อนุสรณ์ ติปยานนท์ : In Books We Trust (4) ความตายของร้านหนังสือกับความทรงจำที่มีชีวิต

ท่าอากาศยานต่างความคิด

[email protected]

 

In Books We Trust (4)

 

หนังสือบางเล่มสูญหายไปจากคุณ ในชั่วชีวิตของคุณ มีหนังสือหลายเล่มผ่านเข้ามาให้ครอบครอง ให้ได้อ่าน ได้ประคองไว้ในมือ

แต่ครั้นแล้วเมื่อกาลเวลาผ่านไป หนังสือเหล่านั้นกลับพลัดหลงสูญหายไปจากคุณ คุณค้นหามันในทุกที่ พยายามขบคิดว่าอ่านมันครั้งสุดท้ายเมื่อใด พยายามทบทวนว่าได้ให้ใครผู้ใดบ้างหยิบยืมหรือแบ่งปันมันไปสู่การอ่านที่ทั่วถึง

แต่ไม่ว่าคุณจะค้นหามันเนิ่นนานเพียงใด พยายามทบทวนหรือรื้อฟื้นความทรงจำมากเพียงใด คุณกลับไม่อาจหามันได้พบ หนังสือเล่มนั้น หนังสือเหล่านั้นสูญหายไปจากคุณตลอดกาล

แต่การสูญหายเหล่านั้นไม่ใช่สิ่งที่ทดแทนไม่ได้ หากหลงเหลือหนังสือดังกล่าวในที่ใดสักแห่ง คุณย่อมคาดหวังที่จะได้อ่านหนังสือเล่มนั้นอีกครั้งเสมอ

คุณอาจทำสำเนา ไปจนถึงนั่งคัดลอกหนังสือทั้งเล่มด้วยลายมือของคุณหรือคุณอาจจ้างวานใครให้กระทำแทน การพิมพ์ยิ่งทำให้ความหวังของคุณมีมากกว่าเดิม

หนังสือบางเล่มพิมพ์ซ้ำแล้วซ้ำเล่า หนังสือบางเล่มปรากฏตนครั้งแล้วครั้งเล่า การสูญหายของหนังสือเล่มที่คุณเคยมีอาจเป็นสิ่งที่ทดแทนไม่ได้

แต่การได้อ่านมันอีกครั้งในรูปแบบใดก็ตามย่อมเยียวยาจิตใจคุณในที่สุด

 

แท้จริงแล้วสิ่งที่สถิตในความทรงจำของคุณมากกว่าการสูญหายของหนังสือคือการจากไปของร้านหนังสือ

สำหรับหนังสือนั้น ในด้านหนึ่งมันคือวัตถุ คือสิ่งของที่สามารถผลิตซ้ำได้ แต่ร้านหนังสือคือพื้นที่ว่าง คือผู้คน ร้านหนังสือที่เคยมีในที่ใดก็ตามเมื่อลับหายไปย่อมเป็นสิ่งที่ทดแทนได้ยาก

คุณอาจหลงเหลือความทรงจำเกี่ยวกับมัน

คุณอาจนึกถึงมันได้อย่างแจ่มชัด แต่การคาดหวังให้มันกลับคืนมา ให้มันกลับมามีชีวิตดังเดิมไม่อาจเป็นจริงหรือกระทำได้

การจากไปของร้านหนังสือให้ความปวดร้าวต่อคุณมากกว่าการจากไปของหนังสือหลายเท่านัก

ในชั่วชีวิตของผม มีความทรงจำต่อร้านหนังสือที่จากไปทับถมอยู่ไม่น้อย

ร้านหนังสือร้านหนึ่งตั้งอยู่ในบริเวณที่ยากจะเชื่อว่าจะมีคนรักหนังสือเยี่ยมกรายมา แต่มันก็ตั้งอยู่เช่นนั้นนานนับนับปี ในพื้นที่ที่เต็มไปด้วยแสงสีและธุรกิจด้านกามารมณ์

ร้านหนังสือชื่อ Bookazine ตั้งอยู่กลางพัฒน์พงศ์ กว้างขวาง โอ่โถงและอุดมไปด้วยหนังสือมีค่าจำนวนมาก ไม่มีการเบียดเสียดและแออัด โดยเฉพาะในยามดึกสงัดที่หลายธุรกิจปิดพักผ่อน ร้านหนังสือแห่งนี้ยังเปิดให้บริการ เที่ยงคืนคือเวลาปิดของมัน

หนังสือออกแบบ หนังสือวรรณกรรมต่างประเทศ หนังสือพิมพ์จากนานาชาติล้วนวางอยู่อย่างสงบบนชั้น

