สิ่งแวดล้อม : ‘บางกลอย’ / ทวีศักดิ์ บุตรตัน

ทวีศักดิ์ บุตรตัน

สิ่งแวดล้อม / ทวีศักดิ์ บุตรตัน

[email protected]

 

‘บางกลอย’

 

พยายามทำความเข้าใจกับข่าวกะเหรี่ยงบางกลอยมาสักพักหนึ่งแล้ว แต่ยังรู้สึกสับสนอลหม่านกับข่าวนี้จนเกิดคำถามในใจว่า อะไรคือความจริงกันแน่

ทำไมเจ้าหน้าที่รัฐจึงสกัดชาวกะเหรี่ยงบางกลอยไม่ให้กลับเข้าไปอยู่ในป่าที่เรียกว่า “ใจแผ่นดิน” หรือบางกลอยบนของพื้นที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน จ.เพชรบุรี

ขณะที่ชาวกะเหรี่ยงเห็นว่าป่าใจแผ่นดินคือถิ่นฐานดั้งเดิมที่เคยอยู่มาร่วม 100 ปี ก่อนจะประกาศเป็นเขตอุทยานแห่งชาติเสียอีก

เจ้าหน้าที่รัฐบีบบังคับให้ชาวกะเหรี่ยงออกมาจากป่าใจแผ่นดินมาอยู่ที่บ้านโป่งลึก-บางกลอยล่าง ด้วยวิธีเผาทำลายยุ้งฉาง ที่พัก โดยอ้างว่าชาวกะเหรี่ยงเหล่านี้ตัดไม้ทำลายป่าและเป็นภัยต่อความมั่นคง

แต่ชาวกะเหรี่ยงยืนยัน การเผาป่าเป็นวิถีเกษตรดั้งเดิม หลังจากแผ้วถางมาแล้ว 1 เดือน ไม้ในไร่หมุนเวียนแห้งแล้วจึงได้เวลาเผา หากรอนานกว่านี้ ฝนอาจจะตก ไม่สามารถทำกินได้ตลอดทั้งปี

จริงหรือที่รัฐจัดสรรที่ดินให้ชาวกะเหรี่ยงได้อยู่ทำกินในบริเวณบ้านโป่งลึก-บางกลอยล่าง บนฝั่งแม่น้ำเพชรบุรี มีสิ่งอำนวยความสะดวกครบถ้วนทั้งโรงเรียน สถานีอนามัย แผงโซลาร์เซลล์ เสาสัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่ ฯลฯ

แต่ชาวกะเหรี่ยงกลับไม่ต้องการอยู่บ้านโป่งลึก-บางกลอยล่าง เพราะการทำมาหากินฝืดเคือง ปลูกข้าวไม่ได้ผล พื้นที่เป็นหินดินแข็ง

 

เจ้าหน้าที่อ้างว่า เมื่อชาวกะเหรี่ยงอพยพกลับไปอยู่ที่ป่าใจแผ่นดินแล้วตัดไม้ถางป่า เนื้อที่กว่า 20 ไร่ ฝ่ายชาวกะเหรี่ยงปฏิเสธและยืนยันเป็นไร่ซากที่ทำกินของชุมชนก่อนอพยพลงมาอยู่บางกลอยล่าง

แนวคิดที่ว่า ถ้าผลักดันให้ชาวกะเหรี่ยงออกจาก “ใจแผ่นดิน” ของอุทยานแห่งชาติแก่งกระจานซึ่งเป็นผืนป่าใหญ่ที่สุดในประเทศไทย มีความหลากหลายทางชีวภาพ เป็นพื้นที่ต้นน้ำของแม่น้ำเพชรบุรีและแม่น้ำปราณบุรี จะช่วยให้ป่าแห่งนี้มีความอุดมสมบูรณ์ตลอดไป เป็นแนวคิดที่ถูกต้องจริงหรือ?

เจ้าหน้าที่รัฐส่งเฮลิคอปเตอร์ขึ้นไปจับกุมชาวกะเหรี่ยงที่พยายามกลับขึ้นไปบนป่าใจแผ่นดิน ลงมาดำเนินคดีอีกรอบ

ท่ามกลางข้อสงสัยว่า ทำไมรัฐจึงใช้ความรุนแรงทั้งๆ ที่ก่อนหน้านี้รัฐเคยมีแนวนโยบายฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวกะเหรี่ยงที่เป็นชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิม

 

ผมไม่รู้ว่ารัฐจะหาทางออกกับกะเหรี่ยงบางกลอยด้วยสันติวิธีได้อย่างไร จะยินยอมให้กลับไปอยู่ในป่าใจแผ่นดินได้หรือไม่

แต่ในมุมมองของนักสิ่งแวดล้อมทั่วโลกเห็นว่า กลุ่มชนพื้นเมืองที่อยู่ในป่ามาตั้งแต่ดึกดำบรรพ์คือผู้พิทักษ์ป่าอันยิ่งใหญ่และเป็นแกนหลักที่ช่วยปกป้องภัยอันเกิดจากภาวะโลกร้อนอีกด้วยเพราะการดูแลผืนป่าให้สมบูรณ์จะช่วยดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์

กลุ่มชาติพันธุ์ ไม่ว่าจะเป็นชาวกะเหรี่ยง ชาวเผ่าปกากะญอบนดอยอินทนนท์ หรือเผ่าคายาโปในป่าอะเมซอน ประเทศบราซิล ชาวเผ่ามาไซในประเทศแทนซาเนีย ชาวเผ่าอะบอริจิ้น ประเทศออสเตรเลีย ล้วนแล้วมีส่วนสำคัญในการรักษาป่าไม้

