สะดุดปังตอ “ศูนย์อำนาจใหญ่” แก้รัฐธรรมนูญ 2560 / ลึกแต่ไม่ลับ จรัญ พงษ์จีน

จรัญ พงษ์จีน

ลึกแต่ไม่ลับ

จรัญ พงษ์จีน

 

ขี้เถ้า-เขม่า และฝุ่นยังฟุ้งกระจาย กับดราม่าปมแก้รัฐธรรมนูญ 2560 ภายหลัง “ศาลรัฐธรรมนูญ” มีมติด้วยเสียงข้างมาก 8 ต่อ 1 เมื่อวันที่ 11 มีนาคม ว่า “รัฐสภามีอำนาจยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ แต่ต้องทำประชามติถามประชาชนก่อน และเมื่อร่างเสร็จต้องทำประชามติอีกครั้ง”

เท่ากับศิโรราบ รวมแล้วต้องทำ “ประชามติ” เพื่อแก้รัฐธรรมนูญ 2 รอบ

เป็นมรรคผลให้ร่างแก้ไขที่ผ่านวาระ 1-2 มาแล้ว สะดุดปังตอ ในการประชุมรัฐสภาเพื่อพิจารณาในวาระ 3 เมื่อวันที่ 17 มีนาคม ถูกคว่ำกระดาน “จบข่าว” โดยฝีมืออันเยี่ยมฉมังของ 2 กัลยาณมิตร “วุฒิสมาชิก” ประสานสิบทิศกับ “พรรคพลังประชารัฐ”

ถอยหลังกลับไปสู่ความว่างเปล่า เป็นกระบอกไม้ไผ่อีกครั้ง อิสรภาพจะงอกงามขึ้นมาใหม่โดยประชาชน เป็นโกหกที่ฟังแล้วดูไพเราะดีเท่านั้น ความเป็นจริงไม่มี

สรุป การจะแก้รัฐธรรมนูญ 2560 ฉบับที่ประกาศใช้อยู่ในปัจจุบันเป็นเรื่องที่ยากยิ่งกว่าย้ายภูเขา แทบแตะต้องไม่ได้เลย ตราบใดที่ยังไม่มีใบสั่งจาก “ศูนย์อำนาจใหญ่” ยังไม่กดปุ่ม “หมาป่าไม่ได้เลือกพื้นที่ นายพรานต่างหากเล่าคือผู้กำหนด”

ปมคว่ำกระดานแก้รัฐธรรมนูญ เป็นหนังตัวอย่างหนังหนึ่ง บ่งบอกให้รู้ว่า ใครคิดมิดีมิร้าย ทำลายเครื่องทุ่นแรงผูกขาดอำนาจ ไม่ว่าทางตรง ทางอ้อม เพื่อตัดตอนแผนยุทธศาสตร์ 20 ปี ฝันไปเหอะ เสียคนโดยเปล่าประโยชน์

องคาพยพของขั้วอำนาจ ปั้นมากับมือเพื่อสร้างความชอบธรรมให้กับการผูกขาด ทำผิดทำพลาดของตัวเอง แปลว่าถูก คอร์รัปชั่น แปลว่าสุจริต สะอาด เห็นๆ กันอยู่

“รัฐสภา” ประกอบด้วย 2 ส่วน คือ “สภาผู้แทนราษฎร” 500 เสียง บวกกับ “วุฒิสมาชิก” 250 คน เกินครึ่งหนึ่งของ 2 สภารวมกัน คือ 376 เสียง

“พรรค ส.ว.” คือฐานกำลังหลัก 250 คน จับไปผสมพันธุ์กับพรรค พปชร. 120 เสียง เบาะๆ รวมกันก็ปาเข้าไป 370 คนเข้าให้แล้ว จับแพะชนแกะแค่พรรคเล็ก พรรคน้อยมาทำหน้าที่อะไหล่เชียงกง

สัดส่วนก็มากท่วมท้น ไม่ต้องไปฟังเสียงนกเสียงกา “พรรคร่วม” ไม่ว่าจะภูมิใจไทย-ประชาธิปัตย์ หรือชาติไทยพัฒนา

นี่ยังไม่ต้องละเมอเพ้อฝันถึงเงื่อนไขถัดไป ที่กำหนดให้ต้องใช้บริการเสียง ส.ว.อย่างน้อย 84 เสียง ตามไฟต์บังคับอีกขยัก

ทีนี้ ตามไปดู “ที่มาของวุฒิสมาชิก” จากรัฐธรรมนูญฉบับมหาปราชญ์ ที่ล็อกสเป๊กกำหนดไว้ตามรัฐธรรมนูญ 2560 ให้ ส.ว.มีจำนวน 250 ครึ่งหนึ่งของจำนวน ส.ส.