ภาพของใครบางคนที่พลิกหนังสือในร้านขึ้นอ่านอย่างตั้งใจขัดแย้งมากมายเหลือเกินกับภาพเบื้องนอกที่โคมไฟสีชมพูและหญิงสาวในชุดเสื้อผ้าน้อยชิ้นกำลังโบกมือเรียกผู้ผ่านไปมาให้เข้าเที่ยวชมสถานบริการของพวกเธอ พนักงานหลังเคาน์เตอร์จะหรี่ตาเล็กน้อยเมื่อมีใครเดินเข้าไปในร้านก่อนจะยิ้มและปล่อยให้ทุกคนใช้ชีวิตตามที่ตนปรารถนา

เขาจะเอ่ยเสียงอีกครั้งเมื่อใครบางคนนำหนังสือไปชำระเงิน

แม้ทุกอย่างในร้านจะแลดูแปลกตา แต่ร้านหนังสือร้านนี้กลับปราศจากความหวั่นไหว มันตั้งมั่นกับการเป็นร้านหนังสือในฐานะสิ่งแปลกปลอม

และนอกเหนือกว่านั้น มันยังประกาศตนในฐานะของคนแปลกหน้าที่ยอมรับว่าถึงจะมีความแตกต่างใดๆ กับผู้คนโดยรอบ เขาผู้นั้นก็ยังยืนยันในความเป็นตัวของตัวเองเสมอ

แต่กระนั้น ในที่สุด ร้านหนังสือแห่งนี้ก็จากไป ทิ้งไว้เพียงแค่ความทรงจำ

 

อาจเป็นเพราะผลประกอบการที่ไม่ให้ตัวเลขสวยหรูหรืออาจเป็นเพราะความเหนื่อยอ่อนจากการต้องดำรงตนเป็นคนแปลกหน้าก็เหลือจะเดา

เย็นวันหนึ่งเมื่อผมไปเยือนร้านหนังสือแห่งนี้ สิ่งที่พบคือห้องโล่งว่างเปล่า ประตูกระจกเบื้องนอกแขวนป้ายคำว่า Closed หรือปิด ไม่มีหนังสือแม้เพียงสักเล่มภายในร้าน มีเพียงชั้นหนังสือและราวแขวนหนังสือพิมพ์ที่บ่งบอกว่ามันเคยเป็นร้านหนังสือ

พนักงานหลังเคาน์เตอร์ผู้ที่มีดวงตาซึมเซาก็จากไปด้วย

และอีกหนึ่งอาทิตย์ต่อมา พื้นที่ที่เคยเป็นร้านหนังสือร้านนี้ก็กลายสภาพเป็นบาร์แห่งใหม่ไปในที่สุด

พื้นที่ที่เคยเป็นร้านหนังสือให้ความรู้สึกที่อัศจรรย์แก่คุณ ทุกครั้งที่คุณเดินผ่าน ความรู้สึกพลัดตกไปในอดีตจะบังเกิดขึ้น

คุณเห็นภาพของใครบางคนที่คุณคุ้นเคยในที่แห่งนั้น

คุณเห็นภาพหนังสือหลายต่อหลายเล่มที่คุณซื้อหาที่นั่น

คุณได้กลิ่นของหนังสือ กลิ่นของหนังสือใหม่ที่ออกจากโรงพิมพ์ กลิ่นของหมึกพิมพ์บนหนังสือพิมพ์รายวัน กลิ่นของสิ่งแวดล้อมรอบข้าง

ผัสสะต่างๆ นั้นเองที่ทำให้ความทรงจำของคุณต่อร้านหนังสือที่หายไปไม่มีวันจืดจาง

 

ประตูทางเข้ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ฝั่งท่าพระจันทร์เคยมีแผงหนังสือแห่งหนึ่ง เราอาจเรียกพื้นที่ราวสองถึงสามตารางเมตรนี้ว่าแผงหนังสือ

แต่สำหรับคนรักหนังสือแล้ว แผงหนังสือดังกล่าวคือร้านหนังสือที่อยู่ในความทรงจำ แต่เช้าตรู่ ด้านหนึ่งของแผงหนังสือแห่งหนึ่งจะเนืองแน่นไปด้วยหนังสือพิมพ์ประจำวันโดยเฉพาะหนังสือพิมพ์มติชนที่ได้รับความนิยมอย่างยิ่งในหมู่นักศึกษา

