จีนอพยพใหม่ในไทย ชีวิต ความคิด และความหวัง (ต่อ)/วรศักดิ์ มหัทธโนบล

วรศักดิ์ มหัทธโนบล

เงาตะวันออก

วรศักดิ์ มหัทธโนบล

 

จีนอพยพใหม่ในไทย (25)

 

ชีวิต ความคิด และความหวัง (ต่อ)

ความใฝ่ฝันที่ถูกกล่าวถึงมากที่สุดก็คือ โอกาสทางธุรกิจที่พึงได้จากกฎหมายของไทย ที่ชาวจีนเห็นว่ามีธุรกิจหลายประเภทที่กฎหมายยังไม่เอื้ออำนวยต่อความต้องการของตน

เหตุดังนั้น ความใฝ่ฝันในเรื่องนี้จึงมีขึ้นกับชาวจีนที่มีฐานะปานกลางขึ้นไปที่มีทุนที่จะลงทุนในธุรกิจต่างๆ มิใช่ชาวจีนที่มีฐานะไม่สู้ดี และทำงานเป็นแรงงานเป็นหนทางแรกดังได้กล่าวไปแล้วข้างต้น (ซึ่งต่อมาได้เปลี่ยนฐานะของตนเป็นผู้ประกอบการรายย่อยหรือขนาดกลาง)

ส่วนโอกาสที่พึงได้จากกฎหมายไทยนั้นหมายความว่า ยังมีกฎหมายที่จำกัดการลงทุนของชาวต่างชาติที่ห้ามลงทุนในธุรกิจบางประเภท หรือลงทุนได้ไม่เกินร้อยละ 49 ในบางประเภท เป็นต้น

และชาวจีนกลุ่มนี้ต้องการให้ไทยยกเลิกข้อจำกัดนี้เพื่อที่ตนจะได้ลงทุนได้อย่างเต็มที่

 

เป็นที่ทราบกันดีว่า ข้อจำกัดดังกล่าวมิใช่มีแต่ประเทศไทยเท่านั้นที่มี แต่เป็นกฎหมายที่ประเทศต่างๆ ใช้กันทั่วไป โดยเฉพาะประเทศกำลังพัฒนา ที่เป็นเช่นนี้เพื่อสงวนธุรกิจที่ว่าให้กับประชาชนของประเทศนั้นๆ เนื่องจากเป็นธุรกิจที่มีช่องทางที่จะเจริญเติบโตได้ง่าย

หากอนุญาตให้ชาวต่างชาติลงทุนได้แล้วอาจนำไปสู่การครอบงำทางเศรษฐกิจ หรือในบางกรณีอาจกระทบต่อความมั่นคงของชาติได้ (เช่น ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์)

ด้วยเหตุนี้ ข้อจำกัดนี้จึงเป็นอุปสรรคในการลงทุนของชาวจีนที่มีทุนหนาในระดับหนึ่ง และทำให้เกิดความปรารถนาที่จะให้ไทยยกเลิกข้อจำกัดนี้

แต่การยกเลิกข้อจำกัดดังกล่าวเป็นไปได้ยาก ชาวจีนบางคนจึงใช้วิธีให้ชาวไทยให้เป็นผู้ลงทุนแทน (nominee) โดยแลกกับการว่าจ้างชาวไทยรายนั้นให้มีตำแหน่งบริหารในธุรกิจนั้น โดยตั้งเงินเดือนเอาไว้สูงเป็นผลประโยชน์จูงใจ

 

โชคร้ายก็คือว่า มีชาวไทยบางรายที่ทำเช่นนั้น ไม่ต่างกับที่หญิงไทยบางคนรับจ้างแต่งงานกับชาวจีน เพื่อที่ชาวจีนซึ่งเป็นสามีเทียมจะได้นำเงินมาซื้อที่ดินดังได้กล่าวไปแล้ว แต่โชคดีก็คือว่า ชาวไทยและชาวจีนที่ทำเช่นนี้ยังมีไม่มาก

ถึงกระนั้น ประเด็นคำถามในที่นี้มิได้อยู่ที่โชคดีหรือโชคร้าย หากอยู่ที่ปรากฏการณ์ดังกล่าวมิใช่เรื่องที่ดี และเป็นปรากฏการณ์ที่ไม่ควรเกิดขึ้นไม่ว่าจะในประเทศใดก็ตาม

