โฟกัสพระเครื่อง : เหรียญรูปเหมือนรุ่นแรก หลวงพ่อสาลี วัดเขาวัง พระเกจิดังตำนานราชบุรี

(ซ้าย) หลวงพ่อสาลี ธัมมสโร (ขวา) เหรียญหลวงพ่อสาลี รุ่นแรก

โฟกัสพระเครื่อง–(ฉัตรชัย สุนทรส)

โคมคำ / [email protected]

 

เหรียญรูปเหมือนรุ่นแรก

หลวงพ่อสาลี วัดเขาวัง

พระเกจิดังตำนานราชบุรี

 

“หลวงพ่อสาลี ธัมมสโร” หรือ “พระครูพรหมสมาจาร” วัดเขาวัง อ.เมือง จ.ราชบุรี พระเกจิอาจารย์ชื่อดังแห่งราชบุรี ที่มีผู้เลื่อมใสศรัทธาจำนวนมาก

วัตถุมงคลเป็นหนึ่งในตำนานพระเครื่องเมืองราชบุรี ที่มีประสบการณ์มากมาย โดยเฉพาะ “เหรียญรูปเหมือนรุ่นแรก”

สร้างขึ้นในปี พ.ศ.2507 ที่ระลึกงานทำบุญอายุครบ 80 ปี โดยนายสมศักดิ์ นาคสุข เป็นผู้สร้างถวาย

เป็นเหรียญรุ่นแรกและรุ่นเดียวที่สร้างไว้ มีการสร้างด้วยเนื้อทองแดงรมดำเพียงเนื้อเดียวเท่านั้น จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้ แต่จากจำนวนที่พบเห็นหมุนเวียนอยู่ ทำให้ทราบได้ว่าสร้างในจำนวนที่น้อยมาก ประมาณ 1,000 เหรียญ

ลักษณะเป็นเหรียญกลมรูปไข่ปั๊ม มีหูในตัว ด้านหน้าเหรียญ เป็นรูปเหมือนห่มจีวรลดไหล่ พาดผ้าสังฆาฏิ ใต้รูปเหมือนเขียนคำว่า “พระครูพรหมสมาจาร”

ด้านหลัง มีอักขระยันต์ ใต้ยันต์เขียนคำว่า “วัดเขาวัง ราชบุรี”

ด้วยพุทธคุณโดดเด่นในเรื่องเมตตามหานิยมและค้าขาย จึงทำให้มักไปอยู่ในครอบครองของบรรดาเจ้าสัวต่างๆ เสียเป็นส่วนมาก

จัดเป็นเหรียญหายากของจังหวัดราชบุรีอีกเหรียญเลยทีเดียว

 

มีนามเดิมว่าสาลี นามสกุลสุวรรณรังษี เกิดเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 15 พฤศจิกายน 2426 ที่บ้านเกาะปม อ.ห้วยคต จ.อุทัยธานี บิดาชื่อนายดำ สุวรรณรังษี มีอาชีพเป็นนายอากรและทำนาทำสวน มารดาชื่อนางวัณณา สุวรรณรังษี มีพี่-น้องรวมกัน 7 คน ท่านเป็นคนที่ 6

เมื่อเยาว์วัยได้เรียนหนังสือกับบิดาที่บ้าน จนพออ่านออกเขียนหนังสือไทยได้ จึงนำไปฝากให้เรียนหนังสือต่อที่สำนักสงฆ์ใกล้บ้าน

พ.ศ.2446 มีอายุครบ 20 ปีบริบูรณ์ จึงได้เข้าพิธีอุปสมบท เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2446 ที่พัทธสีมาวัดหนองขุนชาติ อ.หนองฉาง จ.อุทัยธานี มีพระครูอุทานธรรมนิเทศ (สุข) วัดหนองขุนชาติ เป็นพระอุปัชฌาย์, พระครูอุทิศธรรมวินัย (สือ) วัดทุ่งทอง เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และพระปลัดเสือ วัดหนองขุนชาติ เป็นพระอนุสาวนาจารย์

