บิ๊กตู่เปิดเกมสู้ ‘โทนี่’ เดินหน้าแพ็กเกจกู้เศรษฐกิจ กดปุ่มซอฟต์โลนใหม่-โกดังพักหนี้ /ศัลยา ประชาชาติ

บทความพิเศษ

ศัลยา ประชาชาติ

 

บิ๊กตู่เปิดเกมสู้ ‘โทนี่’

เดินหน้าแพ็กเกจกู้เศรษฐกิจ

กดปุ่มซอฟต์โลนใหม่-โกดังพักหนี้

 

จังหวะการเคลื่อนของ “ทักษิณ ชินวัตร” อดีตนายกรัฐมนตรี โคจรวนเวียนอยู่ในสมรภูมิออนไลน์-ออฟไลน์ เพื่อแสดงวิสัยทัศน์การแก้ปัญหาปากท้องแบบมืออาชีพ คิดใหม่-ทำใหม่ ออกนอกกรอบรัฐสวัสดิการ ทะลวงไปถึงรากหญ้า

คลับเฮาส์ คือ “โลกใบที่สอง” ของ “โทนี่ ทักษิณ” ในการบริหารความนิยมทางการเมืองคู่ขนานกับเครือข่ายพรรคเพื่อไทย-กลุ่มแคร์ ทะลุถึงหู “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” และ “ทีมเศรษฐกิจ” จนนั่งไม่ติด-ก้นร้อน

“พล.อ.ประยุทธ์” จึงตั้งหน้าตั้งตาเดินหน้าทุกวาระเพื่อตอบโจทย์เศรษฐกิจบนหอตึกไทยคู่ฟ้า อันรายล้อมไปได้ด้วยทีมที่ปรึกษา-เสธ.ทหาร และเสนาธิการเศรษฐกิจ

นับจากนี้ “พล.อ.ประยุทธ์” จะอัดฉีดแพ็กเกจยาต้านพิษเศรษฐกิจชนิด “ประยุทธ์นิยม” แบบ non-stop เพื่อกระตุ้นการจับจ่าย-กอบกู้เศรษฐกิจ ตั้งแต่หัวเมืองหลัก-หัวเมืองรอง ขับเคลื่อนเศรษฐกิจยาวทั้งปี

ผ่านมาตรการเศรษฐกิจภาคต่อ – 4 ตอนรวด โดยมีเป้าหมายตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ในปี 2564 ทะยานขึ้นจากปากเหว เข้าสู่แดนบวก 4 เปอร์เซ็นต์

 

นับ 1 จากโครงการ “เราเที่ยวด้วยกันเฟสสาม” และโครงการ “ทัวร์เที่ยวไทย” ระยะเวลา 4 เดือน หรือตั้งแต่เดือนพฤษภาคม-สิงหาคม 2564 เพื่อบูตเศรษฐกิจ-เครื่องยนต์ท่องเที่ยวที่เหลืออยู่เพียงเทอร์โบเดียวให้กลับมาคึกคัก-มีชีวิตชีวา

สำหรับ “โครงการน้องใหม่” ทัวร์เที่ยวไทย จำนวน 1 ล้านสิทธิ์ ภายใต้กรอบวงเงิน 5,000 ล้านบาท รัฐบาลสนับสนุนค่าเดินทางของประชาชนในลักษณะร่วมจ่าย (Co-pay) ร้อยละ 40 ของค่าใช้จ่ายแพ็กเกจนำเที่ยว แต่ไม่เกิน 5,000 บาท

โดยการวางกลยุทธ์ให้เกิดการจับจ่ายใช้สอย-เดินทางท่องเที่ยวข้ามจังหวัด ในวันธรรมดา (วันอาทิตย์-วันพฤหัสบดี) ไม่ต่ำกว่า 3 วัน 2 คืน หรือ 12,500 บาทต่อโปรแกรม จำกัด 1,000 รายต่อ 1 บริษัททัวร์

ปิดจุดบอด-มุมอับโครงการด้วยการชำระเงินผ่านแอพพลิเคชั่น “เป๋าตัง” กับ “ถุงเงิน” เท่านั้น โดยการสแกนบาร์โคด-ใบหน้า และบริษัททัวร์ต้องสแกนสถานที่เพื่อแสดงตัวตน-ยืนยันว่าจะไม่มี “ทัวร์ลม”

ขณะที่โครงการ “เราเที่ยวด้วยกันเฟสสาม” จำนวน 2 ล้านสิทธิ์ กรอบวงเงินคงเหลือจากเฟสสอง วงเงิน 5,700 ล้านบาท หลังจากชักเข้า-ชักออก พะวงหน้า-พะวงหลัง เพราะมีชนักปักหลังการทุจริตโครงการ กลายเป็น “ของแสลง” รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์

