ส่องการเคลื่อนไหวประท้วงที่ไร้ผู้นำของเมียนมา (2) /เกษียร เตชะพีระ

เกษียร เตชะพีระ

การเมืองวัฒนธรรม

เกษียร เตชะพีระ

 

ส่องการเคลื่อนไหวประท้วงที่ไร้ผู้นำของเมียนมา (2)

 

(เรียบเรียงจากคำให้สัมภาษณ์ของ Richard Horsey นักวิเคราะห์วิจัยอิสระและที่ปรึกษาอาวุโสเรื่องเมียนมาขององค์การ International Crisis Group เรื่อง “A Close-up View of Myanmar’s Leaderless Mass Protests”, 26 February 2021)

การรณรงค์อารยะขัดขืนส่งผลกระทบอะไรบ้างครับ?

ฮอร์ซี : การเคลื่อนไหวอารยะขัดขืนน่าจะส่งผลกระทบต่อระบอบทหารหนักหน่วงกว่าการประท้วงด้วยซ้ำไป เมื่อปี 1988 เราได้เห็นคนงานภาครัฐนัดหยุดงานและประท้วง แต่มันไม่มีการเคลื่อนไหวอารยะขัดขืนอันกว้างขวางอย่างที่เกิดในระยะหลังนี้ ในการประท้วงใหญ่ระลอกหลังสุดเมื่อปี 2007 พระสงฆ์เป็นผู้นำการเคลื่อนไหว มาคราวนี้ประชาชนที่ออกมาแสดงพลังบางคนเป็นข้ารัฐการพลเรือน ทว่าเจ้าหน้าที่รัฐบาลอื่นๆ ก็พากันไม่ไปทำงานหรือมิฉะนั้นพวกเขาก็ไปทำงานแต่ไม่ปฏิบัติหน้าที่ปกติของตัวให้ลุล่วงไป นั่นคือสิ่งที่กำลังเริ่มทำให้รัฐเป็นอัมพาต มันได้ทำให้ระบบธนาคารและแม้แต่บรรดาธนาคารเอกชนเป็นอัมพาตไปแล้ว มันกำลังทำให้ท่าเรือเอย การขนส่งเอย และเอาเข้าจริงคือทุกสิ่งทุกอย่างที่คุณต้องมีเพื่อบริหารประเทศกลายเป็นอัมพาตหมด

พวกทหารแลเห็นสิ่งนี้และรวมศูนย์สารที่สื่อถึงสาธารณะส่วนใหญ่ให้พุ่งเป้าไปที่การเรียกร้องและข่มขู่ผู้คนให้กลับเข้าทำงาน เวลาเกิดเหตุรุนแรงขึ้น ส่วนใหญ่แล้วมันไม่ได้เกิดกับผู้ชุมนุมประท้วงที่ร้องเพลงเปล่งคำขวัญอยู่ตามท้องถนนนะครับ แต่เกิดขึ้นเพื่อพยายามสลายพวกคนงานที่นัดหยุดงานรวมทั้งคนงานรถไฟและท่าเรือด้วย เราได้เห็นเหตุรุนแรงถึงชีวิตกับผู้ชุมนุมแสดงพลังซึ่งพยายามปกป้องลูกเรือที่นัดหยุดงานในท่าเรือเมืองมัณฑะเลย์ มีผู้ชุมนุมถูกยิงด้วยกระสุนจริงอย่างน้อยสิบคน สี่คนในจำนวนนั้นถึงแก่ความตาย

พวกทหารประสบเหตุวุ่นวายแม้กระทั่งในเมืองหลวงเนปิดอว์ซึ่งทหารออกแบบและสร้างขึ้นมาให้เป็นเมืองปลอดการประท้วงแยกต่างหากจากส่วนที่เหลือของประเทศ ผู้อาศัยอยู่ที่นั่นส่วนใหญ่เป็นข้ารัฐการ ครอบครัวและคนอื่นๆ จำนวนน้อยนิด ได้เกิดการแสดงพลังขนาดมหึมาหลายครั้งที่เนปิดอว์ และนั่นน่าจะทำให้พวกนายพลวิตกกังวลเพราะมันบ่งบอกว่าระบบข้ารัฐการอันเป็นเจ้าหน้าที่บริหารของพวกเขาเองนั้นคัดค้านพวกเขา

