ศึกแก้รัฐธรรมนูญ ศึก 3 ก๊ก ‘พปชร.+ส.ว.’-‘ภท.+ปชป.’-‘ฝ่ายค้าน’ ใต้ระบอบ ‘3 ป.’ / บทความในประเทศ

บทความในประเทศ

 

ศึกแก้รัฐธรรมนูญ

ศึก 3 ก๊ก

‘พปชร.+ส.ว.’-‘ภท.+ปชป.’-‘ฝ่ายค้าน’

ใต้ระบอบ ‘3 ป.’

 

กลายเป็น ‘สภาโจ๊ก’ หลังการประชุมร่วมรัฐสภา ที่สุดท้ายได้โหวตคว่ำการแก้ไขรัฐธรรมนูญ วาระ 3 ที่เริ่มจาก ‘ชาดา ไทยเศรษฐ์’ ส.ส.อุทัยธานี พรรคภูมิใจไทย ได้ลุกขึ้นกล่าวว่า “ไม่ขอร่วมสังฆกรรมกับพวกฉ้อฉล ศรีธนญชัย โกหกปลิ้นปล้อน” จากนั้น ส.ส.ภูมิใจไทยพากันเดินออกจากห้องประชุม

การที่ ส.ส.ภูมิใจไทย ‘วอล์กเอาต์’ เท่ากับยิ่งทำให้การโหวตวาระ 3 ถูกคว่ำไปโดยปริยายด้วย ต่อมา ‘เสี่ยหนู’ อนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย ชี้แจงว่า “เป็นการเดินออกตามนายชาดาเท่านั้น แต่ภูมิใจไทยมีมติที่ชัดเจนว่าจะไม่ลงมติในวาระ 3 เพราะจะเป็นการขัดต่อคำสั่งของศาล”

ส่วน ‘ชาดา’ ยืนยันว่า ไม่ได้เล่นละคร ไม่สนว่า ส.ว.จะเลือกใครเป็นนายกฯ และจะเลือกได้หรือไม่ แต่สนว่าในรัฐธรรมนูญมีหลายเรื่องที่ต้องแก้ไข โดยเฉพาะเรื่องกระจายอำนาจปลอมๆ

ต่อมา ‘อนุทิน’ ยิ่งตอกลิ่มรอยร้าวนี้ให้ลึกลงไปอีก หลังพูดเปรียบเทียบ 250 ส.ว.เป็น ‘ไดโนเสาร์’ ให้ทนไป 5 ปี

“ไดโนเสาร์คือสิ่งที่ไม่ใช่คน แต่เป็นสิ่งที่เราไม่ชอบในเรื่องของที่มาของนายกฯ คนที่มาจากการเลือกตั้งจากประชาชนอย่างพวกผม การเลือกนายกฯ ควรมาจากการเลือกตั้งของ ส.ส.ก็แค่นั้นเอง แต่ในเมื่อมีบทเฉพาะกาลเราก็ต้องยอมรับ ซึ่งมีระยะเวลา 5 ปี เดี๋ยวก็หมด ก็รออีกแป๊บเดียว”

นายอนุทินกล่าว

 

ด้านพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ‘เล่นบทหล่อ’ ขานชื่อ ‘เห็นชอบ’ ลงมติให้แก้ไขรัฐธรรมนูญ วาระ 3 ในอีกมุมก็เหมือนถูกพรรคภูมิใจไทย ‘ทิ้งกลางสภา’ ทว่าภายหลังการโหวต ปชป.ก็ได้ถกกับ ‘ภูมิใจไทย’ โดยไม่มี พปชร.ร่วมวง

ในส่วนของ ‘อู๊ดด้า’ จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หน.พรรคประชาธิปัตย์ ก็ไม่ได้มีท่าทีปิดประตู พปชร. โดยระบุว่า ในฐานะพรรคร่วมรัฐบาลต้องหารือด้วยกัน โดยเริ่มต้นคุยกับ 3 พรรค จึงยังไม่ได้พูดคุยกับพรรคพลังประชารัฐ จากนี้ไปเป็นหน้าที่ของวิปรัฐบาลที่จะไปหารือเรื่องรัฐธรรมนูญเข้าสู่สภา พร้อมย้ำว่าอยากเห็น 3 ฝ่าย ได้แก่ รัฐบาล ฝ่ายค้าน และ ส.ว.ร่วมมือกัน

