ศาลส่งสาร แสนสับสน / บทความพิเศษ สมชัย ศรีสุทธิยากร

สมชัย ศรีสุทธิยากร

บทความพิเศษ

สมชัย ศรีสุทธิยากร

ศูนย์วิจัยการเมืองและการพัฒนา มหาวิทยาลัยรังสิต

 

ศาลส่งสาร แสนสับสน

 

ต้องยอมรับว่าคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ 4/2564 สร้างผลสะเทือนต่อการพัฒนาการทางการเมืองของประเทศไทยอย่างมิใช่น้อย

เพียงข้อความ 4 บรรทัดในเอกสารแถลงข่าวของสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ เมื่อวันที่ 7 มีนาคม 2564 ที่สร้างความสับสนในการตีความของแต่ละฝ่ายที่ตีความไปคนละทิศคนละทาง มาจนถึงการออกคำวินิจฉัยกลางฉบับเต็มจำนวน 12 หน้าซึ่งออกมาในช่วงบ่ายวันที่ 15 มีนาคม 2564 ก่อนการลงมติวาระที่สามร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญเพียงสองวัน นำไปสู่การลงมติคว่ำกฎหมายดังกล่าวลงได้อย่างนัยสำคัญ

ความน่าสนใจของการลงมติอยู่ที่ คะแนนในฝั่ง ส.ส. ที่มีผู้ไม่ยอมใช้สิทธิมากมาย ในขณะที่คะแนนฝั่ง ส.ว.ก็มีสัดส่วนของผู้ไม่ประสงค์จะลงคะแนนและงดออกเสียงมากมายเช่นกัน

ในฝั่ง ส.ส.ซึ่งมีจำนวนเต็ม 487 คน มี ส.ส.ที่ลงมติเพียง 225 คน หรือคิดเป็นร้อยละ 46.2 ของจำนวน ส.ส.ทั้งหมด ใน 225 คนที่ลงมติ เป็นให้ความเห็นชอบ 206 คน งดออกเสียง 10 คน และไม่ประสงค์จะลงคะแนน 9 คน

มี ส.ส.ทั้งพรรครัฐบาลและพรรคฝ่ายค้านจำนวนมากที่ใช้วิธีไม่แสดงตน โดยเฉพาะอย่างยิ่งพรรคภูมิใจไทย และพรรคชาติไทยพัฒนา ที่ใช้วิธีวอล์กเอาต์ และอีกหลายพรรค เช่น พรรคชาติพัฒนา พรรคพลังท้องถิ่นไทย พรรคเศรษฐกิจใหม่ พรรคพลังธรรมใหม่ ไม่ปรากฏการออกเสียงทั้งพรรค

แม้พรรคเพื่อไทยที่เป็นแกนนำของพรรคฝ่ายค้านที่มีจุดยืนชัดเจนในการรับร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ เปิดโอกาสให้มีการตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ ก็ยังปรากฏมี ส.ส.ที่ไม่ร่วมลงมติถึง 26 คน

ในฝั่งของ ส.ว.นั้น มี ส.ว.แสดงตนลงมติ 217 คน จาก 250 คน คิดเป็นร้อยละ 86.8 โดยเป็นกลุ่มไม่ประสงค์ลงคะแนน 127 คน งดออกเสียง 84 คน ไม่เห็นชอบ 4 คน และเห็นชอบเพียง 2 คน

เท่ากับว่าในจำนวนสมาชิกรัฐสภาที่มีอยู่รวม 737 คน มีคนลงมติแค่ 442 คน หรือประมาณร้อยละ 60

อีกร้อยละ 40 ไม่ยอมทำหน้าที่ โดยใช้วิธีการเดินออกหรืองดแสดงตน

หรืออาจเป็นกลุ่มที่ไม่ยอมมาประชุม ลากิจ ลาป่วยเสียแต่แรก

สอดคล้องกับการให้สัมภาษณ์ของนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีที่ให้สัมภาษณ์ว่า วาระที่สามไปต่อไม่ได้ แนะให้ไม่มาประชุม หรืองดออกเสียง เพื่อให้ร่างดังกล่าวตกไปในวาระสาม

