วิกฤตินิเวศ เมื่อภูมิอากาศแปรปรวน (17) / อนุช อาภาภิรม

วิกฤติศตวรรษที่21

อนุช อาภาภิรม

 

วิกฤตินิเวศ

เมื่อภูมิอากาศแปรปรวน (17)

 

วิกฤตินิเวศกับสังคมซับซ้อน

มีคำอธิบายอย่างใหม่ว่าวิกฤตินิเวศเกิดจากการที่สังคมซับซ้อนขึ้นทุกที

เป็นคำอธิบายที่ก้าวข้ามระบบทุนนิยม นั่นคือ ไม่ว่าสังคมแบบใดถ้าหากมีความซับซ้อนมากไปแล้ว ก็เกิดวิกฤติต่างๆ รวมทั้งวิกฤตินิเวศ เป็นเหตุให้อารยธรรมหรือจักรวรรดินั้นล่มสลายด้วยกันทั้งนั้น

เห็นได้จากการศึกษาพัฒนาการสังคมในประวัติศาสตร์ แม้ในอนาคต หากมีการสร้างสังคมหลังทุนนิยมที่ซับซ้อนกว่า สังคมนั้นก็ย่อมเประสบปัญหาอย่างเดียวกัน

คำอธิบายแบบนี้มีส่วนทับซ้อนและส่วนที่ต่างกับคำอธิบายแบบสังคมนิเวศ ในด้านหนึ่งเหมือนแย่งความถูกต้อง อีกด้านหนึ่งเหมือนแย่งความสนใจในหมู่ผู้คน เป็นการต่อสู้ทางอุดมการณ์หรือกระบวนทัศน์อย่างหนึ่ง

ดังนั้น จึงควรกล่าวถึงเล็กน้อยคือ

คำอธิบายแบบสังคมซับซ้อนเน้นประวัติการพัฒนาของสังคมหรือนวัตกรรมทางเทคโนโลยี

ส่วนสังคมนิยมนิเวศเน้นเรื่องการต่อสู้ทางชนชั้น ผู้กระทำสำคัญได้แก่ ขบวนการสังคมใหม่บวกขบวนการคนงาน เพื่อก้าวไปสู่สังคมสังคมนิยม

สำหรับคำอธิบายสังคมซับซ้อน ผู้กระทำสำคัญได้แก่ ชนชั้นนำที่พยายามแก้ไขปัญหาและทำให้สังคมซับซ้อนขึ้นทุกทีจนถึงขีดสูงสุด นำมาสู่การล่มสลายได้

แต่สังคมต่อไปจะเป็นแบบใดนั้น มีความเป็นไปได้หลายอย่าง ไม่จำเป็นต้องเป็นสังคมนิยม

ท้ายสุดทั้งสองทฤษฎีเห็นตรงกันว่า วิกฤติและการล่มสลายเกิดจากตัวระบบเอง แต่มีส่วนต่างที่แนวคิดสังคมซับซ้อนเห็นว่า วิกฤติเกิดจากการที่เศรษฐศาสตร์กระแสหลักถือว่า สิ่งแวดล้อมเป็นสิ่งภายนอกที่มนุษย์จะบริหารจัดการตามความปรารถนา ทั้งที่ความจริงทรัพยากรสิ่งแวดล้อมเป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมทางเศรษฐกิจ และมีอยู่จำนวนแน่นอนและจำกัด เมื่อมนุษย์ใช้ทรัพยาการสิ่งแวดล้อมมากเกินไป (Overshoot) ก็นำมาสู่การล่มสลายได้

ส่วนแนวคิดสังคมนิยมนิเวศเห็นว่า ชนชั้นนายทุนทั้งหลายต้องการขยายและพัฒนาการผลิตอย่างไม่หยุดยั้ง เพื่อลดรายจ่ายลง และเอาชนะนายทุนคนอื่นหรือกลุ่มอื่น เรียกว่าถ้าไม่โตก็ต้องตาย

จากนี้ทำให้เกิดการแตกแยกทางเมแทบอลิซึ่มทางสังคมกับทางธรรมชาติ เป็นความขัดแย้งใหญ่อย่างที่สองในระบบทุนนิยม นอกเหนือจากความขัดแย้งอย่างแรก คือ ความขัดแย้งในรูปแบบการผลิต

กล่าวอย่างย่อทฤษฎีระบบซับซ้อนคัดค้านระบบทุนในแนวปฏิรูป ไม่ได้คัดค้านอย่างถึงที่สุดเหมือนกับสังคมนิยมนิเวศ

