มีชัยชนะ ไทยแพ้! | สุรชาติ บำรุงสุข

ศ.กิตติคุณ ดร.สุรชาติ บำรุงสุข

คงต้องยอมรับว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญ ฉบับปี 2560 ได้เดินมาถึงจุดที่ปัญหานี้ กำลังถูกระดับขึ้นเป็นวิกฤตแล้ว แม้จะดูเสมือนว่า รัฐบาลชนะจากการเดินเกมในรัฐสภา แต่ชัยชนะที่เกิดขึ้นกลับเป็นดังสัญญาณที่แจ้งเตือนว่า “วิกฤตรัฐธรรมนูญ” ได้เกิดขึ้นจริงๆ ดังนั้น จึงเป็นความท้าทายอย่างยิ่งว่า รัฐบาลจะเดินทางผ่านวิกฤตชุดนี้ไปได้อย่างไร และที่สำคัญรัฐบาลชุดนี้จะยังชนะไปได้อีกนานเพียงใด?

เราคงตอบแบบโหราศาสตร์ไม่ได้ว่า รัฐบาลรัฐประหารของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่ผ่านกระบวนการฟอกตัวด้วยการอาศัยความได้เปรียบทางการเมืองด้วยการมีรัฐธรรมนูญ และมีกลไกขององค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญเป็นเครื่องมือในการค้ำจุนอำนาจนั้น จะมีระยะเวลาอยู่ในอำนาจได้อีกนานเพียงใด เพราะชัยชนะที่เกิดขึ้นจากการใช้เกมในสภาเป็นเครื่องมือ ย่อมไม่ใช่หลักประกันที่จะอยู่ในอำนาจได้ตลอดไป ซึ่งชัยชนะเช่นนี้ย่อมไม่ต่างอะไรกับการ “สุมไฟ” ทางการเมืองให้มีความร้อนแรงขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

แต่ปัญหาทั้งหมดนี้ คงต้องถอยกลับไปสู่จุดเริ่มต้นที่สำคัญ เมื่อผู้นำทหารที่ประสบความสำเร็จในการยึดอำนาจในเดือนพฤษภาคม 2557 ได้ตัดสินใจอย่างชัดเจนที่อยู่ในอำนาจต่อไปหลังจากการร่างรัฐธรรมนูญได้เสร็จสิ้นลง และเกิดการเลือกตั้งตามมา … ผู้นำทหารหลักทั้งสามคือ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา พลเอกประวิตร วงศ์สุวรรณ และพลเอกอนุพงศ์ เผ่าจินดา ได้แสดงออกถึงเจตนารมณ์อย่างไม่ต้องซ่อนเร้นปิดบังในการที่จะเป็นผู้นำรัฐบาลใหม่หลังการเลือกตั้ง โดยเฉพาะความพยายามในการรวบรวมนักการเมือง เพื่อนำไปสู่การจัดตั้ง “พรรคทหาร” อันเป็นวิธีการปกติของผู้นำรัฐประหารที่ใช้ในการสืบทอดอำนาจ

บทเรียนจากประวัติศาสตร์การเมืองไทยตอบอย่างชัดเจนเสมอว่า หลังคณะรัฐประหารได้ร่างรัฐธรรมนูญเสร็จแล้ว ผู้นำทหารก็พร้อมจะเป็นเปลี่ยนตนเองไปเป็น “นักการเมืองในเครื่องแบบ” และแสดงบทบาทในเวทีการเมืองไม่แตกต่างจากนักการเมืองพลเรือน ที่พวกเขาได้ประนามและกล่าวโทษมาแล้ว จนกลายเป็นข้ออ้างสำคัญที่ทหารใช้ในการทำรัฐประหาร

แน่นอนว่า การเป็นนักการเมืองของผู้นำทหารในช่วงหลังจากการประกาศใช้รัฐธรรมนูญแล้ว ทำให้พวกเขาต้องพึ่งพากลไกสำคัญของระบอบประชาธิปไตย คือ พรรคการเมือง ซึ่งก็คือการจัดตั้ง “พรรคทหาร” เพื่อเตรียมการรองรับการมีอำนาจหลังการเลือกตั้ง ดังนั้น ในการสืบทอดอำนาจของผู้นำทหารจึงต้องมี “พรรคของระบอบทหาร” รองรับไว้เสมอ จากจอมพล ป. จอมพลสฤษดิ์ จอมพลถนอม จนถึงพลเอกสุจินดา และพลเอกประยุทธ์ ผู้นำทหารล้วนอาศัยเครื่องมือเดียวกันทั้งหมด (ส่วนพลเอกเกรียงศักดิ์และพลเอกเปรมอาศัยฐานเสียงพรรคการเมือง แต่ไม่ใช่ตั้งพรรคทหารโดยตรง)

