คำ ผกา | วิจิตร์ศิลปะหลงอำนาจ

คำ ผกา

ฉันนั่งดูคลิปเหตุการณ์ที่คณบดี รองคณบดี อาจารย์ และเจ้าหน้าที่ของคณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ไปเก็บงานศิลปะของนักศึกษาใส่ถุงขยะสีดำแล้วโยนลงไปบนหลังรถกระบะขนของ จนมีนักศึกษาที่เป็นเจ้าของงานเดินเข้ามาถามว่าทำไมถึงทำอย่างนั้น จนเกิดการโต้เถียงกัน และจนกระทั่งอาจารย์ทัศนัยที่เป็นอาจารย์คณะวิจิตรศิลป์เหมือนกัน เดินมาชี้หน้าด่าอาจารย์เหล่านั้นว่า มีสิทธิอะไรมายกงานเด็กโยนใส่ถุงดำ

และทั้งหมดของเหตุการณ์นี้ก็ถูกถ่ายทอดให้คนทั้งประเทศเห็นผ่านเฟซบุ๊กไลฟ์ของประชาคม มช.

ความน่าสนใจของเหตุการณ์มีอยู่หลายระดับด้วยกัน

และเป็นระดับที่ฉันคิดว่าเราสามารถ “อ่าน” มันได้เหมือนเวลาเราดูหนัง

หรืออ่านเรื่องสั้นสักเรื่องที่กำลังสะท้อนภาพสังคมไทยที่เป็นอยู่ในปัจจุบันนี้

 

ที่หอศิลป์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

แต่เดิมเมื่อเริ่มมีนั้นในความทรงจำของศิษย์เก่า มช.อย่างฉันเป็นพื้นที่ที่ค่อนข้างพิเศษและน่าภูมิใจ

เพราะเป็นตึกสไตล์โมเดิร์นท่ามกลางแมกไม้เชิงดอยสุเทพ

และการออกแบบตึกกับแลนด์สเคปของตึกนั้นถูกออกแบบมาให้เป็นพื้นที่ “เปิด” เข้าถึงง่าย

คำว่า “หอศิลป์” ก็ชัดเจนในตัวมันเป็น เป็นที่แสดงงานศิลปะ มีห้องประชุมสำหรับจัดงานพูดคุย เสวนา มีพื้นที่ในสวนให้จัดงานทอล์กแบบเปิดกว้าง

เรามีเวทีพูดคุยกลางลานหอศิลป์ที่คนฟังนั่งกับพื้นหญ้าในบรรยากาศคล้ายกับการปิกนิกอยู่บ่อยครั้ง

ในตัวอาคารมีร้านค้าของหอศิลป์ เหมือนร้านขายของของมิวเซียมของสากลโลก มีร้านกาแฟ

ข้างๆ หอศิลป์มีบ้านดินหลังเล็กๆ น่ารักมาก ที่เป็นร้านอาหารกับร้านกาแฟอันดำเนินกิจการโดยคนญี่ปุ่น และให้บรรยากาศเหมือนนั่งในร้านคาเฟ่สักแห่งในญี่ปุ่น

ในสวนของหอศิลป์นั้นยังเป็นที่จัดตลาดนัดของกินของใช้ในยุคก่อนที่ตลาดสินค้างาน “คราฟต์” ต่างๆ จะฮิตกัน ซึ่งบรรยากาศตลาดนัดอันเต็มไปด้วยงานแฮนด์เมด งานคราฟต์เก๋ๆ ไม่เหมือนใคร ปัจจุบันอยู่ที่ตลาดเจเจ ดำเนินงานโดยเซ็นทรัลไปแล้ว

ทว่าสมัยก่อนตลาดนัดอย่างนี้จะอยู่ในพื้นที่แบบหอศิลป์ มช.นี่แหละ

หอศิลป์ เชียงใหม่มันเก๋ขนาดนั้นเลย

และฉันก็รู้ว่ากว่าจะได้มาซึ่งสเปซเก๋ๆ แบบนี้ก็คงไม่ใช่เรื่องง่าย

และจำได้ว่าฉันเคยเขียนบทความลงในมติชนสุดสัปดาห์นี้แหละว่าทำอย่างไรจะให้หอศิลป์ไม่เป็นเพียง “พื้นที่” ของ “ประชาคมชาว มช.” หรือชนชั้นกลางเท่านั้น

