บทวิเคราะห์ปรากฏการณ์ ขอทรมานตนเอง พิสูจน์ความจริง

บทความในประเทศ

 

ขอทรมานตนเอง

พิสูจน์ความจริง

การจับกุมคุมขังแกนนำกลุ่มราษฎรและแนวร่วม มีเป้าหมายมุ่งหวังให้การชุมนุมเคลื่อนไหวเสื่อมถอยลง

เริ่มจากการเอาผิด 4 แกนนำ นายพริษฐ์ ชิวารักษ์ หรือเพนกวิน นายอานนท์ นำภา นายปติวัฒน์ สาหร่ายแย้ม หรือหมอลำแบงค์ และนายสมยศ พฤกษาเกษมสุข จากคดีชุมนุมปักหมุดท้องสนามหลวง เมื่อวันที่ 19-20 กันยายน 2563 ในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และมาตรา 116 ฐานยุยงปลุกปั่น

ตามด้วยนายจตุภัทร์ บุญภัทรรักษา หรือไผ่ ดาวดิน นายภาณุพงศ์ จาดนอก หรือไมค์ และ น.ส.ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล หรือรุ้ง ที่ถูกดำเนินคดีและส่งฟ้องต่อศาลในคดีเดียวกัน

ทั้ง 7 คนถูกส่งเข้าเรือนจำ ไม่ได้รับการประกันตัวออกมาต่อสู้คดี

เช่นเดียวกับนายไชยอมร แก้ววิบูลย์พันธุ์ หรือแอมมี่ ผู้ต้องหาคดีมาตรา 112 กับนายปิยรัฐ จงเทพ หรือโตโต้ หัวหน้าการ์ดอาสาวีโว่ ผู้ต้องหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน และ พ.ร.บ.ควบคุมโรค ที่ศาลไม่ให้ประกันตัว

ระหว่างนี้ได้เกิดประเด็นวิพากษ์วิจารณ์ถึงวัตถุประสงค์ที่แน่ชัดกรณีกรมราชทัณฑ์นำตัวไผ่ ดาวดิน ไมค์ ภาณุพงศ์ และโตโต้ ปิยรัฐ แยกไปคุมขังที่เรือนจำพิเศษธนบุรี แทนที่จะเป็นเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ตามคำสั่งศาล โดยอ้างเหตุผลเรื่องความแออัด

ที่ผ่านมาทนายความ ครอบครัว และกลุ่มอาจารย์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์พยายามยื่นคำร้องขอประกันตัวแกนนำและแนวร่วมกลุ่มราษฎรต่อศาลหลายครั้ง แต่ไม่ประสบผลสำเร็จ ศาลปฏิเสธคำร้อง เหตุเกรงว่าถ้าปล่อยตัวทั้งหมดจะกลับไปกระทำผิดซ้ำลักษณะเดิม

ทำให้ปัจจุบันแกนนำและแนวร่วมกลุ่มราษฎรยังคงถูกคุมขังในเรือนจำ

 

15 มีนาคม ศาลนัดพร้อมตรวจพยานหลักฐานในคดีชุมนุมปักหมุดท้องสนามหลวง

บรรดาแกนนำและผู้ชุมนุมที่ถูกฟ้องโดนควบคุมตัวมาขึ้นศาล นำโดยเพนกวิน พริษฐ์ ทนายอานนท์ รุ้ง ปนัสยา ไมค์ ภาณุพงศ์ ไผ่ จตุภัทร์ ท่ามกลางมวลชนมาเฝ้ารอให้กำลังใจจำนวนมาก

เพนกวินชูสามนิ้วและตะโกน “ฝากบอกเขาด้วยว่า ถึงเขาจะขังผมได้ แต่เขาไม่อาจขังความจริงได้ ความจริงย่อมเป็นความจริง ไม่ว่าจะอยู่ที่กรงขัง เครื่องทรมาน หรือหลักประหาร ความจริงย่อมเป็นความจริง”

ส่วนรุ้ง ปนัสยา หลั่งน้ำตาเมื่อเห็นเพื่อนๆ มาให้กำลังใจ

นายชินวัตร หรือไบรท์ จันทร์กระจ่าง แกนนำเครือข่ายคนรุ่นใหม่นนทบุรี 1 ในจำเลย เล่าบรรยากาศในห้องพิจารณาคดีว่า เพนกวินขออนุญาตแถลงต่อศาลถึงความอึดอัดในใจ แต่ศาลไม่อนุญาตให้พูดในสถานที่เปิดเผย

เพนกวินจึงประกาศความอึดอัดในใจว่า เหตุใดศาลไม่ให้ประกันตัวทั้งที่ยังไม่มีคำพิพากษา โดยเทียบเคียงกับคดีแกนนำ กปปส.ที่ศาลตัดสินแล้วว่ามีความผิดแต่กลับได้รับการประกันตัว และไม่ต้องตัดผม พร้อมประกาศขอประท้วงด้วยการอดข้าว ดื่มแต่น้ำ จนกว่าจะได้รับการประกันตัว

