
ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 26 มีนาคม - 1 เมษายน 2564 |
---|---|
คอลัมน์ | Cool Tech |
ผู้เขียน | จิตต์สุภา ฉิน |
เผยแพร่ |
Cool Tech
จิตต์สุภา ฉิน
@Sue_Ching
Facebook.com/JitsupaChin
หนึ่งเดือนกว่าผ่านไป
Clubhouse ในไทยเป็นอย่างไร
ผ่านมาเดือนกว่าแล้วนับตั้งแต่แอพพลิเคชั่น Clubhouse โซเชียลมีเดียที่ออกแบบมาสำหรับการพูดและฟังโดยเฉพาะฮิตเปรี้ยงปร้างในเมืองไทย
ถึงแม้ว่าในตอนต้นจะเริ่มต้นด้วยการเป็นแอพพ์แบบ Invitation Only และเปิดให้สำหรับคนใช้ iPhone หรือ iPad เท่านั้น
แต่ก็มีคนจำนวนมากหลั่งไหลเข้าไปอยู่บนแพลตฟอร์มและได้กลายเป็นงานอดิเรกใหม่ให้คนเปิดเข้าไปนั่งไล่นิ้วหาดูว่าห้องไหนกำลังถกเถียงหัวข้อน่าสนใจที่น่ากดเข้าไปฟังบ้าง
จนถึงวันนี้ผู้ใช้งานระบบปฏิบัติการ Android ก็มีวิธีซิกแซ็กให้สามารถเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของคลับนี้ด้วยแล้วทำให้จำนวนผู้ใช้งาน Clubhouse ในไทยเพิ่มขึ้นเยอะมาก
อย่างไรก็ตาม ฉันคิดว่าตอนนี้ประเด็นที่คนพูดถึงและตั้งคำถามขึ้นมามากไม่แพ้กันก็คือ Clubhouse กำลังเสื่อมความนิยมแล้วใช่ไหม
จากการสังเกตการณ์ของฉันเองซึ่งเอาจริงๆ ก็ไม่ใช่การสังเกตการณ์ที่ต้องลงไปนั่งกางสถิติที่ละเอียดซับซ้อนอะไร
เพราะแค่เห็นด้วยตาเปล่าก็ชัดเจนแล้วว่าผู้ใช้งาน Clubhouse ในไทย ในแบบที่แอ็กทีฟมากๆ นั้นลดหายไปไม่น้อย
ถ้าลองเทียบปริมาณผู้ฟังจากการจัดห้องในแต่ละครั้ง ในเดือนกุมภาพันธ์ตอนที่ฉันเปิดห้องของตัวเองขึ้นมาเพื่อถกเถียงหัวข้อต่างๆ มีคนกดเข้ามาฟังสูงสุดมากถึง 3 พันกว่าคนแม้จะเป็นเวลาดึกดื่นเลยเที่ยงคืนไปแล้วก็ตาม
แต่ในตอนนี้ช่วงเวลาเดียวกันจำนวนผู้ฟังลดลงไปเกือบครึ่ง เช่นเดียวกับห้องอื่นๆ ที่จัดในเวลาไล่เลี่ยกัน
ฉันคิดว่าปรากฏการณ์นี้ไม่ใช่สิ่งที่คาดเดาไม่ได้มาก่อน
Clubhouse เป็นโซเชียลมีเดียในรูปแบบที่ไม่ได้เหมาะกับทุกคน และไม่ได้เหมาะกับทุกช่วงเวลา
ผ่านไปเดือนกว่า ตอนนี้ผู้ใช้งานที่เข้ามาเพราะเห็นว่าเป็นกระแสที่พลาดไม่ได้แล้วพบว่าธรรมชาติของแอพพ์ไม่ได้เหมาะกับความชอบของตัวเองก็ค่อยๆ หายไป
บางคนอาจจะคลิกเข้ามาในแอพพ์น้อยลง
ในขณะที่บางคนก็อาจจะลืมแอพพ์นี้ไปแล้วก็ได้
ส่วนตัวฉันเอง เสน่ห์ของ Clubhouse ที่ดึงดูดให้ฉันยังอยู่กับแพลตฟอร์มก็คือการที่ฉันไม่จำเป็นต้องใช้มือหรือตาในการเสพคอนเทนต์จากแอพพ์นี้
ฉันสามารถกดเข้าไปในห้อง วางโทรศัพท์ลง และคว้าคอนโทรลเลอร์มานั่งเล่นเกม รีดผ้า หรือทำทรีตเมนต์หน้าไปด้วยได้
