‘เจ้าแดง’ : หม่อมเจ้าสกลวรรณากร วรวรรณ | ณัฐพล ใจจริง

ณัฐพล ใจจริง

“ในการปาฐกถาวันนี้ ท่านผู้ใดจะเข้าใจว่า ข้าพเจ้ามีสีกระเดียดไปทางชมพูๆ หรือจะแดงหน่อยๆ ข้าพเจ้าก็ไม่น้อยใจเลย…”

(สกลวรรณากร, ปาฐกถา เรื่องนักศึกษากับสังคม, 2494)

 

เจ้าชายนักปฏิรูป
กับการเมืองไทยหลังสงครามโลก

ภายหลังสงครามโลกยุติลง หม่อมเจ้าสกลวรรณากร เจ้านายผู้มีแหวกขนบ กลับมามีบทบาทโดดเด่นในหน้าประวัติศาสตร์อีกครั้ง

ปี 2489 ท่านกลับเข้ารับราชการในฐานะที่ปรึกษาหลวงเชวงศักดิ์สงคราม รัฐมนตรีมหาดไทยและที่ปรึกษาปลัดกระทรวงมหาดไทยในรัฐบาลนายปรีดี พนมยงค์

ท่านทรงรับมอบหมายให้เดินทางไปประชุมองค์กรแรงงานระหว่างประเทศ (ILO)

และในปี 2490 ทรงเป็นกรรมาธิการพิจารณาความตกลงระงับกรณีพิพาทระหว่างไทยกับฝรั่งเศสเพื่อคืนดินแดนอินโดจีนที่ไทยยึดครองในช่วงสงครามให้แก่ฝรั่งเศสอีกด้วย

บทบาททางการเมืองที่โดดเด่นที่สุดของหม่อมเจ้าสกลฯ หลังสงครามโลก คือ การเคลื่อนไหวทางการเมืองอันเป็นผลมาจากรัฐธรรมนูญ 2489 ที่ได้ยกเลิกบทบัญญัติที่กำหนดให้พระบรมวงศานุวงศ์อยู่เหนือการเมืองในรัฐธรรมนูญ 2475

ดังนั้น ด้วยการเมืองที่เปิดกว้างจึงเป็นโอกาสให้ท่านทรงเข้ามาเคลื่อนไหวทางการเมืองเพื่อผลักดันอุดมคติได้อย่างเต็มตัว

ประกอบกับรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ให้เสรีภาพในการตั้งพรรคการเมืองขึ้นได้

ท่านร่วมมือกับนายปรีดี และเหล่าสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจากภาคอีสานและอดีตเสรีไทย จัดตั้งพรรคการเมืองแนวทางสังคมนิยมขึ้นภายใต้ชื่อ “พรรคสหชีพ”

โดยแรกเริ่มก่อตั้งมีเดือน บุนนาค เป็นหัวหน้าพรรค (ภายหลังการเลือกตั้งผู้แทนราษฎร ต่อมา นายทองอินทร์ ภูริพัฒน์ เป็นหัวหน้าพรรค) โดยมีสงวน ตุลารักษ์ เป็นเลขาธิการพรรค (ต่อมา นายถวิล อุดล ดำรงตำแหน่งเลขาธิการพรรค)

ส่วนตัวท่านเอง ทรงเป็นที่ปรึกษาของพรรคสหชีพ

นอกจากนี้ พรรคยังมีสมาชิกคนสำคัญ เช่น เตียง ศิริขันธ์ ไต๋ ปาณิกบุตร จำลอง ดาวเรือง จรูญ สืบแสง ชิต เวชประสิทธิ์ กระจ่าง ตุลารักษ์ เธียรไท อภิชาตบุตร ทอง กันทารมย์ ดุสิต บุญธรรม ขุนระดับคดี แผน อินทวงศ์ และประสิทธิ์ ชูพินิจ เป็นต้น

ปาฐกถา รัฐธรรมนูญสหชีพ 1 เมษายน 2489

หม่อมเจ้าสกลฯ
กับคติการปฏิรูปการเมือง

ด้วยสภาพการเมืองไทยเปิดกว้าง ทั้งการให้เสรีภาพในการเคลื่อนไหวและอุดมการณ์ทางการเมือง ส่งผลให้ท่าน ผู้ทรงรอบรู้และนิยมในแนวคิดสังคมนิยมประชาธิปไตยมีส่วนสำคัญในการช่วยวางหลักการและนโยบายของพรรคสหชีพ อันสะท้อนจากปาฐกถาเรื่องสหชีพในธรรมชาติในอดีตและปัจจุบัน

เมื่อต้นปี 2489 ทรงอธิบายคำว่า “สหชีพ” หมายถึง “ความรู้สึกหรือสัญชาติญาณว่าคนเรามีชีวิตเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน”

อีกทั้งทรงเห็นว่า “สหชีพสำหรับสัตว์เป็นเพียงสัญชาตญาณ แต่สหชีพสำหรับมนุษย์เป็นความสำนึกว่าความผาสุกของแต่ละคนต้องอาศัยความผาสุกของคนทั้งปวงและยอมรับความเป็นธรรม ซึ่งทำให้มนุษย์คำนึงถึงความเสมอภาค และเป็นรากฐานของความยุติธรรมแห่งสังคม”

