ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 26 มีนาคม - 1 เมษายน 2564 |
---|---|
เผยแพร่ |
แม้ว่าจะมีการตั้งกองโปลิศคอนสเตเบิลขึ้นมาตั้งแต่รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว แต่ก็ยังมีกำลังพลน้อยมาก ทำให้สามารถปฏิบัติงานได้เพียงพื้นที่เล็กๆ ย่านสำเพ็งเท่านั้น อีกทั้งเจ้าหน้าที่ทั้งหมดก็ล้วนเป็นชาวต่างชาติ ทำให้เรื่องการใช้ภาษากลายเป็นอุปสรรคสำคัญในการทำงานค่อนข้างมา
ประกอบกับประเทศตะวันกำลังแข่งขันกันขยายอาณานิคมมายังภูมิภาคตะวันออก จึงมีความจำเป็นต้องเร่งรีบพัฒนาบ้านเมืองให้มีความทันสมัย พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงทรงมีพระราชดำริโปรดเกล้าฯ ให้ทำการปรับปรุงบ้านเมืองให้ทันสมัยตามแบบตะวันตก
ในการนี้ โปรดเกล้าฯ ให้ขยายหน้าที่ความรับผิดชอบของกองโปลิศคอนสเตเบิลให้ครอบคลุมทั่วทั้งมณฑลกรุงเทพฯ และพระราชทานนามใหม่ว่า “กองโปลิศ”
โดยรับสมัครคนไทยจำนวนมากเขามาเป็นเจ้าหน้าที่ ทำให้กองโปลิศมีกำลังพลเพิ่มขึ้น
และเพื่อให้การทำงานมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น จึงโปรดเกล้าฯ ให้ตรากฎหมาย 53 ข้อ ระบุหน้าที่ ข้อบังคับต่างๆ ตลอดจนระเบียบการรับสมัครบุคคลเข้าเป็นโปลิศ ทั้งมีการกำหนดตำแหน่งการบังคับบัญชาเช่นเดียวกันกับตำรวจในต่างประเทศ
ดังต่อไปนี้
1. อินสเปกเตอร์ เยเนราล (Inspector General)
2. ชิฟโปลิศ ออฟฟิเซอร์ ที่สอง (2nd Chief Police Officer)
3. สายัน เมเยอร์ (Sergent Major)
4. สายัน กอบปรัน (Sergent Corporal)
5. คอนสเตเบอ (Constable)
เมื่อการตรากฎหมายโปลิศแล้วเสร็จ โปรดเกล้าฯ พระราชทานนามใหม่ว่า “กองตะเวน” ใน พ.ศ.2420
กองตระเวนภายใต้การควบคุม
ของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนเรศวรฤทธิ์ (พระยศขณะนั้น)
ภายหลังจากที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จฯ กลับจากการเสด็จประพาสหัวเมืองมลายูรวมทั้งเมืองสิงคโปร์
การเสด็จฯ ครั้งนั้น ทอดพระเนตรกิจการตำรวจของเมืองสิงคโปร์ เมื่อวันเสาร์ที่ 7 มิถุนายน พ.ศ.2433 ได้ทอดพระเนตรเห็นความก้าวหน้าของตำรวจสิงคโปร์ จึงมีพระราชประสงค์ให้ตำรวจไทยเป็นแบบนั้นบ้าง
มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนเรศวรฤทธิ์ (พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นนเรศวรฤทธิ์ พระยศหลังสุด) ทำการปรับปรุงกองตระเวนให้ทันสมัย เหมาะสมกับสถานการณ์ในขณะนั้น โดยยึดแนวทางของตำรวจสิงคโปร์เป็นแม่แบบ
เหตุที่ทรงไว้วางพระราชหฤทัยให้รับภารกิจก็เพราะเคยเป็นราชทูตประจำประเทศอังกฤษมาก่อน เคยได้ดูงานการปฏิบัติหน้าที่ของตำรวจประเทศอังกฤษมาแล้ว จึงเห็นว่าจะสามารถปรับปรุงกองตระเวนให้มีมาตรฐานตามแบบแผนของตำรวจสมัยนั้นได้
สิ่งแรกที่ได้รับการปรับปรุงคือการแบ่งส่วนราชการกองตระเวนเสียใหม่ โดยแบ่งออกเป็น 2 หน่วยงาน แยกเป็นอิสระจากกัน แต่ละหน่วยงานมีเจ้ากรมเป็นผู้บังคับบัญชา ได้แก่
1. กองตระเวนฝ่ายกองไต่สวนโทษหลวง (The Criminal Investigation Department)
ยุบรวมกองตระเวนซ้ายและกองตระเวนขวาเข้าด้วยกัน แล้วตั้งเป็นกองตระเวนลับ หรือกองตระเวนสอดแนม (Detective) ในทุกแขวง ทำหน้าที่ชันสูตรพลิกศพ พิจารณาไต่สวน และสืบจับผู้ร้าย
2. กองตระเวนฝ่ายกองรักษา (The Operation Department)
ยุบรวมกองโปลิศน้ำและกองโปลิศบกเข้าด้วยกัน แล้วแบ่งออกเป็น 2 หน่วยงานดังต่อไปนี้
2.1 กองตระเวนฝ่ายกองรักษากองชั้นใน
