‘วัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า’ ปลอดภัยหรือไม่? / เทศมองไทย

เทศมองไทย

 

‘วัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า’

ปลอดภัยหรือไม่?

 

โครงการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ในประเทศใหญ่ๆ ของสหภาพยุโรป (อียู) หยุดชะงักไปชั่วคราว หลังจากเกิดปัญหาขึ้นกับผู้ได้รับวัคซีนจำนวนหนึ่งที่เกิดภาวะเลือดแข็งตัวผิดปกติขึ้น

ภาวะเลือดแข็งตัวผิดปกติ ก่อให้เกิดปัญหาตามมาอีกหลายอย่าง ตั้งแต่การเกิดลิ่มเลือดอุดกั้นในปอด, ภาวะลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือดดำส่วนลึก หรือแม้แต่ภาวะเกล็ดเลือดต่ำ และภาวะอุดตันของเส้นเลือดในสมอง ซึ่งทำให้เกิดอาการสโตรกและอาการเลือดออกในสมองตามมาได้

วัคซีนที่ตกเป็นผู้ต้องสงสัยว่า ฉีดไปแล้วเกิดผลข้างเคียงที่ว่านี้ขึ้นมา คือวัคซีนของบริษัทแอสตร้าเซนเนก้าที่ร่วมกับมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด ประเทศอังกฤษพัฒนาขึ้นนั่นเอง

เดนมาร์กเป็นประเทศใหญ่ประเทศแรกที่สั่งระงับโครงการฉีดวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าเอาไว้ก่อน ตามแบบอย่างของประเทศอย่างไอซ์แลนด์, นอร์เวย์, เนเธอร์แลนด์ และบัลแกเรีย

หลังจากนั้นหลายๆ ประเทศก็สั่งระงับตามมา ไม่ว่าจะเป็นไอร์แลนด์ หรือประเทศยักษ์ใหญ่ในอียู อย่างเยอรมนี, ฝรั่งเศส, อิตาลี, สเปน เป็นต้น

 

ที่น่าสนใจอย่างมากก็คือ วันที่เดนมาร์กสั่งระงับโครงการฉีดนั้นเป็นวันก่อนหน้ากำหนดการฉีดวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าของนายกรัฐมนตรี ประยุทธ์ จันทร์โอชาและคณะรัฐมนตรีของไทยเพียงวันเดียว

จนเป็นเหตุให้มีการสั่งระงับการฉีดไว้เป็นการชั่วคราว ทำเอาอินโดนีเซียต้องสั่งระงับตามหลังมาอีกประเทศ

นายกรัฐมนตรีไทยเพิ่งได้ฉีดวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าไปเมื่อ 15 มีนาคมที่ผ่านมานี่เอง

นอกจากจะเป็นปัญหาของนายกรัฐมนตรีแล้ว ปมว่าด้วยความปลอดภัยของวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้ายังเชื่อมโยงกับโครงการฉีดวัคซีนในไทยอย่างมากอีกด้วย เพราะไทยก็เหมือนกับอียู ที่ยึดเอาวัคซีนตัวนี้เป็นวัคซีนหลักในโครงการสร้างภูมิคุ้มกันเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในครั้งนี้

อียูสั่งวัคซีนจากแอสตร้าเซนเนก้าไปแล้วกว่า 300 ล้านโดส เพื่อนำมาใช้ในโครงการฉีดวัคซีนให้กับประชากรของตนให้ได้ถึง 70 เปอร์เซ็นต์ภายในวันที่ 22 กันยายนที่จะถึงนี้

คำถามก็คือ วัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าปลอดภัยจริงหรือไม่?

 

ไม่ว่าจะเป็นองค์การอนามัยโลก (ดับเบิลยูเอชโอ) หรือองค์การยาแห่งยุโรป (อีเอ็มเอ) ที่เป็นองค์กรสูงสุดในการควบคุมและกำกับดูแลเรื่องยาของอียู ออกมายืนยันหนักแน่นว่า ยังไม่มีข้อบ่งชี้ใดๆ ว่าวัคซีนออกซ์ฟอร์ด-แอสตร้าเซนเนก้า ไม่ปลอดภัย

