จาก คว่ำ รธน.-ไม่ปล่อยเพื่อนเรา ชุมนุมเดือดกระสุนยางว่อน ผบ.ตร.คามดาวน์ ปรับยุทธวิธี ?

โล่เงิน

 

คว่ำ รธน.-ไม่ปล่อยเพื่อนเรา

ชุมนุมเดือดกระสุนยางว่อน

‘บิ๊กปั๊ด’ คามดาวน์ ปรับยุทธวิธี

 

แน่นอนว่ามูลเหตุการคว่ำรัฐธรรมนูญวาระ 3 โดยรัฐสภา ซึ่งเป็น 1 ใน 3 ข้อเรียกร้องผู้ชุมนุม นั่นคือ

1. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีลาออก

2. แก้ไขรัฐธรรมนูญ

3.ปฏิรูปสถาบัน เท่ากับว่าผู้มีอำนาจได้ปิดประตูตายข้อเรียกร้อง

ผนวกการจับกุมแกนนำแล้วไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว อาทิ นายพริษฐ์ ชิวารักษ์ หรือเพนกวิน, นายอานนท์ นำภา, นายสมยศ พฤกษาเกษมสุข ,นายปติวัฒน์ สาหร่ายแย้ม หรือหมอลำแบงค์, น.ส.ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล หรือรุ้ง, นายจตุภัทร์ บุญภัทรรักษา หรือไผ่ ดาวดิน แกนนำกลุ่มราษฎร นายปิยรัฐ จงเทพ หรือโตโต้ แกนนำกลุ่ม Wevo และนายไชยอมร แก้ววิบูลย์พันธุ์ หรือแอมมี่ เดอะบอตทอมบลูส์

ปฏิเสธไม่ได้ว่า 2 มูลเหตุนี้ ทำให้ผู้เรียกร้องบางส่วนเสมือนกับคนสิ้นหวัง คล้ายๆ โดนหลอก ด้วยการซื้อเวลาไปเรื่อยๆ อาจแปรเป็นความโกรธชักชวนกันลงสู่ถนนเพิ่มยิ่งขึ้นได้

ทั้งหมดล้วนเป็นเงื่อนไขเร่งปฏิกิริยาให้อุณหภูมินอกสภาถึงจุดแตกหักทั้งสิ้น

เห็นได้จากความรุนแรงของการชุมนุม 20 มีนาคม ของกลุ่มรีเดม (REDEM-Restart Democracy) สถานการณ์เหมือนจลาจลย่อยๆ กลางเมือง

ถ้าเทียบกับ 28 กุมภาพันธ์ ตำรวจควบคุมฝูงชุนสลายม็อบกลุ่มผู้รีเดม ซึ่งวันนั้นเคลื่อนพลจากอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยบุกบ้านพักนายกรัฐมนตรี ถนนวิภาวดี บริเวณหน้ากรมทหารราบที่ 1 มหาดเล็กรักษาพระองค์ เกิดการปะทะวุ่นเช่นกัน

เพราะสภาพการชุมนุมถนนวิภาวดีไร้แกนนำสั่งการ มีทั้งผู้ชุมนุมที่มาอย่างสันติและกลุ่มที่ใช้ความรุนแรง คุมกันเองไม่อยู่ จนตำรวจใช้มาตรการสลายการชุมนุมทั้งรถฉีดน้ำ แก๊สน้ำตา กระสุนยางจนบาดเจ็บระนาว

แต่การยิงด้วยกระสุนยางวันที่ 28 กุมภาพันธ์ ไม่ดุเดือดเท่า 20 มีนาคมที่ผ่านมา

ที่สื่อมวลชนในสนามข่าวยืนยันว่า ตำรวจยิงขนานกับพื้น ซึ่งถือว่าเป็นอันตรายกับผู้ชุมนุมมาก