ในขณะที่ชาวจีนที่รอคอยความหวังในเรื่องนี้นั้นให้เหตุผลว่า หากตนได้ลงทุนในธุรกิจเหล่านี้ได้อย่างเสรีแล้ว ตนก็จะมีส่วนช่วยให้เศรษฐกิจไทยดีขึ้น โดยเฉพาะกับการจ้างงานชาวไทย ตนจึงไม่เข้าใจว่า ในเมื่อตน (ชาวจีน) มาช่วยให้เศรษฐกิจไทยดีขึ้นเช่นนี้ ทำไม (รัฐบาล) ไทยจึงไม่ยกเลิกข้อจำกัดที่ว่านี้เสีย

เหตุผลนี้ของชาวจีนมีทั้งที่โชคร้ายและโชคดีเช่นกัน โชคร้ายก็คือว่า เหตุผลดังกล่าวของชาวจีนไม่ต่างกับที่กรณีที่เกิดในลาว เมื่อชาวจีนถูกวิจารณ์ว่ากำลังครอบงำเศรษฐกิจลาว* เหตุผลที่ว่านี้เหมือนการโอดครวญด้วยความน้อยเนื้อต่ำใจในทำนองทำดีแล้วไม่ได้ดี

และแฝงไว้ด้วยน้ำเสียงลำเลิกบุญคุณอยู่กลายๆ

ส่วนโชคดีก็คือว่า งานศึกษานี้พบชาวจีนที่คิดเห็นเช่นนี้เพียงไม่กี่ราย ส่วนใหญ่ยอมรับและปฏิบัติตามกฎหมายไทย และเข้าใจด้วยว่าข้อจำกัดดังกล่าวมีขึ้นด้วยเหตุผลใด ชาวจีนกลุ่มนี้จึงมิได้เรียกร้องในเรื่องนี้อย่างจริงจัง คิดเพียงว่าถ้ายกเลิกได้ก็เป็นเรื่องที่ดี ถึงแม้มันจะเป็นไปได้ยากก็ตามที

 

ความใฝ่ฝันจากที่กล่าวมานี้เป็นเรื่องที่ตั้งอยู่บนความเป็นจริงที่ชาวจีนอพยพได้สัมผัส และไม่ว่าจะเรื่องที่เป็นไปได้หรือไม่ได้ก็ตาม ความใฝ่ฝันนั้นก็ยังมีเหตุผลอยู่ด้วย ที่กล่าวเช่นนี้ก็เพราะยังมีชาวจีนอยู่กรณีหนึ่งที่มีความใฝ่ฝันที่เกินจริง ซึ่งจะกล่าวอีกอย่างว่าเป็นความเพ้อฝันก็คงไม่ผิดนัก

กรณีนี้เป็นความคิดหรือความหวังของหญิงจีนสองรายที่ใช้ชีวิตอยู่ในจังหวัดเชียงใหม่ ทั้งสองกล่าวว่า การที่เธอใช้ชีวิตอยู่ในไทยนั้น ในด้านหนึ่งได้นำเงินมาใช้ในเมืองไทยด้วย เหตุฉะนั้น ทางการไทยควรดูแลเธอในเรื่องสวัสดิการอื่นๆ เหมือนกับที่ดูแลพลเมืองไทยด้วย

แน่นอนว่า สิ่งที่เธอต้องการนั้นแม้แต่เพื่อนชาวจีนของเธอเองก็ไม่เห็นด้วย แต่ที่นำมาบอกเล่าในที่นี้ก็เพื่อจะบันทึกไว้ว่า มีชาวจีนที่คิดเช่นนี้อยู่จริง

อย่างไรก็ตาม โดยทั่วไปแล้วความใฝ่ฝันมักเป็นเรื่องที่ยังไม่เกิดขึ้นจริง แต่บุคคลปรารถนาที่จะให้เกิดขึ้นจริง แต่สำหรับชาวจีนอพยพแล้วก่อนที่จะเข้ามาใช้ชีวิตในไทยนั้น ชาวจีนเหล่านี้มีความใฝ่ฝันมาตั้งแต่ต้นทางแล้ว นั่นคือ ใฝ่ฝันที่จะมีชีวิตที่ดีกว่า