แต่เนื่องจากโดยทั่วไปแล้ว ระบอบทหารที่เข้าสู่อำนาจไม่เคยพิสูจน์ให้เห็นถึงขีดความสามารถในการบริหารรัฐสมัยใหม่แต่อย่างใด และการไม่ประสบความสำเร็จในการบริหารภาครัฐของระบอบทหารจึงไม่ใช่ “จุดขาย” ที่นำเสนอให้แก่สังคมในตลาดการเมืองไทย กล่าวคือ ระบอบการปกครองของทหารของไทยไม่มี “จุดแข็ง” ที่จะเสนอขาย เพื่อให้ผู้คนในสังคมที่เป็น “ผู้ซื้อ” มีความต้องการที่อยากได้ระบอบทหารเป็นทางเลือก แม้ผลิตภัณฑ์ชุดนี้จะขายได้ดีกับชนชั้นนำ และมวลชนของกลุ่มการเมืองปีกขวา ที่มีทัศนะต่อต้านประชาธิปไตยอย่างไม่เปลี่ยนแปลง หรือโฆษณาขายได้เพียงการไม่มีการชุมนุมในยุครัฐบาลทหาร เพื่อให้ชนชั้นกลางยอมรับ

ถ้าเราเอาการสิ้นสุดของ “รัฐบาลประชาธิปไตยครึ่งใบ” ของนายกรัฐมนตรี พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ เป็นเส้นแบ่งเวลาของความเป็นการเมืองร่วมสมัยจนถึงยุคปัจจุบันแล้ว จะเห็นได้ว่าระบอบการปกครองของทหาร ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลรัฐประหาร 2534 รัฐบาลรัฐประหาร 2549 จนถึงรัฐบาลรัฐประหาร 2557 ไม่ได้ประสบความสำเร็จทางการเมืองอย่างชัดเจน จนกลายเป็นจุดขายสำหรับการจัดตั้งรัฐบาลใหม่หลังเลือกตั้ง

รัฐบาลทหาร 2534 ถูกโค่นล้มด้วยการลุกขึ้นประท้วงใหญ่อีกครั้งในเดือนพฤษภาคม 2535 … รัฐบาลทหาร 2549 เข้าสู่อำนาจ และจากไปด้วยชัยชนะในการเลือกตั้ง 2550 ของพรรคการเมืองที่ทหารเพิ่งโค่นล้มลง … รัฐบาลทหาร 2557 ที่ดำรงเจตนารมณ์ชัดเจนในการสืบสานอำนาจของกลุ่มทหารและปีกอนุรักษนิยม จึงมีคำตอบเหลือแต่เพียงประการเดียวว่า ถ้ารัฐบาลทหารจะไม่เดินย้อนรอยไปสู่ความพ่ายแพ้ในการเลือกตั้งเช่นในปลายปี 2550 ก็จะต้องทำให้รัฐธรรมนูญเป็น “กลไก” ในการสร้างความได้เปรียบทางการเมือง

รัฐธรรมนูญภายใต้เจตนารมณ์ของการสืบทอดอำนาจจึงไม่ถูกออกแบบเพื่อให้เป็น “กติกาสากล” ทางการเมือง เพราะวัตถุประสงค์มีเพียงประการเดียวคือ พรรคของระบอบทหารต้องชนะ และต้องชนะเท่านั้น เพราะชัยชนะของพรรคการเมืองที่ถูกล้มจากการยึดอำนาจในปี 2550 เป็นบทเรียนที่น่ากลัวที่สุดสำหรับผู้นำรัฐประหาร 2557 ซึ่งปัญหาสำคัญอีกส่วนหนึ่งเป็นเพราะหลังการรัฐประหารครั้งนี้มีการใช้อำนาจที่ “เกินเลย” ของฝ่ายทหาร จนกลายเป็นความกลัวที่จะถูก “คิดบัญชี” คืนจากบรรดเจ้าหนี้ทางการเมืองทั้งหลาย

เส้นทางสู่ชัยชนะในครั้งนี้จึงมีเพียงหนึ่งเดียวเท่านั้นคือ จะต้องทำให้รัฐธรรมนูญมีความ “บิดเบี้ยว” เพื่อที่จะคงความได้เปรียบทางการเมืองให้แก่ฝ่ายทหารให้ได้มากที่สุด ดังคำกล่าวที่ชัดเจนของนักการเมืองในฝ่ายรัฐบาลว่า “รัฐธรรมนูญฉบับนี้ดีไซน์มาเพื่อเรา” (คำกล่าวของสมศักดิ์ เทพสุทิน, 21 พฤศจิกายน 2561)