(กองโปลิศบกเดิม) มีหน้าที่รักษาท้องที่ต่างๆ ทุกแขวงในพระนคร
2.2 กองตระเวนฝ่ายกองรักษากองชั้นนอก
(กองโปลิศน้ำเดิม) มีหน้าที่รักษาท้องที่ในลำคลองและท้องทุ่งนา นอกเขตพระนคร
มีการฝึกอบรมเจ้าหน้าที่สมัครใหม่ให้มีความรู้เรื่องกฎหมาย ข้อบังคับ และฝึกระเบียบต่างๆ ดังต่อไปนี้
1. หัดกิริยาที่ยืนให้เรียบร้อย
2. กิริยาคำนับ
3. กิริยาเดินปกติ
4. กิริยาเดินเร็ว
5. กิริยาเดินเป็นพวก
6. กิริยาหันตัว
7. หัดใช้อาวุธดาบ
8. หัดยิงปืน
อาวุธที่ใช้ในกองตระเวนมี 4 ชนิดได้แก่ ปืนไรเฟิล ปืนสั้น ดาบและกระบอง มีข้อห้ามมิให้ใช้อาวุธในการจับกุมผู้กระทำผิด ยกเว้นเมื่อคนร้ายมีอาวุธและทำการต่อสู้ โดยใช้อาวุธเพื่อการป้องกันตัวเท่านั้น ห้ามใช้อาวุธทำร้ายผู้กระทำผิดจนเป็นอันตรายถึงชีวิต
มีการกำหนดให้พวกตระเวนต้องสวมเครื่องแบบ โดยใช้ตามแบบอย่างของตำรวจประเทศอังกฤษ ซึ่งเป็นเสื้อยาวสีน้ำเงิน โดยมีรายละเอียดอื่นๆ ดังต่อไปนี้
– คอนสเตอเบอ (โปลิศเลว) สวมเสื้อยาวกับกางเกงขาสั้นสีน้ำเงิน สวมหมวกยอด (เฮลเม็ต)
– เจ้าหน้าที่แขกซิกข์ ให้คงผ้าโพกศีรษะเอาไว้ได้ โดยให้สวมหมวกยอดทับบนผ้าโพกศีรษะ
– เจ้าพนักงานผู้ใหญ่ชาวสยาม ให้นุ่งผ้าโจงกระเบน พร้อมเสื้อสมัยใหม่ตามแบบอย่างชาวตะวันออก
มีการกำหนดให้มีศาลาว่าการของกรมตระเวน ดังต่อไปนี้
1. ศาลาที่ทำการเจ้าพนักงานกองรักษา
2. ศาลาที่ทำการเจ้าหน้าที่ไต่สวนโทษหลวง
3. ที่พักของพลตระเวน
4. โรงพยาบาลของกรมกองตระเวน
มีการวางกำลังพลกระจายกันประจำการอยู่ทั่วพื้นที่กรุงเทพฯ โดยมีเจ้าหน้าที่ประจำจุด จุดละ 2 นาย เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยได้อย่างทั่วถึงและทันท่วงที อีกทั้งยังเป็นการป้องปรามไม่ให้เกิดการกระทำผิดกฎหมายอีกด้วย มีการปรับปรุงโรงพักให้มีมาตรฐาน คือโรงพักทุกแห่งจะต้องมีลักษณะดังต่อไปนี้
1. ห้องที่ว่าราชการกองตระเวน 1 ห้อง
2. ห้องพักอาศัยของพลตระเวนที่เข้ายาม ขนาดเพียงพอต่อจำนวนพลตระเวน 1 ห้อง
3. ห้องรับประทานอาหาร ใช้สอนกฎหมายและข้อบังคับต่างๆ 1 ห้อง
4. ห้องเก็บของ 1 ห้อง
5. ห้องขังผู้ต้องหา 1 ห้อง
“…ก่อนหน้าที่จะมีการปรับปรุงนี้ ที่โรงพักกองตระเวนแต่ละแห่งมีนายยามประจำการเท่านั้นที่อยู่ประจำโรงพัก ซึ่งเมื่อเหตุการณ์ร้ายแรงเกิดขึ้น ลำพังนายยามไม่สามารถระงับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นให้ยุติลงได้ จะต้องเดินทางไปตามคนตระเวนที่อาศัยอยู่บ้านคนตระเวนแต่ละคน ทำให้สิ้นเปลืองเวลาและทำให้การปราบปรามและระงับเหตุการณ์ไม่ได้ทันท่วงที ทำให้การปฏิบัติงานไม่ได้ผลดีเท่าที่ควร…”17
กองตระเวนภายใต้การควบคุมของมิสเตอร์ ยาร์ติน
พ.ศ.2435 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มีการปฏิรูปการปกครองแผ่นดินให้ทันสมัยตามแบบตะวันตก โปรดเกล้าฯ ให้ตั้งกระทรวงบบใหม่ขึ้นทั้งหมด 12 กระทรวง โดยมีเสนาบดีประจำกระทรวงนครบาล ซึ่งพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนเรศวรฤทธิ์เป็นเสนาบดีกระทรวงนครบาล และยังคงรักษาการในตำแหน่งจากวางกรมกองตระเวนไปพลางก่อน ต่อมากรม
16จุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว, พระบาทสมเด็จพระ, ระยะทางเสด็จพระราชดำเนินประพาสทางบกทางเรือรอบแหลมมลายู รัตนโกสินทร์ศก 109, งานพระราชทานเพลิงศพสมเด็จพระเจ้าพี่ยาเธอ เจ้าฟ้าฯ กรมหลวงลพบุรีราเมศวร์, ณ พระเมรุวัดเทพศิรินทราวาส, โรงพิมพ์โสภณพิพรรฌธนากร, กรุงเทพฯ : 2475, 302-303
17รสสุคนธ์ จรัสศรี, อ้างแล้ว.67