การเมืองเมียนมา-การทูตไทย! / ยุทธบทความ สุรชาติ บำรุงสุข

ศ.กิตติคุณ ดร.สุรชาติ บำรุงสุข

ยุทธบทความ

สุรชาติ บำรุงสุข

 

การเมืองเมียนมา-การทูตไทย!

 

“ยุคหินได้จบไปแล้ว [และ] เราก็ไม่ได้กลัว เพราะพวกคุณคุกคามเรา”

เสียงตะโกนของมวลชนในการประท้วงที่เมียนมา

 

นับตั้งแต่เกิดการรัฐประหารในเมียนมาตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ เป็นต้นมา การชุมนุมประท้วงต่อต้านการรัฐประหารของผู้นำทหารเมียนมาทวีความเข้มข้นขึ้นในแต่ละวันอย่างไม่หยุดยั้ง

พร้อมกันนั้นสิ่งที่เกิดขึ้นในเวทีโลกคือ การต่อต้านการยึดอำนาจของทหารจากหลายรัฐบาล พร้อมกับเสียงเรียกร้องให้รัฐบาลทหารคืนอำนาจให้ประชาชน ปล่อยตัวผู้นำรัฐบาลพลเรือน และยุติการปราบปรามประชาชน

ดังจะเห็นได้ว่าแม้ล่วงเข้าเดือนมีนาคมแล้ว การต่อต้านรัฐบาลทหารยังคงเกิดขึ้นและขยายตัวไปทั่วประเทศอย่างต่อเนื่อง

และเห็นถึงการเข้าร่วมของคนทุกสาขาอาชีพ จนการต่อสู้ในครั้งนี้กลายเป็น “ประชามติแห่งชาติ” ที่สังคมเมียนมาไม่ตอบรับกับรัฐบาลทหารปัจจุบัน

 

พลวัตใหม่

 

ผู้นำทหารอาจจะลืมถึงพลวัตใหม่ที่เกิดขึ้นทั้งภายนอกและภายในสังคม จนไม่คาดคิดว่าคนในประเทศที่ทหารเคยปกครองและควบคุมอย่างเข้มงวดมาแล้ว จะกล้าลุกขึ้นมาท้าทายกับอำนาจรัฐประหาร

อีกทั้งผู้นำทหารเมียนมาได้แสดงออกถึงการปราบปรามอย่างชัดเจน

ดังปรากฏมีจำนวนผู้เสียชีวิตจากการใช้อาวุธของเจ้าหน้าที่รัฐเพิ่มมากขึ้น แต่ผู้นำทหารมักเชื่อมั่นเสมอว่า กองทัพสามารถควบคุมสถานการณ์ได้ด้วยการปราบ

สิ่งที่เห็นได้ชัดเจนทั้งจากนอกบ้านและในบ้านของเมียนมา คือเสียงต่อต้านการยึดอำนาจมีมากขึ้นอย่างไม่หยุดยั้ง และทหารยังควบคุมสถานการณ์ภายในไม่ได้จริง

แม้ความพยายามในการกระชับอำนาจหลังการรัฐประหารกระทำด้วยการสังหารประชาชน แต่สิ่งที่เห็นได้ชัดคือ ประชาชนผู้ประท้วงไม่กลัวทหาร และไม่กลัวการปราบปราม แม้จะมีผู้ประท้วงเสียชีวิตจากอาวุธของรัฐบาลทุกวัน

นอกจากนี้ เห็นได้ชัดอีกว่า รัฐประหารไม่ใช่ “สินค้าทางการเมือง” ที่จะโฆษณาขายได้ง่ายในแบบเดิมอีกต่อไป และอาจจะต้องยอมรับในความเป็นไปของโลกในศตวรรษที่ 21 ว่า ไม่มีใครอยากได้ “ผู้นำทหารที่ล้าหลัง” เป็นผู้ปกครองประเทศ

อย่างน้อยการปกครองของรัฐบาลทหารก่อนหน้านี้เป็นการพิสูจน์อย่างชัดเจนว่า รัฐบาลทหารไม่เคยนำความสำเร็จมาสู่ประเทศ นอกจากมีแต่ความมั่งคั่งของผู้นำทหารบางคน ซึ่งคนในสังคมเมียนมารับรู้ถึงสิ่งเหล่านี้มาเป็นอย่างดี เพราะผลจากการปิดประเทศภายใต้การปกครองของรัฐบาลทหารอย่างยาวนานนั้น ทำให้เมียนมากลายเป็นหนึ่งในประเทศยากจนของโลก