ทว่าหนทางนี้ไม่ง่าย ภายใต้ ‘ระบอบ 3 ป.’ เพราะยังมีอีกหลายด่านรออยู่ เพราะสุดท้ายแล้วการแก้รัฐธรรมนูญก็ต้องอาศัยเสียง ส.ว. ซึ่ง 250 ส.ว.เป็นผลผลิตจากยุค คสช. เปรียบเป็นคนคนเดียวกับ ‘3 ป.’ เพราะผ่านการคัดเลือกมากับมือ จึงจะเห็น ส.ว.ที่มี ‘คอนเน็กชั่น’ โยงใย ‘3 ป.’

ทำให้ท่าที พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นลักษณะ ‘ปากอย่างใจอย่าง’ แม้จะพูดถึงความใจกว้างของตนเอง ที่หนุนการแก้รัฐธรรมนูญ ทว่า พล.อ.ประยุทธ์ให้สัมภาษณ์ในลักษณะเย้ยฝ่ายที่ต้องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ

“ผมไม่จำเป็นจะต้องไปสั่งใคร ทุกคนต่างก็มีความคิด ความคิดดีๆ ก็มี ความคิดไม่ดีก็มี ทำไมถ้ามีการระแวงว่าผมจะสืบทอดอำนาจ ก็ไปแก้มา จะเลือกผมหรือไม่เลือกผม ก็ไม่ได้ขัดข้อง ไม่เลือกก็ได้ ก็ไปแก้มา แก้ให้ได้ก็แล้วกัน” นายกฯ กล่าว

 

ทั้งนี้ รอยร้าวระหว่าง ส.ว.กับพรรคร่วมรัฐบาล ทำท่าจะยิ่งแตกหัก ด้วยวาทะ ‘ไดโนเสาร์’ ที่ ‘อนุทิน’ พาดพิงไปยัง 250 ส.ว. ทำให้ ‘ส.ว.ตัวจี๊ด’ อย่าง ‘วันชัย สอนศิริ’ ออกมาซัดกลับ แถม ‘กระทบชิ่ง’ ไปถึง ปชป.ด้วยว่า การแก้รัฐธรรมนูญที่ไม่สำเร็จและล้มคว่ำ มาจากพรรคและนักการเมืองที่เห็นแก่อำนาจ เห็นแก่ตำแหน่งรัฐมนตรี ทำทีอยากแก้ อยากมีรัฐธรรมนูญใหม่ แต่ใจหนึ่งก็อยากอยู่กับอำนาจ เป็นพวกตีสองหน้า และเป็นไดโนเสาร์ที่เกาะอยู่กับอำนาจอย่างแท้จริง ซึ่งกำลังจะกลายพันธุ์

ทำให้ ‘จุรินทร์’ ต้องออกมาซัดกลับว่า ‘วันชัย’ ต้องตอบคำถามว่าอยู่ที่ไหนขณะที่มีการโหวตวาระ 3 เพราะเคยบอกไว้ว่าจะสนับสนุนการแก้รัฐธรรมนูญ

ทว่ายังไม่จบเท่านี้ ‘วันชัย’ ออกมาแง้มถึงการโหวตร่าง พ.ร.บ.ประชามติ วาระ 3 ที่ส่อเค้าจะถูกคว่ำจากฝั่ง ส.ว.อีกครั้ง โดยเฉพาะมาตรา 9 ซึ่ง ‘วันชัย’ ได้ตั้งข้อสังเกตว่าร่างของ ‘ชูศักดิ์ ศิรินิล’ ในฐานะกรรมาธิการเสียงข้างน้อย อาจจะขัดต่อหลักรัฐธรรมนูญ