ส่วนอีกด้านหนึ่งนั้นจะวางเรียงไปด้วยหนังสือที่ออกใหม่ประจำสัปดาห์ หนังสือเหล่านั้นจะอวดปกโดดเด่น ในขณะที่หนังสือที่ออกวางจำหน่ายในอาทิตย์ก่อนหน้าจะแอบตัวลงสู่เบื้องล่าง พื้นที่เพียงเท่านี้ถูกดำเนินการโดยผู้ขายหนังสือวัยหนุ่ม-สาวคู่หนึ่งที่เพียงมีบทสนทนาคุณจะทราบได้ทันทีว่าพวกเขาเป็นคนรักหนังสือเช่นกัน

หนังสือที่หมดจากแผงรวดเร็วและถูกถามหาจะถูกเติมลงบนแผงในอีกไม่กี่วันต่อมา

หนังสือที่คงความนิยมอย่าง ความเป็นมาของคำสยาม ไทย ลาว และขอม ของจิตร ภูมิศักดิ์ หรือวิถีแห่งเต๋า ของพจนา จันทรสันติ จะคงอยู่บนแผงแทบตลอดเวลา

หนังสือที่หายากและอ่านยากอย่างนวนิยายเรื่องเดเมียน ของเฮอร์มัน เฮสเส จะปรากฏตัวเป็นครั้งคราว

แต่กระนั้นแผงหนังสือแห่งนี้แทบไม่เคยมีเวลาว่าง เว้นไว้ในบ่ายวันเสาร์อันเกียจคร้านเท่านั้นเอง

หากความทรงจำของผมทำการไม่ผิด แผงหนังสือแห่งนี้มีวันพักผ่อนในวันอาทิตย์ และเมื่อถึงเช้าวันจันทร์ นักศึกษาและอาจารย์จำนวนมากจะหยุดยืนที่แผงดังกล่าว พวกเขาหยิบหนังสือเล่มใหม่ใส่มือ ชำระเงินและจากไป

ยามสาย ใครบางคนที่ไม่มีเรียนในช่วงเวลานั้นจะแวะมาหาซื้อหนังสือไว้อ่าน

และเมื่อยามเที่ยงที่ทุกคนมุ่งหน้าออกมารับประทานอาหาร แผงหนังสือแห่งนี้จะมีชีวิตชีวาอย่างยิ่งยวด

ผู้คนเบียดเสียดกันซื้อหนังสือพิมพ์กรอบบ่ายหลังมื้ออาหาร ซื้อหนังสือที่น่าสนใจประจำวัน

นักอ่านวรรณกรรมหยิบคนดีศรีอยุธยา ของเสนีย์ เสาวพงศ์ ใส่ย่าม

กวีหนุ่มคนหนึ่งหยิบกวีนิพนธ์ของอ้ายชิงใส่มือ

เสียงเพลงจากร้านขายเทปที่อยู่ไม่ไกลนักทำหน้าที่ราวดนตรีประกอบ กลิ่นหอมของยาจีนจากร้านก๋วยเตี๋ยวฝั่งตรงข้ามทำหน้าที่ดังน้ำหอมปรับอากาศ

สภาวะหยุดพักของแผงหนังสือแห่งนี้จะมีขึ้นก็ต่อเมื่อพายุฝนเข้ากระหน่ำ พลาสติกใสถูกคลี่ออกปกป้องหนังสือ

และเมื่อสายฝนสงบลง ใครบางคนก็จะเดินออกมาจากที่ใดสักที่บริเวณนั้นเพื่อซื้อหนังสือที่เขาต้องการ

 

แผงหนังสือแห่งนั้นจากไปในปีใด ผมยากจะบ่งบอก หลังการจากพรากจากพื้นที่ดังกล่าวไปหลายปี การกลับมาพบว่าบริเวณที่เคยเป็นแผงหนังสือที่อิงแอบกับกำแพงมหาวิทยาลัยได้เปลี่ยนไปแล้ว

กำแพงบางส่วนถูกรื้อออกและพื้นที่ดังกล่าวได้กลายสภาพเป็นธนาคารแห่งหนึ่ง ช่างเป็นสิ่งที่แปลกตา

ศูนย์หนังสือในบริเวณที่ไม่ไกลออกไปนักทำหน้าที่จำหน่ายหนังสือให้ผู้สนใจไม่ต่างจากร้านหนังสือที่อยู่อีกฟากของถนน

แต่กระนั้นมันก็หาได้ให้ความรู้สึกแบบที่มีมาของแผงหนังสือดังกล่าว

ความรู้สึกแห่งความใกล้ชิด เป็นกันเอง และเปี่ยมด้วยความคุ้นเคย แม้ว่าถึงที่สุดแล้ว

เราจะไม่รู้อะไรเกี่ยวกับผู้เป็นเจ้าของแผงหนังสือนั้นเลย

 