ความรับรู้ของคนในสังคมเช่นนี้จึงสะท้อนให้เห็นได้จากภาพของประชาชนผู้รักประชาธิปไตยจากรัฐต่างๆ ในเมียนมาที่ทะลักออกมาบนถนน อันเป็นคำยืนยันที่ชัดเจนว่าสังคมภายในของเมียนมาไม่ตอบรับการยึดอำนาจครั้งนี้

และในทิศทางเดียวกัน สัญญาณทั้งจากสหประชาชาติ และบรรดาประเทศประชาธิปไตยต่างๆ ล้วนแสดงท่าทีไม่เห็นด้วยกับการยึดอำนาจ

แม้ก่อนหน้านี้หลายฝ่ายจะไม่ค่อยพอใจกับท่าทีในการแก้ปัญหาความขัดแย้งด้านชาติพันธุ์ที่เกิดขึ้นในรัฐยะไข่ หรือชนกลุ่มน้อยหลายส่วนเองก็ไม่ได้พึงพอใจกับนโยบายของพรรคเอ็นแอลดี (NLD) ต่อปัญหาชนกลุ่มน้อย

แต่เมื่อทหารตัดสินใจยึดอำนาจ แรงต่อต้านทางการเมืองที่เคยมีกับออง ซาน ซูจี และพรรคของเธอกลับเปลี่ยนไปสู่การต่อต้านรัฐบาลทหารทันที

ดังนั้น คงต้องยอมรับความจริงอย่างมีนัยสำคัญว่า ไม่มีใครเชื่อว่าผู้นำทหารจะสามารถเข้ามาแก้ปัญหาของประเทศได้จริงด้วยการรัฐประหาร

และในความเป็นจริงของการเมืองเมียนมาก็คือ หมด “ยุคอัศวินม้าขาว” ที่ผู้นำทหารจะแสดงบทบาทเป็น “ผู้พิทักษ์แห่งชาติ” แล้ว เพราะไม่มีใครเชื่อแล้วว่า การพิทักษ์ชาติของทหารจะก่อให้เกิดการพัฒนาแก่ประเทศ

หากในความเป็นจริงนั้น การพิทักษ์ของทหารนำมาซึ่งความมั่งคั่งและร่ำรวยให้แก่พวกเขาและเครือญาติ ในขณะที่ประชาชนต้องยากจนลง โดยเฉพาะปัญหาความยากจนถูกซ้ำเติมอย่างหนักจากโรคระบาดโควิด-19…

วันนี้คนกลัวรัฐบาลทหาร มากกว่ากลัวโควิด

 

โลกล้อมรัฐ

 

ฉะนั้น หลายฝ่ายจึงมีความเห็นคล้ายคลึงกันว่า การยึดอำนาจจะยิ่งเป็นการซ้ำเติมปัญหาของเมียนมาเองให้หนักยิ่งขึ้น

และในภาวะเช่นนี้ไม่มีใครเชื่อว่ารัฐบาลทหารจะมีประสิทธิภาพในการจัดการปัญหาการระบาดของเชื้อโควิด-19

เช่นเดียวกับที่ไม่มีใครเชื่อว่ารัฐบาลทหารจะแก้ปัญหาความขัดแย้งด้านชาติพันธุ์และปัญหาชนกลุ่มน้อยของประเทศได้

ที่สำคัญไม่มีใครเชื่อเลยว่ารัฐบาลทหารจะเป็นผู้สร้างประชาธิปไตย

และยิ่งเรื่องของคำสัญญาที่จะคืนอำนาจภายใน 1 ปี ยิ่งเป็นเรื่องที่เชื่อถือได้ยากยิ่ง

แรงต้านในเวทีสากลทำให้รัฐบาลทหารต้องดิ้นรนออกจาก “การปิดล้อมทางการทูต”

ด้านหนึ่งผู้นำทหารเมียนมาจำเป็นต้องพึ่งพาความสนับสนุนทางการทูตจากจีนและรัสเซีย เพื่อคานกับแรงกดดันของโลกตะวันตก

แต่ในอีกด้านหนึ่งก็จำเป็นต้องแสวงหา “พันธมิตรใกล้ชิด” เพื่อไม่ให้รัฐบาลทหารต้องเผชิญกับ “การถูกโดดเดี่ยว” ในภูมิภาค

อีกทั้งสภาวะ “โลกล้อมรัฐ” ยกระดับขึ้นสู่เวทีสหประชาชาติ จนถึงมีการแต่งตั้งผู้แทนพิเศษเรื่องเมียนมา เพื่อติดตามสถานการณ์

