อำนาจล้าหลังคือทุกต้นตอปัญหา / ชกคาดเชือก วงค์ ตาวัน

วงค์ ตาวัน

ชกคาดเชือก

วงค์ ตาวัน

 

อำนาจล้าหลังคือทุกต้นตอปัญหา

 

กรณีชาวกะเหรี่ยงบางกลอย น่าจะเป็นปัญหายืดเยื้อ เพราะแม้ว่าจะมีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาหาทางออก ตกลงกันได้ระดับหนึ่ง จนชาวบ้านยอมยุติการชุมนุมที่ข้างทำเนียบ โดยประกาศพร้อมจะกลับมาใหม่ พร้อมจะต่อสู้ต่อไป ถ้าเป้าหมายการต่อสู้ไม่ลุล่วง

แต่ต่อมา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ แสดงท่าทีชัดเจนว่า จะไม่ยอมให้กลับไปอยู่ที่บ้านบางกลอยบน ป่าใจแผ่นดิน อย่างแน่นอน

ด้วยเหตุผลว่า เป็นเขตอุทยานฯ เป็นป่าต้นน้ำ ไม่สามารถให้กลับเข้าไปได้

หนักกว่านั้น พล.อ.ประยุทธ์ยังระบุว่า มีคนอยู่เบื้องหลังสนับสนุนให้ชาวบ้านออกมาเคลื่อนไหว “ขอโทษไอ้คนที่อยู่เบื้องหลัง ซึ่งก็รู้กันอยู่ว่าคือใคร”

ทั้งยืนกรานไม่ยอมให้กลับเข้าไปในพื้นที่ที่เคยอยู่ดั้งเดิม และทั้งกล่าวหาว่ามีคนอยู่เบื้องหลัง ฟังเช่นนี้แล้ว ก็ดูจะเป็นเรื่องยากที่จะหาทางออกได้โดยดี

โดยต้องไม่ลืมว่า ชาวบางกลอยนั้น ยืนยันว่า ไม่สามารถอยู่ในพื้นที่บางกลอยล่างที่รัฐจัดให้ได้ ยืนยันจะต้องกลับไปอยู่ที่เดิมที่เคยอยู่มาตั้งแต่รุ่นบรรพบุรุษ

ถึงขั้นเคยขอให้เจ้าหน้าที่อุทยานฯ ยิงให้ตายเสียตรงที่นั้น จะไม่โกรธด้วย เพราะตั้งใจว่าจะขอตายอยู่ที่ป่าใจแผ่นดิน!?

นั่นแปลว่าการต่อสู้เพื่อสิทธิที่อยู่อาศัยที่ทำกินของตนเองครั้งนี้ ชาวบางกลอยไม่มีวันถอยแน่ๆ

แต่ถ้าผู้นำรัฐบาลยังพูดแต่คำว่า เป็นอุทยานฯ กลับเข้าไปไม่ได้ และหมิ่นแคลนว่ามีคนชักใยเบื้องหลัง

เช่นนี้แล้ว ก็ยากจะคาดหวังว่า รัฐบาลจะคิดหาทางออก เพราะคงคิดอย่างเดียวคือใช้อำนาจ ใช้กฎหมายเข้าจัดการ โดยไม่มองว่านั่นไม่ใช่การแก้ปัญหา มีแต่จะยิ่งทำให้บานปลายออกไป

คำพูดของนายกฯ สะท้อนให้เห็นว่า ไม่มีความเข้าใจในปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างลึกซึ้ง เอาแต่คำว่าเขตอุทยานฯ และผิดกกฎหมาย ก็จบ ไม่ต้องคิดอะไรอย่างอื่นอีก

รวมทั้งคำพูดคำนี้ ก็คือท่าทีความคิดเหมือนเมื่อ 25 ปีก่อน คือ ในปี 2539 ซึ่งเริ่มเข้าไปขับไล่ชาวบ้านออกจากป่าใจแผ่นดิน ด้วยข้ออ้างว่าเป็นเขตอุทยานฯ โดยไม่ฟังว่าเขาอยู่มาเป็นร้อยปี ก่อนจะประกาศเป็นเขตอุทยานฯ มีหลักฐานทางประวัติศาสตร์มากมาย และเป็นชนชาวกะเหรี่ยงที่อยู่อย่างรักษาป่า ดูแลป่า เคารพป่า

