หลังเลนส์ในดงลึก : ‘ชายแดน’ / ปริญญากร วรวรรณ

ม.ล.ปริญญากร วรวรรณ
กระทิง - กระทิงเป็นประชากรส่วนใหญ่ของป่าทุ่งใหญ่ด้านตะวันตก พวกมันทำหน้าที่บุกเบิกเส้นทางแทนช้าง ซึ่งไม่มีประชากรอาศัยอยู่ประจำ

 

‘ชายแดน’

เวลาส่วนใหญ่ที่อยู่ในป่านั้น หลายๆ ครั้งผมนึกว่ากำลังอยู่ต่างประเทศ เช่น ครั้งอยู่ร่วมทีมศึกษานิเวศวิทยาของนกเงือกส่วนภาคใต้ ซึ่งมีพื้นที่ทำงานแถบทิวเขาบูโด

สิ่งอันทำให้คล้ายอยู่ต่างประเทศมากคือ ภาษาที่เพื่อนๆ ใช้ พวกเขาใช้ภาษาถิ่นยาวี ผมทำได้เพียงนั่งฟัง

แต่ข้อดีคือ ใช้เวลาไม่นานนักก็พอจะคุ้นชิน และเริ่มเข้าใจ จับใจความเรื่องที่พวกเขาคุยกันได้

“ก็นินทากอแซไม่ได้แล้วสิ” อาแซที่ผมนับถือเขาเป็นครู และเรียกเขาว่าบาบอ พูดยิ้มๆ เมื่อผมเริ่มจับใจความได้

ที่จริง ถ้าเป็นเรื่องสำคัญๆ กอแซมักแปลให้ผมฟังอยู่แล้ว

กับอาแซ ผมพูดยาวีกับเขาคำแรกว่า “ซะด๊ะ” ซึ่งแปลว่าอร่อย

ในวันที่เขาเอาซาลาเปาทอด เดินขึ้นเขากว่าสามชั่วโมงไปให้ผมที่ซุ้มบังไพรบนสันเขา

ผมบอกเขาว่า ซะด๊ะ แม้ซาลาเปาทอดชิ้นนั้นจะเย็นชืด มันเยิ้ม

เพราะเชื่อว่าเป็นคำที่เหมาะสม

 

ในป่าด้านตะวันตกเช่นกัน

เพื่อนๆ ชาวกะเหรี่ยงมีภาษาของพวกเขาเอง เมื่ออยู่กับพวกเขา ผมต้องเร่งเรียนรู้ให้เข้าใจ คำที่ผมพูดบ่อยคือ “ออหมี่” และ “ตะบรึ” อันหมายถึง กินข้าว และขอบคุณ

ทำงานอยู่ในป่า นอกจากต้องใช้ภาษาซึ่งทำให้นึกว่าอยู่ต่างประเทศแล้ว

ผมก็ไปต่างประเทศ หรือที่เราพูดว่า “ไปเมืองนอก” บ่อยๆ

 

หน่วยพิทักษ์ป่า ทิไล่ป้า ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรด้านตะวันตก ตำแหน่งที่ตั้งอยู่สุดชายแดนตะวันตก ชนิดก้าวเดินไม่กี่ก้าวก็ออกนอกประเทศแล้ว หน่วยนี้ตั้งขึ้นตั้งแต่สมัยหัวหน้าเขตคนแรกคือหัวหน้าวี

ผมคุ้นเคยกับมานะ ช่วงที่เขาเป็นหัวหน้าหน่วย

“หัวหน้าวีแกรู้จักชาวบ้านเยอะครับ สนิทสนมกันดี เพื่อนๆ แกเป็นพวกสหายเก่าทั้งนั้น”

“ตอนนั้นแกโดนข้อหาว่าแอบส่งเสบียงให้ทหารป่า ทั้งๆ ที่ความจริงน่ะ หน้าฝนเราออกไปซื้อเสบียงไม่ได้ มีแต่พวกนั้นแหละครับเอาเสบียงมาให้เรา” มานะเล่าเรื่องเก่าๆ

เส้นทางเข้า-ออกระหว่างป่าทุ่งใหญ่กับเมือง ยากเข็ญมาโดยตลอด

ถึงวันนี้มีหลายอย่างเปลี่ยนแปลง หน่วยพิทักษ์ป่าหลายแห่งได้รับการปรับปรุง กลางคืนสว่างไสว มีทีวีดู โดยใช้ไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์

เจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าเปลี่ยนแปลง หลายๆ คนเกษียณ บางคนจากไป

ทิ้งเรื่องราวอันเป็นตำนานให้คนกล่าวขานถึง

“ที่ไม่เปลี่ยนเลยก็ทางสัญจรนี่แหละครับ” มานะพูดยิ้มๆ ช่วงฤดูฝนเขาใช้เวลา 4 วันเดินไปประชุมที่เขต

 

หน่วยทิไล่ป้า ตั้งอยู่บนเนินสูง ต่ำลงมาเป็นหมู่บ้านซึ่งมีขนาดค่อนข้างใหญ่ มีโรงเรียน ตชด. มีสถานพยาบาล

จากหน่วย ต้องลงไปใช้น้ำในลำห้วย ซึ่งใช้เวลาเดินราว 10 นาที

ที่ห้วย คือที่อาบน้ำ ซักผ้า ล้างจาน รวมทั้งเราต้องหิ้วน้ำใส่ถังมาไว้ใช้ในห้องน้ำด้วย

เช้าๆ เย็นๆ เมื่อลงไปที่ห้วย ที่นี่คล้ายเป็นที่ชุมนุม เสียงพูดคุยโทนเสียงไพเราะ เสียงหัวเราะ เด็กๆ วิ่งไป-มา

