วิรัตน์ แสงทองคำ /ซีพีเอฟ : พลังธุรกิจครบวงจร

วิรัตน์ แสงทองคำviratts.wordpress.com

วิรัตน์ แสงทองคำ/viratts.WordPress.com

ซีพีเอฟ : พลังธุรกิจครบวงจร

 

ถึงวาระการสำรวจตรวจสอบ ความเป็นไปและการปรับตัว ธุรกิจใหญ่ภายใต้แรงเสียดทาน วิกฤตการณ์ครั้งใหญ่

อย่างที่ว่าไว้ วาระเร้าใจเมื่อมีการเปิดเผยรายงานผลประกอบการประจำปี 2563 บริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ท่ามกลางวิกฤตการณ์โรคระบาด COVID-19 สั่นสะเทือนโลก

เป็นเรื่องที่น่าตื่นเต้นพอสมควร เมื่อธุรกิจหลักเครือเจริญโภคภัณฑ์ หรือซีพี เป็นไปได้ดีทีเดียว

เจริญโภคภัณฑ์อาหาร หรือซีพีเอฟ (CPF) บุกเบิกต้นธารธุรกิจอาหารมาเกินครึ่งศตวรรษ จนเดินทางมาปักหลักอย่างมั่นคงราว 2 ทศวรรษแล้ว ในฐานะเครือข่ายธุรกิจอาหารครบวงจรไทยแห่งภูมิภาค

ภายใต้สถานการณ์หลังวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจปี 2540 เป็นแรงบีบคั้นครั้งใหญ่ในสังคมธุรกิจไทยและภูมิภาค ซีพีดำเนินแผนการเชิงรุกครั้งใหญ่ในการหลอมรวมธุรกิจดั้งเดิม เปิดฉากขึ้นเมื่อปี 2541 บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือซีพีเอฟ (CPF) ตั้งต้นเป็นบริษัทแกนโมเดลใหม่ ตามแผนการหลอมรวมกิจการเครือซีพี ธุรกิจดั้งเดิม ซึ่งมีทั้งจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ และไม่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ฯ

เป็นอีกจังหวะก้าวที่น่าสนใจ ท่ามกลางความเชื่อและ “ความหวาดกลัว” โมเดลเชื่อกันว่า “ผูกขาดตัดตอน” เคยปะทุขึ้นเป็นกระแสเมื่อราวๆ 2 ทศวรรษที่แล้วได้อ่อนพลังไป ภายใต้สถานการณ์ใหม่ ในมุมมองระดับภูมิภาค มีพลังมากขึ้น

 

ขั้นแรก ซีพีเอฟ ภายใต้โครงสร้างใหม่ในตอนนั้น ในทันทีได้กลายเป็นผู้นำ มีอำนาจควบคุมตลาดพอสมควร ในฐานะผู้ผลิตอาหารสัตว์รายใหญ่ที่สุดในประเทศไทย เจ้าของธุรกิจพันธุ์ไก่ พันธุ์สุกรรายใหญ่ ขณะเดียวกันครองส่วนแบ่งตลาดใหญ่ อาทิ ธุรกิจเนื้อไก่ ไข่สด และเนื้อเป็ด ภายใต้โครงสร้างธุรกิจหลักซึ่งพัฒนามาอย่างเป็นรูปร่างในปัจจุบัน – ธุรกิจอาหารสัตว์ (feed) ธุรกิจเลี้ยงสัตว์ (farm) และธุรกิจอาหาร (food) ทั้งนี้ ธุรกิจสำคัญยังเป็นธุรกิจดั้งเดิมที่ต่อเนื่อง ด้วยระบบและประสบการณ์ นั่นคือธุรกิจอาหารสัตว์และธุรกิจเลี้ยงสัตว์ ซึ่งสร้างรายได้ในสัดส่วนรวมกัน ณ ปัจจุบันมากกว่า 80%

อีกขั้นสำคัญ ซีพีเอฟกับบทบาทใหม่ในเชิงภูมิศาสตร์ที่กว้างกว่าเดิม ค่อยๆ ปรากฏภาพอย่างชัดเจนมากขึ้นด้วย