ทว่ามีรายงานจากฝั่งรัฐบาล ‘ส่งสัญญาณ’ ให้ช่วยหนุนร่าง พ.ร.บ.ประชามติ ออกมาจากรองนายกฯ วิษณุ เครืองาม ที่ได้กล่าวในที่ประชุม ครม.เมื่อ 23 มีนาคม 2564 ว่า ขอความร่วมมือให้พรรคการเมืองต่างๆ ช่วยให้ความสำคัญ ขอให้ช่วยกัน เพราะกฎหมายประชามติเป็นกฎหมายสำคัญ ต้องผ่านให้ได้ ถ้าไม่ผ่าน พวกเราก็อยู่ไม่ได้ การคว่ำร่างกฎหมายประชามติไม่ควรทำแบบนั้น เพราะเป็นกฎหมายสำคัญของรัฐบาล ส่วนในมาตรา 9 ที่เสียงข้างมากแพ้ไป 6 เสียง อาจจะเป็นปัญหาได้

ซึ่งแนวทางหลังร่าง พ.ร.บ.ประชามติ ประกาศใช้ รัฐบาลต้องเสนอร่างแก้ไข พ.ร.บ.ประชามติ ทันทีภายใน 7-8 วัน

 

สําหรับปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นสะท้อน ‘ศึก 3 ก๊ก’ ระหว่าง ‘ก๊กพรรคพลังประชารัฐ-ส.ว.’ กับ ‘ก๊กประชาธิปัตย์-ภูมิใจไทย’ และ ‘ก๊กฝ่ายค้าน’ โดยเฉพาะท่าทีของพรรคภูมิใจไทยที่ไม่ไว้หน้าใคร โดยเฉพาะ ‘เสี่ยหนู’ ที่แข็งข้อขึ้น หรือเรียกได้ว่าเป็น ‘หนูไม่กลัวน้ำร้อน’ ส่วนฝั่ง พปชร.-ส.ว. ก็มั่นใจในเสียงและอำนาจตัวเอง จนเพลี่ยงพล้ำเอง

จากกรณีมาตรา 9 ของร่าง พ.ร.บ.ประชามติ ที่พรรคเพื่อไทยได้รับเสียงหนุนจากฝั่งพรรคประชาธิปัตย์และพรรคภูมิใจไทย โดย ‘อิสระ เสรีวัฒนวุฒิ’ ส.ส.ประชาธิปัตย์ ออกมากล่าวในเชิงว่าเป็น ‘การสั่งสอน’ พรรคพลังประชารัฐ-ส.ว. ที่คว่ำโหวตแก้รัฐธรรมนูญ

“อีกนัยหนึ่งก็เพื่อเตือนสติให้เห็นว่าอย่าชะล่าใจว่ามี ส.ว. 250 คนในมือแล้วจะคว่ำรัฐธรรมนูญที่สวนทางกับความรู้สึกประชาชนก็ได้อีกด้วย” นายอิสระกล่าว

หากเช็กเสียงในสภาจะพบว่า ส.ว.มี 250 เสียง ในสภามี ส.ส. 487 คน แบ่งเป็นพรรคพลังประชารัฐ 121 เสียง พรรคภูมิใจไทย 61 เสียง พรรคประชาธิปัตย์ 51 เสียง พรรคฝ่ายค้าน 212 เสียง พรรคเล็ก 42 เสียง

ทั้งนี้ หากแบ่งเสียงตามก๊กต่างๆ ฝั่ง พปชร.-ส.ว. ยังคงได้เปรียบในเกมนี้ เพราะมีเสียงเกินครึ่งของสภานั่นเอง รวมทั้ง ‘ส.ว.วันชัย’ ก็ปูดเรื่อง ‘ยุบสภา’ ขึ้นมา หากร่าง พ.ร.บ.ประชามติ ไม่ผ่าน เพราะรู้ว่า ‘พรรคร่วมรัฐบาล’ ไม่อยากให้ยุบสภา เพราะสุดท้าย 250 ส.ว.ก็ยังคงอยู่

 