แม้ในด้านหนึ่งผู้นำทหารเชื่อว่าพวกเขาสามารถถอยกลับไปสู่การ “ปิดประเทศ” ได้อีกครั้ง

แต่ก็ต้องไม่ลืมว่า การปิดประเทศในปี 2021 ไม่ใช่สิ่งที่จะเกิดเป็นจริงได้ง่าย ต่างกับการปิดประเทศในยุคของนายพลเนวินในอดีตอย่างมาก

และเมียนมาเองก็มีพลวัตทั้งทางการเมืองและสังคมอย่างมากหลังการเปิดประเทศในปี 2011/2012 แล้ว อันทำให้การขู่ว่าจะปิดประเทศอีกครั้ง “ไม่ขลัง” เหมือนในช่วงปี 1960 และหากตัดสินใจปิดจริง ความยากจนก็จะยิ่งถูกซ้ำเติมมากขึ้น และจะยิ่งทำให้เกิดการต่อต้านภายในมากขึ้น

ฉะนั้น ในภาวะที่ต้องลดแรงกดดันของเวทีโลก รัฐบาลทหารจำเป็นต้องแสวงหาพันธมิตรในภูมิภาค

และดูเหมือนในทางการเมืองจะไม่มีใครเหมาะสมมากเท่ากับมากเท่ากับรัฐบาลไทย

เพราะผู้นำไทยในปัจจุบันไม่ได้มีพื้นฐานมาจากกระบวนการทางรัฐสภา และพวกเขามีภูมิหลังเป็น “นักรัฐประหาร” การเลือกตั้งในไทยก็เป็นเพียงวิธีการสืบทอดอำนาจของรัฐบาลทหาร เพื่อให้ผู้นำการรัฐประหารเป็นหัวหน้าคณะรัฐบาลต่อไป

รัฐบาลหลังการเลือกตั้ง เป็นเพียงการ “แปรรูป” จากรัฐบาลทหารเต็มรูป ไปสู่รัฐบาลทหารแบบเลือกตั้ง

สถานะของรัฐบาลไทยเช่นนี้จึงเป็นช่องทางของการสร้าง “พันธมิตรทางการเมือง” อย่างดีสำหรับผู้นำทหารเมียนมา เนื่องจากรัฐบาลทั้งสองล้วนมีรากฐานมาจากการโค่นล้มรัฐบาลพลเรือนที่มาจากการเลือกตั้ง

สถานะเช่นนี้เป็นคำตอบที่ชัดเจนในตัวเองถึงการสร้าง “ความใกล้ชิด” ของผู้นำสองฝ่าย แต่ผู้นำไทยก็อาจจะต้องตระหนักถึงผลในด้านกลับว่า การกระทำดังกล่าวกำลังสร้างภาพให้เวทีโลกเห็นว่า รัฐบาลไทยสนับสนุนและให้การรับรองรัฐบาลทหารเมียนมา

ซึ่งบทบาทเช่นนี้ไม่มีน่าจะเป็นผลดีทางการทูตสำหรับไทย ทั้งที่ไทยสามารถแสดงบทบาทเชิงบวกได้มากกว่า ด้วยเงื่อนไขของที่ตั้งทางภูมิรัฐศาสตร์

แต่ด้วยความเป็นผู้นำทหาร รวมทั้งการขาดความเข้าใจในมิติด้านต่างประเทศ รัฐบาลไทยจึงแสดงออกในแบบของ “การทูตเชิงลบ” ด้วยท่าทีของการโอบอุ้มรัฐบาลทหารเมียนมา มากกว่าการมีท่าทีแบบท้วงติง

นอกจากนี้ การยึดอำนาจในเมียนมากำลังกลายเป็น “ความน่าหนักใจ” สำหรับอาเซียน เพราะผู้นำทหารไม่มีท่าทีประนีประนอมที่จะผ่อนคลายสถานการณ์ภายในเท่าใดนัก การปราบปรามในแต่ละวันยังคงความรุนแรงอย่างต่อเนื่อง และกำลังกลายเป็นวิกฤตการเมืองสำคัญของภูมิภาคไปแล้ว

ขณะเดียวกันอาเซียนเองก็มีท่าทีที่ไม่ตรงกันต่อปัญหาการยึดอำนาจที่เกิดขึ้น ปัญหาสองแนวทางที่เกิดขึ้นก็คือ อาเซียนจะ “ปิดปากเงียบ” ด้วยหลักการไม่แทรกแซงกิจการภายใน ซึ่งมีนัยว่า อาเซียนจะไม่ทำอะไร

หรือจะกล้า “เปิดปากพูด” วิจารณ์บนหลักการว่า อาเซียนสามารถแสดงท่าทีและความเห็นต่อวิกฤตการเมืองที่เกิดขึ้นในชาติสมาชิกได้

เพราะสิ่งที่เกิดขึ้นกระทบต่อสถานะของอาเซียน ดังเช่นความเห็นของผู้นำสิงคโปร์

ไทย-พระเอกหรือผู้ร้าย?