ยุทธศาสตร์ขยายเครือข่ายธุรกิจต่างประเทศ เปิดฉากอย่างจริงจัง ทั้งปรับโครงสร้างธุรกิจเดิมของกลุ่มซีพีในภูมิภาค ตามมาด้วยแผนการขยายกิจการใหม่ๆ ในต่างประเทศ เป็นไปอย่างต่อเนื่องและได้ผลในช่วง 2 ทศวรรษที่ผ่านมา

จากรายงานผลประกอบการล่าสุด (อ้างจาก FY2020 Results Briefing, Investor Presentation, February 25, 2021) ระบุว่า รายได้จากเครือข่ายธุรกิจต่างประเทศมีมากกว่าในประเทศไทย เฉพาะตัวเลขปีที่ผ่านมา (2563) ระบุว่ามีสัดส่วน 69 ต่อ 31 โดยสะท้อนแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงตามทิศทางและแผนการที่เป็นมา จากปีที่แล้ว (2562) รายได้ในประเทศกับต่างประเทศมีสัดส่วน 67/33

ทั้งนี้ เป็นผลต่อเนื่องมาจากแผนการใหญ่ เริ่มขึ้นตั้งแต่ในปี 2554 ซีพีเอฟเข้าถือหุ้นใหญ่ C.P.Pokphand หรือ CPP (บริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฮ่องกงมาตั้งแต่ปี 2531) เป็นไปตามแผนการผนวกธุรกิจหลัก CPP อยู่ในประเทศจีนและเวียดนามเข้ามาอยู่ในเครือข่ายซีพีเอฟ

ในประเทศจีน CPP มีธุรกิจหลัก-ธุรกิจอาหารสัตว์ภายใต้ชื่อ “เจียไต๋” (Chia Tai) เป็นแบรนด์ที่ใช้ในประเทศจีนเป็นเวลากว่า 30 ปี ดำเนินธุรกิจครอบคลุมทั่วประเทศในมณฑลและเขตการปกครอง ภายใต้โครงสร้างธุรกิจที่เป็นไปอย่างกระจัดกระจายและซับซ้อน แผนการหลอมรวมกิจการเกี่ยวข้องกับธุรกิจอาหารในประเทศจีนยังคงดำเนินเป็นระยะๆ ดีลใหญ่ล่าสุด มูลค่ากว่าแสนล้านบาท เพิ่งสร็จสิ้นเมือปลายปีที่แล้วในการหลอมรวมธุรกิจสุกรในประเทศจีน

ดีลใหญ่ข้างต้น ส่งผลเชิงบวกต่อผลการประกอบการ ไม่ว่าตัวเลขส่วนของผู้ถือหุ้น ที่สำคัญซีพีเอฟเองให้ข้อมูลไว้ “ทำให้บริษัทเกิดการรับรู้กำไรพิเศษในส่วนของบริษัทใหญ่จำนวน 3,909 ล้านบาท” (อ้างจาก “คำอธิบายและวิเคราะห์ของฝ่ายจัดการ สำหรับผลการดำเนินการประจำปี 2563”)

ขณะประเทศเวียดนาม เครือข่าย CPP ในอีกภูมิศาสตร์สำคัญ ดำเนินธุรกิจตามโมเดลครบวงจร ค่อนข้างครบถ้วนตามแบบฉบับซีพี ได้เติบโตอย่างต่อเนื่อง จากรายได้ราวๆ 4 หมื่นล้านบาทเมื่อทศวรรษที่แล้ว มาทะลุแสนล้านบาทแล้วในปีที่ผ่านมา

ดูไปแล้ว ปัจจุบันซีพีกับเครือข่ายธุรกิจอาหารครบวงจร โฟกัสและพยายามสร้างสมดุลระดับภูมิภาค ท่ามกลางสถานการณ์ผันแปรโดยเฉพาะจากวิกฤตการณ์สงครามการค้าสหรัฐ-จีน จนถึง COVID-19 พิจารณาสัดส่วนรายได้ 3 อันดับแรก ไทย-จีน-เวียดนาม รวมกันมีสัดส่วนมากที่สุด น้ำหนักมากกว่า 75% เท่าที่ปรากฏในผลประกอบการ CPF (อ้างแล้ว) สัดส่วนรายได้ ไทย/จีน/เวียดนาม 31/27/18