ทำอย่างไรจะเป็นพื้นที่เปิดที่คนทั้งเชียงใหม่รู้สึกสบายเนื้อสบายตัวที่จะเข้ามาใช้พื้นที่ในหอศิลป์ เช่น นักเรียนเข้ามานั่งอ่านหนังสือ ทำการบ้าน

อ้ายแก้ว อ้ายคำ ขี่รถมาทำธุระในเมือง เหนื่อยๆ ร้อนๆ รู้สึกว่าสวนที่นี่เป็นที่ที่สามารถมานั่งเล่น นอนกลางวันสักงีบก่อนจะไปต่อ

อ้ายมูล อ้ายมาขี่รถเครื่องขายไอติม เห็นว่าที่นี่มีคนเยอะ ก็เลี้ยวรถมาแวะใต้ร่มไม้ขายไอติมสักครู่สักยามแล้วค่อยไปที่อื่นต่อ

พูดง่ายๆ ฉันเคยเรียกร้องให้หอศิลป์เป็นมากกว่าหอศิลป์

คือเป็น “พื้นที่สาธารณะ” ของชุมชนไปด้วย

เพราะมหาวิทยาลัยนั้นส่วนหนึ่งก็มาจากเงินภาษีประชาชน หากมีพื้นที่อันกว้างขวางใหญ่โตปานนี้ เหตุใดจะไม่คิดสร้างพื้นที่อันจะจรุงจิตใจ

และยกระดับความละเมียดละไมของคนในชุมชนด้วย

แต่นอกจากมันจะไม่เคยเกิดขึ้นแล้ว หอศิลป์ที่ฉันเห็นครั้งล่าสุดนั้นเต็มไปด้วยหม่นหมอง อึมครึม หงอยเหงา ผีหลอก โรยรา

ฉันเคยตำหนิหอศิลป์ว่ามัน “เก๋” แต่มันดูเป็นพื้นที่ของชนชั้นกลางมากไปหน่อย

แต่ปัจจุบันมันแย่ยิ่งกว่านั้นคือ แม้แต่จะเป็น co working space เก๋ๆ อย่างที่มันเคยเป็น มันก็ไม่เป็น

มันกลายเป็นอาคารร้างๆ แสนแห้งแล้ง มอมแมม ราวกับสิ่งที่เรียกว่า “หอศิลป์” นั้นไม่เป็นที่ต้องการของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่อีกต่อไป

และโดยเฉพาะอย่างคณะวิจิตรศิลป์ และมีเดียอาร์ตที่น่าจะเป็นเจ้าภาพในการดูแลหอศิลป์ร่วมกันก็ไม่มีความรู้ความสามารถที่จะทำให้หอศิลป์คงสภาพความเป็นหอศิลป์ต่อไปได้

ราวกับว่า คณะวิจิตรศิลป์นั้นโนสนโนแคร์เรื่องการทำงานศิลปะ แสดงงานศิลปะใดๆ อีกแล้ว

และฉันก็น่าจะได้คำตอบเกี่ยวกับหอศิลป์ได้จากคลิปอาจารย์วิจิตรศิลป์เก็บงานศิลปะนักศึกษาลงถุงดำนี่แหละว่า ทำไมหอศิลป์ มช.ถึงได้โรยราผีหลอกถึงเพียงนี้

 

เวลาเรานึกคณะการเรียนการสอนที่เกี่ยวกับ “ศิลปะ” เรานึกถึงอะไร?

การเรียน Art นั้นต่างจากสำนักงานช่างสิบหมู่อย่างไร?

การเรียน Art ต่างจากการเฝ้าสลักเสลาทำงานฝีมืออย่างไร?

ดีเอ็นเอของคณะวิจิตรศิลป์ มช. นั้นคือเมล็ดพันธุ์ที่กบฏมาจากศิลปากรใช่หรือไม่?

และที่คณะวิจิตรศิลป์ มช. ไม่ใช่หรือที่ริเริ่มการจัดงานศิลปะติดตั้งจัดวางเป็น Art Installation นิทรรศการแรกๆ ของประเทศไทย เป็นที่รู้จักกันในนามของ “เชียงใหม่จัดวางสังคม”