ชาวเผ่าพื้นเมืองทั่วโลกมีวิถีชีวิตคล้ายๆ กัน อยู่แต่ในป่า ไม่ติดต่อกับโลกภายนอก จะเลือกพื้นที่เพื่อทำเกษตรเพื่อปลูกพืชข้าวมาประทังชีวิตเพียงเท่านั้น และถือเป็นเรื่องปกติที่ต้องตัดไม้ แต่เมื่อทำเกษตรเก็บเกี่ยวผลผลิตเสร็จแล้วจะปล่อยให้พื้นที่ฟื้นฟูสภาพกลับสู่ธรรมชาติ

ตอไม้ที่อยู่ในไร่จะแตกหน่อ ความเจริญงอกงามก็กลับมา จากนั้นชาวเผ่าพื้นเมืองก็ย้อนมาทำการเกษตรในพื้นที่เดิมอีกครั้ง

เป็นการจัดการทรัพยากรธรรมชาติด้วยภูมิปัญญาท้องถิ่นซึ่งมีการใช้ประโยชน์จากป่าและการอนุรักษ์ป่าให้มีความอุดมสมบูรณ์

ถ้าป่าพังย่อยยับ ชาวเผ่าพื้นเมืองก็อยู่ในพื้นที่ไม่ได้

 

หากเอาแผนที่ประเทศไทยมากาง จะเห็นว่าป่าเขียวชอุ่มฝั่งตะวันตกส่วนใหญ่เป็นป่าที่ชุมชนชาวกะเหรี่ยง กลุ่มชาติพันธุ์อื่นๆ อาศัยอยู่

เมื่อเทียบกับภาคเหนือ อีสานตอนบนหรือในบริเวณภาคใต้ พื้นที่ป่าถูกโค่นทำลายจนกลายเป็นภูเขาหัวโล้น

สาเหตุเพราะรัฐต่างหากที่อนุญาตให้มีสัมปทานป่าไม้ เปิดพื้นที่ให้นายทุนเข้าไปทำลายป่า มิใช่เป็นเพราะฝีมือของชนเผ่าพื้นเมือง

ชาวเผ่าพื้นเมืองในป่าอะเมซอน ทวีปอเมริกาใต้ก็เช่นกัน มีวิถีดำรงชีวิตคล้ายกับชาวเผ่าพื้นเมืองกะเหรี่ยงซึ่งมีการดูแลรักษาป่าอย่างเข้มแข็ง กระทั่งในบางครั้งเจอขบวนการค้าไม้ไล่ยิงแกนนำและข่มขู่บังคับให้ออกจากพื้นที่

มีการศึกษาพบว่า ชาวเผ่าพื้นเมืองในป่าอะเมซอนโค่นป่าน้อยมาก คิดเป็นสัดส่วนไม่ถึง 1 เปอร์เซ็นต์ เทียบกับพื้นที่อื่นๆ ในป่าอะเมซอนถูกโค่นมากถึง 7 เปอร์เซ็นต์

ส่วนผู้เชี่ยวชาญด้านอะบอริจิ้นของออสเตรเลียบอกว่า ชาวอะบอริจิ้นเรียนรู้ธรรมชาติอย่างลึกซึ้ง

รู้เรื่องของหญ้าชนิดไหนจะจัดการอย่างไร ถ้าเผาแล้วจะลุกลามไปแค่ไหน และมีผลต่อระบบนิเวศน์อย่างไร

ณ เวลานี้ ชาวเผ่าพื้นเมืองทั่วโลกมีอยู่ราว 370 ล้านคน คิดเป็นสัดส่วนไม่ถึง 5 เปอร์เซ็นต์ของประชากรโลกเสียด้วยซ้ำ

แต่คนเหล่านี้กลับมีการบริหารจัดการผืนดินและผืนป่าให้มีความอุดมสมบูรณ์ได้มากถึง 25 เปอร์เซ็นต์ และยังช่วยดูแลรักษาความหลากหลายทางชีวภาพของโลกได้มากถึง 80 เปอร์เซ็นต์

ในขณะเดียวกัน ชาวเผ่าพื้นเมืองทั่วโลก ต่างเจอชะตากรรมคล้ายๆ กันคือกระแสพัฒนาบุกถาโถมเข้ามา ไม่ว่าจะเป็นการเปิดพื้นที่ป่า ก่อสร้างชุมชน ทำถนน ทำเหมืองแร่หรืออนุญาตให้เป็นเขตอุตสาหกรรมป่าไม้

พื้นที่ป่าไม้ที่ชาวเผ่าพื้นเมืองเคยอยู่อาศัยลดลงอย่างมาก ประมาณว่าตั้งแต่ปี 2543 เป็นต้นมาพื้นที่ป่าไม้ลดลงราว 8.2 เปอร์เซ็นต์

ชาวกะเหรี่ยงใจแผ่นดินก็เช่นกัน เจอกระแสขับไล่จนต้องอพยพลงมาอยู่บ้านบางกลอย แต่ไม่สามารถทำมาหากินได้ สถานการณ์บีบบังคับให้ไปเป็นแรงงานในเมือง เมื่อเจอวิกฤตโควิด-19 งานก็หดหายจึงตัดสินใจหวนกลับเข้าป่าสู่วิถีเดิมอีกรอบ

การที่รัฐเอากฎหมายมาใช้กับชาวกะเหรี่ยงอย่างที่ปรากฏในข่าว ไม่น่าจะเป็นทางออกที่ถูกต้องและยั่งยืน