ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 19 - 25 มีนาคม 2564 |
---|---|
คอลัมน์ | On History |
ผู้เขียน | ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ |
เผยแพร่ |
ที่วัดพระเชตุพนฯ หรือที่ใครต่อใครนิยมเรียกกันแบบสะดวกปากมากกว่าว่า “วัดโพธิ์” นั้น
นอกจากจะมีประติมากรรมรูป “ฤๅษีดัดตน” ในอิริยาบถต่างๆ ประดับประดาอยู่ที่เขามอ (คือภูเขาจำลอง ที่ใช้ประดับตกแต่งในสวนหรืออุทยาน โดยคำว่า “มอ” นั้น เข้าใจว่ากร่อนมาจากคำว่า “ถมอ” ที่แปลว่า “หิน” ในภาษาเขมร) ทั้งหลาย ที่สร้างรายล้อมรอบระเบียงคดของพระอุโบสถแล้ว ก็ยังมีจารึกที่เรียกกันว่า “จารึกโคลงภาพฤๅษีดัดตน” ประดับอยู่ในศาลารายหลังต่างๆ ภายในวัดอีกด้วย
และก็เป็นข้อความที่อยู่ในจารึกเหล่านี้นี่เองที่บอกกับเราว่า เมื่อเรือน พ.ศ.2379 รัชกาลที่ 3 ได้มีรับสั่งให้นำ “สังกสีดีบุกผสม หล่อรูป นักสิทธิ์แปดสิบให้ เทอดถ้าดัดตน” (อักขรวิธีตามจารึก)
ข้อความข้างต้นสามารถแปลไทยเป็นไทยอีกที เพื่อให้อ่านเข้าใจง่ายขึ้นได้ว่า รัชกาลที่ 3 ได้รับสั่งให้หล่อรูปสำริด “นักสิทธิ์” ดัดตนขึ้นมา 80 ตน
ส่วนเจ้า “นักสิทธิ์” ที่ว่านี่คือ “สิทธะ” ในปรัมปราคติของชมพูทวีป ซึ่งมีความหมายแตกต่างกันไปในหลากหลายคัมภีร์ แถมยังต่างกันในรายละเอียดของแต่ละศาสนาอีกด้วย
แต่รวมๆ แล้วก็หมายถึง ผู้วิเศษ ผู้มีฤทธิ์ หรือผู้บรรลุธรรมชั้นสูง
ก็อย่างที่โลกภาษาไทยเรารับเอามาแล้วมักจะให้ภาพแบบเหมารวมว่าเป็น “ฤๅษี” นั่นแหละครับ
แต่ถ้าจะว่ากันตามคติของชมพูทวีปอย่างเคร่งครัด “ฤๅษี” กับ “นักสิทธิ์” นั้นถึงจะมีภาพลักษณ์ที่ใกล้เคียงกันอยู่มาก แต่ก็ไม่น่าจะหมายถึงสิ่งเดียวกันเสียทีเดียว
ข้อความในคัมภีร์ศักดิ์สิทธิ์ระดับที่นับเป็นหนึ่งในมหาปุราณะ (คัมภีร์ในศาสนาประเภทปุราณะของพราหมณ์มีนับพันฉบับ แต่ที่ถูกยกเป็นฉบับมหาปุราณะมีเพียง 18 ฉบับ) ซึ่งรู้จักกันอย่างแพร่หลายในศาสนาพราหมณ์-ฮินดูอย่างอัคนิปุราณะ ระบุว่าตัวอักษร “ฤ” มีความหมายว่า “เสียง” และคำว่า “ฤๅษี” ก็มีรากมาจากความหมายเดียวกันนี้เอง
ความในอัคนิปุราณะตอนนี้มักถูกนำไปอธิบายความกันต่อไปว่า ในยุคสมัยที่ยังไม่นิยมบันทึกข้อความกันเป็นตัวอักษร พระเวทหรือศาสตร์ต่างๆ นั้นถูกท่องบ่นและถ่ายทอดผ่านทาง “เสียง” ที่เปล่งออกจากปากของฤๅษีนี้เอง
ไม่ว่าคำอธิบายนี้จะถูกต้องหรือไม่ก็ตาม แต่ก็ช่วยให้เราเห็นภาพของ “ฤๅษี” ในความหมายของโลกแห่งความเป็นจริง มากกว่าเรื่องของอิทธิปาฏิหาริย์ ว่าหมายถึง “นักบวช”
แต่นักบวชในที่นี้นั้นต่างจาก “พราหมณ์” เพราะฤๅษีนั้นสามารถมาจากวรรณะใดก็ได้ ไม่จำเป็นต้องเป็นบุคคลที่เกิดในวรรณะพราหมณ์เท่านั้น