ศูนย์เอราวัณรายงานว่ามีผู้บาดเจ็บถึง 33 ราย แบ่งเป็น เจ้าหน้าที่ 13 ราย และประชาชน ที่มีทั้งนักข่าว ช่างภาพรวมอยู่ด้วย 20 ราย

ต่อมาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ รับคนเจ็บ ไม่ว่าจะเป็นตำรวจ ผู้สื่อข่าว และประชาชนที่โดนลูกหลง จากเหตุชุมนุมเมื่อ 20 มีนาคม เป็นคนไข้ในพระบรมราชานุเคราะห์

 

สังคมมีการตั้งคำถามเสียงดังว่าตำรวจกระทำเกินกว่าเหตุหรือไม่ เพราะมีหลายคลิปที่ปรากฏในโลกออนไลน์เห็นชัดเจนว่า ตำรวจอยู่ในสภาพ “หลุด” ทำร้ายผู้ชุมนุม

พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผบ.ตร. ได้ออกมาขอโทษ ยอมรับว่าผู้ใต้บังคับบัญชาของตัวเองทำรุนแรงไปบ้าง

พร้อมบอกว่า ได้ตักเตือนให้ปรับวิธีปฏิบัติให้เป็นไปตามยุทธวิธีสากล เพราะไม่อยากให้เกิดความรุนแรงเช่นนั้นอีก แต่ถ้าดูในภาพรวมจะเข้าใจว่าเหตุการณ์เกิดขึ้นได้อย่างไร แต่ก็ไม่ได้ปกป้องว่าตำรวจไม่ผิด

จึงขอให้ผู้ชุมนุมอย่าใช้ความรุนแรงอีก

นํ้าเสียงแตกต่างสิ้นเชิงกับ พล.ต.ต.ปิยะ ต๊ะวิชัย โฆษก บช.น. ที่กล่าวก่อนหน้านี้หนึ่งวันว่า ความรุนแรงที่เกิดขึ้น เกิดจากผู้ชุมนุมเป็นหลัก ตำรวจเป็นฝ่ายตั้งรับและรักษากฎหมาย

พร้อมทั้งระบุว่า ลักษณะการชุมนุมที่อ้างว่าไม่มีแกนนำ แต่จากการสืบสวนเชิงลึก กลุ่มผู้ชุมนุมยังมีแกนนำตามปกติ แต่ไม่ปรากฏตัวเท่านั้น

ในวันรุ่งขึ้น โฆษก บช.น.ได้แถลงเพิ่มเติมไล่เรียงสถานการณ์เริ่มตั้งแต่ พ.ต.อ.สนอง แสงมณี ผกก.สน.ชนะสงคราม ได้ประกาศเตือนผู้ชุมนุมว่าเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย ให้ยุติการชุมนุม ที่บริเวณพระแม่ธรณีบีบมวยผม ริมถนนราชดำเนิน แต่ผู้ชุมนุมไม่เชื่อฟัง ได้ผลักดันตำรวจ และเคลื่อนเข้าไปยังท้องสนามหลวง

จากนั้นผู้ชุมนุมได้รื้อถอนแนวรั้วลวดหนามที่จัดทำไว้เพื่อแสดงให้เห็นว่าเป็นบริเวณพื้นที่ต้องห้าม เมื่อรื้อถอนรั้วลวดหนาม ได้พยายามทำร้ายตำรวจที่รักษาการณ์อยู่บริเวณดังกล่าว ทุบทำลายสิ่งของทางราชการ ไม่ว่าจะเป็นกล้องวงจรปิด ขว้างปาสิ่งของ ใช้ไม้และเหล็กทำร้ายตำรวจ

กลุ่มผู้ชุมนุมยังได้รื้อถอนตู้คอนเทนเนอร์ออกจากแนวเขตหวงห้ามที่ตำรวจตั้งไว้ จึงมีการประกาศเตือนให้หยุดการกระทำเป็นระยะๆ แต่ผู้ชุมนุมไม่ได้สนใจ กลับขว้างก้อนหิน ขว้างระเบิดเพลิง โยนไปป์บอมบ์ใส่ตำรวจ ที่รักษาการณ์อยู่บริเวณดังกล่าว