ประเด็นที่อีเอ็มเอ และดับเบิลยูเอชโอ หยิบยกออกมาประกอบคำยืนกรานดังกล่าวก็คือ ภาวะลิ่มเลือดอุดตันนั้นเป็นภาวะที่เกิดขึ้นได้ทั่วไป ในสภาวะไม่มีการแพร่ระบาด ไม่มีการฉีดวัคซีน

ข้อมูลจากบีบีซีบอกเอาไว้ว่า ในอียูกับในยูเค (สหราชอาณาจักร) มีผู้ที่ได้รับวัคซีนตัวนี้โดสแรกไปแล้วราว 17 ล้านคน แต่กรณีที่เกิดปัญหาภาวะเลือดแข็งตัวผิดปกติ (coagulation disorders) ขึ้นนั้น มีเพียงไม่ถึง 40 รายด้วยซ้ำไป

ไม่เพียงอัตราการเกิดภาวะผิดปกติดังกล่าวนั้นจะน้อยมากแล้ว ยังเป็นอัตราการเกิดขึ้นในระดับเดียวกับที่เกิดขึ้นในภาวะปกติทั่วไปอีกด้วย

พูดง่ายๆ ก็คือ ถึงแม้จะไม่มีวัคซีนเข้าไปเกี่ยวข้อง ผู้คนในยุโรปก็จะเกิดภาวะเลือดแข็งตัวผิดปกติอยู่ในระดับนี้อยู่ก่อนแล้ว

นั่นทำให้ผู้เชี่ยวชาญบางคนถึงกับฟันธงว่า สิ่งที่เกิดขึ้นน่าจะเป็นเรื่องบังเอิญมากกว่าที่จะเกิดจากผลข้างเคียงที่วัคซีนก่อให้เกิดขึ้น

 

แต่การอธิบายความดังกล่าว ออกจะเป็นการตอบที่ไม่ค่อยจะตรงกับคำถามเท่าใดนัก

คนทั่วไปเขาอยากรู้ว่า วัคซีนตัวนี้ก่อให้เกิดอาการเลือดแข็งตัวผิดปกติขึ้นได้หรือไม่? ต่างหาก

ไม่ได้อยากรู้ว่าอัตราการเกิดภาวะดังกล่าวนั้น เหมือนหรือต่างกับการเกิดในกลุ่มประชากรทั่วไปหรือไม่?

ปัญหานี้มีแต่แอสตร้าเซนเนก้าเองเท่านั้นที่ออกมาบอกอย่างตรงไปตรงมาว่า ไม่เกี่ยวกันแน่นอน โดยอ้างอิงจากการตรวจสอบทบทวนข้อมูลที่ได้จากผู้ที่ได้รับวัคซีนในยูเคและในยุโรปที่ผ่านมา

อีเอ็มเอก็ดูเหมือนจะเข้าใจอยู่บ้างถึงได้ระดมสรรพกำลังของผู้เชี่ยวชาญมาตรวจสอบ วิเคราะห์ผลการใช้วัคซีนที่ผ่านมากันขนานใหญ่ ผลลัพธ์จะเผยแพร่ออกมาในราววันที่ 18-19 มีนาคมนี้

เพื่อป้องกันไม่ให้กรณีนี้กลายเป็นวิกฤตศรัทธาต่อวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าไปในที่สุด

เพราะหากเกิดปัญหาความเชื่อที่ว่านั้นขึ้นมา กว่าจะฟื้นฟูได้ยากเย็นไม่น้อยเลยทีเดียว

แถมยังส่งผลกระทบต่อการฉีดวัคซีนเพื่อปราบโควิด-19 ของโลกเยอะมาก เพราะแอสตร้าเซนเนก้าเป็นวัคซีนที่ได้รับคำสั่งซื้อมากที่สุดในเวลานี้ที่ราว 2,000 ล้านโดส จากมากกว่า 70 ประเทศ โดยส่วนใหญ่เป็นการสั่งซื้อผ่านโครงการโคแวกซ์ ที่ดับเบิลยูเอชโอให้การสนับสนุน

และเป็นวัคซีนที่มีประสิทธิภาพสูง แต่มีราคาถูกที่สุด เพราะออกซ์ฟอร์ดกับแอสตร้าเซนเนก้าใช้ระบบ “ไม่ทำกำไร” มาใช้ในการวางจำหน่ายวัคซีนตัวนี้นั่นเอง