โครงการ “เราเที่ยวด้วยกันเฟสสาม” เวอร์ชั่น 2 จึงปิดรูรั่ว-เงินแผ่นดินไหลจากการทุจริต-แสวงหาประโยชน์โดยมิชอบ โดยผู้ประกอบการที่เคยเข้าร่วม “เราเที่ยวด้วยกันเฟสสอง” ต้องดำเนินการ “รีเซ็ต” เพื่อลงทะเบียนใหม่ในระบบอีกครั้ง

โดยการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) จะเข้าไปตรวจสอบและนำข้อมูลห้องพักที่จดทะเบียนไว้กับกระทรวงมหาดไทย เช่น จำนวนห้อง และช่วงราคาที่พักสูงสุด-ต่ำสุด โดยธนาคารกรุงไทยจะส่งข้อมูลให้กับ ททท.เพื่อตรวจสอบความผิดปกติ

ขณะที่ผู้ร่วมโครงการต้องจองห้องพักล่วงหน้า 7 วัน จากเดิมล่วงหน้า 3 วัน และเมื่อเข้าใช้จะมีการสแกนใบหน้า โดยจะมีข้อมูล GPS ติดตามด้วย

นอกจากการเพิ่มความรัดกุม-ปิดช่องโหว่การทุจริตจากนโยบายของรัฐแล้ว ยังปรับลดมูลค่า e-voucher เหลือ “ราคาเดียว” วงเงิน 600 บาท จากเดิม 900 บาท และต้องเป็นการท่องเที่ยวข้ามจังหวัดเท่านั้น

โดยปักไทม์ไลน์โครงการ “คนละครึ่งเฟสสาม” ไว้ในเดือนมิถุนายน 2564 หลังจากโครงการ “คนละครึ่งเฟสสอง” สิ้นสุดในเดือนมีนาคม 2564 และโครงการ “เราชนะ” สิ้นสุดเดือนพฤษภาคม 2564 ซึ่ง “พล.อ.ประยุทธ์” เห็นชอบให้ไปต่อ

 

เร็วๆ นี้ กระทรวงการคลังจะคลอดโครงการ “ช้อปดีมีคืนเฟสสอง” เพื่อดึง “เงินออม” ออกจากกระเป๋าเศรษฐี-ขาช้อป กำลังซื้อสูงให้ออกมาจับจ่ายใช้สอยเพิ่มมู้ดเศรษฐกิจกลับมามีเสน่ห์อีกครั้ง

หลังจาก “สุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์” รองนายกฯ-รมว.พลังงาน อ่านปรากฏการณ์เงินออม “ล้นบัญชี” จึงสั่งการให้กระทรวงการคลังออกแบบ คิดโมเดล ภายใต้คอนเซ็ปต์ “คนละเสี้ยว” เพื่อสร้างแรงจูงใจ

นอกจากนี้ รัฐบาลได้รื้อ-ร่างพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) การให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ผู้ประกอบธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 วงเงิน 3.5 แสนล้านบาท ปรับปรุงจาก “พ.ร.ก.ซอฟต์โลน 5 แสนล้าน”

เป็นการ “ชุบชีวิต” ธุรกิจ “เอสเอ็มอี” และธุรกิจขนาดใหญ่ให้ได้อานิสงส์ “เข้าถึง” สินเชื่อ “ซอฟต์โลน” ได้มากขึ้น เสริมสภาพคล่อง-ฟื้นฟูธุรกิจท่องเที่ยวในช่วงของการฟื้นตัวให้กลับมาเตรียมพร้อมรับกับการเปิดประเทศ ในเดือนตุลาคม 2564

โดยเฉพาะโรงแรมที่ถูก “กดราคาซื้อ-กดราคาขาย” ให้ต่ำกว่าศักยภาพธุรกิจ จาก “กลุ่มทุนหัวหมอ” ทั้งในประเทศและต่างประเทศ เพื่อฉวยโอกาสในช่วงธุรกิจหลังพิงฝา สายป่านสั้น-หนี้ล้นมือ “ช้อนซื้อ” ทรัพย์สินดี “ซ้ำรอย” วิกฤตต้มยำกุ้ง

 

มาตรการที่ 1 สนับสนุนการให้สินเชื่อแก่ผู้ประกอบธุรกิจขนาดใหญ่และผู้ประกอบการธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (มาตรการสินเชื่อฟื้นฟู) วงเงิน 2.5 แสนล้านบาท คาดว่าจะสูญเสียรายได้ 2,475 ล้านบาท

