จีนอพยพใหม่ในไทย (26) พิจารณ์ พิเคราะห์ และพินิจ / วรศักดิ์ มหัทธโนบล

เงาตะวันออก

วรศักดิ์ มหัทธโนบล

 

จีนอพยพใหม่ในไทย (26)

พิจารณ์ พิเคราะห์ และพินิจ

 

ชาวจีนอพยพใหม่ถือเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อปลายศตวรรษที่ 20 ช่วงเวลาดังกล่าวได้เกิดคลื่นการอพยพของผู้คนในหลายพื้นที่ทั่วโลก โดยที่ก่อนหน้านี้หลายศตวรรษก็เกิดมาตลอด

แต่กล่าวเฉพาะผู้อพยพชาวจีนแล้ว การอพยพในช่วงดังกล่าวถือเป็นช่วงที่สงครามเย็นยังไม่สิ้นสุด แต่ก็เป็นช่วงที่ได้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญขึ้นในจีน นั่นคือ เป็นช่วงที่จีนได้ประกาศใช้นโยบายปฏิรูปและเปิดประเทศในปลายเดือนธันวาคม ค.ศ.1978

เพื่อแก้ปัญหาภายในของตนอย่างเป็นด้านหลัก

มิได้ใช้เพราะจีนสามารถพยากรณ์ได้ว่า สงครามเย็นจะยุติลงและโลกสังคมนิยมจะล่มสลายในอีกสิบปีข้างหน้า จนราวสี่ทศวรรษต่อมาเมื่อจีนประสบความสำเร็จในนโยบายดังกล่าว จีนจึงกลายเป็นประเทศสังคมนิยมที่ยังไม่ล่มสลาย ซึ่งดูไปแล้วเหมือนกับเป็นความบังเอิญที่จีนใช้นโยบายที่ว่าแล้วอยู่รอดมาได้

ที่สำคัญ นับแต่ที่จีนใช้นโยบายนั้นแล้วก็ให้ปรากฏด้วยว่า ชาวจีนได้อพยพออกนอกประเทศอย่างต่อเนื่อง ปรากฏการณ์นี้ปฏิเสธไม่ได้ว่านโยบายปฏิรูปและเปิดประเทศเอื้ออำนวยให้เกิดการอพยพด้วย

ปรากฏการณ์ของชาวจีนอพยพใหม่จึงมิอาจแยกพิจารณาสถานการณ์ภายในและภายนอกจีนไปได้ และมิอาจแยกพิจารณาโดยละเลยการอพยพโดยรวมในที่อื่นๆ ได้เช่นกัน หาไม่แล้วการคิดคำนึงถึงประเด็นปัญหาชาวจีนอพยพใหม่จะไม่ครอบคลุมรอบด้าน

ดังที่งานศึกษานี้จะได้พยายามนำเสนอต่อไปโดยลำดับทีละประเด็น

 

ผู้อพยพกับเศรษฐกิจการเมืองโลก

องค์การสหประชาชาติได้ประเมินว่า มีผู้คนกว่าหนึ่งพันล้านคนหรือ 1 ใน 7 ของมนุษย์ที่มีชีวิตอยู่ในปัจจุบันกำลังอพยพย้ายถิ่นฐานภายในประเทศตัวเอง หรือข้ามพรมแดนไปยังประเทศอื่น ผู้คนนับล้านหนีตายจากความรุนแรง ทั้งสงคราม การกดขี่บีฑา อาชญากรรม ปัญหาทางการเมือง และความยากจนข้นแค้น

มูลเหตุแห่งการอพยพของผู้คนจำนวนมหาศาลระลอกใหม่นี้ มีตั้งแต่การตลาดที่ผันไปสู่ระดับโลกอย่างเป็นระบบ ส่งผลให้โครงข่ายธุรกิจท้องถิ่นที่เคยเลี้ยงดูผู้คนมาช้านานพังทลายลง สภาพอากาศกลายเป็นมลพิษ ไปจนถึงแรงปรารถนาอยากได้ใคร่มีของมนุษย์ที่กล้าแข็งมากขึ้นเพราะสื่อสังคมออนไลน์

การอพยพจากเหตุที่ว่านี้เกิดขึ้นและดำรงอยู่มาหลายทศวรรษแล้ว โดยเฉพาะหลังสงครามเย็นยุติลงและโลกก้าวสู่ยุคโลกาภิวัตน์

กล่าวเฉพาะการอพยพภายในประเทศหรือการอพยพจากชนบทสู่เมืองแล้วได้กวาดต้อนผู้คนราว 139 ล้านคนในอินเดีย และอีกราว 250 ล้านคนในจีน ในขณะที่บราซิล อินโดนีเซีย ไนจีเรีย เม็กซิโก และประเทศอื่นๆ ล้วนมีแนวโน้มไปในทิศทางนี้