ที่ผ่านมาคอนเทนต์ที่ฉันเลือกฟังอยู่เสมอก็คือหนังสือเสียงบนแอพพ์ Audible ที่จะมีเสียงคนมาอ่านหนังสือให้เราฟัง เมื่อฉันชินกับการฟังคอนเทนต์แบบนี้แล้ว Clubhouse ก็เลยเป็นแอพพ์ที่ฉันชอบได้เลยทันที
แถมมีข้อดีที่หนังสือเสียงไม่มีก็คือมีการสนทนาโต้ตอบ มีความเป็นสังคม ชุมชน และทำให้เรามีส่วนร่วมด้วยได้ ซึ่งฉันก็เชื่อว่าหลายๆ คนคิดแบบนี้เหมือนกัน
ถ้าเช่นนั้นแล้ว หากไม่นับกลุ่มคนที่ไม่ได้ชื่นชอบการฟังคอนเทนต์ตั้งแต่แรก ผู้ใช้งานคนอื่นๆ หายไปไหน แม้กระทั่งเพื่อนที่ฉันรู้จักดีว่าลุ่มหลงการฟังคอนเทนต์อย่าง Podcasts มาโดยตลอดก็แทบจะไม่ได้ย่างกรายเข้ามาใน Clubhouse แล้ว
อะไรทำให้คนเหล่านี้เริ่มห่างหายจากแพลตฟอร์มไปล่ะ
ในฐานะผู้ฟัง ฉันพบว่าความท้าทายของการอยู่บนแพลตฟอร์มที่ใช้เสียงเป็นหลักก็คือการใช้เสียงนี่แหละ
เราเคยชินกับการเล่าเรื่องบนโซเชียลมีเดียด้วยการใช้ตัวหนังสือหรือภาพซึ่งเป็นทักษะที่คนส่วนใหญ่ทำได้ง่ายๆ เรามีเวลาในการเรียบเรียงและคัดกรองข้อความของเราก่อนที่จะปล่อยออกไปทำให้ไม่ได้มีอุปสรรคในการสื่อสารมากนัก
ในขณะที่การใช้เสียงแม้จะฟังดูเหมือนไม่ได้ยากอะไร แต่เอาเข้าจริงๆ มันมีรายละเอียดที่ซับซ้อนกว่านั้นมาก
หากว่ากันที่ธรรมชาติของการเป็นคอนเทนต์ประเภทถ่ายทอดสด ถ้าลองเปรียบเทียบระหว่าง Clubhouse กับการถ่ายทอดสดอย่างการทำ Facebook Live จะพบว่าถึงทั้งสองอย่างจะสดเหมือนกัน แต่ลักษณะกลับไม่เหมือนกันเสียทีเดียว
เวลาที่เราดูการถ่ายทอดสด แม้ว่าผู้พูดจะพูดไม่เก่งสักเท่าไหร่ แต่ก็ไม่ใช่เรื่องยากที่เราจะมองข้ามข้อจำกัดนั้นเพราะสายตาของเราก็ยังจับจ้องไปที่รายละเอียดอื่นๆ ได้
เราอาจจะเลือกโฟกัสไปที่การแสดงออกทางสีหน้าของผู้พูด การเคลื่อนไหวมือของเขา
หรือเราอาจจะย้ายสายตาไปอยู่ที่คนข้างๆ เขา ไปจนถึงสิ่งที่เคลื่อนไหวอยู่ที่พื้นหลัง
ในหนึ่งเฟรมมีองค์ประกอบอื่นอีกเยอะให้เราหันเหความสนใจไปหาแม้ว่าผู้พูดหลักจะไม่ดึงดูดเราได้สักเท่าไหร่
กลับกัน บน Clubhouse สิ่งที่เชื่อมระหว่างผู้พูดกับผู้ฟังมีเพียงแค่เสียงเท่านั้น ไม่มีวิดีโอ ไม่มีภาพนิ่ง ไม่มีตัวอักษรให้เสริมการสื่อสารให้สมบูรณ์ขึ้นได้
ดังนั้น ความสำคัญของการใช้เสียงจึงมาก่อน
ในบางกรณีก็มาก่อนความน่าสนใจของเนื้อหาด้วยซ้ำ
ฉันได้ยินหลายๆ คนบ่นว่ากดเข้าไปฟังห้องใดห้องหนึ่งใน Clubhouse เพราะชื่อห้องน่าสนใจมาก แต่พอได้ยินเสียงของหนึ่งในวิทยากรที่กำลังพูดแล้วรู้สึก “ไม่ถูกชะตา” ขึ้นมาทันที จนต้องกดออกจากห้องไปทั้งที่ยังไม่ทันได้ฟังเนื้อหาที่เขากำลังถกเถียงกันอยู่ด้วยซ้ำ
