หนุ่มเมืองจันท์ : อย่าคิดมาก

หนุ่มเมืองจันท์facebook.com/boycitychanFC
สมยศ เชาวลิต กรรมการผู้จัดการ บริษัท เจ.ไอ.บี.คอมพิวเตอร์ กรุ๊ป

ผมเป็น “คนรุ่นเก่า” ที่คุ้นเคยกับสิ่งพิมพ์มายาวนาน

ตอนที่ต้องมารับผิดชอบ “มติชนออนไลน์” เมื่อหลายปีก่อน ผมจะค่อนข้างงง-งงกับสื่อออนไลน์

โชคดีที่มี “ยอด” ปราบต์ บุนปาน “คนรุ่นใหม่” ที่คุ้นเคยกับโลกออนไลน์ช่วยประคับประคอง

ค่อยๆ เรียนรู้จนเริ่มเข้าใจธรรมชาติสื่อใหม่

เรื่องหนึ่งที่จำได้แม่นยำ คือ โลกของสื่อสิ่งพิมพ์ ข่าวหรือสกู๊ปเรื่องไหนที่ลงตีพิมพ์ไปแล้วจะเป็น “ข่าวเก่า”

เราจะไม่ลงซ้ำเป็นอันขาด

แต่ในโลกออนไลน์ไม่ใช่ครับ

เราสามารถลงซ้ำได้

ตอนที่ “ยอด” เอาสกู๊ปข่าวที่ลงตอนเช้ามาเวียนลงตอนดึกอีกครั้ง ผมก็สงสัยว่าทำไมลงซ้ำ

คนอ่านจะไม่งงหรือว่าทำไมลงข่าวเดิมซ้ำอีก

คำตอบก็คือ ไม่มีใครเปิดเว็บไซต์ของเราดูตลอดเวลา

คนทั่วไปเขาอาจเปิดดูเพียงแค่วันละครั้ง หรือ 2-3 ครั้ง

ยิ่งถ้าโพสต์ลงในเฟซบุ๊กยิ่งแล้วใหญ่ เพราะคนจะไม่ได้เปิดดูเว็บไซต์ แต่จะเห็นข่าวจากเฟซบุ๊กแล้วคลิกเข้าไปดูข่าวในเว็บ

แสดงว่าจะมีคนจำนวนมากไม่เห็นข่าวที่เราโพสต์

ดังนั้น การลงข่าวที่มีคนอ่านมากๆ ซ้ำอีกครั้งจะเรียกยอดคลิกได้เยอะทีเดียว

บทเรียนหนึ่งที่เรียนรู้ก็คือ ต้องคิดแบบ “คนอ่าน”

อย่าคิดแบบ “คนทำ”

พฤติกรรมของ “คนทำ” กับ “คนอ่าน” นั้นแตกต่างกัน

“คนทำ” จะเปิดจอดูซ้ำแล้วซ้ำอีก

ดูจนจำได้ว่าข่าวไหนลงแล้ว ข่าวไหนยังไม่ลง

แต่ “คนอ่าน” ไม่ใช่

บทเรียนที่สอง ก็คือ โลกออนไลน์ไม่มี “หลับ”

ทุกช่วงเวลามีคนที่ “ตื่น” อยู่

ถ้าคิดแบบคนทำงานทั่วไป เรามักคิดว่าช่วงตีสอง-ตีสามจะไม่มีคนอ่านข่าว

ทุกคนต้องนอนกันหมดแล้ว

แต่ในโลกออนไลน์ ทุกช่วงเวลามีคนติดตามข่าวอยู่

ตั้งเวลาลงข่าวล่วงหน้าไว้ดึกแค่ไหนก็มีคนอ่าน

ถ้าคิดแบบ “คนทำ” ที่นอนก่อนเที่ยงคืน

เราคงไม่ลงข่าวตอนตีสอง ตีสาม

แต่เพราะโลกออนไลน์มีคนตื่นอยู่เสมอ

ผมนึกถึง “จิ๊บ” สมยศ เชาวลิต ของ J.I.B.computer ตอนที่เขาตัดสินใจขายคอมพิวเตอร์ทางออนไลน์

“จิ๊บ” ลองขายเล่นๆ ผ่านเว็บไซต์ J.I.B.