 

การมีสถานะร่วมกันเช่นนี้ช่วยให้สายสัมพันธ์ถูกกระชับแน่นด้วย “มิตรภาพของนักรัฐประหาร” จากสองประเทศ จนผู้นำไทยกล้าออกมากล่าวว่า ผู้นำทหารเมียนมาส่งจดหมายมาชี้แจงถึงเหตุผลในการยึดอำนาจ

ซึ่งการออกมาแถลงเช่นนี้ไม่น่าจะเป็นผลดีในทางการทูตสำหรับสถานะของไทยเท่าใดนัก

เพราะเป็นเสมือนกับการส่งสัญญาณทางการเมืองว่า รัฐบาลไทยสนับสนุนรัฐบาลทหารเมียนมา และรับรู้ถึงการรัฐประหารที่เกิดขึ้นด้วย

ต่อมาในวันที่ 24 กุมภาพันธ์นี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศของเมียนมาได้เดินทางมาเยือนไทย เพื่อพบปะกับนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศไทย

ทั้งยังมีการพบกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศอินโดนีเซียอีกด้วย เพื่อที่จะนำไปสู่การคลี่คลายวิกฤตการณ์ในเมียนมา ซึ่งไม่มีความชัดเจนว่า ในที่สุดแล้วอาเซียนจะสามารถเปลี่ยนใจให้ผู้นำทหารเมียนมาในประเด็นใดได้บ้าง

นอกจากนี้ การมาเยือนกรุงเทพฯ ของรัฐมนตรีต่างประเทศของเมียนมาครั้งนี้ แทนที่จะเป็นช่องทาง “การทูตลับ” ที่ไทยอาจเป็น “พระเอกหลังฉาก” ให้อาเซียนช่วยคลี่คลายปัญหา

แต่ไทยกลับเล่น “การทูตหน้ากล้องทีวี” จึงทำให้ถูกมองในด้านลบว่า ผู้นำไทยพยายามจะช่วยผู้นำทหารเมียนมา มากกว่าจะช่วยแก้วิกฤต

อันส่งผลให้ความหวังว่าไทยจะช่วยสนับสนับสนุนการสร้างประชาธิปไตยในเมียนมาจึงเป็นข้อสงสัยอย่างมาก

สิ่งที่เรากำลังเห็นวันนี้ ก็คือ ผู้นำรัฐบาลไทยไม่เพียงแสดงความเห็นอกเห็นใจต่อการรัฐประหารที่เมียนมา หากยังมีท่าทีในการสนับสนุนข้อเสนอของรัฐบาลทหารที่จะอยู่ในอำนาจต่อไป

แน่นอนว่า รัฐบาลไทยไม่เคยแสดงความเห็นใจกับผู้เรียกร้องประชาธิปไตยในเมียนมา

ไม่เคยเลยที่จะส่งสัญญาณให้ปล่อยตัวผู้นำพลเรือน

และไม่เคยเลยที่จะส่งสัญญาณถึงความกังวลใจกับปัญหาความรุนแรงที่เกิดขึ้น ฉะนั้น แม้รัฐบาลไทยจะมีสถานะอย่างดีในการเป็น “คนกลาง” แต่ด้วยสถานะของรัฐบาลไทย (และตัวผู้นำ) ในแบบปัจจุบันที่เป็นพันธมิตรที่ใกล้ชิดกับรัฐบาลทหาร ความหวังเช่นนั้นจึงดูจะรางเลือนเต็มที

ดังนั้น จึงไม่แปลกที่คำกล่าวของนายกรัฐมนตรีไทยในวันที่ 10 กุมภาพันธ์ ว่า “เราสนับสนุนกระบวนการประชาธิปไตยในเมียนมา” ถูกตีความว่า รัฐบาลไทยสนับสนุนรัฐบาลทหารมากกว่าสนับสนุนประชาธิปไตย

จนดูเหมือนรัฐบาลไทยได้กลายเป็น “ผู้ร้าย” ไปพร้อมกับรัฐบาลทหารเมียนมาแล้วอย่างช่วยไม่ได้?