ดังนั้น หากกล่าวในแง่นี้ก็จะพบว่า ชาวจีนในกลุ่มที่เข้ามายังไทยหลังจีนเปิดประเทศได้ไม่นานได้บรรลุซึ่งความใฝ่ฝันของตนแล้ว เพราะแทบทุกคนต่างพบกับชีวิตที่มีกินมีใช้และมั่นคง มีชีวิตอยู่ท่ามกลางลูกหลานที่เติบโตเป็นหนุ่มเป็นสาวที่มีการศึกษาสูง หรือมีหน้าที่การงานที่มั่นคง

การบรรลุความใฝ่ฝันเช่นนี้ไม่ได้อยู่ในความคิดความเชื่อของชาวจีนเมื่อ 40-50 ปีก่อนแม้แต่น้อย

 

ที่น่าศึกษาสำหรับชาวไทยก็คือว่า ชาวจีนเหล่านี้เลี้ยงดูลูกโดยที่ตนใช้ภาษาไทยไม่ได้เลยแม้แต่น้อย เมื่อลูกเข้าโรงเรียน ผู้เป็นพ่อ-แม่จึงไม่อาจสอนการบ้านให้ลูก หรือให้คำแนะนำเรื่องการศึกษาแก่ลูกได้ แต่ลูกๆ ของชาวจีนเหล่านี้กลับสำเร็จการศึกษาในระดับปริญญาตรีได้ด้วยดี

และมีไม่น้อยที่จบจากมหาวิทยาลัยชั้นนำของประเทศ คงไม่มีการบรรลุความใฝ่ฝันใดที่จะดีเท่านี้อีกแล้วสำหรับผู้อพยพที่แสวงหาชีวิตที่ดีกว่าในต่างแดน

ไม่เพียงเท่านั้น ในยามที่ชีวิตมีความมั่นคงแล้วนั้น ชาวจีนเหล่านี้ยังมีกิจกรรมที่ไม่เป็นทางการในการพบปะสังสรรค์กับคนชาติเดียวกันและมีหลายรูปแบบ เช่น รับประทานอาหารเย็นด้วยกัน ร้องรำทำเพลง (คาราโอเกะ) ดื่มสุรา หรือสนทนาแลกเปลี่ยนกันในเรื่องทั่วไปและเรื่องธุรกิจ เป็นต้น

กิจกรรมนี้ทำให้รู้ว่า ชาวจีนมีการรวมตัวกันหลวมๆ โดยมีจุดร่วมทางวัฒนธรรมเป็นหลัก

มีชาวจีนกลุ่มหนึ่งได้ให้ความเห็นว่า เวลาที่ตนได้ข่าวคราวเกี่ยวกับความขัดแย้งระหว่างจีนกับเพื่อนบ้าน เช่น ปัญหาหมู่เกาะเตี้ยวอี๋ว์หรือเซ็นกะกุกับญี่ปุ่น หรือปัญหาทะเลจีนใต้กับมาเลเซีย บรูไน ฟิลิปปินส์ และเวียดนามนั้น ตนจะไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยวด้วยการแสดงความเห็นหรือเคลื่อนไหวใดๆ

ส่วนหนึ่งเป็นเพราะอยู่ในดินแดนไทยที่ไทยไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับปัญหาดังกล่าว อีกส่วนหนึ่งคิดว่าปล่อยให้ทางการจีนเป็นผู้แก้ปัญหาไปเองจะดีกว่า คำตอบนี้ทำให้เห็นว่า ชาวจีนกลุ่มนี้ไม่มีความรู้สึกชาตินิยมดังชาวจีนที่ยังอยู่ที่แผ่นดินใหญ่

กรณีนี้จึงชวนให้น่าประหลาดใจไม่น้อย เพราะผิดวิสัยชาวจีนที่มักขึ้นชื่อในเรื่องชาตินิยม และทำให้เห็นว่า ที่เป็นเช่นนี้อาจเป็นเพราะชาวจีนเหล่านี้ถือตนเป็นผู้อพยพที่ตัดใจจากแผ่นดินเกิดแล้วจริงๆ

 

