อุบัติเหตุทำ กม.ประชามติสะดุด ส.ว.ตั้งแทนส่งศาล รธน.ตีความ เนติบรกรเปิดทางออก-ห้ามคว่ำ / บทความในประเทศ

บทความในประเทศ

 

อุบัติเหตุทำ กม.ประชามติสะดุด

ส.ว.ตั้งแทนส่งศาล รธน.ตีความ

เนติบรกรเปิดทางออก-ห้ามคว่ำ

 

รัฐสภาพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ พ.ศ. … ที่คณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาแล้วเสร็จ โดยเป็นการพิจารณาในวาระสอง เรียงตามลำดับมาตรา มีทั้งหมด 67 มาตรา เมื่อวันที่ 18 มีนาคมที่ผ่านมา แต่ก็ต้องสะดุด ทั้งที่เดิมตั้งเป้าจะให้จบวาระสามในวันเดียวกัน

เหตุที่ต้องสะดุดเพราะอุบัติเหตุในการพิจารณามาตราที่ 9 เกี่ยวกับให้คณะกรรมการมีหน้าที่และอำนาจจัดและควบคุมดูแลการออกเสียง ให้เป็นไปโดยสุจริตเที่ยงธรรม เสรี เสมอภาค และชอบด้วยกฎหมาย แต่เมื่อมีการลงมติ โดยที่ประชุมลงมติเห็นด้วยให้มีการแก้ไข 534 ต่อ 3 งดออกเสียง 1 ไม่ลงคะแนน 2 ในขณะที่ที่ประชุมมีมติเสียงข้างมาก เห็นชอบให้มีการแก้ไขตามกรรมาธิการเสียงข้างน้อยเห็นด้วย 273 ไม่เห็นด้วย 267 งดออกเสียง 1 ตามที่นายชูศักดิ์ ศิรินิล เสนอ

โดยเนื้อหาสาระคือ กำหนด 5 เงื่อนไขต่อการทำประชามติ ได้แก่

1. การออกเสียงที่เกี่ยวกับการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญตามที่มีบทบัญญัติกำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ

2. การออกเสียงกรณีเมื่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นว่ามีเหตุอันสมควร

3. การออกเสียงตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องมีการออกเสียง

4. การออกเสียงในกรณีที่รัฐสภาได้พิจารณาและมีมติเห็นว่าเป็นเรื่องที่มีเหตุสมควรที่จะให้มีการออกเสียงและได้ชี้แจงเรื่องให้ ครม.ดำเนินการ

และ 5. การออกเสียงกรณีประชาชนเข้าชื่อเสนอต่อ ครม. เพื่อให้ความเห็นชอบการออกเสียง ตามหลักเกณฑ์ และวิธีการที่คณะกรรมการกำหนด

นอกจากนั้น ได้กำหนดรายละเอียดด้วยว่า ห้ามออกเสียงประชามติเรื่องที่ผลกระทบต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชนที่รัฐธรรมนูญได้รับรองไว้

เป็นการเพิ่มเนื้อหาให้ประชาชนมีสิทธิเข้าชื่อเสนอทำประชามติโดยผ่าน ครม.

 

งานนี้เล่นเอาเหวอกันทั้งรัฐสภา ทำให้ นพ.เจตน์ ศิรธรานนท์ ส.ว. ขอใช้สิทธินับคะแนนใหม่ ด้วยการขานคะแนน เพราะมีคะแนนต่างกันเพียงแค่ 6 คะแนน ทำให้ฝ่ายค้านประท้วงทันทีเพราะการโหวตจบไปแล้ว และเข้าสู่มาตรา 10 แล้ว ไม่สามารถนับคะแนนใหม่ได้