อยู่จำพรรษาที่วัดหนองขุนชาติ อยู่จนถึงพรรษาที่ 8 พระอุปัชฌาย์เห็นว่าการศึกษาภาษาบาลีเป็นที่แข็งแรงแล้ว จึงพามาฝากให้อยู่ที่สำนักเรียนวัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ ราชวรมหาวิหาร กรุงเทพฯ มีสมเด็จพระวันรัต (เฮง เขมจารี) เป็นผู้ดูแล

ต่อมามีเหตุให้ท่านต้องกลับไปยังเมืองอุทัยธานี ด้วยอาการป่วยของโยมบิดา-มารดา จนเมื่อทั้งสองถึงแก่กรรมแล้ว จึงมีเหตุทำให้ท่านต้องลาสิกขา เพื่อมาดูแลเรือกสวนไร่นาและทรัพย์สมบัติของบุพการี

รวมเวลาที่ออกไปครองเพศคฤหัสถ์อยู่ได้ 11 เดือน

 

พ.ศ.2460 ครั้นเมื่อปลดเปลื้องจัดแจงเกี่ยวกับทรัพย์สมบัติเป็นที่เรียบร้อยแล้ว จึงได้ไปปรึกษากับพระอุปัชฌาย์รูปเดิม ขออุปสมบทเป็นครั้งที่ 2 เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2460 ที่พัทธสีมาวัดหนองขุนชาติ อ.หนองฉาง จ.อุทัยธานี

มีพระครูอุทานธรรมนิเทศเป็นพระอุปัชฌาย์ พระครูอุทิศธรรมวินัย วัดทุ่งทอง เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และพระอาจารย์จำรัส วัดหนองขุนชาติ เป็นพระอนุสาวนาจารย์ ได้รับฉายาว่า “ธัมมสโร”

ไม่นานก็กราบลาพระอุปัชฌาย์ออกจาริกแสวงหาที่วิเวก (แบบพระธุดงค์) พบสถานที่แห่งใดเป็นสัปปายะ ก็พักทำการเพียรเจริญกัมมัฏฐานอยู่ในสถานที่นั้นๆ จนใกล้จะถึงฤดูกาลเข้าพรรษา จึงจะกลับมาอยู่ในสำนักที่มีปฏิปทาข้อปฏิบัติเคร่งครัดเท่านั้น

ทำอยู่อย่างนี้เสมอๆ จนในพรรษาที่ 8 พ.ศ.2467 จึงได้จาริกมาถึงจังหวัดราชบุรี กับพระฉายและอุบาสกทองย้อย โดยพักที่เขาวัง ซึ่งเป็นพระราชวังร้างอยู่ในตอนนั้น เมื่อชาวบ้านได้ข่าวก็พากันมาทำบุญและฟังธรรมกันมาก

จนชาวบ้านอ้อนวอนนิมนต์ให้อยู่จำพรรษาเสียที่เขาวังนี้ โดยมีข้อเสนอว่าจะพากันทำหนังสือขอพระราชทานเขาวังให้เป็นวัด ท่านจึงตกลงใจรับภาระร่วมกับชาวราชบุรีที่จะสร้างวัดขึ้นบนเขาวังนับแต่บัดนั้น

 

ปี พ.ศ.2472 ได้มีพระบรมราชโองการโปรดกล้าฯ พระราชทานอุทิศเขาวังให้เป็นที่ธรณีสงฆ์ และในปีเดียวกันนั้น เจ้าคณะแขวงเมืองราชบุรีได้มีประกาศแต่งตั้งให้เป็นเจ้าอาวาส

จนลุถึง พ.ศ.2477 ถาวรวัตถุที่เป็นหลักใหญ่ของวัดก็นับได้ว่ามีสมบูรณ์แล้ว แต่ด้วยความเป็นพระกัมมัฏฐานที่มุ่งมาดปรารถนาที่จะบำเพ็ญสมณธรรม ถือสมาทานธุดงควัตรอยู่ตลอด และนับตั้งแต่ปีนั้นจึงออกธุดงค์จาริกไปยังท้องถิ่นต่างๆ โดยทั่วไป แล้วจะกลับมาจำพรรษาที่วัดเขาวังสลับกันไปต่อเนื่องเรื่อยมา

จนถึง พ.ศ.2508 มีอาการอาพาธ จึงได้กลับมาพักรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลราชบุรี และถึงแก่มรณภาพเมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน 2508 ด้วยอาการอันสงบ

สิริอายุ 82 ปี พรรษา 61