 

การตีความที่หลากหลาย

“อาศัยเหตุผลดังกล่าวข้างต้น จึงวินิจฉัยว่า รัฐสภามีหน้าที่และอำนาจจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ได้โดยต้องให้ประชาชนผู้มีอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญได้ลงประชามติเสียก่อนว่าประชาชนประสงค์จะให้มีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่ และเมื่อจัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เสร็จแล้ว ต้องให้ประชาชนลงประชามติเห็นชอบหรือไม่กับร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่อีกครั้ง”

ข้อความในวรรคสุดท้าย หน้าสุดท้ายของคำวินิจฉัยกลางเพียงสี่บรรทัด กลับสามารถตีความแตกต่างไปมากมาย

ฝ่ายสมาชิกวุฒิสภาเสียงส่วนใหญ่เกือบทั้งหมด เห็นว่า การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญที่เดินมาจนถึงวาระที่สาม ไม่สามารถดำเนินการต่อได้เนื่องจากขัดกับคำวินิจฉัย จึงอภิปรายเสนอให้รัฐสภาลงมติให้วาระที่หนึ่งและสองเป็นโมฆะ เพื่อให้ไม่ต้องพิจารณาต่อในวาระที่สาม แต่เมื่ออภิปรายไปถึงทางตันด้วยจำนนด้วยขั้นตอนที่เป็นไปไม่ได้ทางกฎหมาย จำต้องมีการลงมติต่อในวาระที่สาม ผลที่ออกมาจึงเป็นไม่ประสงค์ลงคะแนน 127 คน งดออกเสียง 84 คน ไม่เห็นชอบ 4 คน และเห็นชอบเพียง 2 คน

เป็นการยืนยันในแนวคิดว่า คำวินิจฉัยของศาล ทำให้ไปต่อไม่ได้จริง

ส่วน ส.ส.ฝ่ายรัฐบาล การตีความแตกต่างเป็นสองกลุ่ม พลังประชารัฐบอกไปต่อไม่ได้ จึงงดออกเสียงเป็นส่วนใหญ่ ขณะที่ประชาธิปัตย์ยืนยันลงมติเดินหน้าต่อได้โดยส่วนใหญ่ลงตามมติพรรคคือให้ความเห็นชอบ แต่ภูมิใจไทยกลับใช้วิธีการโวยวายและวอล์กเอาต์ ซึ่งมีผลไม่แตกต่างจากกลุ่มที่อยู่ในสภาแต่ไม่แสดงตัวในการลงมติ

ในด้านพรรคฝ่ายค้าน เสียงของการตีความเป็นไปในทิศทางสามารถเดินหน้าลงมติวาระที่สามได้ เพราะเห็นว่ากระบวนการที่ผ่านในวาระที่หนึ่งและสอง ถึงแม้จะผ่านการลงมติในวาระที่สาม กระบวนการจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ยังไม่เริ่มต้น ทุกอย่างจะไปเริ่มเมื่อผ่านประชามติแล้วตามคำวินิจฉัยของศาล อย่างไรก็ตาม ก็ยังมี ส.ส.ในซีกฝ่ายค้านนับสิบคนที่ไม่กล้าลงมติ เนื่องจากกลัวว่าจะเป็นการไม่ปฏิบัติตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญซึ่งผูกพันทุกองค์กรต้องปฏิบัติตาม

ขนาดคำวินิจฉัยไม่ชัดเจน ตีความไม่มากมาย อาณาจักรความกลัวยังครอบคลุมได้กว้างขวางถึงเพียงนี้

 

ผลที่ตามมาหลังการลงมติ

ร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญที่ช่วยกันจัดทำ เสียเวลาในการประชุมและพิจารณากันมาโดยมีฉันทามติเห็นชอบในวาระที่หนึ่งและสองก็ตกไปทั้งฉบับในวาระที่สาม