การคัดค้านแบบนี้เป็นสิ่งที่พวกเขารับไม่ได้ในทางสัญลักษณ์ และถ้ากล่าวในเชิงการบริหารประเทศแล้ว มันก็เป็นสิ่งที่พวกเขามิอาจปล่อยให้เกิดขึ้นได้

นานวันเข้าก็ยิ่งเห็นชัดขึ้นเรื่อยๆ ว่าแกนนำกองทัพคำนวณผิดพลาดทางยุทธศาสตร์ครั้งมโหฬารและนายทหารบางคนอาจชักสงสัยว่าแล้วจะให้ล่มหัวจมท้ายกันไปทั้งหมดเลยอย่างนั้นหรือ ทัตมาดอว์ (ชื่อเรียกทหารเมียนมาโดยรวม) ไม่มีประวัติศาสตร์ของการปริร้าวหรือแตกแยกเชิงสถาบันอย่างมีนัยสำคัญ ในชีวิตทหารอาชีพของพวกเขา พวกเขาเป็นกลุ่มที่ถูกอัดลัทธิความเชื่อเข้าหัวและฝึกฝนให้รับเชื่อว่าตัวเองดีวิเศษกว่าประชากรที่เหลือ ว่าบทบาทของตนคือการรั้งรวมประเทศไว้ด้วยกัน

ทว่าประวัติศาสตร์แห่งการไม่เคยแตกแยกนี้กำลังถูกทดสอบในแบบที่ไม่เคยโดนมาก่อนในรอบหลายทศวรรษหรือบางทีอาจกระทั่งไม่เคยโดนมาก่อนเลยแต่ไหนแต่ไร เราไม่ควรคาดหมายว่าจะเกิดการแตกแยกขึ้น แต่เราก็ไม่ควรทำนายอย่างมั่นใจเกินไปว่ามันจะไม่เกิด

ผู้ประท้วงชาวเมียนมาถือโล่สัญลักษณ์เสรีภาพ-เสมอภาค-ภราดรภาพและชูป้ายประณามการก่อการร้ายโดยทหารในย่างกุ้ง (www.dw.com/en/myanmar-at-least-18-dead-in-crackdown-on-anti-coup-protests/a-56727837)

ฝูงชนรู้สึกยังไงต่อทหารเมียนมาครับ?

ฮอร์ซี : มีอารมณ์ความรู้สึกสนับสนุน NLD อย่างแรงกล้ายิ่งในประเทศ ทว่าอารมณ์ความรู้สึกต่อต้านทหารยังกระทั่งแรงกล้ากว่าและครอบจักรวาลกว่านั้นเสียอีก มันเป็นเรื่องสำคัญที่จะต้องบอกกล่าวว่านี่ไม่จำต้องเป็นอารมณ์ความรู้สึกต่อต้านสถาบันทหารโดยตัวมันเองหรือทหารเป็นรายบุคคลนะครับ ความเป็นปฏิปักษ์นั้นพุ่งใส่พวกทหารที่บริหารประเทศต่างหาก เมียนมาทุกวันนี้แตกต่างอย่างยิ่งจากที่มันเคยเป็นเมื่อปี 1988 หรือแม้แต่เมื่อการชุมนุมแสดงพลังใหญ่ครั้งล่าสุดซึ่งเกิดขึ้นในปี 2007 เดี๋ยวนี้ผู้คนคุ้นเคยกับการแสดงความคิดเห็นของตัวออกมาอย่างค่อนข้างเปิดเผย มีชนชั้นกลางใหญ่โตขึ้น และยังเชื่อมต่อกับโลกมากกว่าที่เคยเป็นมาแต่ก่อน

