาและลูกสาวของผมสนใจเรื่องการทำอาหารและขนมมาก เราชอบไปตามร้านอาหารไทย ร้านกาแฟและเบเกอรี่เล็กๆ ซึ่งไม่ได้รับรางวัลมิชลินสตาร์ แต่เป็นร้านที่ตกแต่งอย่างมีรสนิยมและน่าสนใจ และภริยาก็ชอบออกกำลังกายด้วยการเดินในยิมมากกว่า ในขณะที่ลูกสาวทั้งสามและผมชอบเล่นเทนนิสในตอนเย็น”

“ส่วนตอนเช้าตรู่ของวันหยุดสุดสัปดาห์ผมก็จะแวบไปเล่นกอล์ฟ เพราะประเทศไทยเป็นสถานที่ที่ดีแห่งหนึ่งสำหรับการเล่นกีฬาประเภทนี้”

คิดอย่างไรกับคนไทยและประเทศไทย

“เรามีความสุขมากที่ได้มาอยู่ในประเทศไทยซึ่งเป็นประเทศที่สวยงามและเป็นเจ้าบ้านที่ดี คนไทยมีจิตใจดีและน่ารัก นี่คือดินแดนแห่งรอยยิ้มอย่างแท้จริง ซึ่งผมมักจะพูดเสมอว่า ยังมีอะไรอีกมากมายที่อยู่เบื้องหลังรอยยิ้มนั้น นั่นคือคนไทยมีความเคารพ อดทน และอดกลั้นอย่างที่คุณรู้สึกได้จริงๆ ผู้คนมักทำงานหนัก จึงไม่น่าแปลกใจที่ประเทศไทยมีความก้าวหน้าและการพัฒนาทางเศรษฐกิจที่น่าทึ่ง”

“สำหรับปากีสถาน ประเทศไทยเป็นเพื่อนสนิทและเป็นพันธมิตร เรามีความสัมพันธ์ทวิภาคีที่ยอดเยี่ยมและเติบโตอย่างต่อเนื่อง เรามีหลายอย่างที่เหมือนกันในแง่ของนโยบายและมุมมองระดับโลก มีหลายสิ่งที่จะแบ่งปันและเรียนรู้จากประสบการณ์ในการพัฒนาของกันและกัน”

“ที่น่าสนใจคือ ประเทศของเรามีความคล้ายคลึงกันมาก ทั้งผู้คนในแวดวงสังคมและวัฒนธรรม คนไทยและปากีสถานต่างขึ้นชื่อในเรื่องการต้อนรับอย่างอบอุ่น ระบบครอบครัวและค่านิยมแบบดั้งเดิม รวมถึงมีการเคารพนบนอบ และแสดงความสุภาพอ่อนน้อมต่อผู้อาวุโส ซึ่งนับเป็นจุดแข็งมากของประเทศไทยเช่นเดียวกับปากีสถาน”

“เรายังเห็นความคล้ายคลึงกันของวิถีชีวิตในเมืองและชนบท เกษตรกรรมเป็นแกนนำในชนบท เยาวชนสนใจดนตรี ศิลปะ และแฟชั่น ทั้งสองประเทศต่างก็รักกีฬาเช่นกัน และได้สร้างแชมป์ที่ยิ่งใหญ่ ที่สำคัญ ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา”

“ประเทศไทยเป็นสถานที่ท่องเที่ยวยอดนิยมสำหรับชาวปากีสถาน เราจึงอยากให้คนไทยไปเที่ยวปากีสถานมากขึ้น เพื่อเพิ่มศักยภาพในการติดต่อสื่อสารระหว่างกัน”