เขียนให้เข้าใจง่ายๆ ในภาษาชาวบ้านคือ ในขณะที่ศิลปากรยังเขียนบทกวีมีฉันทลักษณ์ วิจิตรศิลป์ มช.นั้นไปที่บทกวี กลอนเปล่าไร้ฉันทลักษณ์ ทลายรื้อกรอบคิดเรื่องงานศิลปะ นำสังคมไปทำความรู้จักกับงานศิลปะยุคหลังสมัยใหม่ ไร้ลำดับชั้นต่ำสูง ไม่มี high ไม่มี low ไม่มีงานชั้นสูง งานชั้นต่ำ ออกจากกรอบคิดเรื่อง “ความงาม” และ สุนทรียะแบบเดิมๆ ไปสู่งานศิลปะเพื่อการคิด การตั้งคำถาม การใคร่ครวญในเรื่องใดๆ ก็ตามที่ศิลปินเห็นว่ามันสำคัญและมีความหมาย

คณะวิจิตรศิลป์มีศิลปินสุดแสนจะอะวองการ์ดแบบมณเฑียร บุญมา อารยา ราษฎร์ดำเนินสุข ที่ทำงานศิลปะผ่านสื่อวิดีโอ เป็นการไปอ่านหนังสือให้ “ศพ” ฟัง

นั่นแหละ คณะวิจิตรศิลป์เขาเคย “ล้ำ” กันถึงขนาดนั้น

 

นั่นคือการเรียนการสอนศิลปะในระดับ “มหาวิทยาลัย” ในจินตนาการของเรา – อย่างน้อยตัวฉันเห็นว่า ศิลปะในระดับที่ต้องเรียน ต้องสอนกันอย่างเป็น Academic เป็นเช่นนั้น

ศิลปะไม่ได้แยกออกจากองค์ความรู้ทางปรัชญา มนุษยศาสตร์ สังคมศาสตร์ ประวัติศาสตร์ และวิทยาศาสตร์เลยแม้แต่น้อย

ที่สำคัญ ศิลปะก็เช่นเดียวกับงานวิชาการแขนงอื่นที่หัวใจของมันคือ “เสรีภาพ”

เสรีภาพในศิลปะกับเสรีภาพทางวิชาการก็เป็นเรื่องเดียวกัน ยิ่งในสถาบันการศึกษาระดับอุดมศึกษา บุคลากร ครูบาอาจารย์ นักวิชาการทั้งหลายต้องรู้เป็นอย่างแรกว่าไม่มีเสรีภาพคือไม่มี “ความรู้”

หากไม่มีเสรีภาพ สิ่งที่ถ่มถุยกันในมหาวิยาลัยก็เป็นงานโฆษณาชวนเชื่อ เลียดากเผด็จการและผู้มีอำนาจเท่านั้น และไร้ค่าเสียยิ่งกว่าเศษขยะเปียก

เมื่อพูดถึงเสรีภาพ และ creativity อย่างเลวที่สุดเท่าที่ฉันคาดหวังจะได้เห็นจากบุคลากรในคณะการเรียนการสอนศิลปะคือ ความเก๋ไก๋ และ creativity ในการแต่งตัว เป็นเบื้องต้น

โอ้ว โนวววววววว – มันช็อกมากสำหรับฉันที่เห็นว่าคณะวิจิตรศิลป์นั้นมีเครื่องแบบ เป็นเสื้อคอโปโล ปักคำว่า Fine Arts โนววววววววววว แบบที่อยากจะใส่ ว.แหวนให้อีกร้อยตัว

สิ่งแรกที่คนเรียนศิลปะจะต้องรู้คือ เสื้อโปโลคุณภาพต่ำกับคำว่า Fine Arts มันไม่มีอะไรสอดคล้องกัน

เสื้อโปโลแสนน่าเกลียดนั้น ไม่มีอะไรที่จะอธิบายคำว่า Fine ได้เลย

สิ่งสุดท้ายที่ฉันคิดว่าจะได้เห็นบนโลกใบนี้คือ

หนึ่ง บุคลากรในแวดวงศิลปะสวมเครื่องแบบ

สอง บุคลากรในแวดวงศิลปะสวมเครื่องแบบที่เป็นเสื้อโปโลที่ออกแบบ ตัดเย็บมาแบบเสื้อโหลคุณภาพที่ยอมรับได้แค่ให้เด็กประถมใส่ไปงานกีฬาสี

ฉันไม่ได้บอกว่าคนทำงานศิลปะจะต้องผมยาว สกปรก รุงรัง ตัวเหม็น สักหรือเจาะทั้งตัว

แต่สำหรับฉันคนทำงานศิลปะ หรือสอนศิลปะ อย่างน้อยที่สุดบนเนื้อตัวร่างกายของพวกเขาน่าจะมีสัญญาณอะไรบางอย่างที่ทำให้เราเห็นว่าเขาคือเสรีชนที่รักและหลงใหลในเสรีภาพ รักที่จะสำรวจ ท้าทายขนบพรมแดนอะไรสักอย่างของสังคม