พวกทหารไม่ได้เป็นกบใต้กะลามิดชิดอย่างสมัยโน้น พลทหารก็มาจากโรงเรียนสามัญ นายทหารก็แต่งงานกับชนชั้นนำแห่งชาติ แต่กระนั้นพวกทหารก็ถูกสร้างขึ้นมาให้เป็นรัฐซ้อนรัฐอยู่หลายทศวรรษ พวกเขามีโรงพยาบาลของตัวเอง มหาวิทยาลัยของตัวเอง มีทุกสิ่งทุกอย่างเป็นโครงสร้างคู่ขนานเพื่อสร้างฉนวนกันตัวเองออกจากสาธารณชนทั่วไปและบริการสาธารณะห่วยๆ สังคมเปลี่ยนไปมากแล้วแต่พวกทหารไม่ได้เปลี่ยนไปมากเท่า

ชัยชนะแบบถล่มทลายของ NLD ในการเลือกตั้งเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2020 ทำให้ความหวังของผู้บัญชาการทหารสูงสุดมิน อ่อง ลาย ที่จะหาแนวร่วมต่อต้าน NLD มาสนับสนุนตัวเองทางการเมืองให้ได้กลายเป็นประธานาธิบดีอย่างที่ทะเยอทะยานมีอันต้องแตกสลายไป

เขาไม่พอใจผลการเลือกตั้งอย่างยิ่งและเริ่มกล่าวอ้างทันทีว่ามีการเล่นสกปรก (แต่เขาก็หาหลักฐานใดๆ ของการนั้นมาเสนอไม่ได้) เมื่อเขาก่อรัฐประหารในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ บทที่เขากล่าวสาธยายเป็นทำนองนี้คือ

เราจะทำสิ่งนี้ มันจะไม่เป็นที่นิยมของประชาชนหรอก แต่เรามีพลังอำนาจ เรารู้ว่าเรากำลังทำอะไร เราจะนำมาซึ่งการบริหารที่มีประสิทธิภาพ และเราจะระงับการชุมนุมแสดงพลังลงโดยไม่ลำบากยากเย็นอะไร เราจะระดมพลังต่อต้าน NLD ทั้งหลายแหล่แล้วก่อตั้งรัฐบาลผสมมาบริหารประเทศ

หลังรัฐประหาร เขาแต่งตั้งบรรดานายทหารผสมกับพลเรือนจากพรรคชาติพันธุ์และพรรคอื่นๆ นอกเหนือจาก NLD ให้เข้าไปดำรงตำแหน่งในสภาบริหารรัฐของระบอบทหาร

สิ่งที่มิน อ่อง ลาย คาดคำนวณผิดไปก็คือการคัดค้าน NLD กับการสนับสนุนการปกครองของทหารอำนาจนิยมนั้นมันแตกต่างกันใหญ่หลวง เขาค้นพบค่อนข้างเร็วว่าน้อยคนนักแม้แต่ในหมู่ศัตรูของ NLD เองที่เอาด้วยกับอย่างหลัง

มิน อ่อง ลาย น่าจะวางแผนเอาผิดข้อหาอาญาอุกฉกรรจ์กับออง ซาน ซูจี และยุบพรรค NLD เสีย ซึ่งหมายความว่าพวกทหารจะสามารถจัดการเลือกตั้งใหม่ได้ พวกเขาให้สัญญาว่าจะทำอย่างนั้นในเวลาหนึ่งปี เพื่อให้ได้ผลการเลือกตั้งที่พวกเขาต้องการ แต่ว่านั่นจะไม่แก้ปัญหาของพวกเขาเรื่องความชอบธรรมและความโกรธแค้นของมหาชนเลย

(อ่านต่อสัปดาห์หน้า)