และทำให้ผมรู้สึกเหมือนอยู่ต่างประเทศ

 

หน้าเสาธงชาติไทย มีถนนสายเล็กๆ ตัดผ่าน มีคนเดินไป-มาเสมอ โดยเฉพาะตอนเช้ากับตอนเย็น

“ไปไหนกันครับ” ผมถามชายหนุ่มสะพายย่ามที่เดินพ่นควันยาเส้นโขมง

“ไปพม่า” เขาตอบสั้นๆ

ที่นี่ดูจะเป็นชายแดนที่ไม่มีพรมแดน ผู้คนเดินเข้า-ออก ไป-มาหาสู่ระหว่างสองดินแดนอย่างเสรี

ไม่ใช่เรื่องน่าประหลาดใจอะไร เพราะนี่คือชีวิตจริงๆ ของที่นี่ เป็นวิถีที่ปฏิบัติมาก่อนจะมี “พรมแดน” เนิ่นนานแล้ว

 

ครั้งหนึ่ง ผมร่วมมากับทีมสำรวจประชากรเสือโคร่งของสถานีวิจัยสัตว์ป่าเขานางรำ หลังสำรวจในป่าจนเสร็จ ยังมีพื้นที่บริเวณรอบๆ อีกหลายแปลงที่ต้องสำรวจ

บนเส้นทางที่จะออกไปทางอำเภอสังขละบุรี ซึ่งเป็นทางที่จะใช้ได้เฉพาะในฤดูแล้ง มีกล้องดักถ่ายสามจุด และตั้งทิ้งไว้หนึ่งเดือน

วันที่เราไปตรวจสอบนั้น กล้องจุดที่หนึ่ง มีภาพเสือโคร่งตัวผู้เดินไปบนเส้นทางเดียวกับที่คนใช้

ถึงแม้ว่าพื้นที่บริเวณนี้ส่วนใหญ่จะเป็นพื้นที่ทำกินของหมู่บ้าน แต่มีสัตว์ป่าหลายชนิดอาศัยอยู่

บนสันเขารอบๆ หน่วย มีด่านใหญ่ที่สัตว์ป่าใช้เดิน

“ลาดตระเวนเจอร่องรอยสัตว์ป่าเยอะครับ รอยเสือนี่เจอตลอด” มานะบอก

เขาเพิ่งนำลูกทีมกลับจากเดินลาดตระเวนเมื่อวานตอนค่ำ ในสภาพเสื้อผ้าขะมุกขะมอม

สภาพภูมิประเทศที่ไม่ค่อยมีที่ราบๆ ทำให้การเดินต้องเดินไต่ขึ้น-ลงเขาตลอด

ภูเขายอดแหลมๆ ปรากฏให้เห็นในสายตาเป็นเหมือนปราการกั้นขวางที่นี่กับโลกภายนอก

ตั้งแต่ก่อนสงกรานต์ ถึงจะเป็นช่วงกลางฤดูแล้ง แต่ฝนก็ตกอย่างต่อเนื่อง เส้นทางยากขึ้น หลังจากเดือนที่แล้ว ไม่มีหล่มลึก และเนินลื่นไถล

การเข้าเมือง ออกไปสังขละบุรี หนทางสะดวกสุด

คนในหมู่บ้านใช้วิธีเดิน

 

ตอนค่ำ ผมนั่งคุยกับมานะที่กำลังรวบรวมข้อมูลลาดตระเวน

“รอยเก้ง กวาง และหมูป่าเยอะ” มานะจดบันทึก เขาถ่ายรูปรอยสัตว์ป่าที่พบ

“คนที่นี่ส่วนใหญ่ไม่กินเนื้อสัตว์ พวกเขากินปลาครับ” มานะเล่า

“สัตว์เล็ก สัตว์น้อย กระรอก กระแต นก พวกนี้โดนยิงบ้าง ส่วนมากเป็นพวกเด็กๆ กำลังคะนอง ถ้าผมเจอก็จะพาไปหาผู้ใหญ่บ้าน ช่วยตักเตือน อยู่กันแบบนี้แหละ” มานะเล่าต่อ

“ประเภทรับจ้างนายทุนยิงสัตว์ใหญ่ เอาเขา หรือหนัง ไม่มี ทางผู้ใหญ่เขาช่วยสอดส่องอยู่ด้วย”

มานะ พื้นเพเป็นคนโคราช ทำงานที่นี่มานาน เข้ากับคนในหมู่บ้านได้ดี อายุเลยกลางคนไปมากแล้ว แต่สถานภาพโสด

“ก็อยู่แต่ในป่าอย่างนี้ จะเอาเวลาที่ไหนไปหาเมียล่ะครับ”

เขาพูดหน้าไม่ยิ้ม

 

กลุ่มเมฆฝนลอยเข้ามาอยู่เหนือสันเขาทางด้านทิศตะวันตก สายลมพัดแรง ธงชาติปลิวไสว

เสียง “ตุ้บ! ตุ้บ!” อันเป็นเสียงจากครกกระเดื่องตำข้าว ซึ่งทำงานโดยใช้แรงน้ำดันกังหัน ดังทั้งวันทั้งคืน

บนถนนหน้าหน่วยว่างเปล่า ร้างราผู้คน ตอนเย็นโน่นแหละจึงจะมีคนทยอยเดินมาจากพม่า

อยู่ในหน่วยพิทักษ์ป่า ติดชายแดน บางวันผมเดินไปเมืองนอก

ที่นี่ไม่มีพรมแดนขวางกั้น

เมื่อไม่มีพรมแดนก็ดูคล้ายกับว่า “ชายแดน” จะไม่มีความหมายอะไร…