จนทำให้ทุกวันนี้ร้อยละ 75 ของมนุษย์อยู่ในระหว่างการย้ายถิ่นหรืออพยพภายในประเทศตนเอง ชนชั้นกลางรุ่นใหม่กำลังเกิดขึ้น ผู้ครองอำนาจทางการเมืองรุ่นเก่าและทายาทกำลังสั่นคลอน มหานครต่างๆ เติบโตอย่างรวดเร็วและเต็มไปด้วยปัญหา

ระบบความรู้อย่างเกษตรกรรมแบบดั้งเดิมที่สั่งสมมานับพันปีถูกรื้อทิ้ง การแปรสภาพเป็นเมืองฉีกขนบเดิมๆ ว่าด้วยเพศสภาพและบรรทัดฐานทางศาสนา ทรัพยากรธรรมชาติร่อยหรอลงจนควบคุมไม่ได้

ในขณะที่ธนาคารโลกประเมินว่า เมื่อถึง ค.ศ.2050 อาจมีผู้คนกว่า 140 ล้านคนในภูมิภาคซับสะฮาราของแอฟริกา เอเชียใต้ และละตินอเมริกา ถูกผลักดันให้เคลื่อนย้ายถิ่นฐานเพราะผลกระทบระดับหายนะจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

 

ข้อมูลเพียงสังเขปของย่อหน้าข้างต้นบอกอะไรหลายอย่างเกี่ยวกับผู้อพยพก็จริง แต่ในขณะเดียวกันก็ชี้ให้เห็นว่า การเกิดขึ้นของผู้อพยพมีเงื่อนปัจจัยที่รวมศูนย์อยู่ตรงการสะสมทุนของกลุ่มทุนขนาดใหญ่ และเป็นการรวมศูนย์ที่มีความสลับซับซ้อนในตัวของมันเองดังจะเห็นได้จากย่อหน้าถัดไป

ค.ศ.2013 องค์กรออกซ์แฟม (Oxfam)* ได้แถลงข่าวต่อสื่อมวลชนว่า ในช่วง 30 ปีที่ผ่านมานั้น ความไม่เท่าเทียมได้ขยายตัวอย่างน่าตระหนก ส่วนแบ่งของรายได้ประชาชาติในสหรัฐอเมริกาที่ไหลเข้าสู่กลุ่มคนรวยสูงสุดร้อยละ 1 ได้เพิ่มขึ้นเป็นสองเท่าจากร้อยละ 10 เป็นร้อยละ 20 ตั้งแต่ ค.ศ.1980

โดยกลุ่มคนที่รวยที่สุดที่มีอยู่ร้อยละ 0.01 ส่วนแบ่งจะเพิ่มเป็นสี่เท่าจนถึงระดับที่ไม่เคยพบเห็นมาก่อน ส่วนในระดับโลก คนรวยสูงสุดร้อยละ 1 (จำนวน 60 ล้านคน) โดยเฉพาะกลุ่มคนหยิบมือเดียวที่อยู่บนสุดที่มีอยู่ร้อยละ 0.01 (600,000 คน – ทั่วโลกมีอภิมหาเศรษฐีประมาณ 1,200 คน)

ช่วง 30 ปีที่ผ่านมาจึงคือช่วงเวลาของการกอบโกยอย่างบ้าคลั่ง และมันไม่ได้จำกัดเฉพาะสหรัฐอเมริกาหรือกลุ่มประเทศที่ร่ำรวยเท่านั้น ในสหราชอาณาจักร ความไม่เท่าเทียมพุ่งสูงขึ้นถึงระดับเดียวกับยุคชาร์ลส์ ดิกเกนส์**

 

ส่วนในจีน คนรวยสูงสุดที่มีอยู่ร้อยละ 10 กอบโกยรายได้ให้ครอบครัวของตัวเองเกือบร้อยละ 60 ของรายได้ประชาชาติ ความไม่เท่าเทียมของจีนตอนนี้อยู่ในระดับใกล้เคียงกับแอฟริกาใต้ [ประเทศที่มีความไม่เท่าเทียมมากที่สุดในโลก ซึ่งรายได้-] มีความไม่เท่าเทียมเพิ่มมากขึ้นอย่างมีนัยสำคัญยิ่งกว่าในช่วงปลายยุคแบ่งแยกสีผิว

ยิ่งหลังวิกฤตเศรษฐกิจ ค.ศ.2007-2009 เป็นต้นมาก็ยิ่งเลวร้ายลงเมื่ออภิมหาเศรษฐีที่รวยที่สุด 100 คน มีความมั่งคั่งเพิ่มขึ้นถึง 240 พันล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งมากพอที่จะขจัดความยากจนทั่วโลกได้ถึงสี่ครั้ง

ความไม่เท่าเทียมหรือความเหลื่อมล้ำดังกล่าวบอกให้รู้ว่า หากโลกยังคงสภาพการณ์นี้ต่อไป มันไม่เพียงจะสร้างผู้อพยพให้เพิ่มมากขึ้นดังที่สหประชาชาติคาดการณ์ไว้เท่านั้น