ทางออกที่เหลือของการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันจึงเหลือเพียงเท่านี้

ทางแรก หากประสงค์จะจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ ก็ต้องไปเริ่มจากการทำประชามติของประชาชนทั่วประเทศ

แต่คำถามคือ จะใช้กฎหมายมาตราใดในการทำประชามติ เมื่อเส้นทางประชามติในรัฐธรรมนูญสามารถเกิดได้เพียงสองทาง และเส้นทางผ่านวาระสามตามมาตรา 256(8) ถูกปิดไปแล้ว เหลือแค่การทำประชามติโดยใช้อำนาจของคณะรัฐมนตรีตามมาตรา 166 เท่านั้น

แล้วคณะรัฐมนตรีที่ไม่เคยมีท่าทีใดๆ ว่าประสงค์จะแก้รัฐธรรมนูญ ถามกี่ครั้งๆ ก็บอกเป็นเรื่องของสภา จะเป็นฝ่ายริเริ่มทำประชามติเอง ดูท่าจะเป็นความฝันลมๆ แล้งๆ เป็นอย่างยิ่ง

ทางที่สอง คือการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญเป็นรายมาตรา ซึ่งสามารถเสนอจากคณะรัฐมนตรีก็ได้ หรือจาก ส.ส.หนึ่งในห้าของสภาผู้แทนราษฎรก็ได้ หรือจาก ส.ส. บวก ส.ว.จำนวนหนึ่งในห้าของสมาชิกรัฐสภาก็ได้ หรือจะมาจากการเข้าชื่อกันของประชาชนจำนวนห้าหมื่นชื่อก็ได้

ในแต่ละทางนั้นมิใช่เรื่องง่าย เพราะกติกาที่เป็นกุญแจขังการแก้ไขรัฐธรรมนูญให้ยากเย็นกว่าปกติยังคงอยู่ โดยเฉพาะด่านการลงมติในวาระที่หนึ่งและสามที่ยังต้องมีสมาชิกวุฒิสภาหนึ่งในสามหรือราว 84 คน ร่วมเห็นชอบก็ยังคงอยู่

รายมาตราใดที่เขาเห็นชอบด้วยก็ยังน่าจะมีความหวัง แต่หากรายมาตราใดที่ผู้มีอำนาจเขาไม่ปรารถนาจะให้แก้ไขเปลี่ยนแปลง ก็อย่านึกเลยว่าจะประสบความสำเร็จในการแก้ไข

ดังนั้น การที่ฝ่ายค้านและฝ่ายประชาธิปไตย ชูประเด็น การยกเลิกวุฒิสภาให้มีแค่สภาเดียว การเปลี่ยนแปลงคุณสมบัติและวิธีการได้ของศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระต่างๆ ไปจนถึงข้อเสนอให้ยกเลิกยุทธศาสตร์ชาตินั้น อาจจะสร้างกระแสฮือฮาในหมู่ประชาชนได้ว่าเป็นข้อเสนอที่ก้าวหน้าดูดีตอบกระแสความต้องการของสังคม

แต่ยากจะหวังผลให้เกิดตามต้องการได้

เส้นใยแมงมุมของผู้มีอำนาจถักทอแผ่อาณาจักรไปยังองคาพยพต่างๆ องค์กรเหล่านั้นรู้จักรับส่งประเด็น ตอบรับ ส่งต่อได้อย่างเป็นระบบ มีจังหวะจะโคนที่ไม่ร้อนรน เพื่อประคองการอยู่ในอำนาจให้ยาวนานที่สุด น่าจะเป็นเรื่องที่อ่านออกไม่ยากและมองเห็นเส้นทางเดินของพวกเขาต่อไปในอนาคตได้ชัดเจน

หากยังเอาแต่เดินตามเขา เล่นตามกติกาที่พวกเขากำหนด อย่าหวังเลยว่าจะได้สิ่งที่ปรารถนา

ประชาชนคงต้องเป็นผู้กำหนดเกมให้เขาเล่นบ้าง ไม่งั้นไม่สนุก