สุดท้ายจากการพักการประชุม ก็ต้องมาสู่การปิดประชุม เพราะหากยืนตามมาตรา 9 ที่มีการแก้ไขตามเสียงข้างมากของที่ประชุม จะต้องมีการแก้ไขในอีกหลายมาตราที่เกี่ยวข้อง นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย ประธาน กมธ. จึงขอกลับไปแก้ไขให้สอดคล้องกัน อย่างน้อย 4 มาตรา คือ มาตรา 10 มาตรา 11 มาตรา 14 และมาตรา 15 และทางคณะกรรมการกฤษฎีกาขออนุญาตกลับไปทบทวนยกร่างตามกระบวนการของกฤษฎีกา

ฝ่ายค้านยอมให้ปิดประชุมภายใต้เงื่อนไขการเปิดประชุมวิสามัญครั้งใหม่ จะต้องเริ่มต้นด้วยการพิจารณาในมาตรา 10 ต่อทันที

 

งานนี้ทำให้มีการตั้งข้อสงสัยว่าเป็นการ “จกตากัน” หรือไม่ เพราะอุบัติเหตุครั้งนี้ทำให้กฎหมายประชามติต้องเลื่อนออกไป ทั้งที่รัฐธรรมนูญก็เพิ่งจะแท้ง เพราะถูกโหวตคว่ำในวาระสาม ภายใต้คำวินิฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ให้ทำประชามติก่อนและหลังแก้รัฐธรรมนูญทั้งฉบับ

ดังนั้น ตราบใดที่ยังไม่มีกฎหมายประชามติใช้ การแก้รัฐธรรมนูญก็ยากที่จะต้องแก้ไข้ได้

ไม่ผิดจากที่คาดไว้…!!

ผ่านไปยังไม่ถึง 1 สัปดาห์ ก๊วน ส.ว. นำโดยนายสมชาย แสวงการ นายคำนูณ สิทธิสมาน และนายวันชัย สอนศิริ ออกมาถือธงนำ ตั้งแท่นส่งศาลรัฐธรรมนูญตีความมาตรา 9 ที่มีการแก้ไขตามเสียงข้างน้อยนั่น เข้าข่ายขัดรัฐธรรมนูญมาตรา 166

โดยนายสมชาย แสวงการ กล่าวถึงการยื่นศาลรัฐธรรมนูญตีความมาตรา 9 ของร่าง พ.ร.บ.ประชามติ ว่า มันจะเริ่มเกิดปัญหาระหว่างฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติ หมายความว่าฝ่ายนิติบัญญัติสามารถมีมติสั่งให้ฝ่ายบริหารทำได้ นี่เป็นประเด็นที่ต้องพิจารณาว่าสามารถทำได้หรือไม่ แต่ถ้าประชาชนมีมติต้องทำตลอดทุกครั้ง ก็ยิ่งไปกันใหญ่ กำลังรอดูว่า ผลการแก้ไขเนื้อหามาตรา 9 ของ กมธ.วิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ประชามติ จะไปกระทบกับเนื้อหามาตราอื่นๆ เช่น มาตรา 10-11 และมาตราอื่นๆ ถ้าแก้แล้วมีเนื้อหาไม่ขัดรัฐธรรมนูญ ก็อาจไม่ต้องยื่นตีความ แต่ถ้าแก้แล้วมีเนื้อหาไปขัดต่อรัฐธรรมนูญ ก็จำเป็นต้องยื่นศาลรัฐธรรมนูญตีความร่าง พ.ร.บ.ประชามติ ดูแนวโน้มแล้วคิดว่าอาจขัดรัฐธรรมนูญ

ขณะที่นายคำนูณ สิทธิสมาน ระบุว่า การแก้ไขมาตรา 9 ร่าง พ.ร.บ.ประชามตินั้น สมาชิกรัฐสภาบางส่วนและรัฐบาลเห็นว่า มีความขัดหลักการตรวจสอบถ่วงดุลอำนาจและขัดแย้งกับรัฐธรรมนูญ มาตรา 166 แม้เนื้อความในมาตรา 166 ตอนท้ายเขียนว่าให้เป็นไปตามที่กฎหมายบัญญัติ แต่กฎหมายที่ออกมาควรทำหน้าที่เพียงขยายความ กำหนดขั้นตอนรายละเอียดในการปฏิบัติให้ชัดเจน ไม่ควรบัญญัติหลักการเกินกรอบรัฐธรรมนูญ กรณีนี้รัฐธรรมนูญกำหนดหลักการให้ ครม.มีอำนาจพิจารณาใช้ดุลพินิจตัดสินใจการจัดทำประชามติ แต่หากเนื้อหาที่แก้ไขไปบัญญัติให้รัฐสภาหรือประชาชนเข้าชื่อกันให้ ครม.จัดการออกเสียงประชามติได้ อาจเป็นบทบัญญัติที่ขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญได้

