เหตุกราดยิงสหรัฐ โศกนาฏกรรมที่ยากจะสิ้นสุด / บทความต่างประเทศ

เครดิตภาพ-AP

บทความต่างประเทศ

 

เหตุกราดยิงสหรัฐ

โศกนาฏกรรมที่ยากจะสิ้นสุด

 

เมื่อวันที่ 22 มีนาคมที่ผ่านมา เวลา 15.00 น. ตามเวลาสหรัฐ หรือช่วงเช้ามืดของวันที่ 23 มีนาคม ตามเวลาประเทศไทย

เกิดเหตุกราดยิงในสหรัฐอเมริกาขึ้นอีกครั้ง ที่ซูเปอร์มาร์เก็ต “คิงซูเปอร์ส” ในเมืองโบลเดอร์ รัฐโคโลราโด สหรัฐอเมริกา ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตจำนวนมากถึง 10 ราย

โศกนาฏกรรมดังกล่าวเกิดขึ้นในเวลาเพียงไม่ถึง 1 สัปดาห์ หลังจากเกิดเหตุกราดยิงสปา 3 แห่ง ในเมืองแอตลันต้า รัฐจอร์เจีย สหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ 16 มีนาคมที่ผ่านมานี้เอง โดยเหตุดังกล่าวมีผู้เสียชีวิตถึง 8 ราย ครั้งนั้นผู้ก่อเหตุเป็นชายวัย 21 ปีเท่านั้น

เหตุกราดยิงซูเปอร์มาร์เก็ตในเมืองโบลเดอร์ สะท้อนให้เห็นว่าปัญหาความรุนแรงจากอาวุธปืนในสหรัฐอเมริกา ที่จะยังไม่สิ้นสุดลงในเร็วๆ นี้

โดยหากนับเฉพาะปี 2021 ใน 3 เดือนแรกของปีนี้ เกิดเหตุกราดยิงไปแล้ว 107 ครั้ง มีผู้เสียชีวิตไปแล้ว 122 ราย และมีผู้ได้รับบาดเจ็บไปแล้ว 325 ราย

หากเทียบเดือนต่อเดือนกับปี 2020 แล้ว จำนวนเหตุกราดยิงและผู้เสียชีวิตนั้นเพิ่มสูงขึ้นทุกเดือน ขณะที่ปี 2020 เองจำนวนเหตุกราดยิงเพิ่มขึ้นจากปี 2019 ถึงกว่า 100 เหตุการณ์

 

ในสหรัฐอเริกานั้น เหตุกราดยิง หรือ Mass Shooting นั้นยังไม่ได้ถูกตีความตรงกันเท่าไรนัก แต่โดยรวมแล้ว ส่วนใหญ่ระบุตรงกันว่าต้องเป็นเหตุที่มีผู้เสียชีวิต 4 คนขึ้นไป เกิดในที่สาธารณะในเวลาไล่เลี่ยกันในสถานที่เดียวกัน โดยไม่นับรวมเหตุจากแก๊งอาชญากรรม หรือสงครามยาเสพติด

เหตุกราดยิงที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นในสหรัฐอเมริกาถูกวิเคราะห์ถึงสาเหตุอุบัติการณ์ดังกล่าวที่แตกต่างกันออกไป

มหาวิทยาลัยแอริโซนาสเตต เคยทำการวิจัยเอาไว้เมื่อหลายปีก่อน นำข้อมูลเหตุการณ์กราดยิงที่มีผู้เสียชีวิตจำนวนมากในสหรัฐอเมริกามาวิเคราะห์และพบว่า เหตุการณ์ดังกล่าวมีลักษณะที่สามารถ “แพร่ระบาดได้” ในแบบเดียวกันกับโรคระบาด

งานวิจัยดังกล่าวพบว่าผู้ก่อเหตุกราดยิงจำนวนหนึ่งที่ค้นคว้าหาข้อมูลจากเหตุกราดยิงที่เกิดขึ้นก่อนหน้า มีการส่งสัญญาณ เช่น การโพสต์ชื่นชมผู้ก่อเหตุ หรืออาจมีข้อมูลบางอย่างที่เชื่อมโยงได้กับผู้ก่อเหตุก่อนหน้า ขณะที่การรายงานข่าวเกี่ยวกับเหตุกราดยิงก็มีผลกระตุ้นให้ผู้ก่อเหตุก่อการตามได้ด้วยเช่นกัน

นอกจากนี้ ผลวิจัยยังพบด้วยว่า การแพร่ระบาดของการกราดยิงนั้น “เกิดขึ้นต่อเนื่องตามกัน” ในลักษณะเดียวกันกับการฆ่าตัวตายในกลุ่มเยาวชน

โดยช่วงเวลาที่อาจเกิดเหตุสังหารหมู่หรือกราดยิงขึ้นซ้ำนั้น มีโอกาสสูงสุดหลังเหตุการณ์แรกถูกเผยแพร่ผ่านสื่อ “สองสัปดาห์”

 