 

ในภาพรวม ผลประกอบการ (โปรดพิจารณาข้อมูลประกอบ) สะท้อนความเป็นไปของธุรกิจอาหาร ตามโครงสร้างและทิศทางในระดับโลก ซึ่งมีความต้องการมากกว่ากำลังผลิตอยู่เสมอแม้ไม่มาก แม้เผชิญวิกฤตการณ์ (ดังปรากฏในบทวิเคราะห์คาดการณ์ของกระทรวงเกษตรสหรัฐอเมริกา หรือ USDA)

ทำนองเดียวกันกับมุมมองของซีพีเอฟ “แม้ว่าโรคติดเชื้อ COVID-19 ที่แพร่ระบาดทั่วโลกจะทำให้ภาวะเศรษฐกิจหยุดชะงักและกำลังซื้อผู้บริโภคลดลง แต่สินค้าของบริษัทยังคงมีความจำเป็นต่อการดำรงชีพ…” (อีกตอนหนึ่งของคำอธิบายและวิเคราะห์ของฝ่ายจัดการ สำหรับผลการดำเนินการประจำปี 2563)

บางภาพในนั้นสะท้อนแต่ละภูมิศาสตร์เศรษฐกิจไว้ด้วย รายได้ซีพีเอฟที่สูงขึ้นกว่าปีก่อน 11% เป็นตัวเลขที่น่าทึ่งสำหรับสังคมธุรกิจไทยเวลานี้ ซึ่งมีบทสรุปไว้อย่างน่าสนใจไว้ด้วย “เป็นผลมาจากรายได้จากการขายของกิจการต่างประเทศที่เพิ่มขึ้น 15% และกิจการประเทศไทย 3%…” (อ้างแล้ว)

อีกจังหวะก้าวในสังคมไทย พลังธุรกิจครบวงจรค่อยๆ ยกระดับขึ้น เชื่อมโยงใหม่กับเครือข่ายค้าปลีก ซีพีเอฟถือหุ้นอย่างมีนัยสำคัญในซีพีออลล์ (บริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ อีกแห่งหนึ่ง) ในฐานะเจ้าของเครือข่ายค้าปลีกขนาดเล็กซึ่งครอบคลุมและเข้าถึงผู้บริโภคอย่างทั่วถึงมากที่สุดในประเทศไทย ทั้งกำลังดำเนินแผนการขยายเครือข่ายในอาเซียน ธุรกิจค้าปลีกแบบร้านสะดวกซื้อที่ว่า ให้ความสำคัญอย่างมากกับสินค้าอาหาร

ขณะซีพีเอฟกำลังเดินเครื่องธุรกิจหลักอีกแขนงสู่ปลายทางของวงจร เรียกว่า-อาหาร (Food) อย่างกระฉับกระเฉง โมเดลซึ่งประสบความสำเร็จอย่างดีในประเทศไทยในช่วง 2 ทศวรรษที่ผ่านมา เชื่อว่ามีความสำคัญมากขึ้นๆ ในระดับภูมิภาคไม่ช้า ในฐานะบทเรียนธุรกิจสำคัญอีกบท ถัดจากบทเรียนโมเดลธุรกิจ “ประสานในแนวตั้ง” เมื่อ 4 ทศวรรษที่แล้ว

ล่าสุดในปลายปีที่ผ่านมาซีพีเอฟมีบทบาทสำคัญ ตามแผนการผนึกกำลังในเครือข่ายซีพี ซื้อกิจการค้าปลีกรูปแบบยืดหยุ่นที่ทรงอิทธิพลที่สุดในเมืองไทย (Tesco Lotus ซึ่งกำลังอยู่ในกระบวนการเปลี่ยนเป็น Lotus’s)

ซีพีกับสังคมไทยในเวทีทดลองใหม่ๆ กำลังดำเนินไป