ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 26 มีนาคม - 1 เมษายน 2564 |
---|---|
คอลัมน์ | กาแฟดำ |
ผู้เขียน | สุทธิชัย หยุ่น |
เผยแพร่ |
กาแฟดำ
สุทธิชัย หยุ่น
หรือจีนกับมะกันต้อง
จับมือคลี่คลายวิกฤตพม่า?
ถ้าถามนักประวัติศาสตร์ชาวเมียนมาอย่าง Thant Myint-U ที่เขียนหนังสือเกี่ยวกับประวัติศาสตร์สมัยใหม่ของประเทศของเขาหลายเล่ม เขาจะมองความสัมพันธ์ระหว่างเมียนมากับจีนทั้งที่มีมิติอดีตและปัจจุบันได้น่าสนใจ
ถั่น มินห์ อู เป็นหลานชายของอดีตเลขาธิการสหประชาชาติ “อู ถั่น” และเคยทำงานที่เกี่ยวกับกิจกรรมสิทธิมนุษยชนและผู้ลี้ภัยที่สหประชาชาติมาก่อน
เขามองว่าความสัมพันธ์จีนกับเมียนมาที่ผ่านมามีความสลับซับซ้อนพอสมควร ไม่อาจจะมองจากด้านใดด้านหนึ่งเท่านั้นได้
ในช่วงต้นทศวรรษที่ 1950 หน่วยรบบางส่วนของก๊กหมินตั่งภายใต้การนำของเจียงไคเช็กเข้ามายึดพม่าด้านตะวันออกจากยูนนานทางใต้ของจีน…โดยมีสหรัฐหนุนหลัง
ความจริง การก่อเกิดของกองทัพเมียนมาก็มีสาเหตุมาจากการที่ต้องตั้งรับกับภัยคุกคามครั้งนั้น
และกว่าจะกำจัดอุปสรรคนั้นได้ก็ใช้เวลากว่า 10 ปี
ต่อมากองกำลังคอมมิวนิสต์ที่สนับสนุนโดยกองทัพปลดแอกของเหมาเจ๋อตุงก็รุกเข้าเมียนมาจากยูนนานเช่นกัน
ตอนนั้นเป้าหมายคือการตั้ง “เขตปลดปล่อย” ในหลายๆ ส่วนที่เป็นเมียนมา
พอมาถึงปี 1989 กลุ่มก่อการร้ายคอมมิวนิสต์แกนหลักมีอันต้องล่มสลายลง ทิ้งกลุ่มก้อนติดอาวุธไว้หลายก๊วน ซึ่งล้วนแล้วแต่มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับจีนคอมมิวนิสต์
แกนนำของกองกำลังติดอาวุธตรงชายแดนจีนกับเมียนมาเหล่านี้ล้วนมีเชื้อสายจีนหรือไม่ก็มีความคุ้นเคยกับจีน
อีกทั้งยังเป็นบริเวณที่มีการค้ายาเสพติด, กาสิโนและสถานบันเทิงที่มีลูกค้าส่วนใหญ่เป็นคนจีนอีกด้วย
จึงไม่ต้องแปลใจที่กองทัพเมียนมามีความระแวงคลางแคลงต่อชาติพันธุ์บางกลุ่มที่เชื่อกันว่าได้รับการสนับสนุนทางอาวุธและน้ำเลี้ยงทางการเงินจากรัฐบาลจีนทางอ้อมตลอดมา
ขณะเดียวกัน “รอยเท้า” ของจีนในเมียนมาก็ได้ขยายวงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญตลอดเกือบ 20 ปีที่ผ่านมา
เริ่มแรกรัฐบาลเมียนมาอาจจะมีความคลางแคลงเกี่ยวกับโครงการ One Belt One Road ของจีนเพราะไม่แน่ใจเกี่ยวกับเป้าประสงค์ที่แท้จริงของจีน
แต่กระนั้นธุรกิจระดับกลางและเล็กจากจีนก็ผุดขึ้นในเมียนมาอย่างต่อเนื่อง…รวมไปถึงการขยายตัวของการค้าชายแดนระหว่างสองประเทศ