ดังปรากฏมีฤๅษีประเภทหนึ่งในปรัมปราคติของพวกพราหมณ์ที่เรียกว่า “ราชฤๅษี” คือกษัตริย์ที่สละราชย์ออกบวช เป็นต้น
ในกรณีความเข้าใจพื้นฐานของศาสนาพราหมณ์-ฮินดูแล้ว “ฤๅษี” จึงแตกต่างจาก “นักสิทธิ์” เพราะหมายถึงผู้ปฏิบัติ มากกว่าสิ่งมีชีวิตในอีกสปีชีส์หนึ่ง ที่มีอำนาจวิเศษเหนือมนุษย์
แต่ก็แน่นอนนะครับว่าในแง่ของปรัมปราคติ โดยเฉพาะในศาสนาพราหมณ์-ฮินดูนั้น ฤๅษีย่อมมีฤทธิ์วิเศษ แถมฤๅษีบางตนถึงกับมีอิทธิเดชขนาดที่สาปพระอินทร์และเทวดาในปกครองของพระอินทร์ให้ไม่มีฤทธิ์ได้เสียด้วยซ้ำไป
ภาพของ “ฤๅษี” กับ “นักสิทธิ์” จึงปนๆ และคล้ายคลึงกันอยู่มาตั้งแต่ในชมพูทวีปแล้วนั่นแหละ
ผมไม่แน่ใจนักว่า ในสมัยรัชกาลที่ 3 ความเข้าใจเรื่อง “ฤๅษี” และ “นักสิทธิ์” นั้น ผู้คน โดยเฉพาะบรรดานักปราชญ์ผู้ประพันธ์สิ่งที่ทุกวันนี้เราเรียกกันว่า โคลงภาพฤๅษีดัดตนนั้น จะยังสามารถจำแนกแยกจากกันเหมือนชุดความรู้เมื่อแรกมีในชมพูทวีปได้หรือเปล่า? (เพราะผมเองก็ไม่คิดว่าผู้คนในสมัยนั้นจะไม่สับสนกับคำศัพท์ที่ต้องค้นไปถึงต้นตอในคัมภีร์ทางศาสนาเหล่านี้)
แต่ก็อยากจะตั้งข้อสังเกตไว้ด้วยว่า เมื่อครั้งที่มีการสร้างประติมากรรมรูปฤๅษีดัดตนเหล่านี้ พร้อมๆ กับที่มีการจารึกโคลงภาพฤๅษีดัดตนชุดนี้นั้น ได้มีการรวบรวมเอาผู้วิเศษที่อยู่นอกเหนือจักรวาลวิทยาของศาสนาพราหมณ์-ฮินดู และศาสนาอื่นๆ ในชมพูทวีปเอาไว้ด้วย
ตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุดน่าจะเป็นภาพของ “โยฮัน” ที่ในโคลงภาพฤๅษีดัดตนระบุว่า “ปริพาชกนี้ชื่อโยฮัน แลเฮย” ซึ่งก็ยังมีรูปประติมากรรมอยู่ในเขามอที่วัดโพธิ์มาจนทุกวันนี้
คำว่า “ปริพาชก” นั้นมีความหมายตรงตัวว่า ผู้จาริกไป หรือผู้ท่องเที่ยวไป แต่โดยทั่วไปแล้วในโลกของภาษาไทยมักจะหมายถึง “นักบวชนอกพุทธศาสนา” ซึ่งก็เห็นได้ชัดเจนจากทั้งชื่อ และเสื้อผ้าหน้าผมของโยฮัน โดยเข้าใจว่าน่าจะหมายถึงนักบวชโยฮัน ผู้ทำพิธีล้างบาปให้พระคริสต์
แต่โยฮันก็ไม่ใช่อะไรที่เรียกว่าปริพาชก (ควรสังเกตด้วยว่า เมื่อในโลกภาษาไทยมักจะใช้คำนี้ในความหมายของนักบวชนอกพุทธศาสนาแล้ว ทำไมจึงไม่เรียกฤๅษีของพวกพราหมณ์-ฮินดูว่า ปริพาชกด้วย?) คนเดียวที่ปรากฏอยู่ในโคลงภาพฤๅษีดัดตนหรอกนะครับ ในโคลงภาพชุดนี้ยังมีปริพาชกจากจีนอยู่อีกด้วย ดังความที่ว่า
“ผู้ผนวดจีนแจ้งชื่อ หลี่เจ๋ง อยู่เขตรเขาซ่าเหล็ง ติ่งสิ้ว” (อักขรวิธีตามจารึก)
“หลี่เจ๋ง” ที่ว่านี้คงจะหมายถึง “หลี่จิ้ง” จากตำนานโป๊ยเซียน ที่เป็นชาวเมือง “ซวนหยวน” (เพี้ยนเป็น “ซ่าเหล็ง” ในจารึก) ส่วนคำว่า “ติ่งสิ้ว” ในจารึกนั้นควรจะหมายถึง “ติ่งเซี้ยว” ที่หมายถึงราชวงศ์ถัง