หรือบางคนเลือกที่จะฟังถึงแค่ช่วงที่วิทยากรพูดจบ แต่พอเปิดให้ผู้ฟังในห้องยกมือถามคำถาม ก็จะเป็นช่วงเวลาที่จะกดออกจากห้อง
เมื่อถามต่อว่าเพราะอะไร
คำตอบที่ได้ก็คือการเปิดฟลอร์ให้ผู้ฟังได้ขึ้นมาพูดบ้างนั้นมาพร้อมความเสี่ยงที่จะเจอคนที่พูดไม่เก่ง อ้ำๆ อึ้งๆ พูดไม่ตรงประเด็น ไปจนถึงวิธีการพูดไม่น่าฟัง
จนทำให้พาลหมดอารมณ์ฟังไปเลยก็มี
ย้อนกลับมาที่แอพพ์อ่านหนังสือเสียงอย่าง Audible ข้อเสียคือไม่มีบทสนทนาและมีปฏิสัมพันธ์ด้วยไม่ได้
แต่ข้อดีคือนักอ่านทุกคนเป็นนักใช้เสียงมืออาชีพ และเสียงนั้นผ่านกระบวนการตัดต่อมาแล้วทำให้เราฟังเนื้อหาต่อไปได้นานๆ แบบไม่มีสะดุด
ทักษะการพูดให้น่าฟัง การใช้น้ำเสียงที่เหมาะสม หรือการเรียบเรียงประเด็นได้เฉียบขาดไม่ใช่ทักษะที่มีพร้อมอยู่ในตัวทุกคน
แต่เป็นทักษะที่ต้องอาศัยการฝึกฝน ก็เลยอาจจะเป็นหนึ่งในปัจจัยที่ทำให้การสร้างคอนเทนต์บน Clubhouse ที่จะเชิญชวนให้คนกดเข้ามาฟังได้ค่อนข้างจำกัดให้อยู่ในกลุ่มคนที่ฝึกฝนทักษะเหล่านี้มาเฉียบคมแล้ว
ดังนั้น เวลากดเข้าไปใน Clubhouse ก็จะเห็นกลุ่มผู้พูดเดิมๆ อยู่ในห้องหัวข้อเดิมๆ จึงอาจจะเกิดความจำเจในที่สุด
อย่างไรก็ตาม ฉันคิดว่านี่เป็นเพียงปัจจัยหนึ่งที่อาจจะเป็นอุปสรรคสำหรับการฟังคอนเทนต์ของคนกลุ่มหนึ่งเท่านั้น และการมาถึงของ Clubhouse นี่แหละเป็นโอกาสอันดีมากๆ ที่จะช่วยให้เราได้ฝึกฝนทักษะการฟังและการพูดให้เฉียบคมขึ้น
Clubhouse เป็นเครื่องมือที่ทำให้เราสามารถฝึกการเรียบเรียงตัวเองและการพูดในที่สาธารณะได้แม้ว่าตัวเราจะนั่งอยู่ที่บ้าน และฉันก็เชื่อว่าเมื่อเวลาผ่านไปอีกสักหน่อย ผู้ใช้ Clubhouse ที่ตั้งใจใช้มันเป็นเครื่องมือในการฝึกจะมีทักษะในการพูดที่เก่งกาจขึ้น
ทิ้งท้ายด้วยไทม์มิ่งที่เหมาะสมมากของการมาถึงของ Clubhouse ในไทย คือการได้เป็นแพลตฟอร์มให้คนสามารถถกเถียงเกี่ยวกับการเมืองได้อย่างอิสระ (เท่าที่รู้)
ฉันคิดว่าในห้องที่คุยกันเรื่องการเมือง ข้อจำกัดของการพูดไม่เก่งถูกลดความสำคัญลงไปโดยสิ้นเชิงเพราะทุกคนมีอุดมการณ์ร่วมกันและจุดมุ่งหมายสำคัญไม่ใช่การเข้ามาฟังเพื่อความบันเทิงแต่เป็นการรวมตัวกันเพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงบางอย่างให้เกิดขึ้น
น่าสนใจว่าภายในแค่เดือนเดียว Clubhouse ยังมีไดนามิกได้ขนาดนี้ แล้วอีก 3 หรือ 6 เดือนข้างหน้าจะเป็นอย่างไรต่อไป