จีนพยายามจะสร้างสัมพันธ์กับเมียนมาด้วยจุดประสงค์ที่ชัดเจนว่าต้องการจะให้แน่ใจเรื่องเสถียรภาพที่จะไม่คลอนแคลนจนมีผลกระทบต่อจีน
และปักกิ่งก็ไม่ต้องการเห็นเมียนมาไปจับมือด้านการทหารกับศัตรูของจีน
อีกทั้งจีนก็ต้องการจะสร้างความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจที่ลุ่มลึกกับเมียนมาเพื่อเป็นแหล่งวัตถุดิบ, การลงทุน และเส้นทางขนส่งสำหรับอุตสาหกรรมพลังงานของตน
แต่ขณะเดียวกันจีนก็ตระหนักว่าการที่จะรักษาสถานะของตนในเมียนมาได้นั้นจะต้องไม่ไปยืนอยู่คนละข้างกับ “มติมหาชน” ของประเทศนั้นๆ ด้วย
จีนได้บทเรียนเรื่อง “มติมหาชน” ของคนเมียนมากรณีโครงการเขื่อน “มยิตโซน” (Myitsone) มาแล้ว
เพราะเป็นโครงการที่อื้อฉาวอันเนื่องมาจากความไม่พอใจของคนเมียนมาที่เห็นว่ากองทัพในยุคสมัยหนึ่ง (ปี 2006) พร้อมจะให้จีนเข้ามาสร้างเขื่อนขนาดใหญ่ที่ทำลายทรัพยากรธรรมชาติมหาศาล
เป็นโครงการลงทุนขนาด 3.6 พันล้านเหรียญโดยที่ผู้นำกองทัพสมัยนั้นมุบมิบอนุมัติให้จีนผ่านบริษัท China Power Investment โดยมีจุดก่อสร้างตรงต้นน้ำอิรวดี โดยต้องอพยพคนเป็นหมื่นและต้องให้น้ำท่วมบริเวณที่กว้างใหญ่พอๆ กับสิงคโปร์ทั้งเกาะ
และเป้าหมายของการสร้างเขื่อนพลังน้ำนี้ก็เพื่อจะผลิตไฟฟ้าที่ 90% จะขายกลับไปให้จีน
พอนายพลเต็ง เส่ง ขึ้นเป็นประธานาธิบดี ด้วยนโยบายค่อนไปทางปฏิรูป และเริ่มจะฟังเสียงของประชาชนในเรื่องต่างๆ ก็ประเมินได้ทันทีว่าหากยังปล่อยให้โครงการเขื่อน Myitsone นี้เดินหน้าต่อก็จะต้องเผชิญกับเสียงต่อต้านคัดค้านของคนเมียนมาจำนวนไม่น้อย
เต็ง เส่ง ตัดสินใจแขวนโครงการนี้ในเดือนกันยายนปี 2011 เพียงหกเดือนหลังจากที่เขาขึ้นเป็นผู้นำประเทศ
และในปีต่อมาเมื่อการเมืองเริ่มจะมีความผ่อนคลายจากการรวมศูนย์อำนาจอยู่ที่กองทัพ ออง ซาน ซูจี ลงสมัครรับเลือกตั้งซ่อมในปี 2012 ได้รับเลือกตั้ง ทำให้เธอเข้าไปนั่งในสภาเป็นครั้งแรก
การเมืองเมียนมาก็เริ่มพลิกผัน
เดือนธันวาคม 2011 สหรัฐกลับมามีปฏิสัมพันธ์กับเมียนมา
รัฐมนตรีต่างประเทศฮิลลารี คลินตัน ภายใต้ประธานาธิบดีบารัก โอบามา มาเยือนเมียนมาเป็นส่วนหนึ่งของนโยบาย Pivot to Asia (ปักหมุดเอเชีย) หรือ Rebalance (ปรับสมดุล)
หนึ่งปีต่อมาโอบามามาเอง…เพื่อตอกย้ำถึงทิศทางของสหรัฐที่ต้องการกลับมาแสดงตนอย่างเต็มที่
แน่นอนว่าลึกๆ แล้วนี่คือความพยายามของวอชิงตันที่จะไม่ยอมให้จีนสยายปีกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้แต่เพียงผู้เดียว
แต่วันนี้เมื่อสถานการณ์เมียนมาพลิกกลับไปสู่การยึดอำนาจของกองทัพอีกครั้ง ทั้งจีนและสหรัฐก็ต้องปรับนโยบายของตนอีกรอบ