เพราะหลี่จิ้งเป็นขุนพลผู้เชี่ยวชาญด้านอักษรศาสตร์ที่มีชีวิตอยู่จริงระหว่างเรือน พ.ศ.1113-1192 ตรงกับช่วงราชวงศ์ถังนั่นเอง
สรุปง่ายๆ ได้ว่า ไม่ได้มีเฉพาะแค่นักสิทธิ์ หรือฤๅษีจากชมพูทวีป ไม่ว่าจะในศาสนาพราหมณ์-ฮินดู หรือศาสนาพุทธหรอกนะครับ ที่ถูกอัญเชิญมาเป็นแบรนด์ แอมบาสซาเดอร์ รอบๆ เขามอที่วัดโพธิ์ เพราะมีทั้งนักบวชในศาสนาคริสต์และเซียนศาสนาเต๋าของจีนที่ถูกอัญเชิญมาอยู่ที่นี่ด้วย
และเอาเข้าจริงแล้วในบรรดาฤๅษี นักสิทธิ์ หรือผู้วิเศษที่ถูกนำมาแสดงความ “ดัดตน” อยู่ที่วัดโพธิ์นั้นก็ไม่ได้มีเฉพาะฤๅษีของพราหมณ์ชมพูทวีปเท่านั้น เพราะมีในโคลงภาพฤๅษีดัดตนนั้นระบุชื่อทั้งฤๅษีจากรามเกียรติ์อย่าง ฤๅษีกไลยโกฏ ที่มีหน้าเป็นกวาง, ฤๅษีสังปติเหงะจากอิเหนา, ฤๅษีมโนชจากเนมิราชชาดกในศาสนาพุทธ, ฤๅษีอัจนะคาวี-ฤๅษียุทอักขระ-ฤๅษียาคะ ในตำนานพื้นเมืองของไทยที่ถูกนำชื่อไปตั้งเป็นชื่อเมืองอยุธยา (จารึกฤๅษีชุดนี้เลือนหายไปหนึ่งตน) และแม้แต่ฤๅษีวรเชษฐ ในนิทานพื้นเมืองอย่างเรื่องพระรถเมรี เป็นต้น
พูดง่ายๆ ว่า โดยนัยยะหนึ่งแล้ว บรรดานักสิทธิ์และฤๅษีที่ถูกนำมาแสดงท่าทางดัดตนเหล่านี้ ก็คือการรวบรวมรายชื่อผู้วิเศษที่มีชื่อเสียงเท่าที่ในสมัยโน้นรู้จัก มาจัดเรียงไว้ในแผนภูมิจักรวาล ที่แสดงออกผ่านทางแผนผังของวัดโพธิ์นั่แหละครับ
ถึงแม้ว่าข้อความในจารึกโคลงภาพฤๅษีดัดตนจะระบุเอาไว้ชัดเจนว่า รูปฤๅษีและจารึกเหล่านี้ถูกสร้างขึ้นเพื่อ “เป็นประโยชน์นรชาติสิ้น สบสถาน เฉกเช่นโอสถทาน ท่านให้ ภูลเพ่อมพุทธสมภาร สมโพธิ์ พระนา ประกาศพระเกีรยติ์ยศไว้ ตราบฟ้าดินสูญ” (อักขรวิธีตามจารึก)
หมายความว่า สร้างขึ้นเพื่อเป็นการให้ทานรักษาโรค เพื่อเป็นบุญบารมีแก่รัชกาลที่ 3 เอง
แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้นะครับว่า การระบุชื่อผู้วิเศษ (ไม่ว่าจะเรียกว่าฤๅษี หรืออะไรก็ตาม) เหล่านี้ เป็นการรวบรวม และสร้างจักรวาลวิทยาตามปรัมปราคติใหม่ในยุคต้นกรุงรัตนโกสินทร์
ไม่ต่างอะไรกับการชำระบทละครรามเกียรติ์ หรือไตรภูมิโลกวินิจฉยกถา ที่รวบรวมเอาความรู้เกี่ยวกับรามายณะและไตรภูมิทั้งหลายจากตำราสารพัดชนิดมารวบรวมและเรียบเรียงเข้าด้วยกันอย่างที่ไม่มีมาก่อนหน้ายุคกรุงเทพฯ
ประติมากรรมรูปที่มักจะเรียกกันว่า “ฤๅษีดัดตน” ในวัดโพธิ์ จึงเป็นการรวบรวมเอาบรรดาผู้วิเศษ ผู้มีอิทธิฤทธิ์ ทั้งในศาสนาผี, พราหมณ์, พุทธ, คริสต์ และแม้กระทั่งเต๋าเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในจักรวาลวิทยาของบุญบารมีที่รัชกาลที่ 3 ได้บำเพ็ญเพียรเอาไว้ที่วัดแห่งนี้
ในนามของ “โอสถทาน” นั่นเอง