ทำให้บรรยากาศในห้องพิจารณาคดีเกิดความวุ่นวายขึ้น มวลชนที่ได้เข้าร่วมฟังการพิจารณาระบายอารมณ์กรีดร้อง ขว้างขวดน้ำลงพื้น เจ้าหน้าที่จึงคุมตัวเพนกวินและจำเลยลงไปควบคุมที่ห้องควบคุมจำเลย

วันเดียวกันได้มีการเปิดเผยเนื้อหาจดหมายที่เพนกวินเขียนเกี่ยวกับประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ที่ล้าหลัง ไม่เป็นที่ยอมรับจากนานาชาติ และยังมีบทลงโทษรุนแรง จำคุกสูงสุดถึง 15 ปี

ทั้งยังระบุในช่วงทศวรรษแห่งความขัดแย้งทางการเมืองที่ผ่านมา มาตรา 112 ถูกใช้เป็นอาวุธทิ่มแทงทำร้ายฝ่ายตรงข้ามทางการเมืองมานับครั้งไม่ถ้วน โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลัง พ.ศ.2557 ปีที่มีการก่อรัฐประหารล้มล้างรัฐบาลประชาธิปไตย

มีผู้คนหลายร้อยคนที่รักชาติ หวงแหนประชาธิปไตย กล้าหาญพอที่จะลุกขึ้นต่อต้านระบอบเผด็จการด้วยการพูดความจริง แต่กลับถูกจองจำ ถูกปฏิเสธการประกันตัวสู้คดี ทั้งที่ยังไม่ถูกพิพากษาให้มีความผิด

“แต่ความจริงย่อมเป็นความจริง ไม่ว่าจะอยู่ในกรงขัง ในเครื่องทรมาน หรือที่หลักประหาร ความจริงก็ยังคงเป็นความจริง ไม่ว่าท่านจะจับข้าพเจ้าไปคุมขังให้เกิดความทุกข์ทรมานมากเพียงใด ความทุกข์นั้นก็ไม่อาจทำลายความจริงได้ ข้าพเจ้าจึงยินดีที่จะรับความทุกข์ทรมานที่พวกท่านจะยัดเยียดให้ และจะยังขอทรมานตนเองเพิ่มด้วย

ดังนั้น นับแต่วันนี้เป็นต้นไป ข้าพเจ้าจะขออดอาหาร ประทังชีพด้วยน้ำ น้ำหวาน และนมเท่านั้นไปจนกว่าท่านจะคืนสิทธิให้ประกันตัวสู้คดีให้กับข้าพเจ้า ให้กับผู้ถูกกล่าวหาคดีมาตรา 112 และให้กับผู้ถูกกล่าวหาทางการเมืองทุกคน หรือจนกว่าชีวิตของข้าพเจ้าจะหาไม่

ข้าพเจ้าไม่ได้มีเจตนาปลิดชีวิตของตน แต่จะขอทรมานตนเอง เพื่อให้ความทรมานที่เกิดกับข้าพเจ้า เป็นประจักษ์พยานแห่งสิ่งที่เกิดขึ้น

เป็นประกายไฟสะกิดมโนสำนึก และเป็นข้อพิสูจน์ว่าความจริงไม่เกรงกลัวต่อความทุกข์ทรมานใดๆ หากข้าพเจ้าต้องสละชีวิตลง ข้าพเจ้าก็ยินดีสละ เพื่อวันหนึ่งประเทศของเราจะไม่มีกฎหมายมาตรา 112 ไม่มีใครต้องตกเป็นนักโทษทางการเมือง และ 3 ข้อเรียกร้องจะบรรลุเป็นจริง

ประเทศไทยจะได้เป็นของคนไทยทุกคนอย่างเสมอภาค โดยสมบูรณ์”

 

ในวันนัดพร้อม ศาลมีคำสั่งรวมพิจารณาคดีปักหมุดสนามหลวง นัดตรวจพยานหลักฐาน 29 มีนาคม ก่อนนัดสืบพยานตามขั้นตอน

พร้อมมีคำสั่งอนุญาตย้ายที่ควบคุมตัวไผ่ ไมค์ และโตโต้ จากเรือนจำพิเศษธนบุรีไปยังเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ

แต่แล้วก็เกิดเหตุการณ์ความไม่ชอบมาพากล เมื่อนายอานนท์ นำภา เขียนจดหมายจากเรือนจำ ความว่า “ด่วนที่สุด” ข้อความจากศาล 16 มีนาคม 2564 ระบุ

