หนุ่มเมืองจันท์ : ‘สวน’ แห่งความสุขของแมนเดลา

หนุ่มเมืองจันท์facebook.com/boycitychanFC

ฟาสต์ฟู้ดธุรกิจ/หนุ่มเมืองจันท์

www.facebook.com/boycitychanFC

 

‘สวน’ แห่งความสุข

 

เพราะความสงสัยคำว่า “อูบุนตุ” จากสารคดี The play book ในเน็ตฟลิกซ์

ทำให้ผมได้พลิกหนังสือ “วิถีแมนเดลา” อีกครั้งหนึ่ง

ตามปกติหนังสือที่ผมอ่านจะมีสภาพที่ค่อนข้างยับเยิน คือเต็มไปด้วยร่องรอยการอ่านมากมาย

ทั้งการขีดเส้นใต้ กากบาท การวงย่อหน้าที่น่าสนใจ และรอยพับตามหน้าต่างๆ

เพราะผมอ่านหนังสือแบบ “ใช้งาน”

ไม่ได้ถนอมหนังสือแบบ “นักอ่าน” ทั่วไป

พอพลิกอ่านซ้ำอีกที เราจะเจอ “รอยตำหนิ” โดยตั้งใจจากการอ่านครั้งแรกเต็มไปหมด

ถ้ามี “รอยตำหนิ” แสดงว่าเป็นประเด็นที่น่าสนใจ

จาก “อูบุนตุ” ก็ขยายวงไปเรื่องอื่นๆ

มีหลายเรื่องที่ยังไม่ได้เขียน

และมีหลายประเด็นที่อ่านซ้ำอีกครั้งก็ได้ความรู้สึกใหม่

อย่างเช่นเรื่องนี้

“เสาะหาอุทยานส่วนตัว”

มีหลายคนตั้งคำถามว่า “เนลสัน แมนเดลา” ใช้ชีวิตอย่างไรในเรือนจำที่สุดแสนหฤโหดยาวนานถึง 27 ปี

เขาติดคุกตั้งแต่ตุลาคม 2505 ตอนอายุ 44 ปี

ออกจากคุกเดือนกุมภาพันธ์ 2533 อายุ 72 ปี

ลองจินตนาการสิครับว่า ถ้าเป็นเราต้องใช้ชีวิตที่ไร้อิสรภาพยาวนานถึง 27 ปี เราจะทุกข์เพียงใด

และผมเชื่อว่า “แมนเดลา” คงได้รับแรงกดดันมากกว่านักโทษคนอื่นเหมือนนักโทษทางการเมืองของไทยในวันนี้

แค่รักษาลมหายใจก็ยากแล้ว

แต่ยังสามารถรักษา “อุดมการณ์” ให้คงอยู่ ไม่สั่นคลอนตามแรงกดดันที่โถมทับ

เขาทำได้อย่างไร

อะไรคือสิ่งที่หล่อเลี้ยงจิตใจของ “แมนเดลา”

 

ตอนอยู่ในคุกบนเกาะร็อบเบน “แมนเดลา” บอกว่าเป็นช่วงเวลาแห่งความเปล่าเปลี่ยวอ้างว้าง

“พวกผู้คุมแสนจะหยาบคายและโหดร้ายทารุณ งานที่ต้องทำก็หนักหนาเหลือทน”

นักโทษจะได้อนุญาตให้มีคนเยี่ยม 1 คน และจดหมาย 1 ฉบับ

ไม่ใช่ทุกวัน

ไม่ใช่ทุกสัปดาห์

และไม่ใช่ทุกเดือน

แต่ทุก 6 เดือน

1 ปี เขาจะได้เจอคนที่มาเยี่ยม 2 คน และได้อ่านจดหมายจากภายนอก 2 ฉบับ

มันเป็นสภาวะที่โหดร้ายมาก

ประมาณ 7 ปี หลังจากที่ถูกจำคุกบนเกาะแห่งนี้ “แมนเดลา” ตัดสินใจทำสวนปลูกผัก

เรื่องง่ายๆ แค่นี้ แต่ต้องใช้เวลานานเป็นเดือนกว่าจะได้รับอนุญาต

สนามดินหน้าแนวห้องขังของนักโทษ ขนาดกว้าง 1 หลา ยาว 35 ฟุต กลายเป็นพื้นที่ปลูกพืชผักสวนครัวแปลงเล็กๆ

ดินบริเวณนั้นแห้งผาก เต็มไปด้วยหิน

“แมนเดลา” ขอเมล็ดพันธุ์ผักจากมิตรสหายที่อยู่นอกคุก

ใช้มือค่อยๆ ขุดดิน ลงเมล็ดพันธุ์ และรดน้ำ

ช่วงหลังได้รับพลั่วและคราดอย่างละ 1 ชิ้น ให้ใช้แทน “มือ”