โดยให้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ให้สถาบันการเงินกู้ยืมภายในวงเงินไม่เกิน 250,000 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 0.01 ต่อปี แห่งละไม่เกิน 500 ล้านบาท เพื่อนำไปปล่อยต่อกับ “ลูกหนี้เก่า” ไม่เกิน 150 ล้านบาท

รวมถึงธุรกิจที่ “ไม่มีวงเงินสินเชื่อ” กับสถาบันการเงินแห่งหนึ่งแห่งใด ณ วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2564 โดยวงเงินสินเชื่อต้องไม่เกิน 20 ล้านบาท

สถาบันการเงินคิดอัตราดอกเบี้ยเฉลี่ยตลอดอายุสัญญาเฉลี่ยไม่เกินร้อยละ 5 ต่อปี ในช่วงระยะเวลา 2 ปีแรกคิดอัตราดอกเบี้ยไม่เกินร้อยละ 2 ต่อปี โดยรัฐบาลจะรับภาระดอกเบี้ย-ปลอดดอกเบี้ย 6 เดือนแรก

บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) ค้ำประกันสินเชื่อ 10 ปี เรียกเก็บค่าธรรมเนียมเฉลี่ยไม่เกินร้อยละ 1.75 ต่อปีของวงเงินสินเชื่อ กระทรวงการคลังชดเชยค่าธรรมเนียมเฉลี่ยไม่เกินร้อยละ 3.5 ต่อปีของวงเงินสินเชื่อ

การชำระหนี้ตามภาระการค้ำประกันข้างต้นให้แก่สถาบันการเงินแต่และแห่งต้องไม่เกินร้อยละ 40 ของยอดค้ำประกันสินเชื่อที่ผู้ประกอบธุรกิจได้รับ และให้ลดค่าจดทะเบียนการจำนองอสังหาริมทรัพย์และอาคารชุดเหลือร้อยละ 0.01

 

มาตรการที่ 2 สนับสนุนการรับโอนทรัพย์สินหลักประกันเพื่อชำระหนี้โดยให้ผู้ประกอบการมีสิทธิ์ซื้อทรัพย์สินนั้นคืนในภายหลัง (มาตรการพักทรัพย์ พักหนี้) หรือ “โกดังพักหนี้” (asset warehousing) วงเงิน 1 แสนล้านบาท

“ลูกหนี้” จะเป็นผู้มี “สิทธิ์แรก” ในการ “ซื้อคืน” ทรัพย์สินในช่วง 5 ปี และสามารถเช่าจากเจ้าหนี้เพื่อดำเนินธุรกิจต่อไปได้และเมื่อเปิดประเทศสามารถซื้อทรัพย์สินคืนได้ในราคาตีโอนทรัพย์ครั้งแรก

นอกจากนี้ ยังยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา-ภาษีเงินได้นิติบุคคล ภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีธุรกิจเฉพาะและอากรแสตมป์สำหรับเงินได้ที่ได้จากการโอนทรัพย์สิน ลดค่าจดทะเบียนการจำนองอสังหาริมทรัพย์และห้องชุดเหลือร้อยละ 0.01

คาดว่าจะสูญเสียรายได้ภาษีประมาณ 12,000 ล้านบาท และรายได้ค่าธรรมเนียมประมาณ 3,727.50 ล้านบาท โดยการเช่าทรัพย์ที่ตีโอนของผู้ประกอบธุรกิจนับตั้งแต่วันที่ร่าง พ.ร.ก. มีผลบังคับใช้จนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2571

ทั้ง 2 มาตรการกำหนดระยะเวลาโครงการ 2 ปี และคณะรัฐมนตรีสามารถขยายระยะเวลาโครงการได้อีก 1 ปี และคาดว่าจะสามารถช่วยผู้ประกอบการธุรกิจภาคท่องเที่ยวได้ถึง 3.6 หมื่นบริษัท รักษาระดับการจ้างงานได้ไม่ต่ำกว่า 8.6 แสนคน

 

พล.อ.ประยุทธ์ในฐานะหัวหน้าทีมเศรษฐกิจ หมายมั่นปั้นมือให้มาตรการเศรษฐกิจ “ระบอบประยุทธ์นิยม” พลิกฟื้น-ฟื้นฟูเศรษฐกิจอย่างเป็นรูปธรรม

เม็ดเงินทุกบาททุกสตางค์ “ตกถึงมือ-ใส่กระเป๋า” รากหญ้าและคนตัวเล็ก-ชั้นผู้น้อย กู้หน้าหลังจากถูกหยามซึ่งหน้า-ข้ามโลกจาก “โทนี่-คลับเฮาส์”

จากนี้ถึงสิ้นปี คงเห็นมรรคผล-ฝีมือในโลกความเป็นจริง ของทีมประยุทธ์