จับชีพจร ฤดูท่องเที่ยวไทย ห่างไกลคำว่า ไฮซีซั่น ยื้อลมหายใจธุรกิจ วอนรัฐแก้โจทย์เร่งฉีดวัคซีน-เศรษฐกิจ

เศรษฐกิจ

 

จับชีพจรฤดูท่องเที่ยวไทย

ห่างไกลคำว่า ไฮซีซั่น

ยื้อลมหายใจธุรกิจ

วอนรัฐแก้โจทย์เร่งฉีดวัคซีน

เหลืออีกไม่กี่วันจะเข้าสู่เดือนเมษายน เดือนแรกของไตรมาส 2 ซึ่งทุกปีในช่วงเวลาที่รอคอยของทั้งภาคประชาชนและภาคธุรกิจ ที่เป็นฤดูกาลพักร้อน พักผ่อน ในเทศกาลใหญ่แห่งปีคือเทศกาลสงกรานต์ ที่จะมีวันหยุดยาวต่อเนื่องต่ำๆ ก็ 3-4 วัน พ่วงด้วยเป็นช่วงปิดภาคการเรียนใหญ่ ที่จะมีการเดินทางของครอบครัว

จึงเป็นไตรมาสที่มีเงินสะพัดจากการใช้จ่ายและเดินทางท่องเที่ยวหลายแสนล้านบาท

แต่ปี 2564 นี้ฤกษ์จะไม่ดีตั้งแต่ยังไม่ขึ้นปีใหม่ ด้วยสถานการณ์ที่ไม่สู้ดีนัก หลังจากประเทศไทยเกิดการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ระลอกใหม่ ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2563 จนถึงปัจจุบัน ทำให้รัฐใช้มาตรการล็อกดาวน์ข้ามปี

ดังนั้น สถานการณ์เดิมๆ ก็ย้อนกลับมาอีกครั้ง

ธุรกิจบางส่วนหยุดชั่วคราว กิจกรรมต่างๆ ที่มีคนร่วมกันแยะๆ ถูกระงับ การเดินทางชะงักลงอีกรอบ

ความระแวง การระมัดระวังใช้จ่ายจึงเพิ่มทวีขึ้น

ที่ซ้ำหนักกว่าใคร ไม่พ้นภาคบริการ อย่างธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องจากการท่องเที่ยว เดิมนั้นต่างก็วาดฝัน การฟื้นของการใช้จ่ายเพื่อการเดินทางเพื่อการท่องเที่ยว และบรรยากาศคึกคักอีกครั้งในเทศกาลสงกรานต์

แต่ก็จะไม่เป็นดั่งหวัง!!!

 

ภาคการท่องเที่ยวถือว่ามีขนาดใหญ่มาก คิดเป็นสัดส่วนกว่า 20% ของจีดีพีประเทศไทย

ตามสถิติในช่วงที่สถานการณ์ปีปกติ อย่างปี 2562 ประเทศไทยมีคนต่างชาติเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทยเกือบ 40 ล้านคน สร้างรายได้กว่า 2 ล้านล้านบาท

ส่วนตลาดคนไทยเที่ยวไทย มีการเดินทางรวม 170 ล้านคน-ครั้ง สร้างรายได้กว่า 1 ล้านล้านบาท

เมื่อรวมทั้งคนไทยและคนต่างชาติ จะสร้างรายได้เข้าภาคการท่องเที่ยวกว่า 3 ล้านล้านบาท ธุรกิจท่องเที่ยวถือเป็นตัวนำหลักของภาคบริการ

ดังนั้น เมื่อเกิดการระบาดโควิด-19 ที่ทำให้นักท่องเที่ยวต่างชาติหายไป 100% และคนไทยเองก็ชะลอการเดินทาง เพราะกังวลกับเชื้อไวรัสที่อาจทำให้ผู้ติดเชื้อเสียชีวิตได้

แม้เข้าสู่เดือนมีนาคม สถานการณ์การระบาดโควิด-19 เริ่มดีขึ้น มีหลายจังหวัดและหลายพื้นที่ยังไม่มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ หลายพื้นที่เริ่มไม่พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ ทำให้รัฐบาลมองเห็นอนาคตที่สดใสขึ้น จึงประกาศเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติแบบทั่วไป ผ่อนปรนมากขึ้น โดยไม่มีการกักตัว ตั้งแต่ในวันที่ 1 ตุลาคม หรือภายในไตรมาสสุดท้ายของปีนี้

แม้รัฐบาลจะกำหนดการเปิดประเทศที่ชัดเจนออกมาแล้ว แต่จากการได้ตรวจสอบกับผู้ประกอบการในภาคการท่องเที่ยว เกือบทั้งหมดให้ทรรศนะที่แตกต่างออกไป!!

