ต่างประเทศ : จาก “วอเตอร์เกต” สู่ “โคมีย์” เค้าลางหายนะทางการเมืองของ “ทรัมป์”

“เจมส์ โคมีย์” อดีตผู้อำนวยการสำนักงานสอบสวนกลางสหรัฐ (เอฟบีไอ) ซึ่งได้รับการแต่งตั้งโดย บารัค โอบามา อดีตประธานาธิบดีสหรัฐเมื่อปี 2556 เคยถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักจากการ “แถลง” เปิดการสอบสวน นางฮิลลารี คลินตัน ตัวแทนพรรคเดโมแครตผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐ กรณีการใช้บัญชีอีเมลส่วนตัวขณะดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีต่างประเทศ ก่อนหน้าวันลงคะแนนเสียงเพียงไม่กี่วัน จนเป็นเหตุให้ “โดนัลด์ ทรัมป์” ผู้สมัครคู่แข่งนำประเด็นดังกล่าวมาหาเสียงโจมตี และคว้าชัยในการเลือกตั้งไปในที่สุด

ทว่า เวลานี้เก้าอี้ของ “ประธานาธิบดีทรัมป์” อาจไม่มั่นคงอีกต่อไป

เมื่อคำให้การต่อสภาคองเกรสของ “โคมีย์” อดีต ผอ.เอฟบีไอ ที่ถูกทรัมป์ปลดออกจากตำแหน่งเมื่อเดือนก่อน อาจนำไปสู่การถอดถอนทรัมป์ออกจากตำแหน่งได้

ในข้อหา “ขัดขวางกระบวนการยุติธรรม”

 

ข้อกล่าวหา “ขัดขวางกระบวนการยุติธรรม” โดยประธานาธิบดีเคยเกิดขึ้นแล้วในยุคประธานาธิบดี ริชาร์ด นิกสัน ซึ่งก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งในช่วงทศวรรษที่ 70

ภาพประธานาธิบดีที่เคยทำประโยชน์ให้กับสหรัฐ ไม่ว่าจะเป็นการถอนทหารออกจากเวียดนาม การสิ้นสุดสงครามเย็นกับโซเวียต รวมถึงเปิดความสัมพันธ์กับประเทศคอมมิวนิสต์อย่างจีน ถูกทำลายลงด้วยข้อกล่าวหาที่ว่านี้

หลักฐานเทปบันทึกเสียงใน “ห้องรูปไข่” ทำเนียบขาว กลายเป็นหลักฐานชิ้นสำคัญที่แสดงให้เห็นว่า “นิกสัน” พยายาม “ขัดขวางการสืบสวนสอบสวนของเอฟบีไอ” ในคดีที่มีผู้ต้องสงสัยบุกลอบขโมยข้อมูลการเลือกตั้งในที่ทำการพรรคเดโมแครต ที่โรงแรมวอเตอร์เกต ที่มาของ “คดีวอเตอร์เกต” อันโด่งดัง

คดีซึ่งทำให้นิกสันต้องกลายเป็นประธานาธิบดีสหรัฐคนแรกในประวัติศาสตร์ที่ต้องลาออกจากตำแหน่ง พร้อมด้วยตราบาปในฐานะประธานาธิบดีที่ใช้อำนาจในทางที่ผิด ขโมยข้อมูลคู่แข่งให้ได้มาซึ่งชัยชนะในการเลือกตั้งวาระที่ 2

ขณะที่ผู้ร่วมขบวนการกว่า 40 คนถูกตัดสินจำคุก

 

ผ่านไปเกือบ 50 ปี การเผชิญหน้าระหว่างเอฟบีไอและทำเนียบขาวเกิดขึ้นอีกครั้ง ภายใต้การนำของประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ พร้อมกับข้อกล่าวหาที่ระบุว่ารัสเซียอาจมีส่วนก้าวก่ายการเลือกตั้งสหรัฐเมื่อปี 2016

“14 กุมภาพันธ์” หลังทรัมป์รับตำแหน่งได้เพียง 3 สัปดาห์ “ไมเคิล ฟลินน์” ที่ปรึกษาด้านความมั่นคงแห่งชาติของสหรัฐที่เพิ่งรับตำแหน่งได้เพียง 23 วันประกาศลาออก

หลังมีการเปิดเผยว่า ฟลินน์ได้ร่วมหารือกับเอกอัครราชทูตรัสเซียเรื่องการยกเลิกการคว่ำบาตรที่สหรัฐประกาศในยุคประธานาธิบดี บารัค โอบามา ก่อนหน้าทรัมป์เข้ารับตำแหน่งก่อนหน้าทรัมป์เข้ารับตำแหน่ง

และหลังจากนั้นไม่นาน “ฟลินน์” ก็ต้องถูกสอบสวนโดยเอฟบีไอในเรื่องดังกล่าว

การลาออกดังกล่าวทำให้ฟลินน์กลายเป็นเจ้าหน้าที่ระดับสูงในฝ่ายบริหารของรัฐบาลสหรัฐที่ดำรงตำแหน่งสั้นที่สุดในประวัติศาสตร์การเมืองสมัยใหม่