ในขณะที่นักโทษคนอื่นๆ กำลังนั่งเล่นหมากรุก อ่านหนังสือ หรือพูดคุยในสนาม

“แมนเดลา” ใช้เวลาอยู่กับสวนผักแปลงเล็กๆ ของเขา

เขาปลูกมะเขือเทศ หัวหอม พริก และผักขม

ผลผลิตทั้งหมดจะส่งไปที่ห้องครัวเพื่อเป็นอาหารของนักโทษ

แม้จะอยู่ในเรือนจำที่แร้นแค้น แต่ “แมนเดลา” ก็พยายามหา “ปุ๋ย” ให้กับพืชผักของเขา

“ปุ๋ย” ของเขาก็คือ “กระดูก” ของนักโทษที่ถูกฝังอยู่บนเกาะแห่งนี้

“แมนเดลา” เจอกระดูกเต็มไปหมด เขาค่อยๆ ทุบกระดูกให้ละเอียด แล้วนำไปตากแดดให้แห้งก่อนจะบดเป็นปุ๋ย

ตอนหลังผักที่ปลูกงามมาก จนเขาสามารถแบ่งให้กับผู้คุมเอากลับไปให้ครอบครัวได้

และเมื่อเขาถูกย้ายไปที่เรือนจำโพลส์มัวร์บนแผ่นดินใหญ่

“แมนเดลา” ก็ยังคงทำสวนผักของเขาในที่คุมขังเหมือนเดิม

แต่คราวนี้เขาได้รับผ่อนปรนมากขึ้น

บนชั้น 3 ของเรือนจำ มีระเบียงขนาดใหญ่ที่เปิดกว้างสู่ภายนอก

“แมนเดลา” สร้างสวนขนาดใหญ่ มีถังน้ำมันขนาด 44 แกลลอนจำนวน 32 ถัง

ผ่าครึ่งและใส่ดินลงไป

ผักที่ปลูกก็เพิ่มขึ้น คราวนี้มีทั้งมะเขือเทศ หัวหอม มะเขือม่วง สตรอว์เบอร์รี่ ผักขม กะหล่ำปลี ฯลฯ

มีปุ๋ยคอกอย่างดีให้

“แมนเดลา” จะใช้เวลาประมาณ 2 ชั่วโมงทุกๆ เช้าหลังจากออกกำลังกายขลุกอยู่ที่สวน

และอีกครั้งหนึ่งตอนบ่าย

“กิจกรรมนี้กลายเป็นบางสิ่งยิ่งกว่าการทำงาน เป็นช่วงเวลาแห่งการปลดปล่อยจิตใจ ซึ่งเขาสามารถทำในสิ่งที่สื่อถึงชีวิตและความคิดสร้างสรรค์”

“ริชาร์ด สเตงเกิล” ผู้เขียนหนังสือเล่มนี้บอกว่า ทุกครั้งที่ “แมนเดลา” เล่าเรื่องสวนของเขา

ใบหน้าจะฉายแววเบิกบานร่าเริง น้ำเสียงมีชีวิตชีวา

สำหรับเขา “สวนผัก” ไม่ใช่แค่ “สวนผัก”

แต่ที่นี่คือ “โลกส่วนตัว”

“มันเป็นสถานที่ฟื้นฟูจิตใจ”

“สวนผัก” เล็กๆ แห่งนี้ช่วยให้ “แมนเดลา” รักษาลมหายใจและความฝันเอาไว้ได้

โลกในเรือนจำ เขาไม่มีความเป็นส่วนตัว และมีสมบัติไม่กี่ชิ้น

สวนแห่งนี้เป็นสมบัติชิ้นเดียวที่เขาเป็นเจ้าของ

ในโลกที่เขาไม่สามารถควบคุมสิ่งใด

และบรรยากาศกดดันในคุกโบยตีความรู้สึกของเขาอยู่ทุกวัน

แต่เขายังมีที่แห่งหนึ่งที่งดงาม สดชื่น

สวนเล็กๆ แห่งนี้กลายเป็น “เกาะส่วนตัว” ของ “แมนเดลา”

ทำให้เขาอยู่กับตัวเองอย่างมีความสุข

เป็นที่หลบซ่อนความวุ่นวายในจิตใจ

บทเรียนสำคัญเรื่องหนึ่งที่เขาได้จากการถูกจำคุกในเรือนจำ คือ เขาได้เรียนรู้ความมหัศจรรย์ของต้นไม้

ใครจะนึกว่าการงอกงามหรือผลิใบของต้นไม้

จะเป็นน้ำที่ฉ่ำเย็นสำหรับจิตใจคนที่หมดสิ้นความหวัง

ต้นไม้งอกงาม

จิตใจเราก็เบิกบานและมีความหวัง

“แมนเดลา” จึงเชื่อว่าชีวิตเราทุกคนต้องมี “สวน” ของเราเอง

หางานที่รื่นรมย์ทางใจ

มีดินแดนที่มีแต่ “ความสุข”

เพื่อหลบพักจากความวุ่นวายต่างๆ

ไม่แปลกที่ “แมนเดลา” จะย้ำกับ “ริชาร์ด สเตงเกิล” หลายครั้งเรื่องนี้

“เธอต้องหาสวนของเธอนะ”