ทว่าแรงกดดันนอกสภาเริ่มเคลื่อนไหวมากขึ้น เครือข่ายภาคการเมือง ภาควิชาการ ได้รวมกลุ่มตั้ง ‘ภาคีเพื่อรัฐธรรมนูญประชาธิปไตย’ โดยมีตัวแทนจากพรรคการเมืองต่างๆ ได้แก่ คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์, โภคิน พลกุล จากกลุ่มสร้างไทย, ชัยธวัช ตุลาธน เลขาธิการพรรคก้าวไกล, ชินวรณ์ บุณยเกียรติ รอง หน.พรรคประชาธิปัตย์, จาตุรนต์ ฉายแสง, โคทม อารียา, สมชัย ศรีสุทธิยากร อดีต กกต. เป็นต้น โดยมีนายอนุสรณ์ ธรรมใจ ประธานคณะกรรมการบริหารภาคีเพื่อรัฐธรรมนูญประชาธิปไตย

ทั้งนี้ ภาคีเพื่อรัฐธรรมนูญประชาธิปไตยได้จัดแถลงข่าวขึ้น โดยนายอนุสรณ์แถลงจุดยืน 4 ข้อ ได้แก่

1. ภาคีเพื่อรัฐธรรมนูญประชาธิปไตยมีความมุ่งมั่นที่จะดำเนินการที่จะให้มีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ และขอให้ทุกฝ่ายโดยเฉพาะรัฐบาลและรัฐสภา ร่วมมือกันเพื่อดำเนินการเรื่องนี้โดยเร็ว

2. ขอให้ทุกฝ่ายร่วมกันดำเนินการเพื่อให้มีการออกเสียงประชามติถามประชาชนในเรื่องการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่

3. คำถามที่จะให้ประชาชนให้ความเห็นที่จะลงประชามติ อาจเป็นดังนี้ ท่านประสงค์ที่จะให้มีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่โดย ส.ส.ร.ที่มาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชนหรือไม่

4. การที่พรรคการเมืองหรือกลุ่มองค์กรประชาธิปไตย ดำเนินการให้มีการแก้ไขเพิ่มเติมเป็นรายมาตรา เพื่อให้รัฐธรรมนูญเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น ย่อมสามารถทำได้ และพึงได้รับการสนับสนุนจากสังคม โดยเฉพาะประเด็นที่เป็นประโยชน์กับประชาชน เกี่ยวข้องกับการสืบทอดอำนาจ เช่น การแก้ไขมาตรา 272 เพื่อตัดอำนาจ ส.ว.ในการเลือกนายกฯ

ทั้งนี้ ภาคีฯ ยังยืนยันในการสถาปนาระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ให้มั่นคง แต่จากสถานการณ์บ้านเมืองในขณะนี้ยังมีการ ‘วางกับดัก’ ให้มีการสืบทอดอำนาจอย่างต่อเนื่อง เราจึงสนับสนุนการแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นรายมาตรา

ด้านนายชัยธวัชกล่าวว่า การที่ พล.อ.ประยุทธ์บอกว่าหากอยากยุติการสืบทอดอำนาจ ต้องแก้รัฐธรรมนูญให้ได้ รวมทั้งความพยายามของ ส.ว.ที่จะยื่นศาลรัฐธรรมนูญให้ตีความร่าง พ.ร.บ.ประชามติ นั้น ก่อนหน้านี้ผู้มีอำนาจก็ได้คว่ำร่างรัฐธรรมนูญไปแล้ว วันนี้ทำท่าจะขัดขวางการทำประชามติอีก ถือว่า ‘ลุแก่อำนาจ’ จะทำให้การเมืองเดินไปสู่ทางตัน

ทั้งหมดนี้สะท้อนภาพหนทางแก้รัฐธรรมนูญ ที่สุดท้ายจะจบแบบใดก็อยู่ภายใต้ ‘ระบอบ 3 ป.’ เพราะรัฐธรรมนูญ 2560 ร่างโดยคนกลุ่มใด

เพราะรัฐธรรมนูญฉบับนี้ดีไซน์มาเพื่อพวกเรา!