ปัญหาจึงไม่ใช่เรื่องการที่ชาวบ้านกลุ่มนี้เข้าไปบุกรุกอุทยานฯ แต่เขาอยู่มาก่อน แล้ววันหนึ่งมาประกาศเป็นอุทยานฯ แล้วบังคับให้ออกมา

ผ่านไป 25 ปี พิสูจน์แล้วว่า ที่เอามาอยู่บ้านลางกลอยล่างนั้น ล้มเหลว เพราะเขาไม่สามารถทำกินได้

จนเมื่อต้นปี 2564 จึงตัดสินใจเดินกลับเข้าไปยังบางกลอยบน ที่อยู่มายาวนานแล้ว คราวนี้ก็ยังบุกไปจับลงมาอีก จนเป็นคดี และกลายเป็นการชุมนุมต่อสู้ถึงข้างทำเนียบรัฐบาล

แต่นายกฯ ยังพูดถึงปัญหาด้วยสายตาและความคิดเหมือน 25 ปีที่แล้ว ที่ชัดแล้วว่า นั้นไม่ใช่ทางแก้ และปัญหาล่วงเลยมาไกลแล้ว ต้องหลุดจากกรอบความคิดเดิมๆ แล้ว

 

ปัญหาบางกลอยนั้น ส่วนหนึ่งไม่พ้นประเด็นอคติชาติพันธุ์ เห็นว่าเป็นกะเหรี่ยง รัฐอยากจะทำอะไรก็ทำ แต่เอาเข้าจริงๆ วันนี้ โลกมีการสื่อสาร คณะกรรมการมรดกโลกก็ยังรู้ปัญหา ปัญญาชน ชนชั้นกลางใน กทม.ก็เข้าใจปัญหา มีแต่ฝ่ายรัฐที่ไม่เข้าใจ ไม่เปลี่ยนวิธีคิด ยังมีมุมมองแบบล้าหลังดังเดิม

ประเด็นอคติและมุมมองล้าหลังของรัฐ ก็เป็นต้นตอเดียวกันกับปัญหา 3 จังหวัดชายแดนใต้ คือ ไม่ยอมรับว่าเดิมทีเป็นรัฐปัตตานี ที่มีวัฒนธรรม มีอารยธรรมเจริญรุ่งเรืองมายาวนาน ต่อมาเมื่อผนวกเข้ามาเป็นดินแดนของไทย ฝ่ายรัฐก็หวาดระแวง และพยายามกดให้กลายเป็นไทย ไม่ยอมให้รักษาเอกลักษณ์ วัฒธรรม

กดมากๆ เข้าก็กลายเป็นการต่อต้าน เป็นการต่อสู้ กลายเป็นการก่อความไม่สงบ เป็นไฟใต้ที่ลุกโชนมายาวนาน

มีความสูญเสียทั้งงบประมาณในการสู้รบปราบปรามอย่างมหาศาล ทำให้ตำรวจ ทหารชั้นผู้น้อย และชาวบ้านในพื้นที่ สูญเสียมากมาย

แต่ไม่คิดจะแก้ด้วยกรอบความคิดใหม่ ยังใช้อำนาจฉุกเฉิน ใช้กฎอัยการศึก ให้การปราบปรามดังเดิม!

ในยุคยิ่งลักษณ์ ที่ยอมรับความผิดพลาดจากยุคทักษิณ จึงใช้กรอบความคิดใหม่ คือ เปิดเจรจาอย่างเป็นทางการ ค่อยๆ ลดความรุนแรงลงไปในบางระดับ

ยอมรับในอัตลักษณ์ของคน 3 จังหวัดใต้ หาทางวางแนวทางสร้างสังคม 3 จังหวัดใต้ ที่ยอมรับในความละเอียดอ่อนทางเชื้อชาติ ศาสนา

ท่ามกลางความไม่พอใจของกลุ่มอำนาจอนุรักษนิยมการเมืองที่ล้าหลัง ที่มีแนวคิดคือ กดให้ยอม ทำให้สลายกลายเป็นคนไทยเหมือนคนส่วนกลาง

เมื่อเกิดรัฐประหารล้มรัฐบาลยิ่งลักษณ์ เราจึงเห็นแนวทางเดิมๆ กลับมาเหมือนเดิม และความรุนแรงก็เพิ่มขึ้นไปเรื่อย