จากที่กล่าวมาทั้งหมดนี้จะเห็นได้ว่า ชีวิตที่ปลายทางของชาวจีนอพยพมีทั้งที่เหมือนและที่ต่างกับผู้อพยพชาติอื่นๆ ที่เหมือนก็คือ ต่างปรารถนาชีวิตที่ดีกว่าในประเทศปลายทาง คือดีกว่าเมื่อครั้งอยู่ที่ประเทศต้นทาง (จีน)

ส่วนที่ต่างก็คือ หากกล่าวโดยภาพรวมแล้วชาวจีนมีพื้นฐานหลายอย่างที่ดีกว่าผู้อพยพชาติอื่นตรงที่ว่า ชาวจีนมิได้อพยพจากความขัดแย้งหรือสงครามภายในประเทศ

ส่วนปัญหาความยากจนอาจเป็นเหตุผลหนึ่งก็จริง แต่ตอนที่เริ่มอพยพหลังจากเปิดประเทศใน ค.ศ.1978 ได้ไม่นานเพราะนโยบายดังกล่าวเปิดช่องทางส่วนหนึ่ง อีกส่วนหนึ่งเป็นเพราะนโยบายดังกล่าวมีความหมายที่มากกว่าการเปิดช่องทางที่ว่า

นั่นคือ เป็นนโยบายที่เปิดรับเอาความรู้ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีจากที่ต่างๆ ทั่วโลกมาพัฒนาประเทศ จนเศรษฐกิจเจริญเติบโตดังที่เห็นในทุกวันนี้

หลังจากที่ปรับตัวเข้ากับประเทศปลายทางได้แล้ว ชาวจีนก็ทำให้เห็นว่าตนยังมีข้อจำกัดในบางด้านดำรงอยู่ โดยเฉพาะพื้นฐานทางวัฒนธรรม ในแง่นี้ชาวจีนจึงไม่ต่างกับผู้อพยพชาติอื่น และด้วยเหตุนี้ ชาวจีนจึงมีความคิดต่อสังคมไทยและชาวไทยค่อนข้างเฉพาะ

คือมีความเข้าใจวัฒนธรรมไทยมากขึ้นกว่าเมื่อครั้งอยู่ที่จีน แต่ก็มิอาจนำตนเข้าเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมไทยได้ ได้แต่รักษาระยะห่างเอาไว้ตามสมควร

แต่ความต่างทางวัฒนธรรมนี้เป็นคนละเรื่องกับสิ่งที่ชาวจีนคาดหวัง ด้วยความคาดหวังเป็นเรื่องที่ตั้งอยู่บนฐานคิดทางเศรษฐกิจเป็นหลัก ชีวิตที่ดีกว่าที่ชาวจีนคาดหวังจึงเป็นไปไม่ได้ในบางเรื่องที่มีข้อจำกัดทางกฎหมาย แต่บางเรื่องก็คาดหวังได้และทำได้สำเร็จ

กล่าวโดยรวมแล้วชีวิต ความคิด และความหวังของชาวจีนแม้จะไม่สมบูรณ์เพราะตนเป็นผู้อพยพก็ตาม แต่เมื่อเปรียบเทียบกับการต้องมีชีวิตที่ต้องตื่นตัว และอยู่ท่ามกลางการแข่งขันกับคนรอบข้างขณะอยู่ที่จีนแล้ว

ชาวจีนจึงรู้สึกว่าชีวิตในไทยผ่อนคลายมากกว่าในจีน

หมายเหตุ : บทความชิ้นนี้เป็นส่วนหนึ่งของผลงานวิจัยเรื่อง ชาวจีนอพยพใหม่ในประเทศไทย โดยได้รับทุนอุดหนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย ความเห็นในรายงานผลการวิจัยเป็นของผู้วิจัย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัยไม่จำเป็นต้องเห็นด้วยเสมอไป

*ปัจจุบันเป็นที่รู้กันโดยทั่วไปว่า จีนได้เข้าไปทำการค้าการลงทุนในลาวในแทบทุกธุรกิจ โดยได้รับอนุญาตจากทางการลาว จากเหตุนี้ ได้ทำให้เกิดชุมชนจีนในลาวขึ้นมาในหลายพื้นที่จนดูเป็นพื้นที่เฉพาะของชาวจีน จนกลายเป็น “นิคม” ของชาวจีนไป และเป็นที่มาของเสียงวิพากษ์วิจารณ์ และตามมาด้วยการให้เหตุผลดังกล่าวของชาวจีน