กระทั่งเวลา 19.00 น. ผู้ชุมนุมได้รื้อตู้คอนเทนเนอร์อีก 1 ตู้ และระดมปาวัตถุระเบิดเพลิง ไปป์บอมบ์ใส่ตำรวจ และพยายามฝ่าฝืนเข้าไปในพื้นที่สำคัญ และเป็นสถานที่ยึดเหนี่ยวจิตใจของประชาชนชาวไทย ไม่ว่าจะเป็นศาลหลักเมือง วัดพระแก้ว กระทรวงกลาโหม และสถานที่อื่นๆ ในบริเวณดังกล่าว

ทำให้ตำรวจฉีดน้ำเตือน แต่ผู้ชุมนุมยังไม่หยุดการกระทำ กลับละเมิดกฎหมายหลายมาตรา

ตำรวจจึงมีความจำเป็นต้องควบคุมสถานการณ์ จากการปฏิบัติหน้าที่ครั้งนี้

ทำให้ตำรวจได้รับบาดเจ็บ 50 นาย ต้องพักรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาล 11 ราย มีรายที่เจ็บหนักสุด คือกะโหลกแตก

ส่วนกรณีกระสุนยางโดนผู้สื่อข่าวสาวช่อง 8 นั้น พล.ต.ต.ปิยะกล่าวว่า ได้ส่งสัญญาณว่าจะใช้กระสุนยาง ผู้สื่อข่าวได้ก้มลงหลบกระสุนยาง จึงเป็นเหตุให้กระสุนพลาดไปถูกบริเวณศีรษะ

แต่ปรากฏว่าผู้สื่อข่าวยืนยันสถานการณ์ขณะนั้นว่า ตัวเองถูกยิงขณะยังยืนอยู่ ไม่ได้ก้มหลบ เพราะไม่รู้ว่าตำรวจจะยิงใส่กลุ่มตนเอง

จนสื่อมวลชนที่อยู่ในการแถลงข่าว ถาม พล.ต.ต.ปิยะต่อว่า สาเหตุที่ตำรวจใช้กระสุนยางเกิดจากกลุ่มผู้ชุมนุมก่อความรุนแรงหรือไม่ ได้รับคำตอบว่า บริเวณแยกคอกวัวมีการใช้จักรยานยนต์ พร้อมอาวุธต่างๆ จุดระเบิดเพลิง เผาทรัพย์สินของทางราชการ ซึ่งเป็นอันตราย หากตำรวจไม่ใช้การปฏิบัติแบบฉับพลันอาจเกิดอันตรายต่อเจ้าหน้าที่

พร้อมเอ่ยปากว่า สำนักงานตำรวจแห่งชาติขอแสดงความเสียใจกับผู้สื่อข่าว ซึ่ง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้สั่งการมายัง ผบ.ตร. ให้ดูแลคนเจ็บทุกราย พร้อมกำชับการปฏิบัติของตำรวจให้เป็นไปตามยุทธวิธีสากล

โฟกัสคำแถลงรองโฆษก บช.น. สอดคล้องกับข่าวที่เล็ดลอดออกมาจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ขณะนี้ว่า พล.ต.อ.สุวัฒน์ได้เปิดคลิปในการปฏิบัติการคืนวันที่ 20 มีนาคม มาดู พร้อมทั้งชี้ให้ผู้ใต้บังคับบัญชาซึ่งเป็นผู้ปฏิบัติการเห็นข้อผิดพลาด แล้วให้ปรับปรุง เพื่อให้เกิดข้อผิดพลาดน้อยที่สุด

เพื่ออุดช่องโหว่ในการปฏิบัติหน้าที่ เพื่อให้เกิดความสงบเรียบร้อย ไม่ใช่เร่งปฏิกิริยาเติมเชื้อไฟให้สถานการณ์ชุมนุมบานปลายยิ่งขึ้น