ด้านนายวันชัย สอนศิริ กล่าวว่า ในขณะนี้เป็นเพียงแค่ความเห็นของแต่ละฝ่าย ยังไม่ถึงขั้นที่จะยื่นตีความ ที่มีการแปรญัตติจะมีการขัดต่อรัฐธรรมนูญที่กำหนดไว้หรือไม่ ซึ่งหากผ่านวาระ 3 มาแล้วอาจจะมีคนยื่นศาลรัฐธรรมนูญไปเพื่อขอให้มีการตีความได้ว่าขัดหรือแย้งหรือไม่

แต่เมื่อถามถึงความเป็นเอกภาพของการทำหน้าที่รัฐสภาในการออกกฎหมาย แต่กลับต้องยืนถามศาลทุกครั้ง นายวันชัยกล่าวว่า ไม่ได้เกี่ยวกัน เพราะกฎหมายเขียนไว้แล้วว่ากฎหมายก่อนขึ้นทูลเกล้าฯ ก็เป็นสิ่งที่สมาชิกรัฐสภาที่มีความเห็นว่ากฎหมายนี้อาจจะขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ ก็มีสิทธิ์ที่จะเสนอไปยังศาลรัฐธรรมนูญได้ ซึ่งเป็นไปตามกลไกตามปกติอยู่แล้ว ไม่มีอะไรซับซ้อน

ทว่าการยื่นตีความ ตลอดจนการตีตกวาระสามร่าง พ.ร.บ.ประชามติ จะส่งผลกับรัฐบาลโดยตรงเพราะเป็นกฎหมายที่รัฐบาลเป็นผู้เสนอสู่รัฐสภา เรื่องนี้ร้ายแรงถึงการยุบสภา หรือการลาออกของนายกรัฐมนตรีเพื่อรับผิดชอบ

 

จะอย่างไรเสีย เรื่องดังกล่าว เนติบริกรอย่างนายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ ย่อมมีทางออกเสมอ

โดยการหารืออย่างเข้มข้นใน ครม. นายวิษณุเสนอให้ขอความร่วมมือให้พรรคการเมืองต่างๆ ให้ช่วยให้ความสำคัญ ขอให้ช่วยกัน กฎหมายประชามติเป็นกฎหมายสำคัญ ต้องผ่านให้ได้ ถ้าไม่ผ่าน พวกเราก็อยู่ไม่ได้ การคว่ำร่างกฎหมายประชามติไม่ควรทำแบบนั้น เพราะเป็นกฎหมายสำคัญของรัฐบาล อย่างไรต้องขับเคลื่อนให้ได้ ส่วนในมาตรา 9 ที่เสียงข้างมากแพ้ไป 6 เสียง อาจจะเป็นปัญหาได้

เนติบริกรยังให้ทางออกอันแยบยลอีกด้วยว่า หลังร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติประกาศใช้ รัฐบาลต้องเสนอร่างแก้ไข พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติทันทีภายใน 7-8 วัน…

สัญญาณชัดขนาดนี้ ส.ว.ที่เตรียมตั้งแท่นส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิฉัยมาตรา 9 คงต้องพับโครงการ เพราะถ้าร่าง พ.ร.บ.ประชามติสะดุด รัฐบาลก็สะดุด และทำให้สภาสะดุดตามไปด้วย

ดังนั้น คงไม่มีใครกล้าเสี่ยงจมรัฐนาวาของตัวเอง…