สหรัฐภายใต้ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ตั้งธงไว้ชัดเจนว่าจะต้องกดดันและลงโทษนายพลเมียนมาที่มีส่วนในการก่อรัฐประหารครั้งนี้อย่างถึงที่สุด
นั่นคือยังยืนข้างออง ซาน ซูจี และพรรค NLD หรือพรรคการเมืองอื่นใดที่ก่อตั้งขึ้นอย่างถูกต้องตามกติกา
จุดยืนของปักกิ่งอาจจะไม่ชัดเจนเหมือนของวอชิงตันเพราะจีนมีผลประโยชน์ในเมียนมาที่ค่อนข้างจะลุ่มลึกกว่าที่ใครคาด
เหตุผลทางภูมิรัฐศาสตร์กำหนดว่าจีนต้องพึ่งพาเมียนมาในหลายๆ ด้าน
ไม่ว่าจะเป็นเรื่องทรัพยากรธรรมชาติ
เส้นทางคมนาคมจากทางใต้ของจีนผ่านพม่าสู่มหาสมุทรอินเดีย
ท่อน้ำมันและท่อก๊าซจากทางใต้ของจีนออกสู่ท่าเรือในอ่าวเบงกอล
กองกำลังชาติพันธุ์ติดอาวุธบริเวณชายแดนติดกับเมียนมาที่จีนมีส่วนสนับสนุนทางอ้อม
การค้ายาเสพติดตรงชายแดนกับเมียนมา
การถ่วงดุลอำนาจระหว่างจีนกับอินเดียผ่านเมียนมา
อีกทั้งยังมีการลงทุนของนักธุรกิจจีนในเมียนมาที่เพิ่มพูนขึ้นอย่างมากหลังการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อปี 2015
ต้องไม่ลืมด้วยว่าเมียนมาก็เป็นหุ้นส่วนทางด้านการค้าการลงทุนและด้านความมั่นคงที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง
ความไร้เสถียรภาพในเมียนมาไม่ว่าจะมาจากการต่อสู้ระหว่างกองทัพเมียนมากับกองกำลังติดอาวุธของกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ
หรือการเผชิญหน้าระหว่างกองทัพกับประชาชนที่ลุกขึ้นต่อต้านรัฐประหารอย่างกว้างขวางและยืดเยื้ออย่างที่เห็นอยู่ขณะนี้
ล้วนแล้วแต่เป็นปัจจัยที่มีผลกระทบต่อผลประโยชน์ของจีนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
จีนต้องการจะคบหากับทั้งฝั่งประชาธิปไตยของออง ซาน ซูจี และฝ่ายกองทัพภายใต้การนำของ พล.อ.มิน อ่อง ลาย
แต่เมื่อเกิดกรณีแตกหักระหว่างสองฝ่ายนี้…และสหรัฐกำลังรุกคืบกลับมามีบทบาทสำคัญในเอเชียภายใต้โจ ไบเดน จึงเกิดปมเงื่อนที่ซับซ้อนมากขึ้นกว่าเดิมหลายด้าน
จะเป็นไปได้หรือไม่ที่จีนกับสหรัฐสามารถต่อสายพูดจากันเรื่องหาทางออกร่วมกันในกรณีเมียนมา
โดยมีอาเซียนเป็นโซ่ข้อกลางเพื่อประสานให้เกิดการเจรจาหา “สูตรที่สาม” ที่ออง ซาน ซูจี, มิน อ่อง ลาย และกลุ่มชาติพันธุ์จะยอมรับได้เพื่อให้สถานการณ์กลับไปสู่ภาวะที่หลุดพ้นจากอาการอัมพาตอย่างที่เห็นอยู่ทุกวันนี้
อาจมีคนมองว่าเป็นไปไม่ได้ที่อเมริกากับจีนจะเห็นพ้องกันเรื่องเมียนมา
แต่ทุกวิกฤตต้องมีทางออก
และบางครั้งทางออกอาจจะหลบอยู่ในซอกหลืบที่คาดไม่ถึงก็ได้!