เพราะกลุ่มอำนาจล้าหลัง ตั้งประเด็นว่า พวกหัวรุนแรงใน 3 จังหวัดใต้ ต้องการแยกดินแดน คิดอยู่เช่นนี้ ปั่นเป็นกระแสชาตินิยม ประเทศไทยแบ่งแยกไม่ได้ แล้วก็รบกันเข้าไป

ขณะที่หลายประเทศในโลก แก้ปัญหาชนกลุ่มน้อย คนต่างเชื้อชาติ ศาสนา ด้วยการปรับให้เป็นเขตปกครองพิเศษ ก็สามารถอยู่ร่วมกันได้ โดยไม่มีการแบ่งแยกดินแดนอะไรเลย

แต่รัฐไทย ชาตินิยมขวาจัด ไม่สามารถคิดแบบนี้ได้ ไฟใต้จึงรุนแรงไม่เห็นทางออก

ชีวิตทหาร ตำรวจและประชาชน รวมทั้งงบประมาณมหาศาล ก็สูญเสียไปเรื่อย!

 

การเคลื่อนไหวของนักเรียน-นักศึกษาคนรุ่นใหม่ ที่ลุกขึ้นมาเรียกร้องการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองไทยในระดับโครงสร้าง ตั้งแต่กลางปี 2563 ที่ผ่าน นำมาสู่การเปลี่ยนแปลงทางความคิดครั้งใหญ่ของสังคมไทย เป็นอีกกรณีที่บ่งบอกว่า รัฐไม่สามารถหาทางออกด้วยกรอบความคิดใหม่ได้

รัฐบาลประยุทธ์ที่มาจากคณะนายทหาร เป็นตัวแทนกลุ่มอำนาจเก่า อำนาจอนุรักษนิยมการเมืองไทย ใช้กรอบความคิดเดิมๆ มามอง จึงไม่ยอมรับฟัง

กลายเป็นการใช้นิติสงคราม ใช้ทุกกระบวนการในการจัดการกับแกนนำ

ทำให้นักเคลื่อนไหวต้องทยอยกันเข้าไปอยู่ในเรือนจำมากมาย อย่างไม่ปกติ

การต่อสู้ก็ลุกลามไปถึงภายในคุก ต่อสู้เรื่องการคุกคามปองร้าย ต่อสู้เรื่องการประกันตัว สู้ไปทุกพื้นที่

นั่นก็แปลว่า คุกไม่อาจหยุดยั้งการเคลื่อนไหวของคนรุ่นใหม่ได้ และมีแนวโน้มจะลุกลามบานปลายไปในทุกพื้นที่ทุกรูปแบบ

ประเด็นการต่อสู้ทางการเมืองของคนรุ่นใหม่ ก็เป็นเครื่องยืนยันว่าเพราะรัฐไทย ยังเต็มไปด้วยคนแนวคิดอนุรักษนิยมการเมืองล้าหลัง จึงมองไม่ออกว่าจะหาทางออกที่เหมาะสมกับทุกฝ่ายได้อย่างไร

ยังยืนยันในผลประโยชน์เฉพาะฝ่ายตนเองเป็นที่ตั้ง นั่นจึงมีแนวโน้มที่กลายเป็นการแตกหัก อาจจะเกิดพังทลายครั้งใหญ่ในอนาคตอันใกล้

ขณะที่สังคมไทยเรา มีผู้นำทางความคิด ผู้นำทางการเมือง ที่แสดงให้เห็นถึงวิสัยทัศน์ กรอบความคิดใหม่ๆ อันจะนำมาซึ่งการพัฒนารุดหน้าของประเทศ แต่คนเหล่านี้ก็ถูกกำจัดด้วยหลายวิธีการ

แต่โลกที่กว้างใหญ่ ทำให้วันนี้คนไทยได้ฮือฮากับ นายโทนี่ วูดซัม หรือนายทักษิณ ชินวัตร ที่โดดเด่นในคลับเฮาส์

เสนอมุมมองต่อสังคมไทย การแก้ปัญหาเศรษฐกิจ โควิด สารพัด ทำให้คนไทยเกิดความรู้สึกต้องการคนคิดแบบนี้มากกว่า

เปรียบเทียบกับ พล.อ.ประยุทธ์ และกลุ่ม 3 ป.ที่ครองอำนาจสังคมไทย รวมทั้งเครือข่ายอำนาจที่หนุนหลังขุนศึกขุนนาง

เราจึงเข้าใจได้ไม่ยากว่า ทำไมสังคมไทยเราจึงล้าหลังได้ขนาดนี้!