 

วิชิต ประกอบโกศล นายกสมาคมไทยธุรกิจการท่องเที่ยว (แอตต้า) มองว่า แผนการเปิดประเทศรับต่างชาติเป็นการทั่วไปของรัฐบาล ที่จะเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคมนั้น ช้าเกินไปมาก หากต้องรอในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี เนื่องจากผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยวที่ได้รับผลกระทบตั้งแต่การระบาดโควิด-19 รอบแรก จนถึงตอนนี้ รวมเป็นเวลากว่า 1 ปีแล้ว หากต้องรอจนถึงเดือนตุลาคม ซึ่งก็อีก 6-7 เดือน จะเป็นการซ้ำเติมผู้ประกอบการมากขึ้น

อย่างน้อยที่สุดตอนนี้รัฐบาลต้องเร่งทยอยเปิดประเทศก่อน เริ่มช้าสุดช่วงเดือนมิถุนายนหรือกรกฎาคม โดยเลือกประเทศที่มีความเสี่ยงต่ำก่อน พลเมืองในประเทศนั้นได้รับการฉีดวัคซีนแล้ว

เลือกเป็นรายพื้นที่ที่มีความปลอดภัยสูงให้เข้ามาท่องเที่ยวในจังหวัดที่รองรับต่างชาติเป็นหลัก หรือได้รับความนิยมจากต่างชาติก่อน อาทิ ภูเก็ต กระบี่ พังงา พัทยา เพื่อให้เศรษฐกิจในภาพรวมสามารถฟื้นตัวได้ก่อน

โดยการที่ประกาศเปิดประเทศแล้ว ก็ไม่ได้หมายความว่า นักท่องเที่ยวจะเข้ามาแบบล้นทะลักในทันที ก็ต้องรอเวลาที่ต่างชาติจะทยอยเข้ามาด้วย

 

เมื่อเวลาดูจะไม่คอยท่าได้ กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา นำโดยการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) จึงพยายามผลักดันให้เปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาก่อน ผ่านโมเดลต่างๆ ที่เกิดขึ้น

อาทิ แอเรียควอรันทีน วิลล่าควอรันทีน และล่าสุด โมเดลแซนด์บอกซ์ หรือการเจรจาระหว่างไทยกับประเทศต่างๆ ในลักษณะเมืองต่อเมือง หรือเกาะต่อเกาะ เพื่อทำการจับคู่ประเทศ (แทรเวลบับเบิล) ระหว่างกัน โดยเน้นดึงนักท่องเที่ยวที่ฉีดวัคซีนโควิด-19 ครบ 2 โดสแล้วเท่านั้น และมีความต้องการเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทยในพื้นที่ที่กำหนดร่วมกันแบบไม่ต้องกักตัว

โดยมีความเป็นไปได้ที่จะเริ่มโมเดลนี้กับตลาดจีนเที่ยวไทยก่อน เพราะมีความต้องการเข้ามาสูงมาก คาดว่าจะนำร่องที่เกาะภูเก็ตก่อน

สิ่งที่เป็นความหวังและสำคัญมากในการสนับสนุนแนวคิด เปิดรับต่างชาติของภาคท่องเที่ยว คือ วัคซีนต้านไวรัสโควิด-19 โดยรัฐบาลได้จัดทำแผนการจัดหาวัคซีนเข้ามา แบ่งเป็นของซิโนแวค จำนวน 2 ล้านโดส ในเดือนกุมภาพันธ์-เมษายน 2564 แบ่งออกเป็น 3 ระยะ คือ วันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2564 จำนวน 200,000 โดส เดือนมีนาคม 2564 จำนวน 800,000 โดส เดือนเมษายน 2564 จำนวน 1,000,000 โดส

และวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า จะเข้าประเทศไทย 2 รอบ ได้แก่ รอบแรก จำนวน 26 ล้านโดส เดือนมิถุนายน-สิงหาคม 2564 แบ่งออกเป็น 3 ระยะ คือ เดือนมิถุนายน 2564 จำนวน 6,000,000 โดส เดือนกรกฎาคม 2564 จำนวน 10,000,000 โดส เดือนสิงหาคม 2564 จำนวน 10,000,000 โดส

ส่วนในรอบที่ 2 นั้น จะนำเข้ามาจำนวน 35 ล้านโดส ช่วงเดือนกันยายน-ธันวาคม 2564

จากกำหนดการนำเข้าวัคซีนที่มีอย่างชัดเจนนั้น ก็ยังไม่ได้ช่วยให้คลายความกังวลลงได้มากนัก

เพราะล่าสุดประเทศไทยเพิ่งเริ่มฉีดวัคซีนได้เพียงแค่ 40,000 โดส ในช่วง 1 เดือนที่ผ่านมา แม้ประกาศแผนกระจายวัคซีนออกมาชัดเจน รวมถึงมีการทำสัญญาซื้อวัคซีนแล้ว 60 ล้านโดส

แต่จะเริ่มฉีดให้กับคนไทยได้อย่างเต็มที่เดือนละ 10 ล้านโดส ในเดือนมิถุนายน 2564 ถือว่าล่าช้ามาก

เพราะทั่วโลกหรือแม้แต่ในอาเซียน อาทิ เวียดนาม กัมพูชา อินโดนีเซีย ฉีดไปแล้ว ส่วนประเทศอิสราเอล ฉีดให้ประชาชนครบทั้งประเทศ และได้ทำแทรเวลบับเบิลกับหลายประเทศแล้ว

หากไทยยังช้าอยู่ ยิ่งทำให้การเปิดประเทศและการฟื้นตัวของเศรษฐกิจล่าช้ามากเข้าไปอีก

ประกอบกับพอเริ่มฉีดวัคซีนแล้ว พบว่า มีกรณีทำให้เกิดการเสียชีวิต จึงสร้างความแคลงใจประสิทธิภาพวัคซีน ว่า การฉีดวัคซีนมีความปลอดภัยจริงหรือไม่

เมื่อความมั่นใจยังไม่เกิดขึ้น บวกกับความล่าช้าของวัคซีน อาจทำให้การเร่งเปิดประเทศรับต่างชาติของไทยไม่เป็นไปอย่างที่คาดหวังไว้

เพราะหากจะรับต่างชาติเข้ามาเที่ยวในพื้นที่ตามโมเดลต่างๆ อาทิ ภูเก็ต ก็มีข้อกำหนดที่สร้างความมั่นใจว่า คนในชุมชนต้องได้รับวัคซีนไม่ต่ำกว่า 70% แม้ความจริงจะต้องได้รับการฉีดแล้วครบ 100% ซึ่งจำนวนวัคซีนที่ต้องฉีด แต่ละพื้นที่ต้องใช้กว่าล้านโดส ที่ต้องกักไว้ให้ภาคท่องเที่ยวก่อน

ซึ่งจากจำนวนที่นำเข้ามาและทยอยฉีดไปนั้น ความสามารถในการกระจายฉีดวัคซีนจากรัฐบาลคงไม่เพียงพอ

 

เวลากว่า 2 เดือนแรกของปีนี้ ที่ผ่านไปแบบนิ่งสนิท

ทั้งจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเป็น 0%

และคนไทยก็ชะลอการเดินทางระยะไกล

รวมถึงรอผลมาตรการรัฐบาลในควบคุมการระบาดโควิด-19 ให้ได้ก่อน

ล้วนซ้ำเติมภาคท่องเที่ยวซ้ำแล้วซ้ำอีก

ทิศทางต่อไปต้องฝากความหวังไว้กับโจทย์ยากที่รัฐบาลต้องแก้โดยด่วน

คือทำอย่างไรถึงจะเพิ่มจำนวนการฉีดวัคซีนให้เร็วที่สุด

เพื่ออีก 5-6 เดือนข้างหน้าไทยจะไม่เสียโอกาสในการฟื้นฟูภาคการท่องเที่ยวอีกครั้ง