ท่านอาศัยแนวคิดสังคมนิยมในการวิเคราะห์และอธิบายวิวัฒนาการหลักการช่วยเหลือซึ่งกันและกันตามหลักสหชีพในสังคมตั้งแต่ยุคชนป่าเถื่อนจวบปัจจุบัน ทรงเห็นว่า หลักสหกรณ์และหลักสหชีพ คือสิ่งเดียวกันตามหลักที่ว่า “แต่ละคนเพื่อคนทั้งปวง และคนทั้งปวงเพื่อแต่ละคน”

จากแนวคิดสหชีพของหม่อมเจ้าสกลฯ ข้างต้น น่าจะมีอิทธิพลต่อการกำหนดนโยบายของพรรคสหชีพ ดังสะท้อนจากนโยบายของพรรคอันมีหลักการสำคัญคือ การสร้างประชาธิปไตยอันสมบูรณ์ (ต่อต้านเผด็จการฟาร์สซิสต์) และยึดความคิดสังคมนิยมประชาธิปไตยในการดำเนินการทางเศรษฐกิจที่ให้ความสำคัญกับสหกรณ์

ในปีเดียวกันนั้น ท่านทรงแสดงปาฐกถา ซึ่งเผยความคิดทางการเมืองของท่านอย่างต่อเนื่อง ดังในเรื่องวิกฤตในทฤษฎีแห่งรัฐ

ทรงวิพากษ์วิจารณ์ทฤษฎีรัฐเสรีนิยมในระดับสากลที่กำลังเดินมาสู่วิกฤตการณ์ภายในตัวเองว่า ระเบียบของรัฐเสรีนิยมไม่สามารถเปลี่ยนแปลงสังคมให้เป็นธรรมด้วยความสงบได้

เนื่องจากรัฐเสรีนิยมเอื้อให้กับประชาชนบางชนชั้น กล่าวอีกอย่างหนึ่ง คือทรงวิเคราะห์ในทำนองว่า กฎหมายถูกเขียนขึ้นโดยชนชั้นใดย่อมเอื้อประโยชน์ให้กับชนชั้นนั้นนั่นเอง

ท่านทรงเสนอการจัดความสัมพันธ์ทางสังคมที่เป็นธรรมผ่านรัฐธรรมนูญควบคู่ไปกับการพิจารณาเหตุการณ์การเปลี่ยนแปลงของโลก

ทรงเห็นว่า หากอำนาจของพลเมืองคนส่วนใหญ่ได้ท้าทายอำนาจทางเศรษฐกิจของคนส่วนน้อยซึ่งเป็นผู้ปกครองแล้ว ผู้ปกครองย่อมมีทางเลือกเพียง 2 ทาง คือ ประการแรก การปรับตัวเข้ากับพลเมืองฝ่ายข้างมาก

หรือประการที่สอง การระงับระบอบประชาธิปไตยเสียแล้วปกครองแบบฟาสซิสต์ นาซีดังที่เกิดขึ้นในอิตาลีและเยอรมนี

นอกจากนี้ ระหว่างที่มีการพิจารณารัฐธรรมนูญฉบับใหม่ในปี 2489 ทรงเสนอการปฏิรูปการวางรากฐานการจัดความสัมพันธ์ทางสังคมที่เป็นธรรม ท่านเสนอแนวคิดทางรัฐธรรมนูญที่ถือประโยชน์ของส่วนรวมเป็นใหญ่

ปาฐกถา วิกฤตในทฤษฎีแห่งรัฐ 14 พฤษภาคม 2489

สำหรับในประเด็นการปฏิรูปการเมืองนั้น ทรงเห็นว่าต้องมีการปฏิรูปความสัมพันธ์ทางอำนาจของสถาบันการเมืองระหว่างฝ่ายนิติบัญญัติ ฝ่ายบริหาร และฝ่ายตุลาการเสียใหม่

ซึ่งจากความคิดต่อต้านรัฐบาลฟาสซิสต์และประสบการณ์ในช่วงสงครามโลก ทำให้รัฐธรรมนูญตามแนวคิดของท่านมีแนวความคิดค่อนข้างจำกัดอำนาจของรัฐบาล

นอกเหนือจากรัฐบาลจะต้องอยู่ภายใต้การควบคุมของสภาแล้ว

ทรงเสนอให้ตุลาการมีความเป็นอิสระ โดยมีหน้าที่คอยกำกับรัฐบาลเพื่อมิให้พลเมืองถูกรัฐบาลใช้อำนาจเผด็จการเอารัดเอาเปรียบ

นอกจากนี้ ท่านเห็นว่า คำพิพากษาของศาลต้องผูกมัดรัฐบาล ส่วนการป้องกันมิให้ตุลาการใช้อำนาจตามอำเภอใจนั้นต้องมีการควบคุมขอบเขตอำนาจและการแก้ไขคำพิพากษาได้โดยสภาผู้แทนราษฎร