แยกเป็นสองส่วน “กองที่ 1” จำนวน 200 คนจากคณะกรรมการสรรหา ซึ่ง “คสช.” แต่งตั้งขึ้นมาจากผู้มีความรู้ความเชี่ยวชาญด้านต่างๆ มาทำหน้าที่สรรหา ยกเว้น 6 ที่นั่งโดยตำแหน่ง ผบ.สส.-ผบ.เหล่าทัพ

“กองที่ 2” มาจากการเลือกไขว้จากผู้สมัครระดับอำเภอ จังหวัดและประเทศ แล้วให้ “คสช.” เป็นผู้คัดเลือก เข้ามาทำหน้าที่ ส.ว.จำนวน 50 คน

ทั้ง 2 ที่มา ถูก คสช.จับมาหล่อรวมในบ่อเดียวกัน ซึ่งเมื่อเอ็กซเรย์ดูแล้ว ทั้ง 250 คน แม้จะต่างที่มา แต่ห้องเครื่องเดียวกัน คือ คสช.ทำคลอด และคัดกรองจากอดีตข้าราชการ คนกองทัพ กับเครือข่ายที่สามารถคอนโทรลได้

ก่อนประกาศมีการเช็กประวัติ ปูมหลังอย่างละเอียด กลัวว่าเมื่อเข้ามารับตำแหน่งแล้ว จะมีรายการแหกด่านมะขามเตี้ย ใครที่เข้าข่ายสงสัย ถูกตัดสายสะดือทิ้ง

การแต่งตั้งต้องผ่านขั้นตอนด้วยความรอบคอบรัดกุม วุฒิสมาชิก 250 คน จึงล้วนอยู่ในแถว มีระเบียบ ไม่มีใครแตกแถว มีพลัง เอกภาพอย่างที่เห็นๆ กันอยู่

เชื่อหัวเณรเรืองได้ว่า “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” จะทุบสถิตินั่งแป้นนายกรัฐมนตรีรอบที่ 2 เดินตามลายแทงรัฐธรรมนูญที่ล็อกสเป๊กไว้ล่วงหน้า ตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ สืบทอดอำนาจต่อไป 20 ปี

ถ่อสังขารอันไม่เที่ยงไปถึงปี 2570 ชักเย่ออยู่จนเฒ่าชแลแก่ชรา เกือบอายุ 80 ปี

 

แม้รัฐธรรมนูญ 2560 เหมือนเทพ คอยปกป้องรัฐบาล “บิ๊กตู่”…และมีการสร้างกำแพงคอยปกป้องเทพอีกที แสดงว่าเทพไม่ดี จึงเกิดช่องว่างเล็กๆ ที่ยังพอมีโอกาสเป็นไปได้ กับข้อผิดพลาดเท่ารูเข็มของรัฐธรรมนูญ

นั่นก็คือ ช่องทางแห่งมาตรา 156 ของรัฐธรรมนูญที่กำหนดว่าด้วย “การประชุมร่วมของรัฐสภา”

เขียนกรอบไว้ครอบอาณาจักร ให้การประชุมระหว่างสภาผู้แทนราษฎรกับวุฒิสภา มี 16 วาระด้วยกัน

1. การให้ความเห็นชอบในการแต่งตั้งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ตามมาตรา 17

2. การปฏิญาณตนของผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ต่อรัฐสภาตามมาตรา 19

3. การรับทราบการแก้ไขเพิ่มเติมกฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์ พ.ศ.2467 ตามมาตรา 20

4. การรับทราบหรือให้ความเห็นชอบในการสืบราชสมบัติตามมาตรา 21

5. การให้ความเห็นชอบการปิดสมัยประชุม

6. การเปิดประชุมรัฐสภา

7. การพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ

8. การปรึกษาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ

9. การพิจารณาให้ความเห็นชอบตามมาตรา 147

10. การอภิปรายทั่วไปตามมาตรา 155 และมาตรา 165

11. การตราข้อบังคับการประชุมรัฐสภาตามมาตรา 157

12. การแถลงนโยบายตามมาตรา 162

13. การให้ความเห็นชอบในการประกาศสงครามตามมาตรา 177

14. การรับฟังคำชี้แจงและการให้ความเห็นชอบหนังสือสัญญาตามมาตรา 178

15. การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญตามมาตรา 256

และ 16. กรณีอื่นๆ ตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ

จะเห็นได้ว่า เงื่อนไข 16 ประกาศที่รัฐธรรมนูญ มาตรา 156 กำหนดไว้ “วุฒิสมาชิก” มีอำนาจชอบธรรมตามรัฐธรรมนูญ สามารถประชุมร่วมกับสภาผู้แทนราษฎร ครอบคลุมทุกเม็ดตั้งแต่ปัญหาสากกะเบือยันเรือรบ

ด้วยเงื่อนไขดังกล่าว การเป็น ส.ว.ยุคนี้ ดีกว่าเป็นรัฐมนตรีเสียอีก

แต่ทุกอย่างย่อมมีจุดผิดพลาด ข้อบกพร่อง “รัฐธรรมนูญ 2560” ก็อีหรอบเดียวกัน เปิดช่องอยู่เพียงหน่อยเดียว คือในจำนวน 16 อำนาจหน้าที่ “ส.ว.” สามารถเข้าประชุมร่วมกับ “ส.ส.” ไม่ได้ระบุไว้คือ “การพิจารณางบประมาณรายจ่ายประจำปี” ของรัฐบาล

เป็นหน้าที่ของ “สภาล่าง” หรือ “สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร” พิจารณากันเพียวๆ สภาเดียวจำนวน 500 คน

เกิดพรรคร่วม ไม่ว่า “ภูมิใจไทย-ประชาธิปัตย์” เกิดม้าผยศ อยากจะคิดดัดหลัง พปชร. หรือรัฐบาลบิ๊กตู่ ก็สามารถตีน็อกได้โดยพลัน

งบประมาณรายจ่ายประจำปีไม่ผ่านสภาผู้แทนราษฎร รัฐบาล “บิ๊กตู่” ก็ต้องเจอทางตัน ต้องประกาศลาออก หรือยุบสภา

ตีวิถีโค้ง ไปสู่การเลือกตั้งใหม่ ใช้สภาชุดต่อไปแก้ไขรัฐธรรมนูญ

แต่คงทำได้แค่ฝัน