ขอแสดงความนับถือ/ฉบับประจำวันที่ 19-25 มีนาคม 2564

ขอแสดงความนับถือ

 

My Country Thailand ของณัฐพล ใจจริง

และบทความพิเศษ ของ “อาญาสิทธิ์ ศรีสุวรรณ” ในฉบับนี้

นำอดีตมาส่องปัจจุบัน ใน “มติชนสุดสัปดาห์”

น่าสนใจ

 

ณัฐพล ใจจริง ฟื้นบทบาท บทบาทของหม่อมเจ้าสกลวรรณากร และนายปรีดี พนมยงค์ ขึ้นมา

แม้เป้ามุ่งไปที่การสถาปนาเทศบาลในระบอบประชาธิปไตยไทย

ที่คนไทยจะไปใช้สิทธิกันอีกไม่นานจากนี้ เป็นด้านหลัก

แต่บทบาทของหม่อมเจ้าสกลวรรณากร เจ้านายแหวกขนบ บางด้านก็โดดเด่น น่าพูดถึง

โดยเฉพาะหลังการปฏิวัติ 2475

ขณะดำรงตำแหน่งปลัดกระทรวงเกษตรพาณิชยการ (ต่อมาคือ กระทรวงเศรษฐการ)

นายปรีดี พนมยงค์ แกนนำสายพลเรือนของคณะราษฎร ได้ร่างเค้าโครงการเศรษฐกิจขึ้นมา

เพื่อยกระดับชีวิตของชาวไทยให้มีความสุขสมบูรณ์ขึ้นตามหลัก 6 ประการ

ด้วยการเสนอให้มีการรวมที่ดินให้เป็นของรัฐ

แนวคิดดังกล่าวนำมาซึ่งความขัดแย้งของกลุ่มขุนนางเจ้าที่ดิน อนุรักษนิยมอย่างรุนแรง

 

หม่อมเจ้าสกลวรรณากรซึ่งถูกแต่งตั้งให้เป็นกรรมการพิจารณาเค้าโครงการเศรษฐกิจด้วย

หากพิจารณาจากฐานันดรของท่าน ที่เป็น “เจ้านาย”

น่าจะไม่เห็นด้วยกับแนวทางของนายปรีดี

แต่ไม่น่าเชื่อ หม่อมเจ้าสกลวรรณากรกลับแสดงความเห็นสนับสนุนเค้าโครงการเศรษฐกิจอย่างแข็งขัน

แถมทรงมีความเห็นว่า แนวคิดการรวมที่ดินที่ปรากฏในเค้าโครงการเศรษฐกิจที่นายปรีดีเสนอมานั้น ไม่เพียงพอ

ควรรวมที่ดินในเมืองและที่อยู่อาศัยเข้าไปด้วย

ทะลุเพดานเลยทีเดียว

 

ทําให้พระยามโนปกรณ์นิติธาดา นายกรัฐมนตรีขณะนั้น และกลุ่มอนุรักษนิยม ต่อต้าน

และโจมตีรุนแรงว่ากำลังนำแนวคิด “โซเชียลลิสต์” เข้ามา

ส่งผลให้รัฐบาลอนุรักษนิยมของพระยามโนปกรณ์ฯ ออกพระราชกฤษฎีกาปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎร

และงดใช้รัฐธรรมนูญ 10 ธันวาคม

เพื่อมิให้สภาพิจารณาเค้าโครงการเศรษฐกิจได้

และพระยามโนปกรณ์ฯ ยังเด้งหม่อมเจ้าสกลฯ จากปลัดกระทรวงเกษตรพาณิชยการไปเป็นหัวหน้ากองการโฆษณาการในปลายเดือนเมษายนนั้นเอง

เป็น “วิกฤตรัฐธรรมนูญ” ครั้งแรกของประเทศ

นำไปสู่เหตุการณ์พระยาพหลฯ รัฐประหารล้มรัฐบาลพระยามโนปกรณ์ฯ ในเดือนมิถุนายน 2476 แล้วพร้อมประกาศใช้รัฐธรรมนูญอีกครั้ง

แต่ก็นำสู่ความลุ่มๆ ดอนๆ ของรัฐธรรมนูญและประชาธิปไตย สืบต่อเนื่องมาถึงปัจจุบัน

…วันนี้ รัฐธรรมนูญก็ได้กลับมาเป็นวิกฤตอีก

วนเวียนในเขาวงกต ยังไม่รู้จะจบลงอย่างไร

 

นอกจากจะวุ่นในสภาแล้ว

นอกสภาก็ยัง “กรุ่น-กรุ่น” เป็นไฟสุมขอน

โดยเฉพาะการกวาดจับแกนนำ “กลุ่มคนรุ่นใหม่” และคุมขังโดยไม่ได้รับการประกันตัว

นำไปสู่วิพากษ์วิจารณ์ถึงแนวทางดำเนินคดีการเมือง ที่เป็นการต่อสู้ทางความคิด-อุดมการณ์

ควรแตกต่างจากคดีอาชญากรรมทั่วไปหรือไม่

ในภาวะที่ไร้คำตอบและนำไปสู่ภาวะ “กรุ่น-กรุ่น” นี้เอง

“อาญาสิทธิ์ ศรีสุวรรณ” รำลึกถึง “ศรีบูรพา” หรือกุหลาบ สายประดิษฐ์ ที่มีวันเกิดตรงกับ 31 มีนาคม

สำหรับปี พ.ศ.2564 นี้ ถือว่าครบรอบ 116 ปีชาตกาล

สิ่งที่อาญาสิทธิ์ ศรีสุวรรณ รำลึกถึง “ศรีบูรพา” ก็คือการเข้า-ออกคุกของชายผู้นี้

โดยเฉพาะภาพของศรีบูรพา เดินถือชะลอมออกจากคุกเมื่อวันพุธที่ 20 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2500 หลังจากหลุดพ้นคดีกบฏสันติภาพ

อะไรอยู่ใน “ชะลอม”

หลายคนอาจเคยปาดน้ำตาให้กับชะลอมใบนี้มาแล้ว

ด้วยมันผูกพันกับคำว่า “อิสรภาพ” อย่างแนบชิด

ดังที่หลายคนก็อาจเคยเสียน้ำตาให้กับบทกวี ‘อาชญากรผู้ปล่อยนกพิราบ’ ของดอกประทุม หนึ่งในนามปากกาของกุหลาบ สายประดิษฐ์ ที่เขียนถึงการตกอยู่ภายใต้พันธนาการ

 

คุกเอย, จงเงี่ยโสตสดับคำของข้าไว้

วันหนึ่งทั่วท้องคัคนานต์แห่งสันติ

จะคลาคล่ำไปด้วยฝูงพิราบที่ร่าเริง

วันนั้น ประชาชนจะเป็นเจ้าของคุก

ทั่วทุกสถาบันจะดำรงอยู่เพื่อประชาธรรม

ด้วยความภาคภูมิใจ

ด้วยการเปล่งสีหนาทว่า

“เป็นของประชาชน”

 

นั่นคือ อดีตส่องปัจจุบัน

ที่ “ดอกประทุม” วาดหวังถึง “พิราบที่ร่าเริง”

แต่วันนี้ยังมีนักโทษการเมืองในคุก