หรืออย่างแย่ที่สุด บุคลากรในแวดวงศิลปะมีหน้าที่สำแดง “สุนทรียะ” อะไรสักอย่างผ่านร่างกายของเขาบ้าง

แต่ที่ฉันเห็นในคลิป คนที่ได้ชื่อว่าเป็นอาจารย์สอนศิลปะมีทั้งการแต่งตัวและบุคลิกภาพที่หากให้ใส่เสื้อราชปะแตนผ้าไหม หรือเสื้อซาฟารีสีน้ำตาลมาทำงานได้ก็คงทำไปแล้ว

และด้วยอินเนอร์นี้ฉันนึกไม่ออกเลยว่าพวกเขาจะมีชีวิตกับสิ่งที่เรียกว่า “ศิลปะ” อย่างไร

นี่ยังไม่นับว่าคณะอย่างวิจิตรศิลป์ กลายเป็นคณะที่มีระบบโซตัส และการรับน้องที่แสนจะเข้มข้น อันเป็นสิ่งที่ฉันไม่เคยเข้าใจตั้งแต่สมัยยังเรียนอยู่ มช. เพราะงานศิลปะต้องการการหลุดจากทุกกรอบ ประเพณี และผู้คนที่หมกมุ่นอยู่กับระบบโซตัส

รับน้องจะนำพาสิ่งที่เรียกว่า “งานศิลปะ” ไปที่ไหนได้

 

คณะวิจิตรศิลป์หลังจากยุคกบฏศิลปากร งาน “เชียงใหม่จัดวางสังคม” ยุคที่มี “มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน” ฉันไม่เคยเห็นบทบาทของคณะวิจิตรศิลป์ ไม่ว่าจะเป็นบทบาทความโดดเด่นของผลงานศิลปะที่น่าทึ่ง

ยังไม่เคยได้ยินว่ามีศิลปินที่น่าสนใจแม้แต่สักคนจากสถาบันแห่งนี้

ยังไม่เคยได้ยินชื่อว่ามีอาจารย์จากที่นี่สักคนผลิตงาน จะเป็นงานเขียน งานวิจัย หรืองานศิลปะ อันจะเป็นที่กล่าวขานของสังคม สักคนหนึ่งก็ไม่มี

ชื่อเสียงเดียวของคณะวิจิตศิลป์คือ เก่งในเรื่องงานแห่ งานครัวทาน งานแห่ครูบา งานแต่งตัวล้านนา ย้อนยุค

และเมื่อมีนักศึกษาที่พยายามจะทำงานศิลปะที่ “ก้าวหน้า” กว่าที่บรรดาอาจารย์จะ “คิด” ได้ ครูบาอาจารย์ในคณะวิจิตรศิลป์ คณบดี รองคณบดี จึงพาเหรดกันมาทำหน้าที่ภารโรงเที่ยวกับงานศิลปะของเด็กลงถุงดำ

พอเด็กถามก็อ้ำอึ้ง ตอบไม่ได้ เดินหนี อ้อมแอ้ม อ้างว่าไม่ใช่ส่วนหนึ่งของวิชาเรียนบ้างอะไรบ้าง

แทนที่จะชื่นชมยินดีว่าเด็กทำอะไรมากกว่าที่ตอนสอน และสั่งให้ทำ

ก็ดีที่คลิปนั้นได้ประจานว่า ถ้าคณะวิจิตรศิลป์มีผู้บริหารแบบนี้ สังคมจะได้เข้าใจว่าที่นี่แหล่งวิชาการความรู้ด้านศิลปะ แต่เป็นแค่สำนักงานราชการหน่วยหนึ่งที่ชอบทำงาน “เก็บกวาด” และ “กำจัด” ใดๆ ที่ขวางหูขวางตาผู้มีอำนาจ

จะว่าชอบเป็นภารโรงก็ไม่ใช่ เพราะไม่ได้อยากเก็บขยะทุกชิ้น แต่เลือกเก็บเฉพาะชิ้นที่ไม่ถูกใจ “นาย” ของตนเองเท่านั้น

จะเป็นภารโรงที่ดีก็ยังเป็นไม่ได้ น่าอายและกระจอกอย่างที่อาจารย์ทัศนัยว่านั่นแหละ