ไม่ได้หวังผลอะไรมากมาย

ผ่านไปแค่สัปดาห์เดียว เขาบอกผมว่ายอดขายเกินความคาดหมาย

ประเด็นที่เขาตื่นตาตื่นใจมากก็คือ “ตอนตีสามยังมีคนสั่งซื้อเลย”

โลกออนไลน์ไม่มี “กลางคืน” ครับ

ขายของในห้างยังมีเวลาเปิด-ปิด

แต่ขายของในออนไลน์

เปิด 24 ชั่วโมงครับ

วันนี้รายได้จากช่องทางออนไลน์ของ “จิ๊บ” สูงมาก

มีอัตราการเติบโตแบบก้าวกระโดด

จากขายเล่นๆ ตอนนี้ “จิ๊บ” เอาจริงเอาจังมาก

เห็นตัวเลขแล้วตกใจ

เขาสร้างระบบการส่งสินค้าใหม่ สั่งตอนนี้ อีก 6 ชั่วโมงสินค้าถึงบ้าน

สนุกสนานมาก

 

อีกเรื่องหนึ่งที่น่าสนใจก็คือ โลกออนไลน์ “ต้นทุน” ต่ำ

เราสามารถทดลองอะไรก็ได้

ตามปกติของการทำสื่อสิ่งพิมพ์ เราจะไม่ค่อยกล้าทดลองอะไรใหม่ๆ

จะทำอะไรต้องคิดแล้วคิดอีก

เสียเวลาการประชุมนานมาก

เพราะถ้าพลาดแล้วเปลี่ยนแปลงยาก

ที่สำคัญคือต้นทุนการพิมพ์สูง

ต้องคิดอย่างละเอียดก่อนตัดสินใจ

แต่โลกออนไลน์ต้องคิดอีกแบบหนึ่งครับ

เพราะต้นทุนการทดลองต่ำมาก

หรือไม่มีเลย

ดังนั้น อย่าเสียเวลากับการประชุมมากเกินไป

ลงมือทำเลยดีกว่า

อย่าลืมว่า “ข้อมูล” ที่เราเถียงกันในที่ประชุมเป็นข้อมูล “จินตนาการ”

เราคาดหมายเองว่าน่าจะเป็นอย่างนั้น

น่าจะเป็นอย่างนี้

แต่ถ้าเราตัดสินใจลงมือทำเลย

ผลที่ออกมาจะเป็น “ข้อมูลจริง”

เพราะโลกออนไลน์วัดผลได้ทันที

“ใช่” หรือ “ไม่ใช่”

รู้เลย ไม่ต้องเถียงกัน

ถ้า “ใช่” ก็เดินหน้าต่อ

หาก “ไม่ใช่” ก็หยุด

ผมชอบวิธีคิดแบบนี้มาก

จำได้ว่า “เอก” บิวตี้เจมส์ เคยเล่าว่าครั้งหนึ่งเขาเคยประชุมกันว่าจะบุกตลาดเมืองจีนดีไหม

ประชุมกันหลายครั้งก็หาข้อยุติไม่ได้

เต็มไปด้วยข้อมูล “จินตนาการ”

ในที่สุด เขาตัดสินใจส่งทีมงาน 2 คนไปเปิดบู๊ธขายที่เมืองจีน

กลับมา ข้อมูลเพียบเลย

และส่วนใหญ่เป็นข้อมูลที่นึกไม่ถึง

“เอก” บอกว่าเป็นการลงทุนที่คุ้มค่ามาก

“เวลา” มี “ราคา” ครับ

“ลงมือทำ” สำคัญกว่า “ประชุม”

“สตาร์ตอัพ” ก็มี “วิธีคิด” หนึ่งที่น่าสนใจ

FAIL FAST

ล้มเหลวให้เร็ว

กล้าเสี่ยง กล้าทำ

มุมคิดต่อ “ความล้มเหลว” ของเขาไม่เหมือนคนรุ่นก่อน

เขากล้าล้ม

“คนรุ่นใหม่” ถือว่ายิ่งพลาดเร็วเท่าไร ยิ่งได้เรียนรู้เร็วเท่านั้น

ที่สำคัญต้อง “ล้มไปข้างหน้า”

อย่า “ล้มไปข้างหลัง”

หมายความว่าถ้าจะ “ล้ม” ทั้งที

เราต้องเรียนรู้จาก “ความล้มเหลว”

การเรียนรู้ “ความล้มเหลว” คือ การ “ล้ม” ไป “ข้างหน้า”

เพราะเมื่อล้มไปข้างหน้า 1 เมตร

เมื่อลุกขึ้นใหม่เราจะได้ระยะทางของการเริ่มต้นไกลกว่าเดิม 1 เมตร

ไม่ได้อยู่ ณ จุดเดิม