“เมื่อคืนวันที่ 15 มีนาคม เวลา 21.30 น. มีเจ้าหน้าที่เรือนจำพยายามนำตัวไผ่และไมค์ไปควบคุมนอกแดน พวกเราไม่ยอม เพราะเป็นเวลาวิกาล จากนั้นเจ้าหน้าที่กลับออกไปจากห้องขังแล้วกลับมามากกว่าเดิม พร้อมกระบองในเวลา 23.45 น. 00.15 น. และ 02.30 น. โดย 2 ครั้งหลังเจ้าหน้าที่มาพร้อมเจ้าหน้าที่อีกชุด สวมใส่ชุดสีน้ำเงินเข้ม แต่ไม่ติดป้ายชื่อ แจ้งว่าจะพาทั้งหมดไปตรวจโควิด-19 พวกเราไม่ยอม เพราะผิดวิสัยที่จะนำผู้ต้องขังออกนอกแดนในเวลาเที่ยงคืน

ภายใต้ข่าวลือที่ว่าจะมีการส่งคนเข้าไปทำร้ายหมายเอาชีวิตพวกเราในเรือนจำ และเกรงจะเสียชีวิตในเรือนจำเหมือนคนอื่น ผมไม่ได้นอนทั้งคืน เพราะเกรงอันตราย ได้โปรดช่วยชีวิตพวกเราด้วย”

นายกฤช กระแสร์ทิพย์ ผู้บัญชาการเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ชี้แจงว่า เจ้าหน้าที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ รับตัวนายจตุภัทร์ นายภาณุพงศ์ และนายปิยรัฐ จากเรือนจำพิเศษธนบุรีช่วงกลางคืน

ตามระเบียบเรือนจำต้องตรวจโรคโควิด-19 และกักตัวในห้องกักโรคแดน 2 เนื่องจากเรือนจำพิเศษธนบุรีอยู่ย่านมหาชัยและบางบอน เป็นเขตพื้นที่เสี่ยงสูง แต่มีการปฏิเสธไม่ยอมตรวจ

นายวีระกิตติ์ หาญปริพรรณ์ รองอธิบดีกรมราชทัณฑ์ ชี้แจงว่าการตรวจโควิดกลางดึกในเรือนจำเป็นเรื่องปกติ “กรณีนี้เปรียบเทียบกับกรณีของหมอหยองไม่ได้ เพราะหมอหยองไม่ได้อยู่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ตั้งแต่ก่อนเกิดเหตุ”

นายอานนท์ยื่นหนังสือคำร้องขอประกันตัวต่อศาลอีกครั้ง โดยนำเรื่องที่เกิดขึ้นมาเป็นเหตุผลประกอบ เนื่องจากเกรงจะได้รับอันตรายถึงชีวิตเกี่ยวกับการควบคุมตัวในเรือนจำ

ศาลอาญานัดไต่สวนทันที 17 มีนาคม เรียก ผบ.เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ และเบิกตัวนายอานนท์มาให้การ

นายอานนท์เบิกความขอให้ศาลเรียกตรวจสอบกล้องวงจรปิด ทั้งยังอ้างว่ามีคำเตือนจากบุคคลหนึ่ง ซึ่งนายอานนท์เรียกชื่อเล่น ว่าจะส่งคนมาจัดการนายอานนท์และคนอื่นในเรือนจำเหมือนกับผู้ต้องหาคดีการเมืองหลายคนที่เสียชีวิต จึงขอให้ศาลคุ้มครอง

ศาลนัดไต่สวนไผ่ จตุภัทร์ และไมค์ ภาณุพงศ์ ในฐานะผู้อยู่ในเหตุการณ์โดยตรง วันที่ 22 มีนาคม

 

เหล่านี้คือความไม่ชอบมาพากลที่บรรดาแกนนำราษฎรต้องเผชิญในเรือนจำ

กับข้อมูลคำชี้แจงจากกรมราชทัณฑ์ที่คลุมเครือ เต็มไปด้วยข้อพิรุธน่าสงสัย ทั้งการเปลี่ยนย้ายสถานที่จองจำ ความพยายามคุมตัวออกนอกแดนขังกลางดึกด้วยข้ออ้างจะพาไปตรวจโควิด-19

รวมถึงการประกาศ “ขอทรมานตนเอง เพื่อพิสูจน์ความจริง” ของเพนกวิน-พริษฐ์ ชิวารักษ์ เพื่อทวงสิทธิการประกันตัวสู้คดีให้กับผู้ถูกกล่าวหาคดีมาตรา 112 และผู้ถูกกล่าวหาทางการเมืองทุกคน เป็นปรากฏการณ์กลางศาล น่าตื่นตะลึง

ผลักดันสถานการณ์เข้มข้นน่าติดตามอย่างยิ่ง