ส่วนการปฏิรูปสภานั้น ทรงเห็นว่าสมาชิกสภาทั้งหมดต้องมาจากการเลือกตั้งของประชาชนหรือการมีสภาผู้แทนราษฎรเพียงเดียว (Unicameral) ด้วยทรงเห็นว่า ตามอุดมคติของสหชีพได้ยืนยันอำนาจของประชาชนเป็นสำคัญโดยสมาชิกสภามาจากการเลือกตั้งทั้งหมด ไม่จำเป็นต้องมีวุฒิสภา และคณะรัฐมนตรีทั้งหมดต้องเป็นสมาชิกสภาผู้แทนฯ

ดังนั้น จะเห็นได้ว่า แนวความคิดในการปฏิรูปสถาบันการเมืองภายหลังสงครามของหม่อมเจ้าสกลวรรณากรนั้น ทรงต้องการใช้หลักการแบ่งแยกอำนาจในการหยุดอำนาจของสถาบันการเมืองเอง เพื่อถ่วงดุลอำนาจทางการเมืองมิให้รัฐบาลและตุลาการมีอำนาจเกินเลยขอบเขตจนกระทั่งกระทบกับเสรีภาพและความเสมอภาคของพลเมือง

โดยทรงเห็นว่า สภาผู้แทนฯ คือสถาบันการเมืองที่มีความชอบธรรมและอำนาจสูงสุดในการควบคุมสถาบันการเมืองอื่นๆ อันเป็นหลักที่ถือว่า สภามีอำนาจสูงสุด (Parliamentary Supremacy) นั่นเอง

หม่อมเจ้าสกลวรรณากร (คนที่ 2 จากขวา)ทรงสังเกตการณ์เลือกตั้ง ในเดือนสิงหาคม 2489

การเสนอตนให้ราษฎรเลือก

หลังจากประกาศใช้รัฐธรรมนูญ 2489 และมีการเลือกตั้ง ส.ส. ท่านทรงกระโดดเข้าสู่วงการเมืองไทย ด้วยหวังที่จะผลักดันสังคมไทยไปสู่อุดมคติด้วยทรงลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นผู้แทนฯ สังกัดพรรคสหชีพในเขต 2 พระนคร

แม้ว่าผลการเลือกตั้งปรากฏว่า ท่านทรงพ่ายแพ้การเลือกตั้งครั้งนี้ให้กับผู้สมัครจากพรรคประชาธิปัตย์ก็ตาม

แต่ทรงไม่ย่อท้อในการปฎิรูปสังคม ทรงมีบทบาทสำคัญในการร่วมจัดตั้งสมาคมกรรมกรต่างๆ ต่อมาเป็น “สมาคมสหชีวะกรรมกรนครกรุงเทพฯ” ได้สำเร็จในเดือนธันวาคม 2489 นั่นเอง ทรงรับเป็นที่ปรึกษาของสมาคม

เดือนเมษายน พ.ศ.2490 มีการตั้ง “สมาคมสหอาชีวะกรรมกรแห่งประเทศไทย” เป็นสหพันธ์กรรมกรแห่งแรกที่รวบรวมกรรมกรในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัดเข้าไว้ด้วยกันจนเป็นสมาพันธ์กรรมกรระดับชาติ มีสมาชิกถึง 75,000 คน

ต่อมา 1 พฤษภาคม มีการชุมนุมกรรมกรประมาณ100,000 คนเพื่อฉลองวันเมย์เดย์ (May Day) อันเป็นชุมนุมวันกรรมกรสากลที่ครั้งใหญ่ที่สุดของไทยขณะนั้น

ท่านทรงเป็นแกนนำในการเคลื่อนไหว และเผยแพร่ความรู้ถึงวิกฤตของระบอบเสรีนิยมประชาธิปไตย ด้วยบทบาทแกนนำกรรมกร การนำเสนอแนวคิดสังคมนิยมประชาธิปไตย การเคยลงสมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ส.ในนามพรรคสหชีพ

ทำให้ท่านถูกเรียกขานว่า “เจ้าชายนักสังคมนิยม” (the socialist prince)

ภายหลังการรัฐประหาร 2490 บทบาทของหม่อมเจ้าสกลฯ ทั้งในพรรคสหชีพและสมาคมสหอาชีวะกรรมการแห่งประเทศไทยต้องประสบปัญหาอันเป็นผลจากคณะรัฐประหาร 2490 และรัฐบาลอนุรักษนิยมกวาดล้างกลุ่มการเมืองของนายปรีดี ซึ่งมีฐานอยู่ที่พรรคสหชีพและสมาคมแรงงาน

ส่งผลให้พรรคสหชีพและสมาคมแรงงานค่อยๆ สลายตัวลง

ท่านจำต้องต้องค่อยๆ ยุติการเคลื่อนไหวทางการเมืองทั้งหมดไปโดยปริยายและทรงหันไปแสดงบทบาทเป็นนักวิชาการ ในฐานะอาจารย์ผู้สอนใน มธก.แทน