“20 มีนาคม” เจมส์ โคมีย์ ผอ.เอฟบีไอในเวลานั้น ประกาศเป็นครั้งแรกว่าเอฟบีไอกำลังสอบสวนกรณีรัสเซียแทรกแซงการเลือกตั้งสหรัฐอเมริกา ด้วยการหาความเชื่อมโยงระหว่างบุคคลต่างๆ ในคณะกรรมการรณรงค์หาเสียงของทรัมป์กับรัสเซีย

 

ผ่านไปอีก 1 เดือนกว่าๆ ในวันที่ “9 พฤษภาคม” ประธานาธิบดีทรัมป์ประกาศ “ปลด” นายโคมีย์ ออกจากตำแหน่ง ผอ.เอฟบีไอ

อ้างว่าเป็นไปตามคำแนะนำของ “รัฐมนตรี” และ “รัฐมนตรีช่วยยุติธรรม” ของสหรัฐ

พร้อมประกาศเริ่มต้นศักราชใหม่ขององค์กรซึ่งเป็นดั่งเพชรยอดมงกุฎของหน่วยงานบังคับใช้กฎหมายของสหรัฐ

ต่อมา วุฒิสภาสหรัฐยืนยันจะยังคงเดินหน้าสอบสวนข้อกล่าวหาที่ว่าทางการรัสเซียได้เข้าแทรกแซงการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐ แม้โคมีย์จะถูกปลดจากตำแหน่ง

ขณะที่กระทรวงยุติธรรมสหรัฐประกาศแต่งตั้งนาย “โรเบิร์ต มุลเลอร์” อดีต ผอ.เอฟบีไอให้ดำรงตำแหน่งที่ปรึกษาพิเศษในการควบคุมดูแลการสืบสวนเกี่ยวกับข้อกล่าวหาที่รัสเซียได้แทรกแซงการเลือกตั้งของสหรัฐ

การปลดโคมีย์ออกจากตำแหน่ง ส่งผลให้สภาคองเกรสสหรัฐต้องเปิดให้มีการไต่สวนถึงพฤติการณ์ที่อาจเป็นการขัดขวางกระบวนการยุติธรรมโดยประธานาธิบดี

และเมื่อวันที่ 8 มิถุนายนที่ผ่านมา โคมีย์ก็ได้เข้าให้ปากคำกับสภาคองเกรสถึงบทสนทนากับทรัมป์หลายครั้งที่อาจตีความได้ว่าเป็นความพยายามในการ “ขัดขวางกระบวนการยุติธรรม”

 

การไต่สวนที่มีผู้ชมถ่ายทอดสดมากถึง 19 ล้านคน ไม่นับรวมผู้ชมสดผ่านอินเตอร์เน็ต กินเวลา 3 ชั่วโมง

โดยโคมีย์เปิดเผยว่าตนรู้สึกตกตะลึงกับพฤติกรรมที่ “น่ากังวล” ของนายทรัมป์ในการพบปะกันเป็นการส่วนตัวหลายครั้ง

พร้อมระบุว่า เขาต้องพยายามระมัดระวังอย่างมาก เนื่องจากเกรงว่านายทรัมป์อาจโกหกเกี่ยวกับการพบปะกันที่ไม่ปกติหลายๆ ครั้งที่เกิดขึ้น

นั่นส่งผลให้ “โคมีย์” ได้ทำบันทึกความจำเกี่ยวกับการสนทนาระหว่างโคมีย์กับทรัมป์เอาไว้หลายเหตุการณ์

หนึ่งในนั้นคือ การที่ทรัมป์ถามหา “ความจงรักภักดี” จากตน และขอให้เลิกยุ่งกับ นายไมค์ ฟลินน์ อดีตที่ปรึกษาด้านความมั่นคงแห่งชาติ คนสนิทของทรัมป์ ที่อยู่ระหว่างการถูกสอบสวนความผิดคดีอาญาเรื่องความเกี่ยวข้องกับรัสเซีย โดยทรัมป์ระบุว่าให้ “ปล่อยเขาไป”

โคมีย์ระบุด้วยว่า พฤติกรรมของทรัมป์เข้าข่ายที่จะเป็นคดีอาญา ในฐานะขัดขวางการสืบสวนของเอฟบีไอด้วย

แม้หลักฐานต่างๆ อาจตีความได้ว่าทรัมป์ขัดขวางกระบวนการยุติธรรม และสามารถเข้าสู่กระบวนการถอดถอนได้ แต่นักวิเคราะห์การเมืองสหรัฐกลับมองว่าเป็นเรื่องที่ยากจนถึงขั้นเป็นไปไม่ได้ ที่สภาผู้แทนราษฎรสหรัฐที่พรรครีพับลิกันครองเสียงข้างมากอยู่จะเริ่มต้นกระบวนการถอดถอนขึ้น

อย่างไรก็ตาม การตัดสินใจจะตกไปอยู่ในมือของประชาชนในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่จะมีขึ้นในเดือนพฤศจิกายนปี 2018

และหากพรรคเดโมแครตสามารถครองเสียงข้างมากในสภาล่างได้ วาระแรกของการเปิดประชุมสภาในเดือนมกราคม 2019 ก็จะเป็นวาระเพื่อเริ่มต้นกระบวนการถอดถอนประธานาธิบดีทรัมป์อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้