ความรู้สึกคุ้นเคยดังกล่าวเกิดจากความรู้สึกรักและลุ่มหลงในหนังสือ สายใยบางๆ ที่เชื่อมโยงคนนับหมื่นแสน นับล้านเข้าด้วยกัน ขึ้นรถประจำทางสักคันในเมืองแปลกหน้าที่คุณไม่เคยไป คุณนั่งลงบนเก้าอี้ตัวที่ว่าง เปิดหนังสือในมือขึ้นอ่าน พลางครุ่นคิดถึงการเดินทางและสิ่งที่ต้องพบเจอ

แต่แล้วเมื่อเหลียวมองไปรอบตัว ไม่ไกลจากที่นั่งของคุณ ใครอีกคนกำลังเปิดหนังสือของเขาขึ้นอ่านเช่นกัน ความรู้สึกโดดเดี่ยวหายไป คุณรู้สึกคล้ายดังมีเพื่อน แม้จะเป็นเพื่อนที่คุณไม่รู้จักเขาเลยก็ตาม

มีร้านหนังสือร้านหนึ่งตั้งอยู่บนปากทางเข้าซอยเล็กๆ ซอยหนึ่งบนถนนสุขุมวิท ชื่อของร้านคือ “เทศภักดิ์” ตัวร้านหนังสือตั้งอยู่หัวมุม ตำแหน่งของร้านดีเยี่ยม กระจกใสรอบด้านอวดให้เห็นหนังสือจำนวนมากภายในร้าน

แต่ที่สำคัญกว่าสิ่งใดคือผู้เป็นเจ้าของร้านที่นั่งอยู่ภายในร้าน เปิดกรอบกระจกหน้าร้านเล็กน้อยเพื่อระบายควันบุหรี่ของเขาและรับเงินและทอนเงินจากหนังสือตรงแผงใต้กรอบกระจกนั้น

ท่วงท่าของชายร่างผอมสูงที่แลดูเป็นกันเองทำให้ผมแวะร้านหนังสือแห่งนี้แทบทุกครั้งที่ผ่านไป

ไม่ว่าจะพบกันครั้งแรกหรือในครั้งถัดมาความรู้สึกคุ้นเคยคือสิ่งที่เรามีต่อร้านหนังสือแห่งนี้และต่อผู้เป็นเจ้าของร้านหนังสือแห่งนี้

เนิ่นนานนับปีก่อนที่ผมจะรู้ว่าชายรูปร่างผอมสูงที่นั่งอยู่ในร้านบริเวณกรอบบานเลื่อนนั้นคือคุณ “เทศภักดิ์ นิยมเหตุ” นักแปลหนังสือชื่อดัง

ผลงานแปลของเขาไม่ว่าจะเป็นหลายรักของโดบี้ ฟ้าใหม่ในซานมาร์ดก ไปจนถึงแผ่นดินนี้เราจองเป็นหนังสือติดอันดับขายดี

บทสัมภาษณ์ของเขาในนิตยสารไฮคลาสฉบับหนึ่งทำให้ผมได้รู้จักเขารวมถึงรู้จักที่มาของร้านหนังสือแห่งนี้ด้วย

หลังการอ่านบทสัมภาษณ์ชิ้นนั้น ทุกครั้งที่ผมไปที่ร้านหนังสือแห่งนี้ ความรู้สึกที่มีต่อร้านได้แปรเปลี่ยนเป็นดังการเดินเข้าไปในบ้านส่วนตัวที่ผู้เป็นเจ้าของยินดีต้อนรับทุกคนที่ผ่านเข้ามาอย่างดียิ่ง

คุณ “เทศภักดิ์” จะนั่งมองดูผู้คนที่ผ่านไปมา สลับกับการจิบเครื่องดื่มในมือ จังหวะชีวิตในร้านแห่งนี้เรียบง่ายและอ้อยอิ่งราวกับการพลิกหน้าหนังสือ

 

แต่กระนั้น หลังการจากไปของคุณ “เทศภักดิ์” ในที่สุดร้านหนังสือแห่งนี้ก็ลาลับไปด้วยในเวลาต่อมา

สถานีรถไฟฟ้าถูกสร้างขึ้นไม่ไกล ผู้คนพลุกพล่านกว่าเดิม

ปากซอยสุขุมวิท 79 ไม่เงียบเหงาดังก่อน

แต่กระนั้นเอง เมื่อเดินผ่านพื้นที่หัวมุมดังกล่าว โลกในอดีตของร้านหนังสือ “เทศภักดิ์” สำหรับผมก็กลับคืนมา

ผมเห็นหนังสือและคิดถึงความรู้สึกที่คุ้นเคยที่ชายร่างผอมสูงคนหนึ่งจะมองโลกข้างนอกจากสายตาของเขาที่อยู่ใน “ร้านหนังสือ”