มีนักวิทยาศาสตร์ นักวิชาการจำนวนมากที่สร้างผลงาน ประกอบขึ้นเป็นทฤษฎีระบบซับซ้อนกับวิกฤตินิเวศ ในที่นี้จะกล่าวถึง 3 บุคคลด้วยกันได้แก่

1)นิโคลัส จอร์เจสคู-โรเจน (Nicholas Georgescu-Roegen 1906-1994)

เป็นนักคณิตศาสตร์และนักเศรษฐศาสตร์ชาวโรมาเนีย เป็นผู้ที่เรียนเก่งได้รับทุนการศึกษา ได้ไปศึกษาที่ปารีสและลอนดอน และยังเคยไปสหรัฐ

เป็นศิษย์ของโจเซฟ ชุมปีเตอร์ เขามีแนวคิดแบบอนุรักษนิยม

หลังสงครามโลกครั้งที่สอง โรมาเนีย ถูกสหภาพโซเวียตยึดครอง เข้าสู่ระบอบปกครองแบบคอมมิวนิสต์ จึงได้หลบหนีไปพำนักที่สหรัฐในปี 1949 สอนในมหาวิทยาลัยเล็กๆ แห่งหนึ่งแต่มีผลงานโดดเด่น

งานชิ้นเอกของเขาคือ “กฎเอนโทรปีและกระบวนการทางเศรษฐกิจ” (เผยแพร่ครั้งแรกปี 1971) เขาเสนอว่า ทรัพยากรธรรมชาติทั้งหลายย่อมเสื่อมไปอย่างเลี่ยงไม่พ้น เมื่อนำเข้าสู่กระบวนการทางเศรษฐกิจ เศรษฐกิจทั้งหลายมีความจำกัดของความเติบโต เขาได้ชื่อว่าเป็นผู้หนึ่งในการวางรากฐานวิชาเศรษฐศาสตร์ ฟิสิกส์ ชีวะ

วิชาเศรษฐศาสตร์ ฟิสิกส์ ชีวะ ศึกษาเกี่ยวกับเรื่องสังคมมนุษย์ที่จัดหาและใช้พลังงานและทรัพยากรทางชีวะ และฟิสิกส์ในกิจกรรมทางเศรษฐกิจ โดยสร้างของเสียและผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมหลากหลายประการ กล่าวถึงที่สุด เป็นเรื่องของพลังงาน ซึ่งทำให้กิจกรรมทุกอย่างของมนุษย์เป็นไปได้ จากการศึกษาพบหลักบางประการดังนี้คือ

ก) การเติบโตทางเศรษฐกิจ สัมพันธ์กับการจัดหาและใช้พลังงานที่เพิ่มขึ้นไม่อาจหย่าขาดจากกันได้

ข) การใช้ทรัพยากรทางฟิสิกส์ ชีวะนำมาซึ่งความเสื่อมโทรมของสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะที่เป็นทรัพยากรที่นำกลับมาใช้ใหม่ไม่ได้

ค) พลังงานแฝงอยู่ในสินค้าและบริการทุกชนิด ที่ผลิตขึ้นและแลกเปลี่ยนกัน พลังงานกับเงินและการเงิน จึงเกี่ยวข้องสัมพันธ์กัน การไหลเวียนของพลังงานและวัตถุก็สัมพันธ์กัน

ง) พลังงานทั้งหลายมีคุณภาพต่างกัน ทรัพยากรและแหล่งพลังงานแทนกันไม่ได้อย่างง่ายๆ

จ) ทรัพยากรและการใช้พลังงานกำหนดโครงสร้างและการปฏิบัติทางเศรษฐกิจ

(ดูหัวข้อ What is Biophysics Economics? ใน biophysicseco,org)

2)โจเซฟ เทนเทอร์ (Joseph Tainter 1949 ถึงปัจจุบัน)

นักมานุษยวิทยาและนักประวัติศาสตร์สหรัฐ งานที่รู้จักดีชื่อว่า “การล่มสลายของสังคมซับซ้อน” (เผยแพร่ครั้งแรก 1988 และได้เขียนบทความสรุปในปี 1996)

มีใจความว่า ชนชั้นนำได้พยายามแก้ปัญหาหลากหลาย การแก้ปัญหาเหล่านั้นทำให้สังคมซับซ้อนขึ้นทุกที นำมาสู่การลดถอยของผลได้ และการล่มสลายของสังคมในที่สุด