หากยังจะเร่งให้โลกเข้าสู่วิกฤตที่หนักหน่วงมากขึ้นและล่มสลายเร็วขึ้นอีกด้วย

 

ข้อมูลข่าวสารข้างต้นนี้ทำให้เห็นว่า การสะสมทุนของกลุ่มทุนขนาดใหญ่แยกไม่ออกจากสาเหตุของการเกิดผู้อพยพ และแยกไม่ออกจากปัญหานานาประการ ไม่ว่าจะเป็นมลพิษในเมืองใหญ่ การขาดแคลนอาหาร การเสื่อมของดินเพื่อการเกษตร การตัดไม้ทำลายป่า ภัยธรรมชาติทั้งสี่อย่างอุทกภัย ทุพภิกขภัย วาตภัย และกีฏภัย การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ และสภาวะโลกร้อน ฯลฯ

เหตุดังนั้น ปรากฏการณ์ชาวจีนอพยพใหม่ก็ย่อมแยกไม่ออกจากการสะสมทุนของกลุ่มทุน และปัญหาความเหลื่อมล้ำดังที่ยกให้เห็นในย่อหน้าข้างต้น แต่ในฐานะที่เป็นผู้อพยพแล้ว ชาวจีนได้สะท้อนให้เห็นว่า การอพยพของตนมีความแตกต่างไปจากการอพยพในที่อื่นๆ เช่นกัน

และความแตกต่างนี้ย่อมทำให้ชาวจีนอพยพมีบทบาทเฉพาะของตน อันเป็นบทบาทที่ส่งผลสะเทือนต่อประเทศปลายทางที่ตนไปอาศัยอยู่ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง

 

ชาวจีนอพยพใหม่ในประเทศอื่นและไทย

การศึกษาเกี่ยวกับการอพยพของชาวจีนโดยบุคคลและองค์กรต่างๆ มีมาโดยตลอด โดยใน ค.ศ.2019 ได้มีรายงานชิ้นหนึ่งที่กล่าวถึงชาวจีนอพยพซึ่งเป็นของทางการสหรัฐ รายงานนี้ได้รวบรวมข้อมูลและตัวเลขชาวจีนอพยพจากที่ต่างๆ ซึ่งมีทั้งจากการศึกษาของบุคคลและองค์กรต่างๆ

กล่าวเฉพาะกรณีหลังที่สำคัญก็คือ สหประชาชาติ องค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาเศรษฐกิจ (Organization for Economic Cooperation and Development, OECD) สภากิจการชุมชนโพ้นทะเล (เป็นหน่วยงานหนึ่งของไต้หวัน) ธนาคารโลก และบางกระทรวงที่เกี่ยวข้องของรัฐบาลจีน

รายงานนี้ได้รวบรวมและแยกแยะเปรียบเทียบให้เห็นตัวเลขที่แตกต่างกันของแต่ละองค์กร พร้อมกับให้เหตุผลถึงความแตกต่างดังกล่าวว่าเพราะเหตุใดจึงแตกต่างกัน ถึงแม้ตัวเลขดังกล่าวจะต่างกันไม่มากก็ตาม

จะมีก็แต่ของทางการไต้หวันที่แตกต่างกับรายงานทั้งหมด เพราะเป็นรายงานที่รวมตัวเลขชาวจีนโพ้นทะเลตั้งแต่ ค.ศ.1948 และรวมเอาตั้งแต่รุ่นที่ 1 กับรุ่นลูกรุ่นหลานเข้าไว้ด้วย

ตัวเลขชาวจีนจึงสูงมาก

หมายเหตุ : บทความชิ้นนี้เป็นส่วนหนึ่งของผลงานวิจัยเรื่อง ชาวจีนอพยพใหม่ในประเทศไทย โดยได้รับทุนอุดหนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย ความเห็นในรายงานผลการวิจัยเป็นของผู้วิจัย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัยไม่จำเป็นต้องเห็นด้วยเสมอไป

*ออกซ์แฟม (Oxfam) เป็นชื่อย่อของคณะกรรมการบรรเทาทุพภิกขภัยแห่งออกซ์ฟอร์ด (Oxford Committee for Famine Relief) ก่อตั้งเมื่อ ค.ศ.1942 ที่ประเทศอังกฤษ

**ชาร์ลส์ ดิกเกนส์ (Charles John Huffam Dickens, ค.ศ.1812-1870) เป็นนักคิดนักเขียนชาวอังกฤษ ผลงานของเขามักสะท้อนปัญหาสังคมและความไม่เท่าเทียมกันของมนุษย์ ผลงานวรรณกรรมของเขาเคยถูกสร้างเป็นหนังหลายเรื่อง และเรื่องหนึ่งที่ถูกนำมาสร้างมากกว่าหนึ่งครั้งคือ Oliver Twist (ค.ศ.1837)