ขณะเดียวกันก็จะต้องมีหลักประกันที่ชัดเจนว่า ในกระบวนการใช้อำนาจที่เกี่ยวข้องกับรัฐธรรมนูญนั้น ตัวบุคคลที่จะเป็นผู้มีอำนาจในองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญจึงต้องเป็นคณะบุคคลที่มาจากการแต่งตั้งของคณะรัฐประหาร เพราะคำตัดสินขององค์กรอิสระเหล่านี้จะต้องไม่กลายมาเป็น “หอกข้างแคร่” ของรัฐบาลทหารแบบสืบทอดอำนาจ คำตัดสินชี้ขาดขององค์กรเหล่านี้จึงมีปัญหาในทางการเมืองอย่างมาก จนไม่แน่ใจว่า คำตัดสินที่เกิดขึ้นจะใช้เป็นบรรทัดฐานให้แก่การเรียนการสอนทางรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ได้เพียงใด

สำหรับในกระบวนการร่างรัฐธรรมนูญเพื่อตอนสนองต่อเจตนารมณ์ของการสร้างความเป็นรัฐบาลทหารแบบเลือกตั้งนั้น ไม่มีใครจะมีประสบการณ์อย่างมากในการออกแบบรัฐธรรมนูญมากเท่ากับนายมีชัย ฤชุพันธุ์ ดังนั้นการสร้างรัฐธรรมนูญ 2560 จึงเกิดขึ้นด้วยเหตุผลเพื่อดำรงความได้เปรียบทางการเมืองของรัฐบาลทหารที่อาศัยกระบวนการเลือกตั้งเป็นเครื่องมือสร้างความชอบธรรม และเพื่อให้ความได้เปรียบเช่นนี้ดำรงอยู่ได้นานมากที่สุด การแก้ไขรัฐธรรมนูญจะต้องเป็นสิ่งที่ไม่มีทางประสบความสำเร็จได้เลย หรืออาจกล่าวได้ว่า การเสนอขอแก้ไขรัฐธรรมนูญจะต้องเป็น “ประตูที่ปิดตาย” โดยมีศาลรัฐธรรมนูญ วุฒิสภา และสมาชิกพรรครัฐบาลเป็น “นายทวาร” ที่จะไม่ยอมอนุญาตเปิดให้ใครผ่านเข้าไปเด็ดขาด

ฉะนั้นการลงเสียงในรัฐสภาจึงเป็นการยืนยันอย่างชัดเจนว่า ข้อเสนอในการแก้ไขรัฐธรรมนูญของพรรครัฐบาลก่อนหน้านี้เป็นเพียง “ลิเกการเมือง” เพื่อลดกระแสกดดันที่เกิดขึ้น อีกทั้งการแก้ไขเช่นนี้จะไม่มีทางสำเร็จได้เลย เพราะมี “นายทวารประตู” ที่เฝ้าอย่างเข้มแข็ง

แต่ที่สำคัญกว่านั้น ที่ทำให้รัฐธรรมนูญแก้ไขไม่ได้ ก็เพราะนายมีชัยได้ร่างแบบผูกมัดเพื่อไม่ให้แก้ไขได้เลย ซึ่งคงต้องยอมรับถึงความสำเร็จอย่างดีของการร่างรัฐธรรมนูญที่ตอบสนองต่อเจตนารมณ์ของผู้นำรัฐประหาร 2557 และรัฐธรรมนูญทำหน้าที่เป็นเครื่องมือในการค้ำประกันการดำรงอยู่ของรัฐบาลทหารแบบเลือกตั้ง ไม่ใช่ปัจจัยที่จะนำไปสู่การเลือกตั้งแบบ “เสรีและเป็นธรรม” แต่อย่างใด

ฉะนั้นเราคงต้องยอมรับว่า การทำให้รัฐธรรมนูญเป็นสิ่งที่แก้ไขไม่ได้ ถือเป็นชัยชนะครั้งสำคัญของนายมีชัย และเป็นชัยชนะของรัฐบาลทหารแบบเลือกตั้งด้วย แต่ผลที่เกิดขึ้นน่าจะต้องถือว่าเป็นความพ่ายแพ้ของการเมืองไทย เพราะชัยชนะของนายมีชัยกำลังพาเราไปสู่วิกฤตการณ์ที่หลีกเลี่ยงไม่ได้แล้ว และอาจจะต้องเรียกสถานะของประเทศจากวิกฤตรัฐธรรมนูญที่กำลังเกิดขึ้นด้วยชื่อโครงการประชานิยมในแบบของรัฐบาลว่า “ไทยแพ้”

ภาวะเช่นนี้สรุปได้ง่ายๆ ว่า “มีชัยชนะ-รัฐบาลชนะ-ไทยแพ้” ดังนั้นวันนี้ การเมืองไทยกำลังเป็นยิ่งกว่า “คนป่วยติดเตียง” ที่มีโรคต่างๆ รุมเร้า คู่ขนานกับ “คนป่วยข้างบ้าน” ในเมียนมาที่กำลังเผชิญกับมิคสัญญี ดังนั้นจึงน่าสนใจว่า คนป่วยสองคนที่อยู่ห้องติดกันเช่นนี้ ใครจะหมด “สัญญาณชีพ” ก่อนกัน!