การแก้ไขปัญหาก่อให้เกิดความซับซ้อนและการลดถอยของผลได้ 3 ประการด้วยกันคือ

ก) การเพิ่มปริมาณความรู้ เกิดข้อมูลข่าวสารจำนวนมาก ก่อการลดถอยของผลได้คือ ผู้คนถูกทับถมด้วยข้อมูลข่าวสาร จนหมดความสามารถในการวิเคราะห์กลั่นกรองได้ อีกด้านหนึ่งเกิดการผลิตนักวิชาการล้นเกิน แก่งแย่งกันเป็นใหญ่ทางวิชาการ และการเข้ากุมอำนาจรัฐ

ข) การใช้ทรัพยากรมากขึ้น ค่าใช้จ่ายในการจัดหาทรัพยากรเหล่านี้เพิ่มขึ้น เนื่องจากความร่อยหรอของมัน

ค) การสร้างระบบรัฐกิจขนาดใหญ่เพื่อจัดการดูแลและความต้องการที่หลากหลายในสังคม เป็นค่าใช้จ่ายเพื่อรักษาสถานะเดิมที่เพิ่มขึ้นทุกที ขณะที่การผลิตชนชั้นนำล้นเกิน ก่อให้เกิดความขัดแย้งภายในกลุ่มอย่างแก้ไม่ตก หนทางแก้คือกลับไปสู่ความเรียบง่าย

อนึ่ง มีการปรับใช้ทฤษฎีดังกล่าวในองค์กรธุรกิจสมัยใหม่ โดยเฉพาะในการบริหารความเสี่ยงและการจัดการโครงการ โดยแนะนำว่าไม่ควรสร้างขุนเขาเอเวอเรสต์ของความซับซ้อน หากควรสร้างเขาเตี้ยหลายลูก หรือแบ่งโครงการเป็นหลายขั้น แล้วแก้ปัญหาทีละขั้น ระวังไม่ให้เกิดความซับซ้อนสูงสุด

ซึ่งหากเกิดขึ้นแล้ว การเพิ่มกำลังหรือเงินค่าใช้จ่ายก็ไม่ช่วยเร่งความเร็วในการทำงาน

(ดูบทความของ Simon Eskildson ชื่อ Peak Complexity ใน sirupsen.com สิงหาคม 2018)

3)วาชลาฟ สมิล (Vaclav Smil เกิด 1943)

นักวิจัยแบบสหวิทยาการชาวเช็ก-แคนาดา เชี่ยวชาญด้านพลังงานสิ่งแวดล้อม การเปลี่ยนแปลงประชากร การผลิตอาหาร และประวัติศาสตร์นวัตกรรมเทคโนโลยี มีผลงานหนังสือกว่า 40 เล่ม

จะกล่าวถึงในที่นี้ได้แก่ “ความเติบโต” (เผยแพร่ครั้งแรกปี 2019) ชี้ว่าการเติบโตมีแบบรูปของมัน จากเริ่มต้นอย่างช้าๆ สู่การโตวัย และการหลุดการเติบโต ซึ่งคล้ายกับข้อเสนอของผู้อื่น ที่มีลักษณะเฉพาะ ได้แก่

ก) สมิลเสนอว่า ยุคแห่งการเติบโตของจักรวรรดิและอารยธรรมอย่างที่นักเศรษฐศาสตร์ทั่วไปกล่าวถึง ได้สิ้นสุดแล้ว จากปัญหาความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและการเสื่อมถอยของสิ่งแวดล้อม ในนี้สมิลร่วมกับขบวนการหยุดโต (Degrowth) เขาเห็นว่า ถ้าสหรัฐและตะวันตกจะหยุดโตที่ปี 1960 ก็ไม่ได้ทำให้มาตรฐานการครองชีพลดต่ำลง

ข) สมิลเห็นว่ามนุษย์มีความสามารถในการปรับตัวสูงยิ่ง ในการสร้างนวัตกรรมและบูรณาการทางสังคมแม้อยู่ห่างไกล โลกนี้มีความหลากหลายยิ่ง เปิดให้เกิดความเป็นไปได้ใหม่ๆ เสมอ

จากที่กล่าวมาแล้ว เห็นได้ว่า ภายในปี 2050 หรืออีก 30 ปีข้างหน้า ก็จะรู้ชัดถึงอนาคตของมนุษย์โลก ว่าจะพบกับหายนะใหญ่หรือการอยู่รอดอย่างมีชัย

ฉบับต่อไปจะกล่าวถึงวิกฤตินิเวศกับธรรมชาติของมนุษย์