อีกหนึ่งสิ่งมีความเชื่อมโยงกับเหตุกราดยิงที่เพิ่มสูงขึ้นก็คือ “การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19” ที่เริ่มต้นตั้งแต่ต้นปี 2020 โดยข้อมูลจาก Gun Violence Archive พบว่าเหตุกราดยิงและความรุนแรงที่เกิดจากอาวุธปืนในสหรัฐอเมริกาเพิ่มสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญในปี 2020 เทียบกับปี 2019 โดยเฉพาะในช่วงเดือนเมษายน และพฤษภาคม ที่มีเหตุรุนแรงเพิ่มขึ้นถึง 16 เปอร์เซ็นต์ แม้ว่าในช่วงเวลาดังกล่าวรัฐบาลจะประกาศล็อกดาวน์เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 ก็ตาม

นักวิเคราะห์มองว่า ช่วงเวลานี้ประชาชนกำลังเกิดความกังวลว่าหน่วยงานบังคับใช้กฎหมายและระบบยุติธรรมนั้นจะไม่สามารถแก้ไขปัญหาความรุนแรงที่เพิ่มขึ้นได้

ขณะที่การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้จำนวนเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ทำหน้าที่ลดจำนวนลง พร้อมๆ กับเกิดการประท้วงขึ้นต่อเนื่อง

บวกกับเหตุการณ์รุนแรงที่เกิดขึ้นเป็นระลอกส่งผลให้ยอดขายปืนในสหรัฐอเมริกาพุ่งสูงขึ้นเป็นเงาตามตัว แม้ว่าจะมีกฎหมายในการตรวจสอบภูมิหลังของผู้ซื้อที่เข้มข้นมากขึ้นก็ตาม

นอกจากตลาดปืนถูกกฎหมายแล้ว ตลาดการซื้อ-ขายปืนผิดกฎหมายของขยายตัวขึ้นเป็นเงาตามตัว

โดยผู้เชี่ยวชาญระบุว่าเด็กอเมริกันในวัย 14-15 ปีที่จะหาปืนมาพกสักกระบอกนั้นไม่ใช่เรื่องยากอีกต่อไป

 

นับจนถึงเดือนสิงหาคมปี 2020 ยอดขายปืนในสหรัฐอเมริกาพุ่งสูงขึ้นเหนือค่าเฉลี่ยถึง 60 เปอร์เซ็นต์ หลายๆ รัฐยอดขายปืนเพิ่มสูงขึ้นอย่างมากในช่วงเวลาแพร่ระบาดของโควิด-19 เช่น ในดี.ซี. และมิชิแกน มียอดขายปืนพุ่งสูงขึ้นถึง 449 และ 200 เปอร์เซ็นต์ ตามลำดับ

อย่างไรก็ตาม แม้จำนวนปืนที่หมุนเวียนอยู่ในมือประชาชนจำนวนมากจะมีความสัมพันธ์กับเหตุกราดยิงที่เพิ่มขึ้น แต่นั่นก็ไม่ใช่คำตอบทั้งหมด เมื่อหลายๆ ประเทศที่มีอัตราการครอบครองปืนในระดับเดียวกับสหรัฐก็ยังมีเหตุกราดยิงที่น้อยกว่าอย่างมีนัยสำคัญ นั่นจึงเป็นเหตุผลว่าอาจมีเหตุผลอื่นๆ โดยเฉพาะด้านวัฒนธรรมเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย

หากมองให้ลึกลงไป เหตุกราดยิงในสหรัฐนั้นไม่ได้มีรูปแบบและเหตุผลที่เป็นเนื้อเดียวกันนัก

ยกตัวอย่างเช่น เหตุกราดยิงในโรงเรียนนั้นแตกต่างจากเหตุที่เกิดขึ้นในที่ทำงานหรือที่สาธารณะ โดยผู้ก่อเหตุบางรายต้องการสร้างชื่อเสียงและเรียกร้องความสนใจ และมีแนวโน้มที่ต้องการสังหารเหยื่อให้ได้มากที่สุด เพื่อต้องการ “เป็นข่าว”

ขณะที่เหตุกราดยิงอื่นๆ เกิดขึ้นจาก “ความเกลียดชัง”, มีความเชื่อบางอย่างในแบบสุดโต่ง, มีปัญหาทางจิต ขณะที่บางรายมีภาวะหลงตัวเอง หรือมีบุคลิกภาพบกพร่อง จนหลงผิดคิดว่าการก่อเหตุจะแก้ปัญหาในชีวิตได้

ผู้เชี่ยวชาญมองว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในเวลานี้จะส่งผลให้มีเหตุกราดยิงเกิดขึ้นอีก และจะเกิดขึ้นโดยมีเป้าหมาย เหยื่อ และสถานที่ ซึ่งแตกต่างออกไปจากการกราดยิงในช่วงเวลาปกติ

 

และแน่นอนว่าเหตุกราดยิงครั้งล่าสุดในรัฐโคโลราโด รัฐที่เคยเกิดเหตุกราดยิงนองเลือดมาแล้วหลายครั้ง จะไม่ใช่เหตุการณ์สุดท้ายอย่างแน่นอน

อย่างไรก็ตาม อย่างน้อยการฉีดวัคซีนโควิด-19 ที่เริ่มขึ้นแล้วอาจเป็นแสงสว่างให้กับสังคมอเมริกันในการนำสหรัฐอเมริกากลับสู่สภาวะปกติ

ที่อาจทำให้แนวโน้มเหตุรุนแรงจากการกราดยิงลดน้อยลงก็เป็นได้